“จาก Minolta สู่ Sony” สายเลือดวิศวกรรมที่ส่งต่อด้วยความภาคภูมิ


Minolta Camera


สวัสดีครับ พอดีว่าจะเขียนเรื่องผลประกอบการของปี FY2017 กับทิศทางของบริษัทกล้องรายต่างๆในญี่ปุ่นที่กำลังจะมีการขยับตัวครั้งใหญ่ ก็เผอิญว่าน้องที่รู้จักกันเค้ามาถามถึงกล้อง SLR 35mm ก็เลยนึกขึ้นได้ว่าในฐานะคนชอบเลนส์มือหมุนแล้ว ยี่ห้อที่ชอบเป็นลำดับต้นๆและแว่บเข้ามาในหัวแทบจะทันทีก็คงมีชื่อของ MD อยู่ด้วยแน่ๆ แล้วก็เลยพยายามรวบรวมเนื้อหาของ Minolta มาให้ได้อ่านเล่นกัน เรื่องอื่นน่ะวางเอาไว้ก่อนแหละเนอะ
* เนื้อหารวบรวมมาจากหลายที่ จะพยายามเรียงตามไทม์ไลน์ให้ได้มากที่สุดนะครับ หากผิดพลาดประการใดขออภัยมา ณ ที่นี้ อมยิ้ม17
** ไม่ค่อยมีรูปนะครับ เนื่องจากเกรงจะโหลดนาน และเป็นเพียงชวนคุยเรื่องการเล่าประวัติเป็นหลัก มิใช่การรีวิวกล้องและเลนส์ รูปที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาจะใส่เข้ามาภายหลังครับ
*** พิมพ์ข้อมูลลงในโปรแกรมอื่นก่อนแล้วจึงค่อยๆก๊อปปี้เนื้อหามาวาง หากมีความผิดพลาดการจัดหน้าหรือตัวอักษร ต้องขออภัยเช่นกันครับ

แนวคิดและที่มาที่ไปน่ะช่างมันเถอะ ขออนุญาตเปิดเวทีเล่ากันดื้อๆเลยดีกว่า


สรุปสำหรับคนขี้เกียจอ่าน :
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

บทนำ

ขอกล่าวถึงปูชนียบุคคลท่านหนึ่ง นามว่า Tashima Kazuo
คุณคะสึโอะเกิดวันที่ 20 พฤศจิกายน 1899 ที่เมืองฮิคะตะ เขตไคโซ จังหวัดวะคะยะมะ เป็นบุตรคนโตของคุณพ่อสึเนะคิจิและคุณแม่คิคุเอะ (จากการสืบประวัติพบว่าตระกูลทะชิมะของคุณคะสึโอะนี้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลสาขาของผู้ดูแลพิธีกรรมศาลเจ้าในยุคสมัยคะมะคุระ (1185-1333) นู้นแน่ะ)

คุณคะสึโอะจบการศึกษาจากโรงเรียนบริหารธุรกิจวะคะยะมะ จากนั้นได้จากบ้านมาไกลถึงโตเกียว เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยเคโอ ที่มีชื่อเสียงด้านหลักสูตรธุรกิจ จบการศึกษาในปี 1923 และถูกรับเข้าทำงานเป็นพนักงานของบริษัทนิปปงเด็นโจซือชิน (เป็นบริษัทโฆษณา ปัจจุบันชื่อบริษัท Dentsuu) ทำงานได้ไม่ถึงปีก็เกิดเหตุการณ์วิปโยคขึ้นที่ญี่ปุ่น คือแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่คันโต คุณคะสึโอะจึงต้องออกจากงานแล้วเดินทางไปยังเมืองโกเบ จังหวัดเฮียวโงะ เข้าทำงานเป็นพนักงานในบริษัทเทรดดิ้งกอมปานีของบิดา

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่คันโต ข้อมูลเพิ่มเติมจากห้องหว้ากอครับ
http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/2011/03/X10358356/X10358356.html


