ความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ล่าสุด สนามบินนาริตะ โผล่ร่วมวงประมูล

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา กับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการประมูลหลัก ๆ ในอีอีซีเหมือนกัน ที่เชื่อมโยงกัน แต่อารมณ์ข่าวที่ออกมา ต่างกันคนละขั้วเลยนะ

รถไฟนี่คึกคักมาก แต่อู่ตะเภาเงียบกริ๊บเลย ไม่รู้ไปถึงไหน หรือเกิดอะไรขึ้นบ้าง ที่เป็นอย่างนี้อาจเพราะการรถไฟให้ข่าวบ่อยหรือเปล่า เลยทำให้เห็นความเคลื่อนไหว ได้ตามได้ลุ้นได้ตรวจสอบไปด้วยกัน แต่ทหารเรือฝั่งอู่ตะเภานี่รูดซิปปากเงียบ นักข่าวคงทำงานกันลำบาก จะติดตามตรวจสอบอะไรคงจะยาก ถึงไม่ค่อยมีข่าวออกมาเลย

เพิ่งจะเห็นข่าวจากสื่อ 2-3 รายที่เล่นข่าวความคืบหน้าว่า สนามบินนาริตะจากญี่ปุ่่นเข้ามาร่วมวงประมูลด้วย ในฐานะผู้รับจ้างบริหารสนามบิน น่าจะมาเข้าร่วมกับฝ่ายบีทีเอส เพราะก่อนหน้านี้กลุ่มบีทีเอสยังไม่ได้ให้ข้อมูลว่า จะมีพันธมิตรจากประเทศไหนเข้าร่วมบริหาร ซึ่งก็ต้องเป็นพันธมิตรจากต่างประเทศ ถึงจะเข้ากับเงื่อนไขสุดโหดว่า ต้องเคยมีประสบการณ์บริหารสนามบินที่มีผู้โดยสารเกิน 10 ล้านคนมาแล้ว  ส่วนอีกสองกลุ่มผู้เข้าร่วมประมูล ได้เผยรายชื่อพันธมิตรแต่แรกอยู่แล้ว ว่าเป็นเยอรมันกับอินเดีย 

ว่าไปแล้วก็สงสัยว่า ถ้าไม่ได้เปิดเผยรายชื่อพันธมิตรทั้งหมดตั้งแต่แรก แล้วจะผ่านเกณฑ์คุณสมบัติได้ยังไง ถ้ามาเสียบทีหลัง จะแฟร์กับคู่แข่งที่เหลือเหรอ ข่าวนี้น่าจับตามองต่อไป เอาใจช่วยนักข่าวให้ไปสืบเสาะมา จะได้มีอะไรมาให้คึกคักกันหน่อย

-------------------------------

อุบเงียบ! ประมูลอู่ตะเภา...ก่อนเผยชื่อบริษัทบริหารสนามบินญี่ปุ่น ดำดินผุดกลางบิ๊กโปรเจกต์

เคยได้ยินแต่วิชาขอมดำดิน แต่ยุคนี้ญี่ปุ่นดำดินผุดกลางอู่ตะเภา ทำเอาหลายคนถึงกับงง เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีข่าวบริษัทบริหารสนามบินจากญี่ปุ่นร่วมการประมูลสนามบินอู่ตะเภากับกลุ่มใด!

ถือได้ว่าเป็นผู้เล่นที่มาเงียบ ก่อนที่สื่อจะเปิดตัวว่าเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่เพิ่งมีการพูดถึงรายชื่อระหว่างช่วงพิจารณาคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูลผ่านมาแล้วกว่า
2 สัปดาห์

หากมีคนถามว่าการตรวจสอบคุณสมบัติ เงื่อนไขอะไรน่าหนักใจที่สุด ข่าวก่อนหน้านี้จากหลายสำนักชี้ประเด็นการหาพาร์ตเนอร์ ซึ่งเป็นผู้บริหารสนามบินจากต่างประเทศที่ต้องมีประสบการณ์บริหารจัดการสนามบินที่มีผู้โดยสารเกิน 10 ล้านคน ที่ผู้เข้าร่วมประมูลแต่ละรายต้องหาให้ทันก่อนช่วงเวลายื่นซอง
ซึ่งถือได้ว่าเป็นเงื่อนไขปราบเซียน ว่ารายชื่อพันธมิตรจะมาทันวันยื่นซองหรือไม่

ก่อนหน้านี้ ข่าวหลายสำนักได้สรุปรายชื่อ 3 กลุ่มผู้ร่วมประมูล การยื่นซองประกวดโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 21
มี.ค. 2562 พบว่ามี 3 กลุ่มกิจการค้าร่วม (Consortium) ได้เข้ามายื่นซองประกวดราคา ได้แก่

กลุ่มที่ 1 กลุ่มกิจการค้าร่วม
บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด) และพันธมิตร ได้แก่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), บริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ Fraport AG Frankfurt Airport Services Worldwide จากเยอรมนี

กลุ่มที่ 2
กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ประกอบไปด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS), บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์
คอนสตรัคชั่น

กลุ่มที่ 3 กลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เตียม ประกอบไปด้วย บมจ.แกรนด์ แอสเสท โอเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) อยู่ในกลุ่ม บมจ.พร็อพเพอร์ซี่ เพอร์เฟค (PF) สัดส่วน 80%, บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (บริษัทย่อยของ บมจ.เอเชียเอวิเอชั่น (AAV)) ถือ 10% และ บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) (CNT) ถือ 10% โดยมี GMR Airport Limited จากอินเดีย มาบริหารสนามบิน และ China Harbour Engineering Company Limited

แต่พอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคุณสมบัติ ซึ่งยืดเยื้อสู่สัปดาห์ที่ 3 ทั้งที่เดิมทีคาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 1 สัปดาห์ จนสื่อตั้งข้อสังเกตในการพิจารณาคุณสมบัติว่า ติดปัญหาอะไรหรือไม่ ...

บางรายอาจหาพาร์ตเนอร์ซึ่งเป็นผู้บริหารสนามบินจากต่างประเทศที่ต้องมีประสบการณ์บริหารจัดการสนามบินที่มีผู้โดยสารเกิน 10 ล้านคน ไม่ทันก่อนช่วงเวลายื่นซอง ได้มีการเปิดตัวหรืออย่างไร

จนล่าสุดมีสื่อได้เริ่มเปิดชื่อ นาริตะ เข้าสู่การประมูล ที่โผล่มาในสมการ ทำให้การแข่งขันสูสียิ่งขึ้นจนต้องติดตามใกล้ชิด

งานนี้ต้องเอาใจช่วยกรรมการที่คงเหนื่อยแน่ๆ เพราะการแข่งขันดูทีท่าว่าจะสนุก สูสี ทำให้กรรมการต้องทันเกม และไม่มีใครยอมใครง่ายๆ แต่สุดท้ายถ้าได้ผู้ชนะแบบโปร่งใส ... คนไทยคือคนที่ได้เฮ!!! และเป็นผู้ชนะที่แท้จริง

ลิงก์ https://mgronline.com/business/detail/9620000040849
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่