"การเอาสติมาระลึกที่ลมหายใจ" เพียงพอไหม "จะทำให้แจ้งนิพพาน"

ถาม : การหมั่นเอาสติมาระลึกถึงลมหายใจเป็นประจำทำเพียงเท่านี้ จะเพียงพอต่อ
การทำให้แจ้งนิพพานหรือไม่?

ตอบ : เพียงการหมั่นเอาสติมาคอยระลึกรู้อยู่ที่ลมหายใจ (อานาปานสติ) เท่านี้ก็เพียงพอ
ต่อการทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งได้... เพราะการเอาสติมาระลึกรู้ที่ลมหายใจนั้นจะทำให้
สติปัฏฐาน มรรคมีองค์ 8 และโพชฌงค์ 7 บริบูรณ์ พระพุทธองค์ทรงตรัสบอกทางที่ง่าย
แก่สาวกผู้เดินตามแล้ว.. ผมขออธิบายว่า "การระลึกรู้ลมหายใจ" จะทำให้แจ้งนิพพานได้อย่างไร
ตามคำสอนของพระพุทธองค์ ดังนี้.

....
...
..

สมมุติว่า

หญิงสาวคนหนึ่ง เกิดในครอบครัวฐานะปานกลาง   มีวิถีชีวิตเหมือนคนอื่นทั่วไป
คือ เรียนจบมา ก็หางานทำ  จนเธอทำงานที่บริษัทฯ แห่งหนึ่ง เธอใช้ชีวิตด้วยการ
ตื่นเช้าขึ้นมาทำงาน ตอนเย็นเลิกงานก็กลับบ้าน ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเธอ คือ
การถูกนินทาจากเพื่อนร่วมงาน และถูกด่าจากเจ้านาย คนอื่นไม่เห็นความสำคัญของเธอ ...
ทุกครั้งที่เธอได้ยินคนนินทา เธอจะกลับไปคิดมากและแอบร้องไห้ ทุกครั้ง ทั้งๆที่เธอ
ก็ไม่เคยไปเบียดเบียนผู้อื่น และเป็นคนมีน้ำใจแบ่งบันให้คนอื่นเสมอ จนมีคำถามขึ้น
ในใจว่า "เราเป็นคนดี ไม่เคยเบียดเบียน หรือให้ร้ายใคร ทำไมยังต้องทุกข์อย่างนี้"  
เธอเก็บข้อสงสัยนี้ไว้...

วันหนึ่งเธอไปร้านขายหนังสือ หยิบหนังสือธรรมะ มาลองอ่านดู จับใจความว่า
"การปฏิบัติธรรม จะทำให้พ้นทุกข์ได้ "  จากวันนั้นเธอเริ่มเข้าศึกษาธรรม เมื่อถึงวันหยุด
เธอมักจะไปปฏิบัติธรรม ถือศีล และได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติจากกัลยาณมิตร
ในการปฏิบัติธรรม...  เธอเพียรปฏิบัติ อยู่ทั้งตื่นมาตอนเช้า และก่อนจะนอนเธอจะสวดมนต์นั่งสมาธิ
อยู่เกือบทุกวัน ตลอด 8 ปีไม่ได้ขาดเลยซักวัน.. จนเธอเริ่มท้อใจว่าที่ผ่านมาเธอเพียรปฏิบัติมา
ทำไมยังทุกข์อยู่ จึงคิดจะเลิกปฏิบัติไป กลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมก่อนที่ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรม
เพราะคิดว่าตนเองยังวาสนายังไม่ถึง จะนิพพานในชาตินี้ ...

วันหนึ่งเธอเดินเข้าร้านหนังสือ เพื่อจะซื้อนิตยสาร ก็เหลือบไปเห็นหนังสือธรรมะเล่มหนึ่ง
เธอจึงหยิบขึ้นมาดู ในหนังสือ เป็นพระสูตร และเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าซะส่วนใหญ่
เธอจึงเริ่มกลับมาสนใจในธรรมะอีกครั้งแล้วอยากรู้ด้วยว่า "พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร"
จะด้วยกรรมจัดสรร หรืออะไรก็ตามเธอกลับมาปฏิบัติอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เธอเอา "อานาปานสติ"
ที่ได้อ่านในพระสูตรมาปฏิบัติ คราวนี้มาดูกันว่าเธอปฏิบัติอย่างไร มีผลเป็นอย่างไร ดังนี้

..............................................

