JJNY : 5in1 แม่ค้าสิ้นหวัง│วัยรุ่นเซ็งเงินหมื่น│หนี้เสียQ1เพิ่มเป็น 2.9%│สรท.ทำใจส่งออกร่วง│ร้อนระอุ จีนเหนือกลางกระอั

แม่ค้าตลาดสดสิ้นหวัง ชะลอเงินหมื่นเฟส 3 ลั่นทำไม่ได้อย่าพูด
https://ch3plus.com/news/social/morning/439930
.
.
จากกรณีคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เห็นชอบให้ชะลอการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ท 10,000 บาท เฟส 3 ออกไปก่อน แต่ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับเงินไม่พอ สำหรับการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 3 กลุ่มอายุ 16-20 ปี ที่เข้าเงื่อนไขได้รับสิทธิไม่เกิน 3 ล้านคน โดยมีรูปแบบการใช้จ่ายเป็นดิจิทัล ซึ่งตามกำหนดเดิมจะสามารถใช้จ่ายได้ไม่เกินไตรมาส 2 ของปีนี้นั้น
.
ล่าสุดวันที่ 20 พ.ค.68 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตลาดสดภาษีซุง ตลาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดชัยนาท บรรดาแม่ค้าพ่อค้าต่างนั่งกันหงอยเหงา เพราะเศรษฐกิจย่ำแย่ มีแต่แม่ค้า แต่ลูกค้ากลับหดหายไป และทุกคนต่างผิดหวังกับการประกาศผลเรื่องเงินหมื่นเป็นอัมพาตในครั้งนี้มาก เพราะเงินก้อนนี้เป็นดั่งความหวังของหลายๆ ครอบครัว
.
นางจิ๋ม อายุ 51 ปี แม่ค้าขายผัก เปิดเผยว่า เงินหมื่นรอบแรกตนก็ไม่ได้ จนมาถึงเฟส 2 ก็แก่ไม่ถึง เฟส 3 ก็แก่เกิน ไม่รู้อายุไม่พอดีหรือรัฐบาลไม่ดีพอ เศรษฐกิจย่ำแย่ ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าที่ทางแพงไปหมด แล้วจะทำมาหากินกันอย่างไร
.
ลูกค้าก็หดหาย ตอนเงินหมื่นได้มาก็เอาไปซื้อของใช้ใหญ่อย่างตู้เย็น เครื่องซักผ้า ตลาดเงียบเหมือนเดิมไม่เห็นกระตุ้นเศรษฐกิจตรงไหน บอกเลยว่าไม่หวังที่จะได้เงินแล้ว อึดอัดไปหมด ไม่ต้องแจก ไม่ต้องพูดจะดีกว่า ตอนหาเสียงพูดอย่าง ตอนนี้ทำอีกอย่าง มันสวนทางกับนโยบาย
.
ด้านป้าเหมียว อายุ 58 ปี แม่ค้าขายสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า ทุกคนรู้สึกแย่หมด เด็กๆ อายุ 16-20 ปี ก็มีความหวังว่าจะได้ในเฟส 3 และเฟส 4 ทุกคนหวังจะเอาเงินไปต่อยอดหมด บอกจะให้ก็ต้องให้ทั้งหมดทุกคน ไม่ใช่มาหยุดชะงักเช่นนี้ เหมือนกับการ “เคาะกะลาให้หมาดีใจ” เสียมากกว่า ลองคิดถึงความรู้สึกประชาชนบ้าง หลายๆ คนคาดหวังกับเงินก้อนนี้ขนาดไหน ต้องมาหมดหวังแล้วมาลงท้ายด้วยการกู้ แล้วเป็นหนี้เช่นเคย ประชาชนจะเสียความรู้สึกขนาดไหน
.

.
วัยรุ่นเซ็ง “เงินหมื่นดิจิทัล” หวังใช้จ่ายเพื่อการเรียน ลงทะเบียนยาก แต่อดได้
.
วัยรุ่นเซ็ง! นักศึกษาผิดหวัง รัฐบาลชะลอเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3 หวังจะนำไปใช้จ่ายเพื่อการศึกษา ลงทะเบียนยาก แต่ต้องรออย่างไร้ความแน่นอน
.
จากกรณี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการแถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2 ถึงแนวทางการทบทวนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ ชะลอโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3” ออกไปจนกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะเอื้ออำนวยและเหมาะสมมากกว่านี้
.
ซึ่งโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยใช้เป็นกลยุทธ์ในการหาเสียง โดยมุ่งหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินดิจิทัลจำนวน 10,000 บาทให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 ได้ดำเนินการแจกจ่ายไปแล้วบางส่วน ขณะที่เฟสที่ 3 ซึ่งมีเป้าหมายรองรับกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา และกลุ่มคนวัยแรงงานบางส่วน ยังคงไม่ได้รับการดำเนินการตามกำหนด
.