    
จุดเปลี่ยนของชีวิต

    คุณคะสึโอะทำงานในบริษัททะชิมะได้ 4 ปี เมื่อราวเดือนพฤศจิกายน 1927 คุณสึเนะคิจิผู้เป็นบิดาได้แนะนำให้จัดกลุ่มเดินทางเพื่อโปรโมทสินค้าญี่ปุ่นของบริษัท โดยการเดินทางครั้งนั้นคุณคะสึโอะได้ไปหลายประเทศ ตั้งแต่ตะวันออกกลางจนถึงยุโรปตะวันออก จากนั้นได้แยกจากกลุ่ม เดินทางด้วยตัวคนเดียวเข้าสู่สาธารณรัฐเยอรมนี (ขณะนั้นเยอรมันเพิ่งปฏิวัติการปกครองจากระบอบราชวงศ์ไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ เกิดจากความไม่พอใจในสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อย่างรุนแรงและยาวนาน กระนั้นก็ยังถูกรีดไถเอาเปรียบจากชนชั้นขุนนาง จนเกิดการปฏิวัติล้มล้างการปกครองในระบอบกษัตริย์ และยกเลิกพระราชอำนาจของราชวงศ์ในทุกพื้นที่) เยือนเบอร์ลิน และไปต่อยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ปารีสนี้เองคุณคะสึโอะได้พบกับชายผู้หนึ่งที่ทำงานอยู่ที่ปารีส นามว่า ฮิบิกิ มะโคะโตะ (งานของเขาออกจะเป็นพวกเอเจนซี่ที่คอยดีลงานกับบริษัทต่างๆ จากที่เช็คประวัติมาคนนี้ก็แบคกราวด์ไม่ธรรมดาเหมือนกัน )

    หลังจากนั้นสองสามวัน ทางคุณฮิบิกิได้พาคุณคะสึโอะเยี่ยมชมโรงงานต่างๆ หนึ่งในนั้นคือโรงงานขนาดมหึมาที่ผลิตชิ้นกระจกสำหรับใช้ในการทหาร ท่ามกลางโรงงานขนาดยักษ์นั้นคุณคะสึโอะได้พบกับกระจกที่ใช้นวัตกรรมล่าสุดสำหรับกล้อง Range Finder (เป็นกล้องใช้ในการทหารยุคนั้น)


กล้องสำหรับทหารในยุคนั้น


    คุณฮิบิกิกล่าวแก่คุณคะสึโอะว่า “กระจกสำหรับผลิตยุทธภัณฑ์ส่งให้กองทัพนี้ทำได้ยากมาก ญี่ปุ่นเรายังผลิตของแบบนี้ไม่ได้” ด้านคุณคะสึโอะเองยิ่งได้ฟังแบบนี้ยิ่งรู้สึกลุ่มหลงในศาสตร์คันฉ่องอย่างจัง และถือเป็นจุดหักเหชีวิตของเขาไปตลอดกาลหลังจากนั้น


    
ก่อตั้งบริษัท

    หลังจากกลับมาญี่ปุ่น ทางคุณคะสึโอะได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านกล้องถ่ายภาพชาวเยอรมนีสองคน คือ บิลลี่นอยมันด์ และวิลี่ไฮเรมัน เข้ามาร่วมงานกัน (ตรงนี้ผมไม่ค่อยสันทัดเนื้อหาของกล้องสายเยอรมันและฝรั่งเศสเท่าใดนัก หากมีข้อผิดพลาดประการใดขออภัยไว้ ณ ที่นี้) โดยนอยมันด์นั้นเคยทำงานอยู่กับ Krauss ในปารีส จริงๆแล้ว Krauss นั้นถือกำเนิดที่เยอรมนี เริ่มทำกิจการผลิตและจำหน่ายกล้องถ่ายภาพตั้งแต่ปี 1895 ที่เมืองสตุ๊ตการ์ท โดย Gustav Adolf Krauss (G.A. Krauss) ซึ่ง G.A. Krauss นั้นมีพี่น้องที่ชื่อ Eugen Krauss (E. Krauss) ด้วย และ Eugen ผู้นี้เองที่จากถิ่นฐานตัวเองมาตั้งรกรากทำธุรกิจอยู่ในปารีส บริษัทของ E. Krauss ไปได้ดีจนถึงขนาดในเวลาต่อมาได้รับอนุญาตจาก Carl Zeiss ให้ผลิตเลนส์สำหรับไซส์ได้ (มี joke เล่นๆในวงเหล้า ว่า Leitz ใช้ชื่อ Leica ไม่ใช่ Leca เพราะเกรงผู้คนจะสับสนกับ L´Eka (E.Krauss ที่เรียกกันในภาษาฝรั่งเศส))



