JJNY : ชัยนาทเผชิญภัยแล้งหนัก│“ชัยธวัช”ขออย่าด่วนสรุปยุบก้าวไกล│‘ราคาบ้าน’เพิ่ม สวนทางตลาดซึม│คาร์คิฟโดนถล่มหนัก

ชัยนาท เผชิญภัยแล้งหนัก พื้นที่นาข้าวกว่า 1 พันไร่ ถูกทิ้งร้าง ไม่มีน้ำพอ
https://www.matichon.co.th/region/news_4571406
 
 
ชัยนาท เผชิญภัยแล้งหนัก พื้นที่นาข้าวกว่า 1 พันไร่ ถูกทิ้งร้าง ไม่มีน้ำพอ
 
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพื้นที่ ต.สะพานหิน อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท และพื้นที่ใกล้เคียงปัจจุบันยังคงต้องเผชิญกับภัยแล้งต่อเนื่องมากกว่า 6 เดือน ทำให้มีพื้นที่นาข้าวถูกทิ้งร้างจำนวนกว่า 1,000 ไร่ เนื่องจากไม่มีน้ำเพียงพอที่จะให้ชาวนาปลูกข้าว หรือพืชใดๆ ได้เลย เพราะพื้นที่ในแถบนี้อยู่นอกเขตชลประทาน ที่การทำเกษตรต้องพึ่งน้ำฝนเพียงเดียว ทำให้ไม่ได้ทำการเพาะปลูกต่อเนื่องมาถึง 2 ฤดูต่อเนื่อง แม้บางรายจะหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยอย่าง ถั่วเขียว หรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ก็ไม่ค่อยได้ผลผลิตที่คุ้มค่าการลงทุน เพราะสภาพความแห้งแล้งที่รุนแรงยาวนาน

ขณะที่สถานการณ์น้ำที่ เขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท กุญแจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำลุ่มภาคคกลาง ล่าสุดได้คงการระบายน้ำไว้ที่อัตรา 70 ลบ.ม./วิ (ลูกบาศเมตรต่อวินาที) เพื่อผลักดันน้ำเค็มปากแม่น้ำ รักษาระบบนิเวศลำน้ำ แต่ยังคงเน้นสงวนน้ำไว้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และบรรเทาปัญหาภัยแล้ง
 
ส่วนปริมาณน้ำเหนือเริ่มมีปริมาณที่คงตัวต่อเนื่อง โดยที่จุดวัดน้ำ C2 หน้าค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ ลงมาที่เขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวัดได้ 283 ลบ.ม./วิ ขณะที่ระดับน้ำเหนือเขื่อนเริ่มลดระดับลง ล่าสุดวัดได้ 14.33 ม.รทก.(เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ซึ่งถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานกักเก็บ 16.50 ม.รทก.เข้าสู่วันที่ 166 (ล่าสุดที่ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์คือ 28 พ.ย.66) หรือเข้าสู่เดือนที่ 6 และจากที่เขื่อนเจ้าพระยาคงการระบายน้ำลงท้ายเขื่อน ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนลดระดับลง ล่าสุดวัดได้ 5.41 ม.รทก. ทำให้เห้นสันดอนทรายโผล่พ้นน้ำขึ้นมาอย่างชัดเจน

ขณะเดียวกันกรมชลประทานได้เน้นการผันน้ำเข้าทุ่งทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อส่งน้ำเข้าพื้นที่เพื่อการอุปโภคบริโภค และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวม 191ลบ.ม./วิ โดยฝั่งตะวันออกผันน้ำผ่านคลองชัยนาทป่าสัก คลองช่องแค และคลองมหาราช รวม 82ลบ.ม./วิ ส่วนฝั่งตะวันตกผันน้ำผ่านคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย รวม 109ลบ.ม./วิ
 
ซึ่งจากสถานการณ์น้ำล่าสุด ทางราชการจึงย้ำขอความร่วมมือเกษตรกร ขอให้งดการทำนาต่อเนื่อง ถ้าจะทำการเพาะปลูกขอให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ประชาชนทั่วไปขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัด เพราะประเทศไทยยังจะต้องเผชิญกับสภาวะภัยแล้งไปอีกจนถึงเดือนมิถุนายน



“ชัยธวัช” ขออย่าด่วนสรุปคดียุบพรรคก้าวไกล ชี้ยังไม่แน่นอน
https://www.thairath.co.th/news/politic/2784910

“ชัยธวัช ตุลาธน” เยือนอุบลฯ ประชุมเลือกตั้งตัวแทนพรรคประจำอำเภอ ชี้คดียุบพรรคอย่าเพิ่งด่วนสรุป เพราะไม่แน่นอน แต่มั่นใจ ต่อให้พรรคถูกยุบเราก็จะไม่ล่มสลาย จะกลับมาเข้มแข็งกว่าเดิม
 
