JJNY : ธนาธร เตือนผู้สมัครฝ่ายปชต.│เปิดศึกชิงสว.แล้ว│ขีดเส้นตาย 3 เดือน! จี้รัฐช่วยรถบรรทุก│รัสเซียพูดเรื่องแผนของทรัมป์

ธนาธร เตือนผู้สมัครฝ่ายปชต. อย่าหักหลังกันเอง เลือกส.ว. ชี้ตัวเลขชัด ถ้ารวมกันแน่น เราชนะ
https://www.matichon.co.th/politics/thai-senate-2024/news_4648141

 
ธนาธร โพสต์คืนสุดท้ายก่อนเลือกส.ว. ขอผู้สมัครฝ่ายประชาธิปไตย อย่าแตกแยกกันเอง จนหักหาญน้ำใจเพื่อน เพื่อได้ตำแหน่ง ชี้ถ้าเรารวมกันจะชนะ แต่ถ้าแตกกันฝ่ายประชาธิปไตย จะไม่ได้อะไรเลย
 
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ ผ่านเฟซบุ๊กถึงการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับประเทศ ในวันที่ 26 มิถุนายน โดยระบุว่า จดหมายถึงผู้สมัคร ส.ว. ฝ่ายประชาธิปไตย มีเนื้อหาดังนี้
 
ถึงผู้สมัคร ส.ว. ฝ่ายประชาธิปไตยทุกท่าน
 
ผมเริ่มรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวสนใจการเลือก ส.ว.67 มาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม
 
พรุ่งนี้ จะถึงวันเลือก ส.ว. ระดับประเทศ พรุ่งนี้เย็น เราจะเห็นหน้าตาของวุฒิสภาชุดใหม่
 
กฎกติกาออกแบบมาให้เราแตกแยกกันเอง ทะเลาะเบาะแว้งกันเอง ไม่ไว้วางใจกัน ใครทรยศเพื่อนได้เข้ารอบ ได้เป็น ส.ว.
 
ในเวลาเช่นนี้เอง เป็นเวลาพิสูจน์ความเข้มแข็งของขบวนการประชาธิปไตย ว่าเราสามารถรวมกันป็นหนึ่ง ก้าวข้ามความเห็นแก่ตัว เสียสละเพื่อผลักดันวาระประชาธิปไตยได้หรือไม่
 
นอกจากนี้ มันเป็นการพิสูจน์ตัวตนของผู้สมัครทุกคน ว่าแต่ละท่านเป็นคนอย่างไร? ว่าเราพร้อมจะหักหาญเพื่อนร่วมทางเพื่อความก้าวหน้าของตัวเองหรือไม่?
 
ผมอยากเตือนสติผู้สมัครฝ่ายประชาธิปไตยทุกคน ให้ระลึกถึงวันแรกที่ท่านตัดสินใจลงสมัคร ส.ว.
ผมเชื่อว่าท่านตัดสินใจเพราะท่านอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย ต้องการทำเพื่อส่วนรวม ไม่ได้ตัดสินใจเพื่อต้องการเป็น ส.ว.
 
เราอยากเห็นการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เราอยากเห็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เราอยากเห็นการแต่งตั้งองค์กรอิสระที่จะไปทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม
 
ท่านยังอยากเห็นสิ่งเหล่านี้หรือไม่?
 
หรือความอยากเป็น ส.ว. มันทำลายความคิดความฝันร่วมกันไปแล้ว?
 
มีผู้เข้ารอบประเทศ 3,000 คน มีตำแหน่งสุดท้ายเพียงแค่ 200 คน มันเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะได้เป็น ส.ว.
กว่าเราจะเดินทางมาถึงวันนี้ มีผู้เสียสละมาก่อนหน้าเรา พวกเขาเสียเงินค่าสมัคร เสียเวลาเพื่อเข้าสู่กระบวนการ ทิ้งคะแนนให้คนที่พวกเขาเห็นว่าจะเป็น ส.ว. ที่ดี เป็น ส.ว. ฝ่ายประชาธิปไตย
 
มีคนหนุ่มสาวมากมาย เข้าร่วมรณรงค์และให้ข้อมูลกับประชาชนเพื่อให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการเลือก ส.ว. เพราะพวกเขามีส่วนร่วมไม่ได้
พวกเขาและเธอ เสียสละทิ้งคะแนนเพื่ออะไร? เสียแรงเสียเงินเพื่ออะไร? เพื่อให้พวกท่านทะเลาะเบาะแว้งกัน หลงลืมอุดมการณ์ แสดงอัตตาใหญ่โต ดื้อรั้นไม่ไยดีกับอนาคตของคนรุ่นต่อไป พร้อมหักหาญน้ำใจเพื่อน เพื่อเป็น ส.ว. ทั้งที่โอกาสและความเป็นจริงริบหรี่อย่างนั้นหรือ?
 