    ด้านไฮเรมันก็มีประวัติการทำงานกับ Kenngott บริษัทผลิตกล้องและเลนส์สัญชาติเยอรมัน มีโรงงานตั้งอยู่ที่สตุ๊ตการ์ทเช่นเดียวกับ G.A. Krauss


    
ยุคสมัยนิจิโดะขุ

    วันที่ 11 พฤศจิกายน 1928 คุณคะสึโอะได้เปิดบริษัทผลิตกล้องขึ้นที่โอซาก้าในชื่อ นิจิโดะขุฉะชินกิโชเท็น (日独写真機商店) แปลได้ว่า “โรงผลิตกล้องถ่ายภาพญี่ปุ่นเยอรมนี" โดยมีนอยมันด์และไฮเรมันในฐานะวิศวกรของบริษัทช่วยดูแลการผลิต ด้านโรงงานผลิตนั้นตั้งอยู่ที่มุโคะงะวะในจังหวัดเฮียวโงะ (ปัจจุบันคือเมืองนิชิมิยะ) ในกาลต่อมากล้องของนิจิโดะขุเป็นสินค้าจากญี่ปุ่นที่บุกเข้าไปขายในเมืองฝรั่งมังค่า และที่ได้รับการชื่นชมจากตะวันตกก็เนื่องด้วยศาสตร์ด้านชิ้นเลนส์ที่ได้รับการออกแบบโดยเยอรมนีนี่เอง


โลโก้บริษัทในยุคแรก


    ช่วงแรกเริ่มของบริษัทนั้น มีพนักงานเพียงราวสามสิบชีวิต อุตสาหกรรมการผลิตของประเทศญี่ปุ่นในยุคนั้นเป็นการผลิตที่ไม่มีความใส่ใจในด้านคุณภาพและความแม่นยำ เป็นการผลิตตามมีตามเกิดเพียงแค่ให้ของสามารถใช้งานได้เท่านั้น แม้แต่ในไลน์ผลิตของนิจิโดะขุเองก็หาอุปกรณ์สำหรับควบคุม Precision ในการผลิตไม่ได้ แต่ด้วยความเคร่งครัดของคุณคะสึโอะร่วมกับการควบคุมการผลิตโดยวิศวกรชาวเยอรมัน ทุกกระบวนการจึงต้องถูกตรวจสอบอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพจริงๆ จากบันทึกพบว่าแม้กระทั่งสกรูสำหรับงานประกอบนั้นต้องผลิตและชุบสีจากภายใน มิยอมให้บริษัทภายนอกช่วยผลิตให้

ในเดือนมีนาคม 1929 นิจิโดะขุผลิตกล้องตัวแรกได้สำเร็จ กล้องตัวแรกที่นิจิโดะขุผลิตขึ้นนั้นอาศัยการนำเข้าเลนส์และชัตเตอร์จากเยอรมนี ใช้ชื่อว่า “นิฟคาเรตเต้” ( Nifcarette) โดยได้รับอิทธิพลมาจาก Rollette ของ G.A. Krauss


นิฟคาเรตเต้ : camerapedia


อิทธิพลของ Rollette มิได้ส่งผลแค่เพียงอัตลักษณ์ แต่ยังส่งผลมาถึงชื่อรุ่นด้วย โดย Nifcarette มาจาก Nichidoku Foto Camera + Rolette และในช่วงแรกนั้นนิจิโดะขุมี Capacity การผลิตเพียง 50ตัวต่อเดือนเท่านั้น

ปีถัดมา 1930 นิจิโดะขุได้ผลิตกล้องอีกสามโมเดล คือ นิฟคาคลัปป์ (Nifcaklapp) นิฟคาสปอร์ต (Nifcasport) และนิฟคาด็อกซ์ (Nifcadox) โดยนิฟคาคลัปป์นั้นเป็นกล้องที่ใช้ Plate ขนาดไดเมชิ (6.5x9cm) ชัตเตอร์ Vario เลนส์ Wekar-Anastigmat 105/6.3 จำหน่ายในราคาตัวละ 39เยน และยังลงโฆษณาในนิตยสาร Asahi Camera เดือนพฤษภาคม 1930 ที่มีคำโปรยเป็นภาษาอังกฤษว่า Nifcaklapp is better ด้วย