วันที่ 11 พฤษภาคม 2567 นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี โดยช่วงเช้าเข้าร่วมการประชุมเลือกตั้งตัวแทนพรรคประจำอำเภอ (ตทอ.) ศรีเมืองใหม่ และบรรยายหัวข้อ “ความสำคัญของ ตทอ. ในการสร้างพรรคของมวลชน” กล่าวช่วงหนึ่งว่า พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับสมาชิกพรรคและตัวแทนพรรคประจำอำเภอ (ตทอ.) แม้กฎหมายพรรคการเมืองไม่ได้บังคับให้มี แต่ก้าวไกลกำหนดกลไกนี้ขึ้นมาเอง ต่างจากพรรคการเมืองอื่นที่ตั้งกลไกหรือโครงสร้างต่างๆ เพียงเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
 
นอกจากนี้ นายชัยธวัช ยังกล่าวอีกว่า สำหรับคดียุบพรรค หลายคนอาจสงสัยว่าในห้วงเวลาแบบนี้ทำไมเรายังมุ่งมั่นทำงานสร้างพรรค ตนขอว่าอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าพรรคจะถูกยุบแน่นอน แม้ว่าคดียุบพรรคจะเป็นเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องกฎหมาย จะยุบหรือไม่เป็นประเด็นการเมือง เอาเข้าจริงการยุบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญนี้ไปยืมมาจากเยอรมัน แต่เยอรมันกำหนดเนื้อหานี้ขึ้นเพื่อป้องกันปัญหากรณีพรรคนาซีในอดีต แต่ของไทยเมื่อเอามาใช้ก็น่าสงสัยว่าบรรดาพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น กระทำความรุนแรงล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอย่างนั้นหรือ ในทางกลับกัน บรรดานายพลทหารที่นิยมชมชอบการออกมาทำรัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตย กลับลอยนวล
 
เมื่อเรื่องยุบพรรคเป็นเรื่องการเมือง เราไม่มีทางรู้ว่าพรรคจะถูกยุบหรือไม่ เพราะการเมืองเปลี่ยนทุกวัน สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงทำให้เกิดความไม่แน่นอน วันนี้อยากยุบ วันถัดมาอาจรู้สึกไม่อยากยุบแล้วเพราะกลัวก้าวไกลโตกว่าเดิม แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความเข้มแข็งของพรรค ถ้าพรรคมีความเข้มแข็งจากฐานราก จากสมาชิกพรรคที่เหนียวแน่น ต่อให้พรรคถูกยุบเราก็จะไม่ล่มสลาย ทั้งยังกลับมาได้อย่างเข้มแข็งและรวดเร็วกว่าเดิม” หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าว
 
จากนั้นนายชัยธวัชเดินทางไปพบสมาชิกที่วัดบ้านหนองแสง ต.คำไฮใหญ่ อ.ดอนมดแดง พูดคุยหัวข้อ “การกระจายอำนาจเพื่อการพัฒนาโดยท้องถิ่น” 
 
นายชัยธวัช กล่าวว่า หลายคนอาจคิดว่าถ้ากระจายอำนาจก็จะเสร็จบ้านใหญ่ เสร็จนักการเมืองเก่า แต่ถ้าเราอยากแก้เรื่องนี้ก็ยิ่งต้องกระจายอำนาจ เพราะระบบอุปถัมภ์แบบบ้านใหญ่ที่ยึดท้องถิ่นเอาไว้เป็นสมบัติส่งต่อกันเป็นทอดๆ นั้น ดำรงอยู่ได้เพราะเรากระจายอำนาจไม่มากพอ เช่นเมื่อเงินน้อย อำนาจน้อย แล้วไม่มีงบมาแก้ไขปัญหา จึงกลายเป็นเงื่อนไขให้บรรดาผู้บริหารท้องถิ่นต้องไปวิ่งเต้นเส้นสายของบประมาณ ขอทรัพยากร จากผู้มีอำนาจกลายมาเป็นบุญคุณเป็นสายสัมพันธ์เครือข่ายอุปถัมภ์ต่อเนื่องกัน มีแต่การกระจายอำนาจที่จะยุติวงจรระบบอุปถัมภ์นี้ลง และทำให้เมืองต่างๆ จังหวัดต่างๆ ของไทย เติบโตได้อย่างรวดเร็ว เต็มศักยภาพ และทัดเทียมกับเมืองใหญ่อื่นๆ ในต่างประเทศ และนี่จะเป็นหนทางเดียวในการพัฒนาเมืองให้เติบโตไปในทิศทางที่ตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 



‘ราคาบ้าน’ ขยับเพิ่ม ดันค่าเช่าพุ่ง สวนทางตลาดซึม กำลังซื้อซบเซา
https://www.matichon.co.th/economy/news_4571134
 
