......อนุปาทาปรินิพพาน....

กระทู้สนทนา
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕
อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต



ปุริสคติสูตร
             [๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงปุริสคติ ๗ ประการและอนุปาทา
ปรินิพพาน เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟัง จงใส่ใจให้ดีเราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูล
รับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปุริสคติ
๗ ประการเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติอย่างนี้ คือ ได้ความวาง
เฉยว่า ถ้ากรรมในอดีตไม่ได้มีแล้วไซร้ อัตตภาพในปัจจุบันก็ไม่พึงมีแก่เรา ถ้า
กรรมในปัจจุบันไม่มีไซร้ อัตตภาพในอนาคตก็จักไม่มีแก่เรา เบญจขันธ์ที่กำลัง
เป็นอยู่ ที่เป็นมาแล้ว เราย่อมละได้ เธอย่อมไม่กำหนัดในเบญจขันธ์อันเป็น
อดีต ไม่ข้องในเบญจขันธ์อันเป็นอนาคต ย่อมพิจารณาเห็นบทอันสงบระงับ
อย่างยิ่งซึ่งมีอยู่ ด้วยปัญญาอันชอบ ก็บทนั้นแล ภิกษุนั้นยังทำให้แจ้งไม่ได้โดย
อาการทั้งปวง อนุสัยคือมานะ อนุสัยคือภวราคะ อนุสัยคืออวิชชา เธอก็ยังละ
ไม่ได้โดยอาการทั้งปวง เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป ภิกษุนั้นย่อม
ปรินิพพานในระหว่าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติ
อย่างนี้ คือ ได้ความวางเฉยว่า ถ้ากรรมในอดีตไม่มีแล้วไซร้ ... เบญจขันธ์
ที่กำลังเป็นอยู่ ที่เป็นมาแล้ว เราย่อมละได้ เธอย่อมไม่กำหนัดในเบญจขันธ์
อันเป็นอดีต ... ย่อมพิจารณาเห็นบทอันสงบระงับอย่างยิ่งซึ่งมีอยู่ ด้วยปัญญาอัน
ชอบ ก็บทนั้นแล ภิกษุนั้นยังทำให้แจ้งไม่ได้โดยอาการทั้งปวง อนุสัยคือมานะ ...
อนุสัยคืออวิชชา เธอก็ยังละไม่ได้โดยอาการทั้งปวง เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์
๕ สิ้นไป เธอย่อมปรินิพพานในระหว่าง เปรียบเหมือนเมื่อนายช่างตีแผ่นเหล็ก
ที่ถูกเผาอยู่ตลอดวัน สะเก็ดร่อนออกแล้วดับไป ฉะนั้น ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ฯลฯ เพราะ
โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เธอย่อมปรินิพพานในระหว่าง เปรียบเหมือนเมื่อ
นายช่างตีแผ่นเหล็กที่ถูกเผาอยู่ตลอดวัน สะเก็ดร่อนลอยขึ้นไป ตกยังไม่ถึงพื้น
ก็ดับ ฉะนั้น ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ฯลฯ เพราะ
โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เธอย่อมปรินิพพานในเมื่ออายุเลยกึ่ง เปรียบเหมือน
เมื่อนายช่างตีแผ่นเหล็กที่ถูกเผาอยู่ตลอดวัน สะเก็ดร่อนลอยขึ้นไป ตกถึงพื้น
แล้วก็ดับ ฉะนั้น ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ฯลฯ เพราะ
โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เธอย่อมปรินิพพานโดยไม่ต้องใช้ความเพียรนัก
เปรียบเหมือนเมื่อนายช่างตีแผ่นเหล็กที่ถูกเผาอยู่ตลอดวัน สะเก็ดร่อนขึ้นไปแล้ว
