สาเหตุที่รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯคุ้มครองการล๊อบบี้

หลายคนอาจจะมีมุมมองว่าการล๊อบบี้นั้นเป็นเรื่องที่เลวร้าย หรือมองว่าการเมืองสหรัฐฯถูกครอบงำด้วยนายทุน ผมเลยลองศึกษาเรื่องนี้ให้ลึกลงไปดูแล้วเขียนออกมาเป็นบทความครับ

ที่มา: http://www.fractionofdot.com/?p=151
การล็อบบี้กับประชาธิปไตย (1): ทำไมสิทธิการล็อบบี้ถึงได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ

“รัฐสภาจะไม่ออกกฎหมายตั้งศาสนาของรัฐ หรือห้ามเสรีภาพในการนับถือศาสนา หรือห้ามเสรีภาพในการแสดงออก หรือห้ามเสรีภาพสื่อ หรือห้ามสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบและยื่นเรื่องต่อรัฐบาลให้แก้ไขความทุกข์ยาก” การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ข้อที่ 1

รัฐธรรมนูญสหรัฐฯคุ้มครองสิทธิที่จะยื่นเรื่องต่อรัฐบาลเพื่อให้แก้ไขความทุกข์ยาก กล่าวคือรัฐบาลสหรัฐฯคุ้มครองสิทธิที่จะกดดันรัฐบาลหรือ “ล็อบบี้” หากไม่มีฝ่ายต่างๆที่ขัดแย้งกันมาแสดงผลประโยชน์ของตนต่อรัฐบาลแล้วรัฐบาลก็ไม่สามารถที่จะตอบสนองต่อสังคมได้ การล็อบบี้เป็นการกดดันรัฐบาลเพื่อให้ดำเนินนโยบายสาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำโดยผู้คนจากทุกเฉดอุดมการณ์ทางการเมืองและทุกประเด็นนโยบาย ตั้งแต่ภาคธุรกิจสาธารณสุข ภาคการเงิน ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ภาคธุรกิจพลังงานฟอสซิล ภาคธุรกิจพลังงานสะอาด นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหวสิทธิสัตว์ นักเคลื่อนไหวสิทธิทางเพศสภาพ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงสหภาพแรงงานและกลุ่มอื่นๆอีกมากมาย ทุกกลุ่มผลประโยชน์ต่างก็สื่อสารมุมมองเรื่องราวของตัวเองสู่รัฐบาลและสู่สาธารณะอยู่ตลอด

มีอยู่อย่างน้อยสองเหตุผลที่การล็อบบี้มีความสำคัญกับสังคมเสรี ดังนี้

1. ในสังคมเสรีนั้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่าผลประโยชน์ส่วนรวมเพียงหนึ่งเดียว ความขัดแย้งและความแตกต่างทางผลประโยชน์ ความคิด และความปรารถนา เป็นราคาของเสรีภาพ[1] ความคิดที่ว่าถ้าไม่มีล็อบบี้ยิสต์แล้วรัฐบาลจะสามารถตอบสนองต่อเจตน์จำนงค์ของประชาชนได้นั้นไม่จริง ความต้องการของกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชนนั้นสามารถไปถึงรัฐบาลได้ด้วยการล็อบบี้ ในสังคมประชาธิปไตยประชาชนจะต้องตั้งใจมีส่วนร่วมทางการเมืองและแสดงผลประโยชน์ของตนเองอย่างมียุทธศาสตร์ รัฐบาลสมัยใหม่นั้นต้องตอบสนองต่อประเด็นปัญหาต่างๆนับไม่ถ้วน เสียงของกลุ่มผลประโยชน์ที่มียุทธศาสตร์ดีกว่า มีการบริหารจัดการที่ดีกว่า มีความเข้าใจระบบขั้นตอนกระบวนการออกกฎหมายและกลไกรัฐที่ดีกว่า มีข้อเสนอที่น่าเชื่อถือมากกว่า และมีพันธมิตรของกลุ่มที่มีผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่า จะได้รับการพิจารณาก่อน

2. นโยบายสาธารณะมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง เราอาจจะมีคำตอบที่ชัดเจนถึงแต่ละประเด็น หลายคนมีคำตอบที่ชัดเจนว่าอยากให้นโยบายสาธารณะเป็นอย่างไรเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ และหลายคนมีอคติว่าผลประโยชน์ของตนเองใกล้เคียงกับผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคมหรือของประเทศมากที่สุด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องตอบสนองต่อกลุ่มคนที่หลากหลายนับไม่ถ้วน และไม่มีคำตอบง่ายๆที่จะทำให้คนส่วนมากพอใจแล้วยังคงรักษาอะไรที่พอจะคล้ายคลึงกับวิสัยทัศน์ระยะยาวเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของประเทศได้ รัฐบาลไม่สามารถตัดสินใจเพียงบนพื้นฐานของมุมมองเดียว หรืองานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ เพียงชิ้นเดียวได้ รัฐบาลจำเป็นต้องมีล็อบบี้ยิสต์เพื่อรวบรวมและไตร่ตรองผลประโยชน์ของประชาชนที่หลากหลายและตอบสนองต่อเจตน์จำนงค์ของประชาชนที่กระจัดกระจาย ประชาชนกลุ่มที่ไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองมากพอหรือไม่มียุทธศาสตร์ที่ดีพอก็จะแพ้ กลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่มีพันธมิตรมากพอเพราะมีผลประโยชน์ร่วมกันกับคนเพียงไม่มีกลุ่มก็จะแพ้ให้กับกลุ่มผลประโยชน์ที่มีพันธมิตรมากกว่าเพราะมีผลประโยชน์ร่วมกับกลุ่มคนในสังคมที่มากกว่า นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการชนะที่กลุ่มผลประโยชน์จะต้องมีคำอธิบายที่น่าเชื่อถือต่อสังคมและต่อรัฐบาลว่าผลประโยชน์ต่อกลุ่มตนมีร่วมกับผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างไร

การล็อบบี้ในสหรัฐฯถูกกำกับโดยกฎหมาย Lobbying Disclosure Act (1995)[2] เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการล็อบบี้มีความโปร่งใส มีการรายงานกิจกรรมการล็อบบี้ และมีการจดทะเบียนล็อบบี้ยิสต์

ในบทความแรกของบทความชุดนี้พูดถึงว่าทำไมการล็อบบี้ถึงสำคัญกับประชาธิปไตยโดยหลักการ อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง กลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มอาจจะมีอำนาจมากเกินไปจนส่งผลให้สาธารณะเสียประโยชน์ ซึ่งเราจะพูดถึงกันในบทความต่อไป

บทความในชุด การล็อบบี้กับประชาธิปไตย

1. ทำไมการล็อบบี้ถึงได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ
2. กลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มมีอำนาจมากเกินไปหรือไม่
3. 8 สนามรบในกระบวนการรัฐสภา (Identifying Leverage Points)
4. 10 เทคนิคการสร้างพันธมิตรทางการเมือง (Building Coalitions)
5. 7 กฎการจัดการข้อมูลและวางกรอบการถกเถียง (Framing Arguments)


[1] ดูใน Federalist Paper ฉบับที่ 10 http://avalon.law.yale.edu/18th_century/fed10.asp.
[2] https://www.venable.com/lobbying-disclosure-act-of-1995-a-summary-and-overview-for-associations-01-01-1999/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่