ล่าสุดเมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นของกลุ่มนักศึกษาที่เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายของโครงการ ซึ่งหลายคนแสดงความผิดหวัง เนื่องจากตั้งความหวังไว้กับเงินจำนวนนี้เพื่อใช้จ่ายด้านการศึกษาและแบ่งเบาภาระครอบครัว
.
นายพลวิทญ์ นักศึกษา อายุ 20 ปี ให้ความเห็นว่า รู้สึกไม่คาดหวังกับโครงการนี้อีกแล้ว เพราะหากรัฐบาลตั้งใจจะมอบให้จริงๆ คงจะได้รับเงินไปแล้วทั้ง 3 เฟส ไม่ใช่เว้นช่วงห่างเป็นระยะเวลานานจนทำให้ประชาชนรู้สึกไม่แน่ใจ ทั้งที่ตอนเริ่มโครงการมีการย้ำว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับชะลอเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งฟังดูย้อนแย้งอย่างมาก
.
“ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ก็ควรจะกระตุ้นในช่วงนี้มากกว่า คนเราก็มีความหวังอยากจะได้รับเงินเหมือนเฟส 1 และ 2 แต่เฟส 3 กลับเลื่อนออกไปอีก ไม่มีความแน่นอน ไม่เท่าเทียมกัน ไม่เหมือนช่วงแรกๆ ที่บอกว่าจะแจก ลงทะเบียนกว่าจะได้ก็ยากแล้ว ยังต้องมารอลุ้นอีกว่าจะได้รับเมื่อไร ดูเลื่อนลอย ถ้าได้เงินมา ก็จะนำไปใช้เกี่ยวกับการศึกษา เพราะตอนนี้กำลังจะขึ้นปี 3-4 ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องทำโปรเจกต์จบ มีค่าใช้จ่ายเยอะมาก อยากนำเงินนี้มาช่วยลดภาระให้ครอบครัว
.
ขณะที่ นายจิรายุส นักศึกษา อายุ 20 ปี อีกราย ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกัน โดยระบุว่า แม้จะไม่ขอวิจารณ์แนวทางของรัฐบาลโดยตรง แต่ก็รู้สึกว่าการดำเนินโครงการมีความย้อนแย้ง เพราะตอนแรกที่ริเริ่มโครงการมีเหตุผลว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหากลับหยุดแจกเงิน ทั้งที่ควรเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่สุดในการกระตุ้นการใช้จ่าย
.
ถ้ารัฐบาลจะไม่แจกเงิน 10,000 บาทแล้วจริงๆ ก็เห็นด้วยในระดับหนึ่ง หากนำเงินไปใช้กับโครงการอื่นที่ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงๆ เพราะผลลัพธ์จากเฟส 1 และ 2 ยังไม่ดีเท่าที่ควร เปอร์เซ็นต์การเติบโตของ GDP ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นชัดเจนมากนัก ไม่ถึง 4-5% ตามที่รัฐบาลคาดไว้ แต่เดิมผมตั้งใจจะเก็บเงินส่วนนี้ไว้ใช้เกี่ยวกับการศึกษา ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็ไม่เป็นไร ไม่ได้กระทบมากนัก ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร”
.
ด้าน นางสาวณัฐนิชา นักศึกษา อายุ 20 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า ตนได้รับเงินดิจิทัลตั้งแต่เฟสแรก และยังคงเชื่อมั่นว่าเฟส 3 จะมีการแจกจ่ายให้กลุ่มนักศึกษาและวัยรุ่นอย่างแน่นอน แม้อาจต้องใช้เวลารอนานขึ้น เพราะสภาพเศรษฐกิจที่มีความผันผวน รัฐบาลคงกำลังพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสม
.
ยังเชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เพราะนโยบายนี้เป็นนโยบายหลักที่ใช้ในการหาเสียง ประชาชนคาดหวังมาก เงิน 10,000 บาทมีค่ามากๆ สำหรับนักศึกษาแบบเรา ช่วยให้ซื้อของใช้จำเป็น ใช้จ่ายในครัวเรือน ลดภาระครอบครัว อยากขอบคุณรัฐบาลที่ริเริ่มโครงการดีๆ แบบนี้ และหวังว่าทุกคนควรจะได้รับเงินดิจิทัลอย่างเท่าเทียมกัน” นางสาวณัฐนิชา กล่าว
.
ทั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะมีการพิจารณานำโครงการเฟส 3 กลับมาดำเนินการอีกครั้งเมื่อใด โดยต้องขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการคลังในระยะต่อไป ซึ่งประชาชนกลุ่มเป้าหมายยังคงต้องติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดต่อไป
.

.
ธปท.เผยหนี้เสียแบงก์พาณิชย์ไตรมาส1/68 เพิ่มเป็น 2.9% ห่วงนโยบายการค้าฉุดการชำระหนี้
https://www.matichon.co.th/economy/news_5191709
.