สิ่งที่เธอน้อมนำมาปฏิบัติ คือ อานาปานสติ และให้ความสำคัญกับ มรรคมีองค์8 คอยสำรวจว่า
อานาปานสติที่เธอปฏิบัตินั้นถูกต้องอยู่ในทางมรรค8 หรือไม่เธอปักใจลงในคำสอนของพระพุทธองค์  
ไม่สงสัยว่าสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ เมื่อปฏิบัติไปแล้วเธอเชื่อว่า ต้องถึงความพ้นทุกข์แน่
เธอจึงละ"วิจิกิจฉา" ลงได้ชั่วคราว
เธอเชื่ออย่างนี้ว่ามีเพียงการปฏิบัติในทางมรรคมีองค์8 เท่านั้น จะทำให้เธอพ้นจากทุกข์ ไม่ใช่การวอนขอ
ต่อสิ่งสิทธิ์ใด เธอจึงละ"สีลัพพตปรามาส" ลงได้ชั่วคราว
เหลือแต่ปฏิบัติเพื่อให้เห็นว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา ดังในสังโยชน์ข้อ "สักกายทิฏฐิ" การปฏิบัติอานาปานสติ
มาระลึกรู้ที่ลมหายใจนี้ จะทำให้ละจาก สังโยชน์ทั้ง 3 นี้ได้อย่างไร

อธิบายตามนี้ครับ
.....
....
....
..


วันแรกของการปฏิบัติ
ก่อนเธอปฏิบัติ "อานาปานสติ" เธอสำรวจตนเอง ว่าเธอมีพร้อมในองค์มรรคข้อใดบ้าง..
พอสำรวจดูแล้วก็พบว่า เธอมีจิตไม่เบียดเบียนผู้อื่น รักษาศีล5 มาโดยตลอด กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เธอบริสุทธิ์มาแต่เดิมแล้ว
การรักษาศีลของเธอนั้น มรรคข้อ "สัมมากัมมันตะ" และข้อ "สัมมาวาจา" จึงมีอย่างเต็มที่แล้ว
การประกอบอาชีพของเธอ ไม่เป็นมิจฉาอาชีวะ มรรคข้อ "สัมมาอาชีวะ" จึงมีเต็มที่แล้ว
เธอเป็นผู้มีสัมมาทิฐิเบื้องต้น เชื่อเรื่องกรรม เรื่องตายแล้วไม่สูญ ฯลฯ แม้จะยังไม่รู้ว่าอะไรคือ ทุกข์ อะไรคือ อริยสัจ ก็ตาม
แต่เมื่อเธอเริ่มปฏิบัติ อานาปานสติไป จะค่อยๆเห็นเองว่า อะไรคือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ และทางดับทุกข์


..........................................

เมื่อสำรวจถึงสิ่งที่มี และยังไม่มี เธอจึงเริ่มปฏิบัติโดยทำความพอใจในการปฏิบัติ
โดยอาศัย ความตั้งใจเพียรปฏิบัติ จากการได้อ่านพระสูตรนี้

"หนัง เอ็น กระดูก จักเหลืออยู่  เนื้อและเลือดในสรีระ จักเหือดแห้ง ไปก็ตามที
ประโยชน์ใด อันบุคคลจะบรรลุได้ด้วยกำลัง ด้วยความเพียร ด้วยความบากบั่น ของบุรุษ
ถ้ายังไม่บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว จักหยุดความเพียรเสีย เป็นไม่มี"



..........................................

เริ่มปฏิบัติ เธอทำความรู้ลมดังพระสูตรนี้
" มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก "
" เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว   เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว "
" เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น  เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น "



เธอตั้งใจว่าเมื่อไหร่มีสติ เธอจะเอาจิตมาเกาะที่ลมหายใจนี้ ให้ได้มากที่สุด จะไม่เกี่ยงว่าเวลานั้นจะเป็นเวลาอะไร
พยายามไม่หลงไปกับกาม(รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส )ทั้งหลาย ไม่ว่าจะตอนดูทีวี ดูซีรีย์เกาหลี ฟังเพลง
ทานอาหาร หรือฯลฯ  ก็จะเอาสติมารู้ลมเสมอ แม้จะทำให้ความสุขที่เกิดจากกามต่างๆน้อยลงก็ตาม
เมื่อเธอได้ยินคนนินทาให้ร้าย หรือ เจ้านายดุด่าเธอ เธอก็ทำพยายามทำจิตไม่ให้พยายาท ให้อภัย แล้วเอา
สติมารู้ที่ลมเป็นที่เกาะอยู่เสมอ เธอก็เพียรพยายามปฏิบัติอยู่ตลอดทั้งวัน...  
ด้วยอาการอย่างนี้ มรรคข้อ "สัมมาสังกัปปะ" จึงมีอยู่เต็มที่
อีกทั้ง
สติสัมโพชฌงค์
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
และ วิริยสัมโพชฌงค์
ก็ถึงความเต็มรอบด้วยการปฏิบัติ เอาสติมาระลึกที่ลม ใคร่ครวญที่ลม ด้วยความเพียรอย่างยิ่งนี้

...................
ภิกษุทั้งหลาย !
ความดำริในการออกจากกาม  ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริในการไม่เบียดเบียน
นี้เราเรียกว่า สัมมาสังกัปปะ.

