ปฐมกามภูสูตร : “ท่านผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น ขอท่านโปรดรอสักครู่ จนกว่ากระผมจักพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมนั้นได้”

ขอกราบไหว้พระรัตนตรัยด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง

----------------------




พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค



๕. ปฐมกามภูสูตร
ว่าด้วยพระกามภู สูตรที่ ๑


             [๓๔๗] สมัยหนึ่ง ท่านพระกามภูอยู่ที่อัมพาฏกวัน เขตเมืองมัจฉิกาสัณฑ์

             ครั้งนั้น จิตตคหบดีเข้าไปหาท่านพระกามภูถึงที่อยู่ ไหว้แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
             ท่านพระกามภูได้กล่าวว่า
             “จิตตคหบดี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า
‘เธอจงดูรถซึ่งมีส่วนประกอบอันไม่มีโทษ
มีหลังคาขาว มีเพลาเดียว ไม่มีทุกข์
แล่นไปถึงที่หมาย ตัดกระแส ไม่มีเครื่องผูก’

             ท่านจะพึงเห็นเนื้อความแห่งธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอย่างย่อนี้โดยพิสดารได้อย่างไร”

             “ท่านผู้เจริญ ธรรมนี้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้หรือ

             “เจริญพร คหบดี”

             “ท่านผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น ขอท่านโปรดรอสักครู่ จนกว่ากระผมจักพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมนั้นได้”

             ลำดับนั้น จิตตคหบดีนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วได้ตอบท่านพระกามภูดังนี้ว่า

             “ท่านผู้เจริญ คำว่า ส่วนประกอบอันไม่มีโทษ เป็นชื่อของศีล
             คำว่า หลังคาขาว เป็นชื่อของวิมุตติ
             คำว่า เพลาเดียว เป็นชื่อของสติ
             คำว่า แล่นไป เป็นชื่อของการก้าวไปและการถอยกลับ
             คำว่า รถ เป็นชื่อของกายนี้ซึ่งประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป ๔
                     เกิดจากมารดาบิดา เจริญวัยเพราะข้าวสุกและขนมกุมมาส
                     ไม่เที่ยงแท้ ต้องอบต้องนวดเฟ้น มีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา
                     ท่านผู้เจริญ ราคะเป็นทุกข์ โทสะเป็นทุกข์ โมหะเป็นทุกข์
                     ทุกข์เหล่านั้นภิกษุขีณาสพละได้แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว
                     เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
                     เพราะฉะนั้นภิกษุขีณาสพพระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า ผู้ไม่มีทุกข์
             คำว่า แล่นไปถึงที่หมาย นั้นเป็นชื่อของพระอรหันต์
             คำว่า กระแส เป็นชื่อของตัณหา
                     ตัณหานั้นภิกษุขีณาสพละได้แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว
                     เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มีเกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
                     เพราะฉะนั้น ภิกษุขีณาสพพระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า ผู้ตัดกระแส
                     ราคะเป็นเครื่องผูก โทสะเป็นเครื่องผูก โมหะเป็นเครื่องผูก
                     เครื่องผูกเหล่านั้นภิกษุขีณาสพละได้แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว
                     เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
                     เพราะฉะนั้น ภิกษุขีณาสพ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า ผู้ไม่มีเครื่องผูก
             ท่านผู้เจริญ เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า
‘เธอจงดูรถซึ่งมีส่วนประกอบอันไม่มีโทษ
มีหลังคาขาว มีเพลาเดียว ไม่มีทุกข์
แล่นไปถึงที่หมาย ตัดกระแส ไม่มีเครื่องผูก’

              กระผมรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอย่างย่อนี้โดยพิสดารอย่างนี้แล

             “คหบดี เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ที่ปัญญาจักษุของท่านหยั่งลงในพระพุทธพจน์ที่ลึกซึ้งนี้

ปฐมกามภูสูตรที่ ๕ จบ


เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๓๘๐-๓๘๑.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=18&siri=261
อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ (ฉบับหลวง)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=18&A=7416&Z=7455
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=558
ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย ได้ที่ :-
[558-559] http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali.php?B=18&A=558&Z=559


------------------------

... ดูกรจุนทะ ก็บัดนี้
อุบาสกสาวกทั้งหลายของเราผู้เป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาว ประพฤติพรหมจรรย์
เป็นผู้เชี่ยวชาญ ได้รับแนะนำแล้ว เป็นผู้แกล้วกล้า บรรลุธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะแล้ว
สามารถเพื่อจะกล่าวพระสัทธรรมได้โดยชอบ
สามารถเพื่อจะแสดงธรรมให้มีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปวาทที่เกิดขึ้นแล้วเสียได้ด้วยดี โดยชอบธรรม
มีอยู่

ปาสาทิกสูตร
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=11&A=2537&Z=3181&pagebreak=0




------------------------


[๑๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย....
จิตตคฤหบดีชาวเมืองมัจฉิกสัณฑะ เลิศกว่าพวกอุบาสกสาวกของเราผู้เป็นธรรมกถึก ฯ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=716&Z=734&pagebreak=0


------------------------


เพื่อน ผู้ร่วมธุระร่วมกิจร่วมการหรือร่วมอยู่ในสภาพอย่างเดียวกัน, ผู้ชอบพอรักใคร่คบหากัน,
       ในทางธรรม เนื้อแท้ของความเป็นเพื่อน อยู่ที่ความมีใจหวังดีปรารถนาดีต่อกัน กล่าวคือ เมตตา หรือไมตรี เพื่อนที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ เรียกว่า มิตร
       การคบเพื่อนเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ที่จะนำชีวิตไปสู่ความเสื่อมความพินาศ หรือสู่ความเจริญงอกงาม พึงหลีกเลี่ยงมิตรเทียมและเลือกคบหาคนที่เป็นมิตรแท้
           ดู มิตตปฏิรูป, มิตรแท้
        บุคคลที่ช่วยชี้แนะแนวทาง ชักจูงตลอดจนแนะนำสั่งสอน ชักนำผู้อื่นให้ดำเนินชีวิตที่ดีงาม ให้ประสบผลดีและความสุข ให้เจริญก้าวหน้า ให้พัฒนาในธรรม แม้จะเป็นบุคคลเสมอกัน หรือเป็นมารดาบิดาครูอาจารย์ ตลอดทั้งพระสงฆ์ จนถึงพระพุทธเจ้า ก็นับว่าเป็นเพื่อน แต่เป็นเพื่อนใจดี หรือเพื่อนมีธรรม เรียกว่า กัลยาณมิตร แปลว่า มิตรดีงาม
       กัลยาณมิตรมีคุณสมบัติที่เรียกว่า กัลยาณมิตรธรรม หรือธรรมของกัลยาณมิตร ๗ ประการ


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=เพื่อน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่