พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ตรัสโดยพระพุทธเจ้า

วันก่อนมีคนมาถามว่า ทำไมบทสังฆคุณถึงยาวจัง ก็มีคำตอบกันไปแล้ว
ผมก็เลยยกพุทธพจน์มาอีกครั้ง เพื่อเป็นมงคลในวันพระ

อนึ่งก่อนที่เราจะสวดบทอิติปิโสฯ นี่ เราพึงทำจิตให้ตั้งมั่นในคุณความดีของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
ปิติความอิ่มเอิบใจจะท่วมท้น ตอนนั้น การสวดมนต์ของเราจะเป็นสมาธิ ละกิเลสตัณหาอุปาทานได้ชั่วคราว
นับเป็นความดีอันยิ่งใหญ่ อนุโมทนาสาธุ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

             [๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล ภิกษุรู้ชัดว่า อภิชฌาวิสมโลภะ พยาบาท
โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเฐยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ
อติมานะ มทะ ปมาทะ เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตด้วยประการฉะนี้แล้ว ก็ละอภิชฌาวิสมโลภะ
พยาบาท โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเฐยยะ
ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ อันเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตเสียได้แล้ว

ในกาลนั้น เธอเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระพุทธเจ้าว่า
แม้เพราะเหตุนี้ๆพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ
เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม เป็นผู้ประกอบด้วยความ

เลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระธรรมว่า
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเอง
ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน (แล)

เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระสงฆ์ว่า
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค
ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง คือ คู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนั้น เป็นผู้ควรรับเครื่องสักการะ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรทักขิณา
เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

ก็เพราะเหตุที่ส่วนแห่งกิเลสนั้นๆ อันภิกษุนั้นสละได้แล้ว คายแล้ว ปล่อยแล้ว ละเสียแล้ว สละคืนแล้ว
เธอย่อมได้ความรู้แจ้งอรรถ ย่อมได้ความรู้แจ้งธรรม ย่อมได้ปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรมว่า
เราเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระพุทธเจ้า เราเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส
อันแน่วแน่ในพระธรรม เราเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระสงฆ์ และเพราะส่วนแห่งกิเลสนั้นๆ
อันเราสละได้แล้ว คายแล้ว ปล่อยแล้ว ละเสียแล้ว สละคืนแล้ว
ดังนี้ เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น.


เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  บรรทัดที่ ๑๑๖๑ - ๑๑๘๒.  หน้าที่  ๔๙.
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=1161&Z=1182&pagebreak=0

ตอนท้ายนี้ผมขอยกอรรถกถาบางส่วนจากพระสูตรนี้ ในเรื่องอุปกิเลส
เพราะเห็นว่าดีมีประโยชน์

ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงอุปกิเลส จึงทรงแสดงโลภะไว้เป็นอันดับแรก.
               ตอบว่า เพราะโลภะนั้นเกิดขึ้นก่อนเพื่อน.
               จริงอยู่ เมื่อสัตว์ทั้งปวงเกิดขึ้นในภพใดภพหนึ่งโดยที่สุดแม้ในภูมิสุทธาวาส
โลภะย่อมเกิดขึ้นก่อนเพื่อนด้วยอำนาจความยินดีในภพ
ต่อจากนั้น อุปกิเลสนอกนี้มีพยาบาทเป็นต้น ย่อมเกิดตามควรแก่ปัจจัยเพราะอาศัยปัจจัยที่ควรแก่ตน
และไม่ใช่แก่อุปกิเลสของจิต ๑๖ อย่างนี้เท่านั้นเกิดขึ้น
แต่พึงทราบว่าโดยนัยนี้ ย่อมเป็นอันรวมเอากิเลสแม้ทั้งหมดทีเดียว.