ธปท.เผยหนี้เสียแบงก์พาณิชย์ไตรมาส1/68 เพิ่มเป็น 2.9% ห่วงนโยบายการค้าฉุดการชำระหนี้
.
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ไตรมาส 1 ปี 2568 หดตัวอยู่ที่ 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยหลักจากการชำระคืนหนี้ที่อยู่ในระดับสูง สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังขยายตัว ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และสินเชื่ออุปโภคบริโภคหดตัวต่อเนื่อง ตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่ยังอยู่ในระดับสูง
.
น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า ทั้งนี้ ยอดคงค้างสินเชื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไตรมาส 1 ปี 2568 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.48 แสนล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนเอ็นพีแอล ต่อสินเชื่อรวมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.9% โดยหลักจากสินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อที่อยู่อาศัย  ทั้งนี้ สัดส่วนเอ็นพีแอลของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเช่าซื้อที่เพิ่มขึ้นเป็นผลของฐานสินเชื่อที่ลดลง สำหรับสินเชื่อสเตจ 2 หรือ ลูกหนี้ค้างชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นเกินกว่า 30 วัน ปรับลดลง โดยหลักจากการชำระคืนหนี้ของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ส่งผลให้สัดส่วนสเตจ 2 ทรงตัวอยู่ที่ 6.97%  อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์ยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งบริหารจัดการคุณภาพหนี้
.
น.ส.สุวรรณี กล่าวว่าสำหรับผลการดำเนินงานปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยหลักจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ลดลง (ค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูงซึ่งเป็นปัจจัยฤดูกาลในไตรมาสก่อนและค่าใช้จ่ายด้านไอที) และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (เงินลงทุนและการวัดมูลค่าตราสารทางการเงิน) ปรับเพิ่มขึ้น  ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับลดลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
.
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามภาวะการเงินที่ยังตึงตัวและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ฟื้นตัวช้าและมีภาระหนี้สูง รวมถึงธุรกิจและครัวเรือนที่อาจได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมต่อฐานะการเงินจากผลกระทบของนโยบายการค้าโลก ตลอดจนติดตามผลสำเร็จของการให้ความช่วยเหลือภายใต้โครงการคุณสู้เราช่วย”น.ส.สุวรรณี กล่าว
.
น.ส.สุวรรณี กล่าวว่าโดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4 ปี 2567 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวชะลอลง  ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อจีดีพี ลดลงตามการกู้ยืมผ่านตลาดตราสารหนี้เป็นสำคัญ ด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวมทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า แม้ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและภาคการผลิต แต่ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์เผชิญแรงกดดันจากกำลังซื้อที่อยู่อาศัยที่ชะลอลง
.
น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่2 ของปีนี้ยังมีความ ท้าทายสูงจาก นโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากการเจรจายังไม่ยุติคาดว่าจะกระทบกับ เศรษฐกิจไทย ในไตรมาส 3-4 ของปีนี้ ซึ่งธปท.มีการคุยกับ สถาบันการเงินและผู้ประกอบการตลอดเวลาเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้คาดว่า สถานการณ์การปล่อยสินเชื่อในไตรมาสที่ 2 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง
.
น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าของโครงการคุณสู้ เราช่วยนั้น ณ วันที่ 19 พฤษภาคม มี ผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 1.3 ล้านราย (1.7 ล้านบัญชี) สำหรับมีผู้ที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ณ วันที่ 30 เมษายน ที่ 5.8 แสนบัญชี คิดเป็น30% ของผู้ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ เป็นมูลหนี้ 4.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 48% ของมูลหนี้เป้าหมาย 8.9 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้สินเชื่อบ้าน ราว 1.8 แสนราย มูลหนี้ 3 แสนล้านบาท ทั้งนี้ผู้ที่มีสิทธิ ยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ถึง 30 มิถุนายนนี้
.
ขณะที่ การขยายสิทธิโครงการคุณสู้ เราช่วย ให้ผู้มีหนี้ 1 วันก็ร่วมโครงการได้ กับ ปิดจบหนี้ 3 หมื่นบาทนั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งจะต้องผ่านคณะกรรมการหลายชุด ก่อนที่จะสรุปออกมาได้ว่า จะขยายโครงการ คุณสู้ เราช่วยไปอย่างไร แต่ยืนยันว่า ใช้วันตัดรอบหนี้เสียเดิม คือ ก่อน วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ดังนั้นไม่มีผลต่อวินัยของลูกหนี้ในปัจจุบัน เพียงแต่จะขยายความช่วยให้มากขึ้นเท่านั้น” น.ส.สุวรรณี กล่าวและกล่าวว่า โดยคาดว่าจะสรุป โครงการคนสู้ เราช่วย ภายในเดือนมิถุนายน เพื่อให้ทันก่อนที่จะหมดเขต 30 มิถุนายนนี้

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่