รับงานพิเศษควรคิดราคาอย่างไร?

กระทู้สนทนา
FREELAN$E vs. PRI$E

มีเพื่อนคนหนึ่งสอบถามเข้า มาว่า “สำหรับคนที่รับงานนอก (freelance) ควรมีหลักการในการประเมินราคาซอฟท์แวร์ขนาดเล็ก ขนาดกลางอย่างไรดี?” เป็นคำถามที่โดนใจผมมากครับ ผมเองก็เคยสงสัยว่า เอ่อ เคยเห็นที่เค้าประกาศรับทำ website ออกแบบโลโก้ อะไรเยอะแยะ เค้าเอาอะไรมาตีราคาค่าแรงเค้ากันน้อ? เคยคิด เคยสงสัย แต่ยังไม่ได้หาข้อมูลที่ชัดเจนหรอกครับ พอมีเพื่อนถามมา ผมก็เลยถือโอกาสนี้หาคำตอบซะเลย


Freelance_Rate

ขอออกตัวก่อนนะว่าผมเองไม่เคยมี ประสบการณ์ตรงในการรับงานนอกหรือตีราคาอะไรเลยซักกะอย่าง แต่จะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะเขียนบทความนี้ให้มีข้อมูลและแนวทางที่เพื่อนๆ จะได้เอาไปใช้เป็นประโยชน์ต่อไปครับ


จริงๆแล้วไม่ว่าอาชีพหรือสินค้าอะไร หลักการตั้งราคาก็คงไม่ต่างกันมากนะครับ ก็สมการง่ายๆอันนี้แหละ

กำไร = ราคาขาย – ต้นทุน … แปลงรูปสมการได้เป็น

ราคาขาย = ต้นทุน + กำไร


เอาล่ะ ตอนนี้เราอยากรู้ราคาขายงั้นหน้าที่ของเราคือหนึ่งหาต้นทุนที่ต้องใช้ และสองกำหนดกำไรว่าอยากได้เท่าไร … ฟังดูไม่ซับซ้อนใช่มั้ยครับ?


หาต้นทุน

เคยได้ยินคำพูดที่ว่า “อยากได้เงินต้องเสียเงิน” มั้ยครับ? ก็คล้ายๆกับ “อยากมีกำไรต้องลงทุน” นั่นแหละฮะ คำพูดนี้ตรงมากๆสำหรับคนที่เป็น Freelance ครับ เพราะเป็น Freelance ก็ต้องลงทุนครับ และไม่ว่าเราจะพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายขนาดไหนก็ตาม เราก็จะเจอปัญหาค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดให้กวนตัว กวนใจ กวนกระเป๋าสตางค์อยู่ดีครับ (ขนาดผมไม่ใช่ Freelance ยังโดนซะอ่วมทุกเดือนเลย ฮ่าๆ) ดังนั้นเราต้องจริงจังและรอบคอบให้มากๆในการคำนวณค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ครับ


รายจ่ายที่เป็นไปได้

ถ้าเราไม่รอบคอบจะเกิดอะไรขึ้น นี่เลยครับตัวอย่าง ไม่ต้องห่วงๆ ผมมีโน๊ตบุ๊คใหม่ไว้ใช้ทำงานแล้ว ไม่ต้องรวมเป็นต้นทุนหรอก อ้าว แล้วไม่เตรียมการค่าอัพเกรดฮาร์ดแวร์ไว้ซักหน่อยหรอครับพี่ … หรือผมคิดราคาปริ้นท์เตอร์ใหม่รวมไปในค่าใช้จ่ายรายปีแล้ว อ้าว แล้วไม่เตรียมงบไว้สำหรับค่ากระดาษกับค่าหมึกหรอครับพี่ ทุกอย่างมีราคาทั้งนั้นครับ อย่าลืมเด็ดขาด


ค่าใช้จ่ายที่เราจะต้องเตรียมไว้ก็จะมีเช่น ค่าเครื่องไม้เครื่องมือในการทำมาหากิน ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าเช่าเนื้อที่ Hosting และอื่นๆ ผมมีค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นมาให้ดูกันครับ Excel ไฟล์นี้ใช้คำนวณค่าแรงได้ด้วยนะครับ Freelance_Rate (94)