ขออนุญาตอธิบายเรื่องขนาดของเพลตอีกเล็กน้อยครับ ในอดีตสำหรับการกำหนดขนาด Plate และขนาด Film ที่ใช้ในกล้องญี่ปุ่นนั้นจะใช้มาตรวัดทั้งในหน่วยนิ้วและหน่วยเมตริค แต่ยุค 1920s นั้นนิยมใช้นิ้วมากกว่า และขนาด Format นั้นมีมากมายก่ายกองจนจำกันไม่หวาดไม่ไหว ต่างจากปัจจุบันที่มี Format เหลือเพียงไม่กี่รูปแบบอันเกิดจากการกำหนดมาตรฐานการผลิตในภายหลัง

ขนาดเพลต เช่น คะบิเนะ(4นิ้ว6หุนx6นิ้วครึ่ง) เทะฟุดะ(3นิ้ว2หุนx4นิ้ว2หุน) เมชิ(ประมาณ5.5x8cm) สามฟอร์แมทนี้เป็นที่นิยมในยุคนั้น นอกจากนี้ฟอร์แมทของเพลทที่ใช้ในกล้องญี่ปุ่นยังมีอีกมาก เช่น นิมัยงะเขะ ฮะงะขิ ยทสึงิริ ยัทสึงิริ เรบัง และที่นิฟคาคลัปป์ใช้เป็น ไดเมชิ คือการปรับปรุงขนาดเมชิใหม่เป็น 6.5x9cm

ในยุคปัจจุบัน ขนาดฟอร์แมทที่หลงเหลือมาถึงและยังมีใช้งานอยู่ มีเพียงคะบิเนะ และยทสึงิริ ที่ถูกใช้กำหนดเป็นมาตรฐานของขนาดกระดาษที่ใช้สำหรับปรินท์รูป

ส่วนเรื่องฟิล์ม ในอดีตจะใช้ Roll Film หลายๆฟอร์แมท เช่น โบรนี่ 120mm (มาจากชื่อโบรนิก้าของโกดัก) เบสต์ 127mm (มาจากชื่อเวสต์พอคเกตของโกดัก) ส่วนพวกฮาล์ฟเฟรมและสแควร์ของ 120 จะเรียกว่า เซมิ และ ซิกส์ ตามลำดับ มาจากขนาดที่ Zeiss Ikon กำหนด กล้องที่ถูกผลิตในยุคดังกล่าวจึงนิยมใช้ชื่อ เซมิ และ ซิกส์ ในชื่อโมเดลที่วางขาย

จนกระทั่งราวๆ 1960s ชื่อเซมิและซิกส์ จึงถูกเปลี่ยนไปเป็น 645 และ 66 โดยทศวรรษนี้เป็นยุคที่กล้องผลิตในญี่ปุ่นมีประสิทธิภาพ คุณภาพ เทียบเคียงกับกล้องตะวันตกได้แล้ว เหล่าผู้ผลิตกล้องจึงไม่นิยมใช้ชื่อรุ่นเลียนแบบกล้องฝรั่งที่ดังๆอีกต่อไป เหตุการณ์สำคัญอีกหนึ่งเหตุการณ์ในญี่ปุ่นยุคนั้นคือ Olympus พัฒนา Pen ได้สำเร็จ และได้รับความนิยมมากจนถึงขนาด Pen-Size ถูกใช้กำหนดเป็นมาตรฐานของ Half-Size

กลับมาที่นิฟคากันต่อ กิจการของนิจิโดะขุเหมือนจะไปได้ดี แต่ช่วงเดือนตุลาคม 1930 ได้เกิดการก่อหวอดและสไตรค์ของเหล่าพนักงานในไลน์ผลิต การประท้วงเริ่มบานปลายมีผู้เข้าร่วมกับแกนนำจำนวนมาก ทางไฮเรมันวิศวกรผู้รับผิดชอบการควบคุมการผลิตมีความเห็นให้ใช้ไม้แข็งปลดพนักงานที่เข้าร่วมกลุ่มก่อหวอดออกให้หมดทุกราย แต่คุณคะสึโอะเลือกที่จะใช้วิธีประนีประนอมถอยคนละครึ่งก้าว และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งสองคนเริ่มมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่