ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง อาณาจักร 'เจ้าสัวเจริญ' จากผู้ก่อตั้งส่งต่อ '5 ทายาท'

ย้อน 10 ปี อาณาจักร "เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี" มีการเปลี่ยนแปลงตลอด ทายาทใหญ่เคลื่อนทัพธุรกิจแข็งแกร่ง "บุตรคนเล็ก" มีบทบาทบริหาร สะท้อนการรับไม้ต่อจากผู้ก่อตั้ง

วันที่ 26 พฤษภาคม 2568 ถือว่ามีความเคลื่อนไหวสำคัญของ “ธุรกิจครอบครัว” ภายใต้ “ตระกูลสิริวัฒนภักดี” มหาเศรษฐีมั่งคั่งอันดับต้นๆของเมืองไทย หรือก็คือ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ผู้ครองอาณาจักรไทยเจริญคอร์ปอเรชั่นหรือทีซีซี กรุ๊ป ที่มี 5 เสาหลักธุรกิจ และครอบครองสินทรัพย์มูลค่า “ล้านล้านบาท”

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ 3 บริษัทสำคัญที่ “ทายาท” ซึ่งเป็น “บุตรสาว 3 คน” กุมบังเหียน ได้รายงานการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น ได้แก่ บริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC และบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด(มหาชน) หรือบีเจซี โดย “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” โอนหุ้นผ่าน “บริษัท ศรัทธาทรัพย์ 9 จำกัด” ให้แก่บุตร-ธิดา 5 คน เท่าๆ กัน

สำหรับ “บริษัท ศรัทธาทรัพย์ 9 จำกัด” เป็นบริษัทที่มี “อำนาจควบคุมกิจการ” ทั้ง บีเจซี เอดับพลิวซี และทีจีเอช (ทางอ้อม) ขณะที่บริษัทดังกล่าวก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2565 และ “เจ้าสัวเจริญ” เป็นผู้กุมบังเหียน

5 ทายาท คุม 5 เสาหลักธุรกิจ
เป็นที่ทราบกันดีว่า “อาณาจักรล้านล้านบาท” ภายใต้ทีซีซี กรุ๊ป มีบริษัทมากมายเคลื่อนธุรกิจหลากหลายทั้งในไทยและต่างประเทศ เติบใหญ่จวบจนวันนี้เพราะ 2 ผู้ก่อตั้งคือ “เจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี”
ทีซีซี กรุ๊ป คร่ำหวอดในธุรกิจกว่า 6 ทศวรรษ ทว่า รากฐานที่สำคัญ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากการเข้าไปอยู่ใน “ยุทธจักรน้ำเมา” หรือการสัมปทานธุรกิจสุราจนกลายเป็นมหาเศรษฐี และเจ้าสัวในเวลาอันรวดเร็ว

ในวันที่กิจการเติบใหญ่ แตกแขนงเป็น 5 เสาหลัก “เจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา” ได้วางให้ “5 ทายาท” สืบทอดกิจการ ต่อยอดความยิ่งใหญ่ ดังนี้
-ทายาทคนโต อาทินันท์ พีชานนท์ ดูแลธุรกิจประกันและการเงิน ที่มีทั้งประกันภัย ประกันชีวิต แบรนด์อาคเนย์ ภายใต้บริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH
-ทายาทลำดับที่ 2 วัลลภา ไตรโสรัส เคลื่อนทัพธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เน้นด้านบริการพักผ่อนหย่อนใจหรือ Hospitality โรงแรมต่างๆ แหล่งชอปปิงที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ภายใต้ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC
-ทายาทลำดับที่ 3 ฐาปน สิริวัฒนภักดี กุมบังเหียนธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมี “น้ำเมา” เหล้า เบียร์ เป็นหัวหอกทำกำไรหลายหมื่นล้านบาท ผ่านบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน)
-ทายาทลำดับที่ 4 ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล คุมทัพธุรกิจอุตสาหกรรมและการค้า ผ่านบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด(มหาชน) เป็นกิจการ “ร้อยปี” ที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคแบรนด์ดัง สำทับด้วย “ค้าปลีก” อย่าง “บิ๊กซี”
-ทายาทลำดับที่ 5 ปณต สิริวัฒนภักดี แม่ทัพธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และมีผลงานระดับมาสเตอร์พีซคืออภิมหาโปรเจคแสนล้านบาท “วันแบงค็อก” กิจการร่วมทุนระหว่างบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้ง(ประเทศไทย) จำกัด
 
ขณะที่เสาหลักที่ 5 ธุรกิจเกษตรและอุตสากหรรมการเกษตรภายใต้ “พรรณธิอร” แม้จะไม่มีภาพชัดเจนว่า “ทายาทคนใด” บริหาร แต่ “ฐาปน-ปณต” บุตรชายทั้ง 2 นั่งเป็นกรรมการอยู่