...................

หญิงสาวปฏิบัติด้วยการเอาสติมารู้ที่ลมหายใจเสมอๆ สติที่เกิดยิ่งบ่อยขึ้นถี่ขึ้น เมื่อเธอเกิดความคิดที่เป็นอกุศล โกรธ ขัดเคือง
เธอจะพยายามละอารมณ์นั้นที่เกิดขึ้น มาอยู่ที่ลมหายใจซึ่งเป็นที่เกาะของสติ อารมณ์ที่เป็นอกุศลนั้นก็ดับไป จิตมาเกาะที่ลมหายใจ
มีผลให้เป็นอุเบกขา การที่จิตเป็นอุเบกขา นั้นเป็นจิตที่เป็นกุศล...ด้วยอาการที่เธอเพียรอย่างนี้  "สัมมาวายามะ"จึงมีอยู่เต็มที่
อีกทั้งเมื่อเพียรอยู่อย่างนี้ ปิติไม่อิงอามิสย่อมเกิดขึ้นทำให้ "ปีติสัมโพชฌงค์" ถึงความเต็มรอบ
เมื่อจิตของเธอเกาะที่ลมหายใจ(กาย) ปิติสัมโพชฌงค์เกิด ความสงบระงับของกายและจิต ก็เกิดทำให้ "ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์" ถึงความเต็มรอบ

...................
ภิกษุทั้งหลาย !
- ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้
เพื่อความไม่บังเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย อันเป็นบาป ที่ยังไม่ได้บังเกิดขึ้น;
- ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้
เพื่อการละเสียซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอัน เป็นบาป ที่บังเกิดขึ้นแล้ว;
- ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้
เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่ได้บังเกิด;
- ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้
เพื่อความยั่งยืน ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้นความไพบูลย์ ความเจริญ
ความเต็มรอบแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นแล้ว,นี้เราเรียกว่า สัมมาวายามะ.

...................

เธอเฝ้าระลึกรู้ถึงหายใจ จนเป็นที่เกาะของจิต เมื่อไหร่จิตจะเกิดกุศล หรือ อกุศล เธอใช้ความเพียรอย่างที่สุดเพื่อละอารมณ์นั้น
อารมณ์ที่โกรธเคือง หรือ ดีใจ ปิติก็ตาม เธอละอารมณ์นั้นไม่หยุด ความเพลินในอารมณ์ก็ดับ การเฝ้ารู้ลมหายใจนี้กล่าวได้ว่า
เธอได้ทำตามพระพุทธองค์แล้ว ดังนี้
....
...
..

ภิกษุนั้น รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
ย่อมไม่กำหนัดยินดี ในธรรมารมณ์ อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก
ย่อมไม่ขัดเคือง ในธรรมมารมณ์ อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง...

เป็นผู้อยู่ด้วยสติเป็นไปในกายอันตนเข้าไปตั้งไว้แล้ว
มีจิตหาประมาณมิได้ด้วย ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งธรรมอันเป็นบาปอกุศลทั้งหลายด้วย

ภิกษุนั้น เป็นผู้ละเสียได้แล้ว ซึ่งความยินดี และความยินร้ายอย่างนี้แล้ว
เสวยเวทนาใด ๆ อันเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม
ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ในเวทนานั้น ๆ
เมื่อภิกษุนั้น ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ ในเวทนานั้น ๆ
นันทิ (ความเพลิน) ในเวทนาทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมดับไป


เพราะความดับแห่งนันทิของภิกษุนั้น จึงมีความดับแห่งอุปาทาน
เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ
เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ
เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชาติชรามรณะ โสกะปริเทวะฯ จึงดับสิ้น
ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

...................



