เปิดโปง "จีนศูนย์เหรียญ" และ "ทุนจีน" ปลอมเอกสาร-แต่งงาน กว้านซื้อสวนทุเรียนไทย

เปิดโปง "จีนศูนย์เหรียญ" กินรวบธุรกิจไทย ถึงขนาดเป็น "นิคมทุนจีน" ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ใช้แรงงานข้ามชาติ เลี่ยงกฎหมาย ชี้ยุคกำแพงภาษี ไทยเป้าหมายตั้งโรงงานชุบตัวลดต้นทุน

การผูกขาดธุรกิจของกลุ่มทุนจีนในไทย หรือที่หลายคนเรียกว่า "นิคมศูนย์เหรียญ" การลงพื้นที่ของทีมงาน SEE TRUE พบว่าหลายพื้นที่รอยต่อของ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง บรรยากาศแทบไม่แตกต่างจากเมืองจีน

ทีมงาน SEE TRUE เข้าไปกินอาหารมื้อค่ำที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง บรรยากาศในร้านทั้งผ้าปูโต๊ะ โคมไฟ ของตกแต่ง ประดับประดาด้วยโทนสีแดง เมนูอาหารทุกเมนูเขียนด้วยภาษาจีน พร้อมภาพถ่ายอาหารที่ดูไม่คุ้นตาคนไทยอย่างเรา แต่ยังโชคดีที่พนักงานในร้านพอจะสื่อสารภาษาไทยได้บ้าง
แม้ในร้านบรรยากาศจะเหมือนเรานั่งอยู่แดนมังกรอย่างเมืองจีน แต่ความจริงเราไม่ได้อยู่ไกลขนาดนั้น ที่นี่คือ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ดินแดนที่ทุนจีนค่อยๆ แทรกซึม

...
สาเหตุที่ทำให้คนจีนอพยพมาที่นี่เยอะ ส่วนหนึ่งมาจากการขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกา ซึ่ง "ไทย" คือ 1 ในเป้าหมายที่จีนปักหมุด
"สหัสวัต คุ้มคง" สส.ชลบุรี พรรคประชาชน มองการเข้ามาของทุนจีนในไทย ย่าน จ.ชลบุรี และระยอง ว่าผ่านไปไม่นาน หลายพื้นที่แทบจะกลายพันธุ์เป็นเมืองชเวโก๊กโก่เข้าไปทุกที ทั้งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมไปยันร้านค้า คลาคล่ำไปด้วยธุรกิจคนจีนครบวงจร
จิรันต์ เภตรา กลุ่มพัฒนาตัวแทนแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก พาทีมงาน SEE TRUE ลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี สุ่มสำรวจพื้นที่ 3 จุด ให้เห็นภาพการเข้ามาของทุนจีนเหล่านี้
เราขับผ่านแยกอมตะซิตี้ เริ่มเห็นอาคารพาณิชย์ ป้ายหน้าอาคารระบุข้อความภาษาจีน มีคนจีนเดินขวักไขว่ ไม่นับรวมรถรับ-ส่งคนจีนที่ทำงานในไทย เมื่อเดินสำรวจด้านใน พบมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ร้านอาหารทุกร้านมีภาษาจีนกำกับอยู่

ส่วนสาเหตุที่โรงงานจีนไม่นิยมจ้างคนไทยทำงาน อาจมาจากคนไทยมีกฎหมายแรงงานคุ้มครอง ต่างจากคนต่างด้าวที่ดูเหมือนจะควบคุมได้ง่ายกว่า คนไทยที่เข้าไปทำงานบางส่วนต้องทำงานด้วยความตึงเครียด ถูกกดขี่และถูกทำร้ายร่างกาย