ลองพิจารณาดูว่าค่าใช้จ่ายอะไรที่ตรงกับงานของเราครับ เลือกได้แล้วลองคำนวณออกมาเป็นค่าใช้จ่ายรายปีแล้วเก็บไว้ครับ เดี๋ยวเอาไปใช้ต่อในขั้นตอนหลัง


พิจารณาถึงหลักประกัน

อย่าลืมว่าคนเป็น Freelance ก็เจ็บก็ป่วยเป็นนะ และอย่าลืมว่าเมื่อทำธุรกิจแบบนี้อาจจะมีกรณีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น (ถึงไม่อยากจะให้มีก็เถอะ) ระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง เราเตรียมการไว้บ้างแล้วรึยังครับ? นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่คนเป็น Freelance ต้องแบกรับไม่เหมือนกับพนักงานบริษัททั่วไป เราลองคุยกับบริษัทประกันดูครับว่ามีรูปแบบการประกันอะไรบ้างที่เหมาะกับเรา แล้วเราต้องทำความเข้าใจกับมันให้ถ่องแท้เลยนะ ไม่งั้นถ้าป่วยไข้ขึ้นมาแล้วเบิกไม่ได้จะทั้งเศร้าทั้งแค้น อีกอย่างคือถ้าเราจำเป็นต้องเสียภาษีทุกปี หารูปแบบประกันที่นำไปลดหย่อนภาษีได้ 100% ด้วยจะดีมากครับ


เอาค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการประกันแบบต่างๆไปรวมในค่าใช้จ่ายรายปีของเราด้วยครับ


คำนวณค่าตัวของเรา

โดยทั่วไปจะมีอยู่สองรูป แบบในการคิดราคากับลูกค้านั่นคือหนึ่งแบบที่ราคาตายตัว (per project หรือ fixed price contract) และสองราคาที่เก็บตามชั่วโมงจริงที่ทำงาน (time and materials) ครับ ไม่ว่าเราจะเลือกทางไหนเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องคิดคำนวณหา ราคาค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมงของเรา (minimum hourly rate) เพื่อที่จะสามารถเปรียบเทียบความก้าวหน้าของงานกับราคาค่าแรงในรูปแบบที่ เป็น “per project” หรือเพื่อให้รู้ว่าเราควรคิดราคาขั้นต่ำเท่าไรต่อชั่วโมงสำหรับงานที่เป็น time and materials ครับ


จุดสำคัญมาแล้วครับ สำหรับคนที่คิดราคาแบบ per project ราคาเหมารวมนั้นควรจะมาจากราคาค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมงคูณจำนวนชั่วโมงที่ ประมาณไว้สำหรับทำงาน บวกกับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เผื่อไว้สำหรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่างๆ เช่น requirement เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม เป็นต้น จะบวกเท่าไรอันนี้แล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน requirement ที่รับมา และความซับซ้อนของงานนะครับ เพื่อนๆอาจจะสงสัยว่า แล้ว minimum hourly rate คำนวณมายังไงหละ? ดูตามขั้นตอนนี้เลยครับ


1. หาค่าใช้จ่ายต่างๆของเราก่อน

อ่อ อันนี้ง่ายเลย เราเตรียมแล้ว เราคิดค่าใช้จ่ายออกมาเป็นรายปีครับ จริงๆนะผมว่ายากที่ใครจะรอบคอบขนาดเก็บค่าใช้จ่ายได้ครบทุกบาททุกสตางค์ จริงๆตั้งแต่แรก เดี๋ยวทำงานไปมันต้องมีอะไรโผล่มาอีกแน่นอนครับ งั้นตรงนี้แอบบวกไป 10% เตรียมไว้สำหรับค่าใช้จ่ายไม่คาดคิดทั้งหลาย


2. กำหนดเงินเดือนของเรา

ข้อนี้ไม่ตายตัวนะครับว่าแต่ละคนควรจะ มีเงินเดือนเท่าไร ก็อยู่ที่แนวทางการใช้ชีวิตและสังคมของแต่ละคนหละฮะ ถ้าจะให้ง่ายหน่อยก็ลองคิดว่าถ้าเราทำงานแบบเดียวกันนี้ให้กับบริษัทซักที่ นึงเราควรจะได้เงินเดือนเท่าไรดี ถ้าจะเอาให้สุดๆไปกว่านั้นก็ลองคิดเผื่อไปเลยครับว่าเราอยากได้เงินเดือน เท่าไรในอีก 1 ปีข้างหน้ารวมโบนัสไปด้วย