ตกลงที่กองหญ้าหรือกองไม้เล็กๆ สะเก็ดนั้นพึงให้ไฟและควันเกิดขึ้นได้ที่หญ้า
หรือกองไม้เล็กๆ นั้น ครั้นให้เกิดไฟและควัน เผากองหญ้าหรือกองไม้เล็กๆ
นั้นให้หมดไป ไม่มีเชื้อแล้วก็ดับ ฉะนั้น ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ฯลฯ เพราะ
โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เธอย่อมปรินิพพานโดยต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรง
เปรียบเหมือนเมื่อนายช่างตีแผ่นเหล็กที่ถูกเผาอยู่ตลอดวัน สะเก็ดร่อนลอยขึ้นไป
แล้วพึงตกลงที่กองหญ้าหรือกองไม้ย่อมๆ สะเก็ดนั้นพึงให้เกิดไฟและควันที่กอง
หญ้าหรือกองไม้ย่อมๆ นั้น ครั้นให้เกิดไฟและควันแล้ว เผากองหญ้าหรือกอง
ไม้ย่อมๆ นั้นให้หมดไป ไม่มีเชื้อแล้วดับ ฉะนั้น ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ฯลฯ เพราะ
โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เธอเป็นผู้มีกระแสในเบื้องบนไปสู่อกนิฏฐภพ
เปรียบเหมือนนายช่างตีแผ่นเหล็กที่ถูกเผาอยู่ตลอดวัน สะเก็ดร่อนลอยขึ้นไป
แล้วพึงตกลงที่กองหญ้าหรือกองไม้ใหญ่ๆ ครั้นให้เกิดไฟและควันแล้ว เผากอง
หญ้าหรือกองไม้ใหญ่ๆ นั้นให้หมดไป แล้วพึงลามไปไหม้ไม้กอและป่าไม้
ครั้นไหม้ไม้กอและป่าไม้แล้ว ลามมาถึงที่สุดหญ้าเขียว ที่สุดภูเขาที่สุดชายน้ำ
หรือภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ หมดเชื้อแล้วก็ดับ ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ปุริสคติ
๗ ประการนี้แล ฯ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนอนุปาทาปรินิพพานเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติอย่างนี้ คือ ย่อมได้ความวางเฉยว่า ถ้ากรรม
ในอดีตไม่ได้มีแล้วไซร้ อัตตภาพในปัจจุบันก็ไม่พึงมีแก่เรา ถ้ากรรมในปัจจุบัน
ย่อมไม่มีไซร้ อัตตภาพในอนาคตก็จักไม่มีแก่เรา เบญจขันธ์ที่กำลังเป็นอยู่
ที่เป็นมาแล้วเราย่อมละได้ เธอย่อมไม่กำหนัดในเบญจขันธ์อันเป็นอดีต ไม่ข้อง
อยู่ในเบญจขันธ์อันเป็นอนาคต ย่อมพิจารณาเห็นบทอันสงบระงับอย่างยิ่งด้วย
ปัญญาอันชอบ ก็บทนั้นแล อันภิกษุนั้นทำให้แจ้งแล้ว โดยอาการทั้งปวง อนุสัย
คือมานะ ... อนุสัยคืออวิชชา เธอยังละ ไม่ได้โดยอาการทั้งปวง เธอย่อมกระทำ
ให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า
อนุปาทาปรินิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุริสคติ ๗ ประการนี้ และอนุปาทา
ปรินิพพาน ฯ
จบสูตรที่ ๒
             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓  บรรทัดที่ ๑๕๗๖ - ๑๖๓๖.  หน้าที่  ๖๙ - ๗๒.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=1576&Z=1636&pagebreak=0
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=52
             สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓
http://www.84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๒๓
http://www.84000.org/tipitaka/read/?index_23

