มีดทำครัวและกรรไกรทำด้วยเหล็กยาสึกิ 安来鋼 ยาสึกิกาเนะ , ยาสึกิฮากาเนะ

เหล็กยาสึกิ 安来鋼 ยาสึกิกาเนะ , ยาสึกิฮากาเนะ

หลายๆท่านคงคุ้นเคยหรือถ้าจะพูดให้เจาะจงลงไปคือยอมรับนับถือเหล็กในสายหรือสำนักนี้ เหล็กยาสึกิ เหล็กกล้าจากฮิตาชิเมทัล บริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการเหล็กญี่ปุ่นรวมทั้งของโลก เหล็กในชุดนี้เป็นผลิตภัณฑ์ของหน่วยงานหรือแผนกยาสึกิ ซึ่งเป็นแผนกซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายร้อยปี ท่านที่นิยมเล่นมีดทำครัวญี่ปุ่นคงคุ้นเคยกับเหล็กยาสึกิ 安来鋼 เป็นอย่างดี

เหล็กยาสึกิผลิตขึ้นที่โรงงาน Yasugi ของ Hitachi Metals, Ltd. ในเมือง Yasugi จังหวัด Shimane การเรียกเหล็กยาสึกิเป็นชื่อเรียกรวมๆของเหล็ก จริงๆแล้วยังแยกไปได้อีกหลายประเภท หลายเบอร์ แต่ที่เราคุ้นเคยหรือช่างทำมีดทำกรรไกรนิยมใช้ก็จะมีอยู่ 4 เบอร์หลักๆ

อาโอกามิ 青紙 เหล็กกระดาษน้ำเงิน หรือบลูสตีล บลูซุปเปอร์ จะอยู่ในเบอร์นี้ จัดเป็นเหล็กผสมสูงหรืออัลลอยด์
ชิโรกามิ 白紙 เหล็กกระดาษขาว เหล็กกล้าคาร์บอนบริสุทธิ์ ตามขนบดั้งเดิมของญี่ปุ่น
คิกามิ 黄紙 เหล็กกระดาษเหลือง คล้ายๆทูลสตีล ได้รับความนิยมในวงการเครื่องมือ แข็งแกร่งทนทาน ต้านสนิมได้พอสมควรและราคาถูกกว่าอาโอกามิ
จินกามิ 銀三鋼 หรือจินซานโกะ ซิลเวอร์สตีล จริงๆแล้วเบอร์นี้เป็นสแตนเลส
นอกจากนี้ยาสึกิยังเป็นเจ้าของสูตรเหล็กหรือโลหะสำหรับวงการมีดอีกหลายเบอร์ เช่น ATS-34 และ ZDP-189

บางครั้งเค้าก็จะประทับว่า 日立安来鋼 ฮิตาชิยาสึกิกาเนะ เต็มยศเลย เหล็กฮิตาชิหรือเหล็กยาสึกิจริงๆแล้วก็เกือบจะเป็นอย่างเดียวกันนะครับ ถ้าแยกให้ละเอียดยาสึกิเป็นผลิตภัณฑ์บางส่วนของฮิตาชิ เป็นหน่วยงานสำคัญในบริษัทอีกที คือเหล็กยาสึกิในยุคปัจจุบันจะเป็นเหล็กฮิตาชิ แต่เหล็กฮิตาชิไม่จำเป็นจะต้องเป็นเหล็กยาสึกิทั้งหมด ในส่วนของเหล็กสำหรับสิ่งมีคมคงเป็นเหล็กยาสึกิ ที่เราเห็นกันประจำในตลาดมีดญี่ปุ่นก็อย่างเช่น อาโอกามิ , ชิโรกามิ , คิกามิ , จินซานโกะ , ที่เราคุ้นเคยก็จะประมาณนี้แต่จริงๆแล้วเหล็กหรือสแตนเลส อัลลอยด์ของยาสึกิมีเป็นร้อยๆเบอร์

ยาสึกิเป็นสำนักโบราณมีชื่อเสียงเรื่องเหล็กมาหลายร้อยปี ผลิตเหล็กทามะฮากาเนะจากทรายเหล็กหรือแร่เหล็กในเขตอิซูโมะ จังหวัดชิมาเนะ บริษัทยาสึกิมาก่อตั้งในปี 1891 และควบรวมกิจการกับบริษัทเก่าของฮิตาชิและเปลี่ยนเป็นบริษัทฮิตาชิเมทัล เมื่อปี 1967 จนถึงปัจจุบัน

เราจะรู้ว่าเค้าใช้เหล็กยาสึกิได้แน่นอนก็จากการตีอักษรบนตัวกรรไกร อีกประเภทนึงเค้าจะเขียนไว้ที่กล่องหรือซองอันนี้ก็จะรู้ได้ยากอยู่ถ้าเราไม่ได้บรรจุภัณฑ์ดั้งเดิมมาด้วย และอีกประเภทนึงคือมีข้อมูลจากต้นทาง เช่นเกนโซรุ่นท้ายๆ รุ่นหมุดปั๊มจะใช้อาโอกามิของยาสึกิ โอกาซึเนะก็ใช้เหล็กอาโอกามิเหมือนกัน โตเกียวโชซาบูโร่ในยุคนี้ใช้อาโอกามิ

ผมยังขาดตราประทับว่าคิกามิ ยังไม่เคยได้ซักทีแต่แน่ใจว่าเคยผ่านมือไปมากแล้วเพราะคิกามิได้รับความนิยมในผู้ผลิตของมีคม บางสำนักใช้ทั้งกระดาษน้ำเงินและกระดาษขาว ถ้าเราอยากรู้ว่าเบอร์ไหนก็ต้องลองลับลองใช้ดูเอง ถ้าเฉพาะกระดาษน้ำเงินกับกระดาษขาวแยกไม่ยาก กรรไกรของท่านโชทาโร่ที่สามใช้คิกามิ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่