แต่ถ้าเราไม่ได้ทำงานบริษัทหรือเพิ่งลาออกมาแล้วไม่มีตัวเลขเงินเดือนอ้าง อิง ผมว่าก็ลองเปิดเวปสำรวจตรวจหาข้อมูลดูหรือถามเพื่อนๆที่ทำงานในสายงานเดียว กันดูก็ได้นะครับ ได้ตัวเลขมาแล้วอยากจะบวกนู่นนี่ไปอีกก็ไม่ว่ากันนะ เพราะถือว่าเราต้องรับความเสี่ยงแบบเต็มๆไม่เหมือนคนที่เป็นพนักงานบริษัท ทั่วไปครับ


3. กำหนดกำไร

ธุรกิจจะเล็ก กลาง ใหญ่ มีเป้าหมายสูงสุดเหมือนกันครับ “กำไร” Freelance ก็ไม่ยกเว้นหรอก ใช่ปะ? เราต้องบวกกำไรไปด้วยเผื่อช่วงที่เราไม่มีงานเข้ามาจะได้ไม่ลำบาก รวมถึงเป็นเงินเก็บที่สามารถจะเอาไปจ้างคนอื่นทำงานหรือขยายธุรกิจด้วยครับ คำแนะนำต่างๆที่ผมหาข้อมูลมาก็คือเราบวกกำไรไปได้เลย 10-50% อาจจะดูเยอะแต่บอกแพงๆไว้เผื่อลูกค้าต่อรองครับ


4. คำนวณหาจำนวนชั่วโมงที่ทำงานได้

ส่วนใหญ่พนักงานบริษัทจะทำงานกัน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ งั้นเราเริ่มที่ตัวเลขนี้แล้วกัน ปีหนึ่งมี 52 สัปดาห์แสดงว่าเราจะมีเวลาทำงานทั้งสิ้น 2,080 ชั่วโมงต่อปี … เยอะเหมือนกันนะ


ต่อไปครับถึงเราจะเป็น Freelance แต่เราก็ควรได้วันหยุดราชการเหมือนกันใช่ปะ? จัดให้ครับ ปีนึงบ้านเราหยุดกี่วันหละเนี่ยะ? เอาเป็นของปีนี้ (2553) มีวันหยุดราชการ 14 วัน ปัดเป็น 15 แล้วกันเนอะ ฮ่าๆ เราคงไม่แข็งแรงตลอดปีหรอก งั้นขอ 1 สัปดาห์ไว้ลาป่วย อ้อ แล้วก็ขออีก 2 สัปดาห์ไว้ให้เวลากับครอบครัวไปเที่ยวไหนมาไหนกันมั่ง


สรุปครับว่าจาก 52 สัปดาห์หักวันหยุดราชการไป 3 สัปดาห์ หักวันลาป่วยไป 1 สัปดาห์ และหักวันลาพักร้อนไป 2 สัปดาห์ เราจะมีเวลาทำงานจริงๆ 46 สัปดาห์ต่อปี นั่นคือ 1,840 ชั่วโมง (ถ้าเราทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นะ) แต่มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับที่เราจะมองว่าตลอด 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ของเราเป็นเงินเป็นทองไปซะหมด มันมีงานบางงานซึ่งเอาไปเก็บตังค์กับลูกค้าไม่ได้เช่น เวลาเดินทาง เวลากินข้าว เวลาประชุม และอื่นๆที่อาจจะเข้ามาเบียดบังเวลางานจริงๆของเรา ดังนั้นเราควรลดจำนวนชั่วโมงที่ทำงานได้ของเราลงไปซัก 25% ครับ ตอนนี้ก็จะเหลือ 1,380 ชั่วโมงต่อปี


ถึงตรงนี้หวังว่าเพื่อนๆคงจะไม่งงกันไปซะก่อนนะครับ ใกล้เป็นความจริงแล้วครับ อีกขั้นตอนเดียว


5. คำนวณหา minimum hourly rate

สุดท้ายแล้วหละครับ เอาข้อมูลทั้งหมดที่หามายำรวมกันในสมการนี้เลย

Minimum hourly rate = (Annual Expenses + Expected Salary + Profit) / Billable Hours

