บทความวันจันทร์ (20 ส.ค. 61) : เวลาที่น่าหวงแหน (ตอนจบ)

บทความวันจันทร์ (20 สิงหาคม 2561)
เรื่อง เวลาที่น่าหวงแหน (ตอนจบ)
โดย วรา วราภรณ์

จากวันนี้ไป เหลือเวลาอีกสี่ห้าวันก็จะถึงกำหนดจัดกิจกรรมอบรมหลักสูตร “การพัฒนาจิตเพื่อให้เกิดปัญญาและสันติสุข” ของคุณแม่ ดร.สิริ กรินชัย อีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 26 สิงหาคม – 2 กันยายน 2561 ณ สำนักวิปัสสนาสอนทวี อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา

ข้าพเจ้ากับเพื่อนสนิทคนหนึ่งยอมใช้เวลาบางวันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาออกไปตระเวนชักชวนบางคนในหมู่บ้านในฐานะคนบ้านเดียวกัน ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักให้เข้าร่วมกิจกรรม คนเหล่านั้นบ้างก็เพิ่งสูญเสียสมาชิกในบ้านไปอย่างไม่มีวันกลับ บ้างก็เป็นเจ้าของชีวิตที่กำลังเดินไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง และบ้างก็คือผู้ที่ยืนอยู่บนทางสองแพร่ง มีตัวเลือกระหว่างวงจรชีวิตเดิมที่หลงไปกับอบายต่างๆ กับคำขอร้องอ้อนวอนของพ่อแม่พี่น้องในครอบครัวขอให้หันหลังให้กับสิ่งเหล่านั้น รวมทั้งบางคนที่ดำเนินชีวิตไปแบบราบเรียบ ไม่สุขไม่ทุกข์ไปกว่ากัน

แน่นอน เราต้องเตรียมใจรับคำตอบและท่าทีในการรับฟังของพวกเขา ซึ่งทั้งหมดแทบไม่มีใครเลยที่ตอบรับในทันที
นี่คือเรื่องที่ยากมาก และยากชนิดที่มองไม่เห็นว่าจะมีสิ่งใดให้หวังว่าใครสักคนหรือหนึ่งในจำนวนนั้นจะสนใจรับฟังและมีท่าทีตอบรับสิ่งที่เราหยิบยื่นให้

แต่ข้าพเจ้ากับเพื่อนก็ยังไม่ละความพยายาม เพราะเราต่างรู้ว่า 7 คืน 8 วันนั้นได้ทำให้ชีวิตของคนบางคนเปลี่ยนแปลงไป บางคนพบวิธีแก้ปัญหา บางคนอาจยังไม่พบ แต่ก็มีสัญญาณที่ดีในการประคับประคองชีวิตให้ดำเนินต่อไป

เพื่อนเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งที่เธอได้ไปอบรมหลักสูตรนี้ มีผู้ชายคนหนึ่งจากต่างตำบลตัดสินใจมาอบรมตามภรรยาเพราะเห็นว่าภรรยาเข้าร่วมกิจกรรมนี้บ่อยครั้ง ทำให้เขาเกิดความสงสัย เลยคิดทดลองอบรมบ้าง ครั้นเมื่อจบหลักสูตร ปรากฏว่าวันสุดท้ายเขาคือคนที่ถือไมโครโฟนประกาศต่อหน้าวิทยากรและเพื่อนๆ โยคีด้วยความมุ่งมั่นว่า จากนี้ไปเขาจะเลิกบุหรี่และสุราอย่างเด็ดขาด

ขณะที่หญิงชราคนหนึ่ง เธอติดบุหรี่มาตั้งแต่ยังสาว แต่ได้ตกลงใจงดเมื่อเข้ามาอบรมหลักสูตรนี้ ต่อมาเมื่อกลับไปบ้าน สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอก็คือ ความอยากเสพบุหรี่หายไป เพราะเธอได้ขจัดมันไปเสียแล้วในห้องวิปัสสนากรรมฐาน

ส่วนข้าพเจ้านั้นได้รับฟังเรื่องของหญิงวัยห้าสิบปีคนหนึ่งที่โหมงานมาตลอดชีวิต ด้วยสถานภาพของลูกสาวคนโต เธอคือผู้แบกภาระของครอบครัวที่มีบางคนทำเงินรั่วไหลไปกับการพนัน ในสมองของเธอผู้นี้มีแต่งาน ข้าวปลามาทีหลังเสมอ กระทั่งเมื่อวัยย่างเข้าสู่เลขห้า ลานใจก็ส่อสัญญาณ “ขาด” ด้วยอาการทางกายที่เชื่อมสู่จิต เธอกลายเป็นคนพูดจาไม่รู้เรื่อง เหม่อลอย ซึมเศร้า และหมดเรี่ยวแรงในการดำเนินชีวิตถึงขั้นตั้งคำถามกับตนเอง “จะหาเงินไปเพื่ออะไร ?” และสุดท้ายเธอก็คือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