ราว 10 ปีที่แล้ว ทุนจีนเริ่มแทรกซึมมาในรูปแบบร้านอาหาร สองข้างทางถนนสายเล็กๆ ประชาราษฎร์บำเพ็ญ ในย่านห้วยขวาง กรุงเทพฯ
ตึกแถวอายุราว 30 กว่าปี ถูกปล่อยให้คนจีนเช่า ในราคาที่สูงกว่าเดิมเกือบสิบเท่าตัว นั่นทำให้ย่านที่เคยเป็นร้านค้าของคนไทย ถูกขนานนามว่าเป็นไชน่าทาวน์แห่งที่ 2 ของกรุงเทพฯ จนตอนนี้ กลายเป็นว่ามีร้านค้าไทยเจ้าเก่าแก่ไม่กี่ร้าน ที่แทรกซึมอยู่ท่ามกลางร้านค้าของคนจีน
ทุนจีนที่นี่ ส่วนใหญ่มาในรูปแบบร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านชาบู หม่าล่า ไอศกรีม มินิมาร์ทจีน โดยจะตกแต่งชื่อร้านเป็นภาษาจีน บางร้านมีภาษาไทยสำนวนแปลกๆ ตัวหนังสือเล็กๆ ประกบควบคู่ภาษาจีนไปด้วย ส่วนพนักงานในร้านส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนจีน
ผู้ประกอบการไทยที่ยังเหลืออยู่ท่ามกลางร้านค้าจีน ให้ข้อมูลว่า เริ่มแรก ทุนจีนมาเปิดร้านขายรังนก และหมอนยางพาราก่อน จากนั้นก่อนโควิด 19 ระบาด ก็เริ่มมีมาเปิดร้านอาหาร และเยอะขึ้น

เคยถามคนจีน จึงรู้ว่ามีจำนวนมาก ที่เคยไปเปิดร้านอาหารที่กัมพูชา พอที่นั่นซบเซา ก็มาเปิดที่นี่ต่อ ซึ่งหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ร้านค้าคนไทยแถวนี้เหลือน้อย เพราะทุนจีนให้ค่าเช่ามากกว่าเดิมถึงประมาณ 10 เท่าตัว แต่มาเปิดร้านได้สักปี เจ้าเดิมปิดตัว เจ้าใหม่เข้ามา หมุนเวียนเป็นวัฏจักรอยู่แบบนี้ เพราะมีคนจีนที่เช่าตึกแถวไว้ เพื่อปล่อยให้ผู้ประกอบการจีนรายใหม่ๆ เข้ามาเช่าช่วงต่อ
...
เมื่อพื้นที่นี้เต็มไปด้วยร้านค้าจีน จนยากจะขยับขยาย ทุนจีนก็หาทำเลใหม่ ขยับไปใกล้ศูนย์วัฒนธรรมฯ และอาร์ซีเอ ซึ่งเป็นย่านสถานบันเทิงราตรีในอดีต ที่ตอนนี้ ถูกแปรเปลี่ยนเป็นร้านรวงของคนจีน โดยเหตุที่ทุนจีนเหล่านี้ เลือกทำเลย่านนี้ ก็เพราะใกล้สถานทูตจีน



"ทุนจีน" ปลอมเอกสาร-แต่งงานสาวไทย อุบายกว้านซื้อสวนทุเรียน ยึดพื้นที่ภาคตะวันออก ปลูกขายส่งเอง พิรุธใช้ประโยชน์เขตป่าสงวนฯ

ทีมงาน SEE TRUE ตามสืบจนพบขบวนการกว้านซื้อที่ดินปลูกสวนทุเรียนของกลุ่มทุนจีน เรียกได้ว่าคนจีนเข้ามาปลูก-ขาย-กำหนดราคาทุเรียนเอง ต้นน้ำยันปลายน้ำ แล้วไทยจะได้อะไรกับการเข้ามาของทุนจีนบ้าง
SEE TRUE ลงพื้นที่ไป อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี พื้นที่ของอำเภอนี้ส่วนใหญ่เป็นป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานฯ รัฐได้กำหนดพื้นที่เขตอนุรักษ์ และพื้นที่ทำกินของชาวบ้านไว้ชัดเจน

