แห่เปิดบัญชี ‘เงินฝาก FCD’ พุ่ง ลดเสี่ยงภาษีทรัมป์-กินส่วนต่างดอกเบี้ย

แบงก์เผยนโยบายภาษีสหรัฐดันยอดเปิดบัญชี FCD พุ่ง ธุรกิจใช้เป็นเครื่องมือบริหารรายรับ-รายจ่าย ขณะที่รายย่อยหวังส่วนต่างดอกเบี้ย “ทีทีบี” แนะใช้บัญชี FCD ช่วยบริหารลดความเสี่ยงจากความผันผวน ด้าน “วิจัยกสิกรไทย” เผยภาคธุรกิจ-บุคคลธรรมดาแห่เปิดบัญชี FCD พุ่งกว่า 1.2 ล้านบัญชีtripnote001

นางสาวบุษรัตน์ เบญจรงคกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าธุรกิจตลาดเงินและธุรกรรมระหว่างประเทศ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐ ส่งผลให้ทิศทางการค้าโลกที่เปลี่ยนไปจากเดิม และอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนค่อนข้างเร็ว ส่งผลให้ลูกค้าและผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกหาช่องทางรับมือกับนโยบายการค้าและค่าเงินผ่านบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ (FCD) มากขึ้น

นอกจากบัญชี FCD จะเป็นเครื่องมือในการช่วยผู้ประกอบการในการบริหารรายรับ-รายจ่ายที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศแล้ว ยังพบว่าผู้ฝากเงินบุคคลธรรมดาให้ความนิยมมากขึ้น เพราะจะเห็นว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐค่อนข้างห่างกันราว 3.50% โดยดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ที่ 4.5% ส่วนดอกเบี้ยไทยอยู่ที่ 1.50% ส่งผลให้ลูกค้าบุคคลธรรมดาเข้ามาเปิดบัญชีและซื้อสกุลเงินดอลลาร์ฝากไว้ในบัญชีตามระยะเวลา เช่น 3-6 เดือน เพื่อรอรับประโยชน์จากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงเปิดบัญชีใช้เป็นบัญชีธุรกรรมต่างประเทศ เช่น ค่าใช้จ่าย ค่าเรียนบุตรที่อยู่ต่างประเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้ หากพิจารณาความแตกต่างของค่าเงินที่มีความผันผวน คาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าในระดับ 31.00-32.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยประเมินว่าเงินบาทไม่น่าจะแข็งค่าหลุดกรอบ 31.00 บาทต่อดอลลาร์ ดังนั้น ผู้ฝากเงินยังมีกันชนรองรับ (Buffer) จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ในระยะหลังมีคนฝากเงินในบัญชี FCD มากขึ้น และสถาบันการเงินทยอยออกผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทนี้สู่ตลาดมากขึ้น รวมถึงมีกองทุนสกุลเงินดอลลาร์ออกมาให้เห็นในตลาดเช่นกัน

“ส่วนต่างดอกเบี้ยกว้าง และเมื่อเทียบกับบาทเอง แม้จะมีความผันผวน แต่คิดว่าคงไม่แข็งค่าเข้าไปถึง 31.00 บาทต่อดอลลาร์ หากผู้ฝากเงินเข้าใจอัตราแลกเปลี่ยนก็จะได้ประโยชน์จากบัญชี FCD และผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกก็สามารถใช้ FCD เป็นเครื่องมือบริหารรายรับ รายจ่าย เพราะสามารถรอจังหวะเข้าซื้อหรือรอขายได้ ดังนั้น เราจะเห็นว่าสัดส่วนบัญชี FCD เติบโตสูงขึ้น เช่น ทีทีบี ก็มีบัญชี MCA หรือ ttb Multi-currency Account รวมถึงมีเงินฝากสกุลดอลลาร์ที่ให้ดอกเบี้ยสูง 4.20% โดยลูกค้าสามารถทำธุรกรรมฝากและโอนได้สะดวกบนแอปพลิเคชั่น ttb touch”

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมจำนวนบัญชี FCD มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากในอดีตไม่เคยมีผลิตภัณฑ์นี้มาก่อน ส่งผลให้ภาคธุรกิจและบุคคลธรรมดาพยายามใช้ประโยชน์จากบัญชี FCD มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนค่อนข้างมาก ซึ่งบัญชี FCD จึงเป็นเครื่องมือป้องกันทำให้ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX) ลดลงได้ จึงเห็นการใช้บัญชี FCD บริหารธุรกรรมมากขึ้น


ทั้งนี้ จำนวนบัญชีเงินฝาก FCD ณ ไตรมาสที่ 1/2568 อยู่ที่ 3.74 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2567 ที่มีจำนวนบัญชีอยู่ที่ 2.52 ล้านบัญชีพาพันไฟท์ติ้ง

ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยต่างประเทศสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยไทย จึงเป็นตัวจูงใจให้คนเปิดบัญชี FCD มากขึ้น โดยในมุมจำนวนที่มีการเปิดจะเป็น “สกุลเงินดอลลาร์” เป็นหลัก แต่ในระยะหลังจะเริ่มเห็นการเปิดบัญชีสกุลเงินอื่น ๆ มีมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนหลักยังเป็นสกุลดอลลาร์ ปัจจุบันจากตัวเลขพบว่า ส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ดอลลาร์อยู่ที่ 33% หยวน 7.9% ยูโร 3.7% ปอนด์สเตอร์ลิง 3.5% เยน 3.5% และสกุลอื่น ๆ 48.4% สะท้อนความหลากหลายของสกุลเงินจากจำนวนบัญชี

ขณะที่ยอดเงินฝากคงค้างของบัญชี FCD พบว่า มีทั้งช่วงที่ขยายตัวและหดตัว โดยยอดเงินฝากคงค้าง FCD ในปี 2567 อยู่ที่ 24,351 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการเติบโต 20.2% จากสิ้นปี 2566 อยู่ที่ 20,258 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ หากดูตัวเลข ณ ไตรมาสที่ 1/2568 ภาพรวมยอดคงค้าง FCD ยังเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4/2567 โดยอยู่ที่ 26,060 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการเติบโต 24.2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) และหากแยกยอดคงค้างตามผู้ฝากเงิน จะเป็นกลุ่มนิติบุคคล 89.4% บุคคลธรรมดา 10.2% และสถาบันการเงิน 0.3%

โดยหากดูยอดเงินฝากคงค้าง FCD ในเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ 26,019 ล้านดอลลาร์ เดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 26,549 ล้านดอลลาร์ และเดือนมีนาคมอยู่ที่ 26,060 ล้านดอลลาร์ ลดลง 189 ล้านดอลลาร์ หรือ 0.7% ถือเป็นการลดลงครั้งแรกของปีนี้ ซึ่งการชะลอตัวลงในเดือนมีนาคม 2568 จะอยู่ในเงินฝากประเภทบัญชีกระแสรายวัน กลุ่มนิติบุคคล ซึ่งสะท้อนได้ 2 ปัจจัย คือ 1.มองไปข้างหน้าเงินบาทมีความผันผวนค่อนข้างเยอะ จึงแปลงเงิน (Convert) สกุลต่างประเทศมาเป็นเงินบาท และ 2.มีความต้องการใช้เงินสกุลต่างประเทศในการใช้จ่ายสินค้าและบริการ

“หากดูค่าความผันผวนของเงินบาทเพิ่มมากขึ้น โดยจากต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) ค่าความผันผวนอยู่ที่ 8.9% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบปีก่อนที่อยู่ 7.9% และหากดูค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นราว 2.5% เทียบอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33.27 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจที่มีรายจ่ายและรายรับต่างประเทศ ภายใต้ความไม่แน่นอนทางการค้า อาจทำให้รายได้ลุ่ม ๆ ดอน ๆ อาจเห็นยอดเงินฝากอาจจะปรับลดลงได้”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด ธนาคารกรุงไทย ออกเงินฝากประจำเงินตราต่างประเทศ (FCD) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) เลือกฝากได้ตั้งแต่ 1, 2, 3 เดือน สำหรับบุคคลธรรมดา รับอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 4.32% ต่อปี ไม่มียอดฝากขั้นต่ำ เพิ่มทางเลือกและโอกาสในการออมเงินต่างประเทศ เพื่อเสริมศักยภาพในการวางแผนการเงิน และบริหารความเสี่ยง ด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเมื่อฝากประจำครบกำหนด ลูกค้าสามารถต่อยอดความมั่งคั่ง ด้วยการผูกบัญชีออมเงินผ่าน บัญชีออมทรัพย์สกุลเงินต่างประเทศ Global Savings ตอบโจทย์ทุกธุรกรรมต่างประเทศ ฝาก โอน ลงทุน ใช้จ่าย ง่ายครบจบในบัญชีเดียว รับดอกเบี้ยสูงสุด 2.5% ต่อปี โอนเงินต่างประเทศสุดคุ้ม ได้เรตดี ค่าธรรมเนียมถูก ต่อยอดลงทุนทองคำผ่าน Gold Wallet บนแอปเป๋าตัง ได้สะดวก ปลอดภัย ใช้จ่ายในต่างประเทศ โดยผูกบัญชีกับบัตร Krungthai Travel Debit Card แลกเงินเรตดี 20 สกุล ใช้จ่ายได้ครอบคลุม 210 ประเทศทั่วโลก พร้อมรับเครดิตเงินคืนสูงสุด 10,000 บาทต่อปี ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 ธ.ค. 2568...

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/finance/news-1820407

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่