7 คืน 8 วันที่ทำให้เธอได้อยู่กับลมหายใจที่ช้าและลึก มื้ออาหารที่ตรงเวลาและถูกโภชนาการ การนอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ในแต่ละวัน เสียงธรรมจากคุณแม่สิริ และอนุศาสนาจารย์ที่ควรแก่การรับฟังทั้งฆราวาสและสงฆ์ ก็ทำให้เธอมีรอยยิ้มที่แช่มชื่นมากขึ้นในวันสุดท้าย และยังเป็นคนหนึ่งที่มีบทสนทนาสนุกสนานบนโต๊ะอาหารมื้อสุดท้ายก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายกันกลับบ้าน

“เมื่อก่อนเป็นคนที่ลุยและแรงมากจนคนใกล้ตัวกลัวทุกคน แต่ตอนนี้ เรารู้แล้วว่าต้องปรับให้อ่อนลง นุ่มนวล สงบมากขึ้น”

แต่ละครั้งที่จบหลักสูตร ในวันสุดท้ายของการอบรมจึงมักจะมีภาพและเสียงที่บอกเล่าความในใจให้ทุกคนได้จดจำและย้อนรำลึกถึง ขณะที่อาจารย์นิศารัตน์ ลาวัณยากุล ได้เลือกหยิบจดหมายและไปรษณียบัตรเก่าที่ถูกส่งมาจากอดีตโยคีมาอ่านให้พวกเราฟัง เลือกเปิดเพลงซึ่งเป็นผลงานจากอดีตโยคีผู้รักการขับร้อง รวมทั้งอ่านกลอนจี้ใจดำบางคนด้วยความผ่อนคลาย ซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกว่าน่าสนใจ และอยากนำมาเผยแพร่ ทั้งที่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แต่ง

“วันแรกมาตื่นเต้นเห็นสถานที่ ดูจะดีถูกใจไปเสียหมด

วันที่สองเบื่อหน่ายและท้อทด ถูกเก็บกดอีกสงสัยใจเริ่มท้อ

วันที่สามขัดข้องใจจำเจสุด อยากจะมุดรั้วหนีดีไหมหนอ

แต่ความเลวที่มีไม่เพียงพอ เลยอยู่ต่อด้วยท้อและอดทน

วันที่สี่เริ่มเข้าใจอะไรบ้าง เห็นรางรางรู้สึกดีมีเหตุผล

วันที่ห้าเข้าใจได้ทุกคน ที่อดทนช่างคุ้มค่ากว่าทุกยุค

วันที่หกตกลงใจจะมาใหม่ ใจใสใสเริ่มสงบพบแต่สุข

ต่อแต่นี้ตลอดไปไม่มีทุกข์ มีความสุขเพราะถึงธรรมคำปล่อยวาง

วันที่เจ็ดสู้ไม่ถอยคอยวันกลับ หลับแล้วตื่นก่อนคืนสู่โลกกว้าง

วันที่แปดมั่นใจได้หนทาง แม่ได้สร้างทางถูกให้ลูกเอย”

ตั้งแต่กลับมาจากการอบรมรอบที่ 2 จนถึงวันนี้ ข้าพเจ้าภูมิใจมากที่พยายามทำสิ่งที่ได้ตั้งใจเอาไว้แล้ว นั่นคือ ต่อเวลา 7 คืน 8 วันให้ยาวนานออกไป ด้วยการสวดมนต์ไหว้พระและสมาทานศีลยามเช้า กับสวดมนต์ก่อนนอน พร้อมกับพยายามกำหนดสติให้จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตนกำลังทำให้ได้มากที่สุด รวมทั้งการบอกกล่าวเล่าสู่ผู้อื่นผ่านคำชวนและบทความทั้ง 6 ตอนนี้ด้วย

ล่าสุด ความสุขอย่างใหม่ที่ได้เกิดขึ้นกับข้าพเจ้าและเพื่อนจนทำให้หัวใจพองโตก็คือ คำชักชวนของเราได้รับการตอบรับอีกครั้ง และผู้ที่ตอบรับนั้นก็คือคนที่เรานึกไม่ถึง เขาเป็นคนเดียวกับผู้ที่ยืนบนทางสองแพร่งดังที่ข้าพเจ้าเล่าไว้แต่แรกนั่นเอง

และเพื่อให้ดวงใจเข้มแข็งอยู่เสมอ ข้าพเจ้าจึงขอฝากบทกลอนของคุณแม่สิริที่เป็นคติเตือนใจแก่ทุกท่านผู้ตั้งใจใฝ่ปฏิบัติรวมทั้งตนเองด้วยคนหนึ่ง

“ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาธรรมควรสำนึก น้อมรำลึกอดทนเพียรขวนขวาย
กำหนดการเคลื่อนไหวใจและกาย จงยอมตายก่อนตายได้ยอดดี”

....................................



การฝึกเจริญสติในห้องวิปัสสนากรรมฐาน



ผู้พิการก็ร่วมอบรมและฝึกเดินจงกรมได้ตามความพร้อม



รับประทานอาหารด้วยสติ



ครั้งแรกในห้องฟังธรรมของแม่กับลูกวัยอนุบาล


หนูอยากฝึกตั้งแต่ยังเป็นไม้อ่อน

(ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านค่ะ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่