ทันทีที่เข้าเขต จ.จันทบุรี สองข้างทางเต็มไปด้วยล้งรับซื้อทุเรียนส่งไปจีน ส่วนใหญ่ล้งเหล่านี้ประกอบกิจการโดยคนจีน ซึ่ง 3 จังหวัดทางภาคตะวันออกมีล้งรวมกว่า 1,200 แห่ง
ข้อมูลจากสายข่าว SEE TRUE บอกวิธีการกว้านซื้อสวนทุเรียนของกลุ่มทุนจีนมี 2 ช่องทางด้วยกัน ช่องทางแรก คือการแต่งงานกับหญิงไทย และใช้ชื่อภรรยาซื้อที่ดินทำสวน
ช่องทางที่ 2 คนจีนจะซื้อบัตรประชาชนของคนไทย จากจังหวัดและอำเภอไกลปืนเที่ยง นำไปสู่การได้มา ซึ่งสัญชาติไทยแบบผิดกฎหมาย เพื่อนำไปสวมสิทธิ์เช่าซื้อที่ดินทำสวน
...
เราขับรถตระเวนสำรวจพื้นที่ใน อ.แก่งหางแมว เห็นถึงความแตกต่าง ระหว่างสวนทุเรียนทุนจีนกับสวนของคนไทย สวนทุเรียนทุนจีนมีลักษณะปิดล้อมรั้วมิดชิด บางสวนติดป้ายเป็นภาษาจีน แปลความหมายว่า "ห้ามเข้า" ส่วนใหญ่มีจำนวนมากกว่า 100 ไร่ ลักษณะพื้นที่ถูกจัดสรรเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร มีระเบียบแบบแผนชัดเจน และมีล้ง หรือโกดังขนาดใหญ่ตั้งกลางไร่ เพื่อรวมทุเรียนเตรียมส่งขาย

แรงงานในสวนทุเรียนจีนจะเป็นแรงงานต่างด้าว เช่น กัมพูชา เมียนมา และลาว ส่วนสวนทุเรียนทุนไทย จะเป็นแปลงไม่ใหญ่มาก เป็นสวนผสม มีการปลูกที่อยู่อาศัย และไม่นิยมทำรั้วกั้น
การเข้ามาของนายทุน มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการใช้นอมินีตั้งบริษัท เพื่อเช่าที่ดินจากกรมป่าไม้
จากเอกสารการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนซ่อง ที่เสนอต่อสภาเทศบาลตำบลพวา มีบริษัททำเรื่องขออนุญาต 2 บริษัท บริษัทแรกขอเช่าพื้นที่ 427 ไร่
SEE TRUE ตรวจสอบข้อมูล พบว่าบริษัทนี้จดทะเบียนจัดตั้งปี 64 ประเภทธุรกิจตอนจดทะเบียน เป็นการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์
อีกบริษัทขอเช่าพื้นที่ 950 ไร่ บริษัทนี้จดทะเบียนจัดตั้งปี 2553 ประเภทธุรกิจตอนจดทะเบียน ทำกิจกรรมเกี่ยวกับป่าไม้ ต่อมาเปลี่ยนเป็นธุรกิจจำหน่าย รับซื้อขายสลากทุกประเภท
ที่น่าสังเกตคือทั้ง 2 บริษัท กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม คือคนเดียวกัน รวมทั้งวัตถุประสงค์ในการขออนุญาตเข้าไปทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีอยู่ทั้งหมด 5 ข้อ ก็เป็นวัตถุประสงค์เดียวกัน
หลังชาวบ้านร้องไปยังกรรมาธิการที่ดิน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีการลงมาตรวจสอบ พบความผิดปกติหลายอย่าง กรมป่าไม้จึงระงับการเช่าพื้นที่



แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่