อรรถกถา อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต อัพยากตวรรคที่ ๑
๒. ปุริสคติสูตร

               อรรถกถาปุริสคติสูตรที่ ๒              
               ปุริสคติสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ปุริสคติโย ได้แก่ ญาณคติของบุรุษ,
               บทว่า อนุปาทา ปรินิพฺพานํ ได้แก่ ปรินิพพานอันหาปัจจัยมิได้.
               บทว่า โน จสฺส ความว่า ถ้ากรรมอันบังเกิดในอัตตภาพอันเป็นอดีต จักไม่ได้มีแล้วไซร้.
               บทว่า โน จ เม สิยา ความว่า ในอัตตภาพนี้ ในกาลบัดนี้ กรรมก็ไม่พึงมีแก่เรา.
               บทว่า น ภวิสฺสติ ความว่า บัดนี้ กรรมอันจะยังอัตตภาพอันเป็นอนาคตของเราให้บังเกิด จักไม่มี.
               บทว่า น เม ภวิสฺสติ ความว่า อัตตภาพของเราในอนาคตจักไม่มี.
               บทว่า ยทตฺถิ ยํ ภูตํ ความว่า เบญจขันธ์ที่กำลังมีอยู่ ที่มีแล้ว ที่เป็นปัจจุบัน เกิดขึ้นเฉพาะหน้า.
               บทว่า ตํ ปชหามีติ อุเปกฺขํ ปฏิลภติ ความว่า ย่อมได้อุเบกขาอันสัมปยุตด้วยวิปัสสนาญาณว่า เราจะละเบ็ญจขันธ์นั้น ด้วยการละฉันทราคะในเบ็ญจขันธ์นั่นเสีย.
               บทว่า ภเว น รชฺชติ ความว่า ย่อมไม่กำหนัดในเบ็ญจขันธ์ที่เป็นอดีต ด้วยตัณหาและทิฏฐิ.
               บทว่า สมฺภเว น รชฺชติ ความว่า ย่อมไม่กำหนัดในเบ็ญจขันธ์ แม้ที่เป็นอนาคต ก็เหมือนกันนั่นแหละ.
               บทว่า อตฺถุตฺตริ ปทํ สนฺตํ ความว่า ชื่อว่าบทคือพระนิพพาน เป็นบทสงบอย่างยิ่งมีอยู่.
               บทว่า สมฺมปฺปญฺญาย ปสฺสติ ความว่า ย่อมเห็นโดยชอบซึ่งบทคือพระนิพพานนั้น ด้วยมรรคปัญญาพร้อมด้วยวิปัสสนา.
               บทว่า น สพฺเพน สพฺพํ ความว่า บททั้งปวงอันภิกษุไม่ทำให้แจ้งแล้ว โดยอาการทั้งปวง เพราะละกิเลสบางเหล่ายังไม่ได้ เพราะความมืดอันเป็นตัวปกปิดสัจจะยังกำจัดไม่ได้ โดยประการทั้งปวง.
               บทว่า หญฺญมาเน ความว่า ดังแผ่นเหล็กที่ลุกโชน อันนายช่างเอาคีมจับแล้วเอาฆ้อนทุบ.
               บทว่า อนฺตราปรินิพฺพายี ความว่า จำเดิมแต่กาลอันเป็นลำดับจากเหตุเกิดขึ้น พระอนาคามีบุคคลไม่ล่วงเลยท่ามกลางอายุแล้ว ปรินิพพานด้วยกิเลสปรินิพพานในระหว่างนี้.
               บทว่า อนุปหจฺจ ตลํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอันตราปรินิพพายีบุคคลไว้ ๓ จำพวกด้วยอุปมา ๓ ข้อเหล่านี้ คือ สะเก็ดลูกไฟเหล็กไม่กระทบพื้น, ไม่ล่วงไปถึงพื้น, พึงดับเสียในอากาศนั่นแล.
               บทว่า อุปหจฺจปรินิพฺพายี ความว่า พระอนาคามีบุคคลล่วงกลางอายุ จดที่สุดแห่งจิตดวงหลัง แล้วปรินิพพาน.
               บทว่า อุปหจฺจ ตลํ ความว่า สะเก็ดลูกไฟเหล็กติดไฟโคลงอยู่ ไม่ล่วงเลยพื้นอากาศ หรือเข้ากระทบพื้นดิน เพียงตกไปในที่ดินเท่านั้น แล้วก็ดับไป.
               พระอนาคามีบุคคลผู้ทำกิเลสทั้งหลายให้สิ้นไปโดยไม่มีสังขารอื่นกระตุ้นเตือน คือโดยไม่มีความพยายาม แล้วปรินิพพาน เพราะเหตุนั้น พระอนาคามีนั้น จึงชื่อว่าอสังขารปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานโดยไม่ต้องมีสังขารอื่นช่วยกระตุ้นเตือน.
               พระอนาคามีบุคคลผู้ทำกิเลสทั้งหลายให้สิ้นไปโดยมีสังขารอื่นกระตุ้นเตือน คือต้องประกอบด้วยความเพียรแล้วปรินิพพาน เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าสสังขารปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานโดยต้องมีสังขารอื่นช่วยกระตุ้นเตือน.
               บทว่า คจฺฉํ ความว่า ป่าอันปราศจากอารักขา.
               บทว่า ทายํ ความว่า ป่าอันมีอารักขา คืออันท่านให้เพื่อประโยชน์แก่การอภัยแล้ว.
               คำที่เหลือในบทเหล่านี้มีอรรถง่ายทั้งนั้น.
               ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงพระอริยบุคคลทั้งหลายดังนี้แล.

               จบอรรถกถาปุริสคติสูตรที่ ๒              
               -----------------------------------------------------              
.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต อัพยากตวรรคที่ ๑ ๒. ปุริสคติสูตร จบ.

อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=1576&Z=1636
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่