               [๙๔] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ด้วยคำอธิบายเพียงเท่านี้แล้ว
บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงความผ่องใส จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ส โข โส ภิกฺขเว ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิติ วิทิตฺวา แปลว่า รู้อย่างนี้.
               บทว่า ปชหติ ความว่า ละ (อุปกิเลสแห่งจิต) ด้วยอริยมรรคด้วยอำนาจแห่งสมุจเฉทปหาน.
               ในบทว่า ปชหติ นั้น พึงทราบการละมีอยู่ ๒ อย่าง คือ (ละ) ตามลำดับกิเลส และตามลำดับมรรค.
(จะอธิบายการละ) ตามลำดับกิเลสก่อน.
               กิเลส ๖ เหล่านี้คือ อภิชฌาวิสมโลภะ (ความโลภโดยไม่ชอบธรรมคือความเพ่งเล็ง) ถัมภะ (หัวดื้อ)
สารัมภะ (แข่งดี) มานะ (ถือตัว) อติมานะ (ดูหมิ่นท่าน) มทะ (มัวเมา) ย่อมละได้ด้วยอรหัตตมรรค.
               กิเลส ๔ เหล่านี้คือ พยาปาทะ (ความพยาบาท) โกธะ (ความโกรธ) อุปนาหะ (ความผูกโกรธไว้)
ปมาทะ (เลินเล่อ) ย่อมละด้วยอนาคามิมรรค.
               กิเลส ๖ เหล่านี้คือ มักขะ (ลบหลู่คุณท่าน) ปลาสะ (ตีเสมอ) อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ตระหนี่)
มายา (มารยา, เจ้าเล่ห์) สาเถยยะ (โอ้อวด) ย่อมละด้วยโสดาปัตติมรรค.
               ส่วนการละตามลำดับมรรคจะอธิบายดังต่อไปนี้:-
               กิเลส ๖ เหล่านี้ คือ มักขะ (ลบหลู่คุณท่าน) ปลาสะ (ตีเสมอ) อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ตระหนี่)
มายา (มารยา, เจ้าเล่ห์) สาเถยยะ (โอ้อวด) ย่อมละด้วยโสดาปัตติมรรค.
               กิเลส ๔ เหล่านี้ คือ พยาปาทะ (ความพยาบาท) โกธะ (ความโกรธ) อุปนาหะ (ความผูกโกรธไว้)
ปมาทะ (เลินเล่อ) ย่อมละด้วยอนาคามิมรรค.
               กิเลส ๖ เหล่านี้คือ อภิชฌาวิสมโลภะ (ความโลภโดยไม่ชอบธรรมคือความเพ่งเล็ง) ถัมภะ (หัวดื้อ)
สารัมภะ (แข่งดี) มานะ (ถือตัว) อติมานะ (ดูหมิ่นท่าน) มทะ (มัวเมา) ย่อมละด้วยอรหัตตมรรค.
               แต่ในที่นี้กิเลสเหล่านี้จะถูกฆ่าด้วยโสดาปัตติมรรค หรือถูกฆ่าด้วยมรรคที่เหลือก็ตาม ถึงกระนั้นพึงทราบว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำเป็นต้นว่า บุคคลย่อมละอภิชฌาวิสมโลภะอันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต ดังนี้
ทรงหมายเอาการละด้วยอนาคามิมรรคนั่นเอง.
               นี้เป็นการเกิด (แห่งผล) อันมาแล้วตามมรรคที่สืบต่อกันในที่นี้.
               ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงมรรคที่ ๔ ไว้ในขั้นสูงสุดแล้ว
การเกิดแห่งผลนั้นจึงจะถูก อุปกิเลสมีวิสมโลภะเป็นต้นที่เหลือจากอุปกิเลสที่ละได้แล้วด้วยตติยมรรค
ย่อมเป็นอันละได้ด้วยมรรคที่ ๔ นั้น.
กิเลสที่เหลือย่อมเป็นอันละได้ด้วยมรรคที่ ๔ นี้เช่นกัน. เพราะว่า อุปกิเลสมีมักขะเป็นต้นแม้เหล่าใดย่อมละได้ด้วยโสดาปัตติมรรค
อุปกิเลสแม้เหล่านั้นย่อมเป็นอันละได้เด็ดขาดแล้วด้วยอนาคามิมรรคนั่นแล
เพราะจิตอันเป็นสมุฏฐานแห่งอุปกิเลสมีมักขะเป็นต้นนั้นยังละไม่ได้โดยเด็ดขาด (ด้วยโสดาปัตติมรรค).
.....
เนื่องจากอรรถกถานี้ยาวมากแต่ประโยชน์สูง ขออนุญาตแนะนำท่านผู้มีเวลาพึงศึกษาต่อได้ที่
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=91

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่