จักรวาลของชาวเมารี

จักรวาลของชาวเมารี






ภาพของชาวเมารีที่เราคุ้นตากัน อาจจะดูขึงขังดุดัน เพ้นต์หน้าเพ้นต์ตา ดูเหมือนพร้อมรบตลอดเวลา วันนี้เรามาดูกันถึงความคิดความเชื่อของพวกเขากันหน่อย เผื่อว่าเราจะเข้าใจชาวเมารีมากขึ้นไม่มากก็น้อย


ในจุดเริ่มต้น จักรวาลของชาวเมารีนั้นมีเพียงแค่ความมึดมิดเท่านั้น ซึ่งชาวเมารีเรียกว่า Te Ponui,Te Poroa แปลว่าค่ำคืนอันยิ่งใหญ่,ค่ำคืนอันยาวนาน แต่ในความมึดมิดอันว่างเปล่านั้น มีแสงเปล่งออกมาและแสงนั้นก็คือสองเทพผู้ให้กำเนิดสิ่งที้งปวง เทพที่หนึ่งนั่นคือพ่อของสรรพสิ่ง เทพแห่งท้องฟ้า นามว่า รังกินุย(Ranginui) อีกเทพคือแม่ของสรรพสิ่ง เทพแห่งผืนดิน นามว่า ปาป้า(Papa;Papatuanuka)


เทพทั้งสองรักกันมากจนแยกจากกันไม่ได้ ได้กอดรัดกันจนให้กำเนิดเทพอีก 6 ตนอันได้แก่ 1.ทาวฮิริ(Tawhiri;Tawhirimatea) เทพแห่งลมฟ้าอากาศ 2.รงโก(Rongo) เทพแห่งสันติภาพและพืชไร่ 3.ทูมา(Tuma;Tumatauenga) เทพแห่งสงคราม 4.ทังการัว(Tangaroa) เทพแห่งท้องทะเล 5.ทาเน(Tane;Tane-Mahuta) เทพแห่งป่า และ 6.เฮาเมีย(Haumia;Haumia-tiketike) เทพแห่งพืชผักในป่า


แต่เทพทั้งหกตนนี้อยู่ในอ้อมกอดที่รัดแน่นของรังกินุยและปาป้า ซึ่งแน่นถึงขนาดที่ว่าไม่มีแสงใดๆลอดผ่านเข้าไปได้เลย เทพทั้งหกจึงอยู่ในที่ที่มึดมิดและคับแคบมาตลอด


จนวันหนึ่งทั้งหกตัดสินใจว่าต้องทำพื้นที่นี้ให้กว้างขวางมากขึ้น จึงปรึกษากันว่าควรจะแก้ปัญหานี้ยังไงดี ทูมาเสนอว่าควรจะฆ่าพ่อแม่พวกเขาทิ้งเสีย และก่อนที่ทูมานั้นจะเงื้อขวานฟันแขนพ่อของเขานั้น ทาเนได้ห้ามไว้แล้วเสนอแนวคิดว่าควรจะผลักทั้งสองให้ออกจากกัน ซึ่งลูกๆต่างก็โต้เถียงทะเลาะกันไปมาโดยคิดว่าวิธีของตนดีที่สุด และต่างก็พยายามใช้วิธีที่ตนคิดนั้น โดยหวังจะแยกพ่อและแม่ให้ออกห่างจากกัน จนในที่สุดก็เป็นทาเน ที่ใช้เท้าจิกดินและดันทั้งสองออกจากกันอย่างสุดพลัง และผลักให้รังกินุยออกห่างจากปาป้าได้สำเร็จ เทพทั้งหกตนมีพื้นที่ว่างเพียงพอและเห็นแสงสว่างเป็นครั้งแรก


แต่ทั้งนี้การแยกจากกันของรังกินุยและปาป้าก็แลกมาด้วยน้ำตาแห่งความเศร้าโศกที่ต้องพรากจากกัน น้ำตาของรังกินุยนั้นมากมายมหาศาลเสียจนก่อให้เกิดเป็นมหาสมุทรขึ้น เมื่อได้เห็นน้ำตาของผู้เป็นพ่อเช่นนี้เอง ทำให้ทาวฮิริโกรธเกรี้ยวอย่างมาก เขานำพายุกระหน่ำเข้าใส่ผืนดินผืนน้ำอย่างไม่หยุดยั้ง จนทำให้รากต้นไม้ของทานหลุดการยึดเกี่ยวจากพื้นดินและล้มลง


