ปัญญาญาณ

http://intuitionflow.blogspot.com/2005/06/posttoday.html


. . . ในปัจจุบันพบว่ามีเรื่องอะไรๆใหม่ๆอีกมากมายที่ช่วยทำให้ชีวิตนี้มีพลัง และหนึ่งในนั้นก็คือสิ่งที่เรียกกันว่า “ปัญญาญาณ” ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่าเป็นสิ่งที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตของเราได้อย่างลงตัว

ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ผู้แปลและเรียบเรียงหนังสือเรื่อง “Intuition ปัญญาญาณ” ซึ่งแต่งโดยโอโช่ ปราชญ์ชาวอินเดียผู้มีชื่อเสียง ผู้เป็นที่สามารถนำศาสตร์สมัยใหม่เข้ามาผสมผสานกับการฝึกสมาธิได้อย่างกลมกลืน จนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นภายในตัวผู้ปฏิบัติได้ โอโช่เป็นผู้หนึ่งที่มุ่งเน้นการทำสมาธิแบบตื่นตัว กระโดดโลดเต้น แทนการทำสมาธิแบบนั่งนิ่งอย่างที่เราคุ้นเคย

อาจารย์ประพนธ์ อธิบายว่า ปัญญาญาณ บางคนก็เรียกว่า ญาณทัศนะ หรือ การรู้แบบปิ๊งแว้บ คือเป็นการรู้ที่ผุดขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อใจเราสงบนิ่ง ผ่อนคลาย สบายใจ มีสมาธิ ไม่สับสนวุ่นวายไปกับสิ่งต่างๆที่รุมเร้าเข้ามาในชีวิต โดยได้อธิบายโยงไปยังสิ่งที่โอโช่พูดไว้ว่าชีวิตที่สมบูรณ์และสมดุลนั้น จะต้องเป็นการก้าวไปบนบันไดทั้งสามขั้น คือ

ขั้นที่ 1 เป็นเรื่องสัญชาตญาณ (Instinct) ซึ่งมีอยู่แล้วในทุกคน เช่น เวลามีภัยมาถึงตัวก็รู้จักหลบหลีกอย่างนี้ เป็นต้น ซึ่งหากเรามีสัญชาตญาณอย่างเดียวเราก็ไม่ต่างจากสัตว์ เพราะฉะนั้นเราต้องพัฒนาสู่ขั้นที่ 2 ต่อไป
ขั้นที่ 2 เป็นเรื่องปรีชาญาณ (Intellect) ได้แก่ การรับรู้ เข้าใจ รู้จักตัดสินใจ รู้จักคิดค้น โดยใช้สมองในการวิเคราะห์ เมื่อมีส่วนที่เป็นจิตสำนึก ส่วนนี้ทำให้เราแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความ ว่าเราเป็นมนุษย์จนกว่าจะถึงขั้นที่ 3
ขั้นที่ 3 เป็นเรื่องปัญญาญาณ (Intuition) เป็นการเข้าถึงสภาวะจิตใจที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ปัญญาญาณเป็นส่วนที่เป็นจิตเหนือสำนึก เป็นเรื่องของการหยั่งรู้ เป็นการรับรู้แบบปิ๊งแว้บ เป็นการรู้ที่ก้าวข้ามตรรกะและเหตุผล

อย่างไรก็ตามทั้ง 3 สิ่งนี้มีความเชื่อมโยงกัน กล่าวคือ ปรีชาญาณเป็นสะพานที่จะทำให้คนก้าวไปสู่ปัญญาญาณได้ แต่คนหลายคนกลับคิดว่ามาถึงขั้นนี้ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งถ้าหากเขาพยายามต่อไปอีกขั้นเขาก็จะสามารถเข้าถึงสภาวะของจิตที่แท้จริงได้ และจะส่งผลดีต่อการดำเนินชีวิตประจำวันไม่น้อยทีเดียว ในเรื่องปัญญาญาณที่สามารถนำมาใช้งานได้นั้น อาจารย์ประพนธ์ได้เล่าตัวอย่างของ ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา นักวิทยาศาสตร์ของไทยที่ได้ไปทำงานที่องค์การนาซ่า ที่ต้องคิดเรื่องชิ้นส่วนของยานไวกิ้งที่จะลงไปสำรวจดาวอังคาร คิดอยู่นานหลายวันแต่ก็คิดไม่ออกแม้จะพยายามครุ่นคิดอย่างถึงที่สุดแล้วก็ตาม จนในที่สุด ดร.อาจองได้หยุดพัก ไม่คิด แล้วหันไปฝึกสมาธิชั่วขณะหนึ่ง เนื่องจากปกติท่านเป็นคนที่ชอบทำสมาธิอยู่แล้ว และในทันใดนั้นเองก็เกิดปิ๊งแว้บขึ้นมาได้คำตอบของส่วนประกอบของยานไวกิ้งนั้นผุดขึ้นมาในใจ ซึ่งท่านก็สามารถนำไปออกแบบและใช้งานได้เป็นผลสำเร็จ

“ปัญญาญาณเป็นสิ่งที่เราจับต้องไม่ได้ แต่อย่างในกรณีปิ๊งแว้บของ ดร.อาจอง น่าจะเป็นตัวอย่างให้เราได้เรียนรู้ว่า ปัญญาญาณเป็นพลังอันมหาศาลที่มีอยู่ในตัวเรา แต่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราได้ใช้สมอง (intellect) มาอย่างเต็มที่ จนในที่สุดก็ได้ปล่อยวาง จิตสงบ จิตละเอียด จนได้คำตอบที่แสวงหา มันเป็นคำตอบที่มาจากอนาคต ไม่ใช่จากอดีตอย่างที่เราคุ้นเคยกัน” อาจารย์ประพนธ์กล่าว

. . . อาจารย์ประพนธ์ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เราสะสมเก็บสะสมไว้ตั่งแต่ในอดีต อาจทำให้จิตใต้สำนึกของเราเต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่ดี แต่ถ้าหากเราเห็นความสำคัญของพลังแห่งปัจจุบัน เราจะหันมาเก็บแต่สิ่งดีๆ มองหาสิ่งที่เป็นความสำเร็จ ความภูมิใจ เพราะมันจะช่วยเสริมแรงจิตใต้สำนึกของเราให้มีพลัง ทำให้เรากล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ เพราะมีแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นภายในตัวเราเอง นอกจากนี้เวลาที่มีประสบกับปัญหาหรือว่ามีความทุกข์ ก็จะนิ่งพอที่จะพิจารณาว่าทุกข์เพราะอะไร ทุกข์แล้วรู้สึกอย่างไร ในยามที่มีความสุข ก็รู้ว่าสุขนี้เป็นอย่างไร เกิดจากอะไร โดยที่ไม่เอาใจเข้าไปยึดในสุขและทุกข์นั้น ใจที่เป็นกลาง ใจที่ปล่อยวาง จะทำให้เกิดได้สิ่งที่เรียกว่า “ปัญญาญาณ” นี้บ่อยยิ่งขึ้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่