จับตา 2 อาณาจักร “บุตรชาย” บริหาร
ที่น่าสนใจคือ การโอนหุ้นของ “เจ้าสัวเจริญ” เกิดขึ้นใน 3 บริษัท ที่ “บุตรสาวบริหาร” คือ ทีจีเอช เอดับบลิวซี และบีเจซี ส่วนอีก 2 บริษัทใหญ่ที่ “บุตรชาย” กุมบังเหียน ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องจับตาดูความเคลื่อนในอนาคตอันใกล้ จะมีอะไรคืบหน้าอย่างไรบ้าง
หากมองอาณาจักรที่ทายาทที่เป็น “บุตรชาย 2 คน” คือ “ฐาปน-ปณต” มีความใหญ่ มั่งคั่งไม่แพ้กัน โดยไทยเบฟ ถือเป็น “กล่องดวงใจ” ของ “ตระกูลสิริวัฒนภักดี” ที่ทำรายได้แต่ปีหลัก “แสนล้านบาท” อย่างปี 2567 รายได้มากกว่า 340,000 ล้านบาท แต่ “กำไรสุทธิ” มากกว่า 35,200 ล้านบาท
ขณะที่ เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) ทำรายได้ระดับ “หมื่นล้านบาท” แต่อสังหาฯ ยังมี “ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย)” ที่แม้จะทำรายได้รวมระดับพันล้านบาทต้นๆ แต่บริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียนระดับ 30,000 ล้านบาท สะท้อนศักยภาพ และโอกาสที่จะลงทุนสร้างความยิ่งใหญ่ เป็นต้น

ภารกิจเบ่งขุมทรัพย์ 1.2 ล้านล้านบาท
3 บริษัทที่เจ้าสัวเจริญโอนหุ้นให้ทายาท ความมั่งคั่งไม่ธรรมดา เพราะรวมกันมากกว่า 2 แสนล้านบาท และกำไรสุทธิอู้ฟู่ ดังนี้
ปี 2567
-ทีจีเอช รายได้รวมกว่า 19,900 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 384 ล้านบาท
-เอดับบลิวซี รายได้รวมกว่า 16,000 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 5,850 ล้านบาท
-บีเจซี รายได้รวมกว่า 170,000 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 4,000 ล้านบาท
ขณะที่ธุรกิจบุตรชายนำทัพ ผลงานมั่งคั่งยิ่งใหญ่มาก โดยเฉพาะ “ไทยเบฟเวอเรจ”
ปี 2567
-ไทยเบฟ มีรายได้กว่า 340,000 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 35,200 ล้านบาท
-เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ ฯ รายได้กว่า 14,500 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 1,438 ล้านบาท
ทว่า หากดูสินทรัพย์ของทั้ง 5 บริษัท รวมกันทะลุกว่า 1.24 ล้านล้านบาท ดังนี้
-ทีจีเอช สินทรัพย์กว่า 87,371 ล้านบาท
-เอดับบลิวซี สินทรัพย์กว่า 196,010 ล้านบาท
-ไทยเบฟเวอเรจ สินทรัพย์กว่า 534,488 ล้านบาท
-บีเจซี สินทรัพย์กว่า 334,621 ล้านบาท
-เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ฯ สินทรัพย์กว่า 96,594 ล้านบาท
ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง
หากมองการเปลี่ยนแปลงของอาณาจักร “เจ้าสัวเจริญ” ที่มี “ทายาท” กุมบังเหียนแต่ละเสาหลักธุรกิจไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เพียงแต่การผ่องถ่ายหุ้นครั้งสำคัญใน 3 บริษัทเป็นอีกความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามากขึ้น
ย้อนช่วง 10 ปีมานี้ 2 ทายาทคนเล็ก คือ “ฐาปณี-ปณต” มีบทบาทในการบริหารและสปอร์ตไลท์ส่องมาที่ทั้งคู่มากขึ้น
บีเจซี-บิ๊กซี เดิมมี “เขยเล็ก อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ที่คอยเป็นแม่ทัพบริหาร โดยมี “ฐาปณี” อยู่เบื้องหลัง ปีนี้บุตรสาวคนเล็กทำงานครบ 16 ปี ย่างก้าวสู่ปีที่ 17 แล้ว