การที่หญิงสาวปฏิบัติ อานาปานสติ โดยการระลึกที่ลมหายใจนี้ เป็นการปฏิบัติสติปัฏฐาน
อาการอย่างนี้ทำให้  มรรคในข้อ "สัมมาสติ" จึงมีอยู่เต็มที่
เมื่อของเธอจิตที่จดจ่อที่ลมนั้น สติที่จดจ่อนั้นทำให้เกิดสมาธิ เป็น มรรคในข้อ "สัมมาสมาธิ" จึงมีอยู่เต็มที่
จิตตั้งมั่นเป็นขณะจากสติที่จดจ่อเพ่งเฉพาะ นี้ "สมาธิสัมโพชฌงค์" ก็ถึงความเต็มรอบ
เมื่อเกิดสมาธิสัมโพชฌงค์ มีผลให้จิตตั้งมั่น เป็นอุเบกขา "อุเบกขาสัมโพชฌงค์" ก็ถึงความเต็มรอบ


การที่เพียรเอาสติมาระลึกรู้ที่ลมหายใจ มรรคมีองค์ 8 สติปัฏฐาน โพชฌงค์ 7 ถึงพร้อม
จิตที่ตั้งมั่นนี้ จะเห็นสภาวะธรรมของขันธ์ 5 เป็นขณะๆ ดังนี้
จะเห็น
รูป.... ไม่เที่ยง , เป็นทุกข์, บังคับไม่ได้ , ว่างจากตัวตน
เวทนา.... ไม่เที่ยง , เป็นทุกข์, บังคับไม่ได้ , ว่างจากตัวตน
สัญญา.... ไม่เที่ยง , เป็นทุกข์, บังคับไม่ได้ , ว่างจากตัวตน
สังขาร....ไม่เที่ยง , เป็นทุกข์, บังคับไม่ได้ , ว่างจากตัวตน
วิญญาณ.... ไม่เที่ยง , เป็นทุกข์, บังคับไม่ได้ , ว่างจากตัวตน


เมื่อจิตตั้งมั่น เธอเห็น ความคิดที่เกิดขึ้นเอง ทั้งๆที่ไม่ได้ตั้งใจ  
จิตตั้งมั่น...เธอเห็นถึงสภาพธรรมทั้งหลาย อยู่เหนือการควบคุม บังคับบัญชา
จิตตั้งมั่น...เธอเห็นความไม่เที่ยงของขันธ์ เป็นของเกิด-ดับ
เห็นวงจรปฏิจจสมุปบาท ว่าไม่มีตัวตนอยู่ที่ไหน มีแค่ สิ่งหนึ่งเกิด-สิ่งหนึ่งดับ เพราะเหตุปัจจัย
เห็นกระบวนการนี้อยู่ซ้ำๆ จนจิตจะเห็นแจ้งถึงความว่าง "จากตัวตน" จนสุดท้ายจิตจะฟันธงเองเลยว่า
ทุกสรรพสิ่งในโลก ในจักวาล ว่างจากตัวตน เป็นของไม่เที่ยง เดินไปสู่ความดับเสมอ
ทำลายอนุสัยที่สำคัญว่า "เป็นเรา" "เป็นเขา" เป็นตัวเป็นตนลงได้... สักกายทิฐิ จึงถูกละไปด้วยเหตุนี้
หมดความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างถาวร... วิจิกิจฉาจึงถูกละไป
และไม่ข้อวัตรใด นอกเขตพระพุทธศาสนา จะทำให้พ้นทุกข์ได้จริง นอกจากหนทางนี้ คือ มรรคมีองค์8 ...  
สีลัพพตปรามาสจึงถูกละไป

สังโยชน์เบื้องต่ำ 3 ข้อจึงถูกละไปจากอนุสัยของจิต



หญิงสาวรู้แจ้งแล้วว่า ไม่สิ่งใดๆน่ายึดมั่น ให้เป็นของคงที่ เพราะทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลง แล้วไปสู่ความดับสลายทั้งสิ้น
สภาวะรอบข้างเธอจะเปลี่ยนแปลงไปซักเพียงใด ก็ไม่อาจพาใจเธอทุกข์มากได้ ... จะเสียงนินทา สรรเสริญ ก็เป็นเพียงผัสสะ
มากระทบ เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ไม่ไปมั่นหมายว่า เป็นตัวเรา



เธอเพียรปฏิบัติต่ออย่างนี้ เอาสติมาระลึกอยู่ที่ลมหายใจ จิตของเธอจะตั้งมั่นเป็นขณะนั้น เห็นสภาพธรรมอย่างนี้อยู่
ถึงความไม่เที่ยง เป็นของเกิด-ดับ บังคับไม่ได้ ..โดยองค์แห่งโพชฌงค์ นั้นซึ่งอาศัย ความวิเวก ความจางคลาย
และความดับ นั้นน้อมไปเพื่อสละคืน จนถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือ นิพพาน

....................................................................
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่