หลังจากกระหน่ำเข้าใส่ทาเนผู้ที่ทำให้พ่อแม่ต้องแยกจากกันแล้ว ก็หันมาโจมตีทังการัวเทพแห่งท้องทะเลแทน ทังการัวเห็นท่าไม่ดีจึงหนีไปอยู่ลึกสุดใต้สมุทร แต่ทังการัวได้ทิ้งหลานๆเอาไว้ข้างบนให้งุนงงกับพายุที่ซัดเข้าใส่ พวกหลานของทังการัวจึงหลบหนีเข้าไปอยู่ในป่า เมื่อทังการัวขึ้นมาจากใต้สมุทรและไม่พบหลานๆ เขาจึงออกตามหาหลานๆไปในเขตผืนป่า ซึ่งในวันนี้เป็นวันที่ท้องทะเลขึ้นสูงมากลืนกินผืนดิน พร้อมกับความหวังของทังการัวที่จะหาหลานๆของเขาให้ได้ครบ


ทั้งนี้ลูกๆของรังกินุยและปาป้าไม่ได้มีเพียงแค่ 6 ตน หากแต่มีด้วยกัน 8 คือเรฮัว(Rehuo) เทพแห่งดวงดาว และเราโมโก(Ruaumoko) เทพแห่งภูเขาไฟและแผ่นดินไหว แต่ว่าทั้งสองนี้ไม่ได้ติดอยู่ในพื้นที่คับแคบมึดมิดกับเทพอีก 6 ตน โดยเรฮัวนั้นเกิดมาก่อนใครเพื่อน และก่อนหน้านี้เป็นเทพสายฟ้า แต่เมื่อเวลาผ่านไปจึงออกเดินทางห่างไกลจากพ่อแม่จนกลายเป็นดวงดาว


มีครั้งหนึ่งทาเนเทพแห่งป่าได้เดินทางไปเยี่ยมเรฮัว เรฮัวนั้นเลี้ยงนกอยู่บนหัวเพื่อเอาไว้กินเหา เมื่อรู้ว่าทาเนจะมาเยี่ยมก็ดีใจ จึงสั่งให้ข้ารับใช้จัดเตรียมอาหารและนำนกตัวนี้ให้เป็นอาหารแก่ทาเน เมื่อทาเนมาถึงก็ตกใจและปฏิเสธที่จะกินเจ้านกน้อย เนื่องจากนกนั้นกินเหาบนหัวเรฮัวซึ่งทาเนถือว่ามันขึด แตถึงอย่างไรก็ตาม ด้วยความดีใจที่ทาเนมาเยี่ยม เรฮัวจึงมอบนกนี้ให้ทาเนเดินทางกลับมายังโลก ทาเนก็รับเอาไว้พร้อมกับนำต้นไม้ที่มีผลกลับมาด้วย ดังนี้ในป่าจึงมีนกและไม้ผลเกิดขึ้นมา


ส่วนเราโมโกเทพแผ่นดินไหวนั้น แม้จะเป็นลูกของรังกินุยกับปาป้า แต่ทว่าเราโมโกยังอยู่ในครรภ์ของปาป้า การที่เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดนั้น ก็เนื่องมาจากเราโมโกนั้นดิ้นอยู่ในครรภ์นั่นเอง การดิ้นของเราโมโกนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฤดู ความร้อนและความเย็นจากภายในของปาป้านั้นถูกส่งผ่านมายังการดิ้นของเราโมโก และส่งผลให้ผิวโลกร้อนและเย็นเกิดเป็นอุณหภูมิขึ้น


ทั้งนี้ทั้งนั้นเทพทั้ง 8 ก็เป็นผู้ชายหมด ทาเนเทพแห่งต้นไม้จึงสร้างผู้หญิงขึ้น โดยนำเอาดินเหนียวมาปั้นให้เป็นรูปผู้หญิง และหายใจเข้าไปยังรูจมูกของก้อนดิน จากนั้นก้อนดินนั้นก็พลันมีชีวิตและได้ชื่อว่าฮิเน-เฮาโอเน(Hine-hauone) ทั้งสองได้มีลูกด้วยกัน และได้เป็นลูกสาวชื่อว่าฮิเน-ติตามา(Hine-titama) ซึ่งทาเนก็มีลูกกับฮิเน-ติตาเมอีกที


ซึ่งทีแรกเธอไม่รู้ว่าทาเนคือพ่อของเธอ เมื่อเธอมารู้ในภายหลังจึงเกิดความละอายใจ หนีจากโลกแห่งแสงสว่างไปสู่โลกข้างใต้ที่ชื่อว่าทีโป(Te Po) ซึ่งเธอก็ได้ปกครองที่นั่นและได้ชื่อว่าฮิเนนุยทีโป(Hinenui-te-Po) เทพีแห่งความตาย

และทั้งหมดนี้ก็คือรากฐานอันสะท้อนถึงชีวิตจิตใจของชาวเมารี

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่