คนที่เสียสละเหล่านั้น เขาและเธอฝากความหวังไว้กับท่าน ให้ท่านไปต่อเพื่อเสียสละให้กับคนที่เหมาะสมกว่าในรอบต่อไป เขาและเธอฝากอนาคตประชาธิปไตยไว้กับท่าน
 
คณิตศาสตร์บอกเราว่า ถ้าเรารวมกันแน่น เราจะชนะ
แต่ถ้าเราแตกกัน ฝ่ายประชาธิปไตย จะไม่ได้อะไรเลย
 
ในค่ำคืนสุดท้าย ผมฝากให้ทุกท่านใช้เวลากับตัวเอง คร่ำครวญให้เยอะ และให้ลึก ถามตัวเองว่า
เราชอบสังคมที่คนหักหลังกัน?
 
เราชอบสังคมที่คนไม่เคารพกฎกติกากลุ่ม?

หรือเราอยากเห็นสังคมที่คนไว้เนื้อเชื่อใจกัน จริงใจต่อกัน คนพร้อมเสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อความดีงามที่ยิ่งใหญ่กว่าของส่วนรวม?
เราเลือกเองได้

มันเริ่มต้นได้ที่เรา

อย่าให้กฎกติกาของพวกเขาทำลายพวกเรา อย่าให้กฎกติกาของพวกเขา ทำลายเกียรติยศศักดิ์ศรีและความดีงามในใจท่าน

ผมเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ ว่ามนุษย์นั้นพร้อมสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม และเพื่ออนาคตของลูกหลาน
ในค่ำคืนสุดท้าย แม้จะผ่าน/เห็น และสัมผัสความเห็นแก่ตัวมากมาย จากการรณรงค์การเลือก ส.ว. มาสามเดือน ผมก็ยังเชื่อมั่นในมนุษย์เช่นเดิม

ขอขอบคุณผู้สมัคร ส.ว. ฝ่ายประชาธิปไตยทุกท่านที่เสียสละตัวเองในการเข้ากระบวนการครั้งนี้
พรุ่งนี้ ผมหวังว่าท่านจะตัดสินใจอย่างถูกต้อง เพื่ออนาคตของประชาธิปไตยไทย

https://www.facebook.com/ThanathornOfficial/posts/pfbid0eazipJteECDLoN1udzSMpu2pTjtnKgg1TwaP3pwJzWjLhGiR3PrVDcTWyd9BYrQdl



เปิดศึกชิง สว. แล้ว ผู้เข้ารอบเกือบ3พันคน เผยขั้นตอนเลือกระดับประเทศ
https://www.khaosod.co.th/politics/news_777777795992

เปิดศึกชิง สว. แล้ว คึกคักผู้เข้ารอบเกือบ 3 พันคนทยอยเข้าเมืองทองธานี กกต. จัดโมบายถ่ายบัตรประชาชนใหม่ เผย ขั้นตอนเลือกระดับประเทศ แบ่งออกเป็น 2 รอบ
 
เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 26 มิ.ย.2567 ที่อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศ โดยมีผู้ที่ได้รับเลือกเป็นสว.ระดับจังหวัด จากทั้ง 77 จังหวัดใน 20 กลุ่มอาชีพ รวม 2,995 คน เข้าสู่การเลือกเพื่อให้ได้สว.จำนวน 200 คน และสำรอง 100 คน
 
โดยบรรยากาศพบว่า ผู้สมัครสว.ต่างทยอยเดินทางมารอเพื่อเข้าสู่ตัวอาคารอิมแพค ฟอรั่ม ตั้งแต่เช้า เนื่องจากส่วนใหญ่มาพักค้างตามโรงแรมที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง และเกรงว่าอาจประสบปัญหาสภาพอากาศ แลการจราจรติดขัดทำให้มารายงานตัวในช่วง 08.00-09.00 น.ไม่ทัน ซึ่งก็จะถูกตัดสิทธิ์การเข้าคัดเลือกทันที
 
ขณะเดียวกัน ทางสำนักงาน กกต. ได้มีการจัดเตรียมรถโมบายทำบัตรประจำตัวประชาชนเคลื่อนที่ของกรมการปกครอง ไว้รองรับกรณีผู้สมัคร สว. ลืมนำบัตรประจำตัวประชาชนที่ต้องใช้รายงานตัวมาใว้บริการด้วย
 
ภายหลังจากพบว่า ในการเลือกสว.ระดับจังหวัด มีผู้สมัครลืมบัตรประชาชนทำให้เสียสิทธิในการเลือก ได้รับเลือกเป็นสว. ล่าสุดได้รับรายงานว่ามีผู้มาขอทำบัตรใหม่แล้วอย่างน้อย 3 คน
 