ฐาปณี เคยกล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า “โอ๊ะเองอยากทำงานข้างนอก แต่ก็โดนคุณพ่อดึง เชิญชวนมาช่วยกันขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัว ให้รู้จัก รักธุรกิจ มีความสามัคคี ให้พี่น้องร่วมไม้ร่วมมือกัน”
ทั้งนี้ การเข้ามาบริหารงานช่วงแรกนั้น เริ่มต้นงานที่กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ ประกันภัย และก้าวสู่อสังหาริมทรัพย์ โดยเป็นการดูแล “กรุที่ดิน” ของกิจการครอบครัวเป็นหลัก ซึ่งอยู่ในส่วนของ “ทีซีซี โฮลดิ้ง”
ขณะที่ “ปณต” บุตรชายคนเล็ก ช่วงทำงานแรกๆไม่เพียงพ่อแม่ “เจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา” คอยประกบเปรียบเสมือน “กุนซือ” ให้กับลูก บรรดาพี่น้องทุกคนจะร่วมไปแสดงความยินดี เป็นส่วนหนึ่งทุกครั้งที่เปิดกิจการต่างๆ เช่น วันแบงค็อก อภิมหาโปรเจคแสนล้านบาท
ยิ่งในวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการวันแบงค็อก “ปณต-ฐาปน” รับบทสำคัญเป็น “มังกร” ผงาดบนเวที ยิ้มอย่างภาคภูมิใจโดยมี “พ่อ” นั่งมองความสำเร็จอย่างใกล้ชิด ส่วนบรรดาพี่น้องยังคงไม่ห่างกาย
การเปลี่ยนแปลงยังมีมากกว่านั้น เพราะ “เอดับบลิวซี” หนึ่งในบริษัทสำคัญที่มีโรงแรมอยู่ทั่วโลก ช่วงที่ผ่านมา ไม่เพียงปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่จะเห็นการ “จัดสรรกรุที่ดิน” มาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอเพื่อให้นางหงส์สานต่อความยิ่งใหญ่

อย่างไรก็ตาม นอกจากการโอนหุ้นให้ทายาท สิ่งที่สังคมกล่าวถึงคือ “การจัดสรรมรดก” ซึ่งมิติทางกฎหมายถือเป็นการบริหารจัดการภาษีของมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งด้วย

คัมภีร์พ่อแม่-ถึงลูกๆ
ทีซีซี กรุ๊ปก้าวสู่ทศวรรษที่ 7 ภายใต้ทายาทรุ่น 2 กิจการครอบครัวจะเติบใหญ่ พ่อแม่มักมีคัมภีร์ คำสอนมากมายให้ลูกๆยึดถือปฏิบัติ
กรุงเทพธุรกิจ มีโอกาสคุยกับ 3 ทายาท อย่าง “วัลลภา” ที่บอกว่าพ่อแม่คือต้นแบบชีวิต ส่วนคำสอนสำคัญที่นำมาใช้คือ “ อดทน นิ่ง เสียสละ และร่าเริง”
“เมื่อได้รับประทานข้าวกับคุณพ่อ คุณแม่ หรือรับประทานข้าวด้วยกันตอนเด็กๆ จะได้ยินสิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่สอนจะมี 4 คำ คือ ถ้าเราอดทน ทุกอย่างจะสำเร็จ ถ้าเรานิ่งจะเกิดสติ ปัญญา ถ้าเราเสียสละ เราจะพ้นภัย แล้วสุดท้าย ถ้าเราร่าเริงก็จะอายุยืน” วัลลภา กล่าว

“ฐาปน” เคยบอกว่า คำสอนที่เป็นต้นแบบจาก “คุณหญิงวรรณา” นั้นมีความเรียบง่าย
“คำของคุณแม่สอนเรียบง่าย 4 ประโยค สุขภาพเป็นของเราเอง เงินทองเป็นของคนอื่น อำนาจเป็นเรื่องชั่วคราว ชื่อเสียงเป็นเรื่องชั่วนิรันดร์ โดย 4 คำสอนของคุณแม่ก็จะเป็นในเรื่องของการใช้ชีวิตที่เกี่ยวโยงกับคนในสังคม”

ส่วน “ฐาปณี” ยกคำสอนของคุณตา ที่ส่งต่อกันมายังรุ่นมารดา “คุณหญิงวรรณา” จนถึงตนเองคือ “ความอดทน” ประกอบจากคำ 2 คำ ได้แก่ 刃 : Rèn หมายถึงใบมีด และ 心 : xīn หมายถึงหัวใจ เมื่อเป็นอักษรภาพ ใบมีดจะอยู่ด้านบน และหัวใจจะอยู่ด้านล่าง ความหมายรวมจึงมีความแยบยลอย่างยิ่ง

“คุณตาลายมือสวยมาก และเขียนตัวอักษรจีนคำว่าอดทนไว้ ซึ่งความหมายตัวมีดอยู่ด้านบน หัวใจอยู่ด้านล่าง หากไม่อดทน เสี้ยววินาทีเดียว มีดจะปักเข้าไปในหัวใจ แสดงว่าจะเกิดความเสียใจ เสียหาย เมื่ออดทนไว้ มีดก็ไม่ปักลงหัวใจ”



แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่