ตัวอย่างเช่น ผมมีค่าใช้จ่ายรายปีที่เกี่ยวกับงาน Freelance 50,000 บาท อยากได้เงินเดือน 60,000 บาท x 12 เดือน บวกกำไร 20% ดังนั้นผมจะมีค่าแรงต่อชั่วโมงเป็นเงิน … (50,000 + 720,000 + 154,000)/1,380 = 673.18 บาท


ตัวเลข 673.18 บาทต่อชั่วโมงนั้นสำหรับคนที่ทำ Freelance เต็มตัวนะครับ แต่ถ้าใครที่คิดจะทำเป็นงานเสริมอาจจะต้องคำนวณตัวเลขใหม่ฮะ ตัวอย่างเช่น ผมอยากได้รายได้เสริมเดือนละ 20,000 บาท กำไรเอานิดหน่อยพอ 10% ผมมีงานประจำทำอยู่แล้วงั้นผมคงทำหลังเลิกเงินบวกเสาร์อาทิตย์ได้ซัก 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์คิดเป็น 690 ชั่วโมงต่อปี (ทำงานได้ 46 สัปดาห์ต่อปี) ลดไป 25% เหลือชั่วโมงที่เก็บตังค์ได้ 517.5 ชั่วโมง งั้นตัวเลข minimum hourly rate ของผมก็จะเป็น (10,000 + 240,000 + 25,000)/517.5 = 533.33 บาทต่อชั่วโมงครับ


เอาหละครับ ตอนนี้เราก็ได้ minimum hourly rate ของเรามาแล้ว ถ้าเราจะคิดราคาแบบ per project เราก็ต้องประเมินจำนวนชั่วโมงที่จะใช้ทำงานแล้วคูณด้วยตัวเลขนี้ไปก็จะได้ ราคาของงานทั้งหมดแบบเหมาจ่าย แต่ถ้าเราคิดเงินแบบ time and materials เราก็ใช้ตัวเลขนี้ในการคิดราคาได้เลยครับ


ผมเองก็พอจะมีคนรู้จักในวงการ Freelance อยู่บ้าง ส่วนใหญ่แล้วเค้าจะคิดเงินเป็น man-day นะครับ (minimum hourly rate x จำนวนชั่วโมงต่อวัน) แบบนี้จะเป็นการรวมความยากของงานที่จะทำเข้าไปไว้แล้วด้วย ถ้ายากมากก็ใช้เวลามากราคาก็แพงขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็ต้องใช้ประสบการณ์ของเราเองที่จะประเมินเวลาออกมาให้ตรงมากที่ สุด ไม่งั้นจากกำไรอาจจะกลายเป็นขาดทุนได้ถ้าเราต้องทำงานเกินเวลาที่ได้ตกลงไว้ กับทางลูกค้าครับ


สรุป

ตัวเลขนี้ไม่ใช่ทั้งหมดของ คำตอบหรอกนะครับ เป็นเพียงค่าตั้งต้นให้เราเก็บไว้เป็นตัวอ้างอิงก่อนจะตัดสินใจรับงาน จริงๆแล้วมันมีตัวแปรอะไรๆอีกมากมาย เช่น ตัวลูกค้าเอง บางคนคุยด้วยแล้วไม่ค่อยรู้เรื่อง เราคงต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับ change ที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย แต่กับบางคนคุยด้วยแล้วถูกคอ อยากจะคิดราคาถูกหน่อยก็ไม่แปลก อยู่ที่ความสบายใจของตัวเราด้วย สำคัญที่สุดคือเราต้องเปรียบเทียบราคากับคู่แข่งรายอื่นในธุรกิจของเราเพื่อ ดูความสามารถในการแข่งขันด้วยครับ


อย่างที่ออกตัวไว้ตั้งแต่ต้นครับ ผมเองไม่มีประสบการณ์ตรงในเรื่องนี้ก็เลยพยายามหาข้อมูลและหลักการมาฝากไว้ ใช้เป็นแนวทาง ส่วนเพื่อนๆคนไหนที่มีประสบการณ์ตรงกับเรื่องพวกนี้จะช่วยแบ่งปันความรู้หละ ก็ขอบคุณมากๆครับ ผมคิดว่าหลายๆคนคงได้ประโยชน์มากขึ้นเยอะเลย


ปล. หวังว่าบทความนี้จะไม่ยาวเกินไปนะครับ จบไม่ลงจริงๆ Chapterpiece.com - Project Management and Software Development Blog

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่