ทั้งนี้ ในสถานที่เลือกจะอนุญาตเฉพาะผู้สมัคร สว. เจ้าหน้าที่และบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เข้าสถานที่ สว. ระดับประเทศเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่จะติดบัตรแสดงตนอย่างชัดเจน ขณะที่ผู้สมัครก็จะมีป้ายระบุชัดว่าอยู่กลุ่มใด หมายเลขอะไร ชื่อ นามสกุลอะไร ซึ่งบัตรของผู้สมัครแต่ละกลุ่มก็จะมีสีที่ต่างกัน ไม่ซ้ำกัน
 
โดยเวลา 06.00 น. เจ้าหน้าที่ได้เปิดประตูอาคารให้ผู้สมัครสว.และผู้ติดตาม เข้าไปยังห้องพักคอย บริเวณชั้น 1 ซึ่งสามารถรองรับผู้สมัครได้ 200-300 คน ก่อนที่เวลา 08.00 น. จะเปิดให้รายงานตัวตามกลุ่มอาชีพ บริเวณชั้น 2 และเก็บอุปกรณ์สื่อสารทันที
 
ส่วนพื้นที่ชั้น 2 ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน บริเวณลานด้านนอก เป็นพื้นที่ทำงานของสื่อมวลชน และพื้นที่สำหรับการแถลงข่าวความเคลื่อนไหวในการเลือก สว. รวมถึงจัดเตรียมพื้นที่สำหรับผู้สังเกตการณ์เลือก สว. ที่ได้ลงทะเบียนเข้าสังเกตการณ์ไว้แล้ว รวมถึงประชาชนทั่วไปที่จะมาสังเกตการณ์การเลือก สว.
 
ต่อมาเวลา 07.30 น. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. ได้เดินทางมาถึงสถานที่เลือก และตรวจความพร้อมตามกลุ่มต่าง ๆ พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ก่อนที่จะเริ่มทำหน้าที่ดูแล จัดการการเลือกสว.ให้เป็นไปตามความเรียบร้อย และในเวลา 07.40 น. ผู้สมัครเริ่มทยอยเข้าห้องเลือกกันอย่างต่อเนื่อง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สำหรับขั้นตอนการเลือกสว.ระดับประเทศ จะแบ่งออกเป็น 2 รอบ รอบแรกหลังปิดรับรายงานตัวในเวลา 09.00 น. ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ จะชี้แจงให้ผู้สมัครสว.ทราบขั้นตอนวิธีการลงคะแนน ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัด
โดยในการเลือกรอบแรก ผู้สมัครสว.แต่ละกลุ่มจะลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คน โดยจะ
 ลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนมิได้ ซึ่งผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 40 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่มเพื่อเข้าสู่การเลือกรอบ 2 หรือรอบไขว้
 
ทั้งนี้ กรณีมีผู้ได้รับคะแนนเท่ากันจนทำให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกิน 40 คน ให้ใช้วิธีจับสลาก แต่หากกลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนไม่ถึง 40 คน แต่มีจำนวนตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป ให้เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้นเท่าที่มีอยู่
 
กรณีกลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนไม่ถึง 20 คน ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศจัดให้ผู้ซึ่งไม่ได้รับเลือกซึ่งยังอยู่ ณ สถานที่เลือก ลงคะแนนเลือกกันเองใหม่ เพื่อให้ได้ จำนวน 20 คน และให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน
 
ส่วนรอบที่ 2 เป็นรอบแบ่งสายหรือเลือกไขว้ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 สายคือสาย ก-ข-ค-ง ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มมีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่มในสายเดียวกัน ได้กลุ่มละไม่เกิน 5 คน
 
โดยจะลงคะแนนให้แก่ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองมิได้ เพื่อให้ได้ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาของกลุ่มนั้น โดยผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่ม อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น
 
กรณีกลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกิน 15 คน ให้ดำเนินการจับสลากเพื่อเรียงลำดับ กรณีกลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากัน แต่ไม่เกิน 15 คน ให้มีการจับสลาก เพื่อให้ได้ผู้ได้รับคะแนนในแต่ละลำดับ
 
เมื่อผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ได้รับประกาศผลการนับคะแนนจากกรรมการประจำสถานที่เลือกแล้ว จะดำเนินการจัดทำประกาศผลการนับคะแนน แล้วรายงานให้กกต.ทราบ
 
เมื่อได้รับประกาศผลการนับคะแนนแล้ว ให้รอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว กกต.เห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกในราชกิจจานุเบกษา และแจ้งรายชื่อให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
ทั้งนี้ การคัดเลือก สว.ระดับประเทศ จาก 20 กลุ่ม จะได้ สว. 200 คน และขึ้นบัญชีสำรองไว้อีก 100 คน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่