ราคาบ้านขยับ ค่าเช่าพุ่ง สวนทางตลาดซึม กำลังซื้อซบเซา
 
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) แพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์ เผยภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังเติบโตแบบซึม ๆ อันเนื่องมาจากความท้าทายรอบด้านที่กระทบต่อสถานะทางการเงินของผู้บริโภค ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจ ภาวะหนี้ครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อจากปัจจัยภายนอกทั้งภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ภาพรวมความต้องการซื้อทั่วประเทศในไตรมาสล่าสุดลดลง 7% โดยลดลงทุกประเภทที่อยู่อาศัย
 
ขณะที่ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศปรับขึ้นเล็กน้อย 1% ตามต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น สะท้อนถึงกำลังซื้อของกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) ที่ยังไม่ฟื้นตัว จึงเลือกชะลอแผนการซื้อหรือโยกย้ายที่อยู่อาศัยออกไปก่อน ส่งผลให้ภาพรวมความต้องการเช่าทั่วประเทศลดลง 10% โดยดัชนีค่าเช่าแนวสูงเพิ่มขึ้นถึง 5% และแนวราบเพิ่มขึ้น 4%
 
โดยคาดมาตรการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท จะช่วยเพิ่มอัตราการดูดซับที่อยู่อาศัยกลุ่มใหญ่ในกรุงเทพฯ ให้ลดลง และหากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มกำลังซื้อเข้ามาเสริมจะยิ่งช่วยเติมเชื้อไฟให้ภาคอสังหาฯ เติบโตอย่างเห็นได้ชัดในช่วงครึ่งปีหลัง
 
ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดวิเคราะห์จากข้อมูลประกาศขาย-เช่าอสังหาฯ บนเว็บไซต์ DDproperty ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 พบภาพรวมดัชนีราคาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศปรับเพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า มีปัจจัยสำคัญมาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งราคาวัสดุก่อสร้าง การปรับขึ้นค่าแรง ราคาที่ดินในปัจจุบัน รวมทั้งความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ ต้องปรับขึ้นราคาอย่างเลี่ยงไม่ได้
 
เมื่อพิจารณาตามประเภทที่อยู่อาศัย พบว่า ดัชนีราคาของคอนโดฯ และบ้านเดี่ยวในไตรมาสที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นในสัดส่วนเท่ากัน 1% ถือเป็นสัญญาณบวกในการเติบโตของตลาดอสังหาฯ ปีนี้ ส่วนทาวน์เฮ้าส์ยังทรงตัวจากไตรมาสก่อนและปีก่อนหน้า
 
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความท้าทายทางการเงินโดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซา ส่งผลให้ผู้บริโภคเลือกชะลอแผนการซื้อบ้านออกไปก่อน เห็นได้ชัดจากภาพรวมความต้องการซื้อทั่วประเทศที่ปรับลดลง 7% เทียบไตรมาสที่ผ่านมาและลดลงถึง 31% จากปีก่อนหน้า ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2566 และปรับลดลงในทุกประเภทที่อยู่อาศัย
ทั้งนี้ คอนโดฯ ยังคงเป็นที่อยู่อาศัยที่มีจำนวนมากที่สุดในตลาดถึง 59% ของจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมดทั่วประเทศ ตามมาด้วยบ้านเดี่ยว 25% และทาวน์เฮ้าส์ 17% ขณะเดียวกัน ที่อยู่อาศัยระดับราคา 1-3 ล้านบาท ครองตลาดด้วยสัดส่วน 30% ของจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมดทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคระดับกลาง-ล่างยังคงไม่มีกำลังซื้อเพียงพอที่จะดูดซับอุปทานเหล่านี้ รองลงมาคือระดับราคา 5-10 ล้านบาท และระดับราคามากกว่า 15 ล้านบาท ในสัดส่วนที่ไล่เลี่ยกัน
 
สำหรับภาพรวมตลาดเช่าที่อยู่อาศัยทั่วประเทศยังคงมีทิศทางเติบโตในแง่ของราคาอย่างต่อเนื่อง พบว่าดัชนีค่าเช่าที่อยู่อาศัยแนวสูงอย่างคอนโดฯ และอพาร์ตเมนต์ปรับเพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อนและเพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อนหน้า
 
เช่นเดียวกับดัชนีค่าเช่าที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ เพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 28% จากปีก่อนหน้า แต่สวนทางกับความต้องการเช่าทั่วประเทศที่ปรับลดลง 10% จากไตรมาสก่อนและลดลง 25% จากปีก่อนหน้า
 
แม้ว่าความต้องการเช่าจะลดลงจากไตรมาสก่อน แต่ถือเป็นการลดแบบชะลอตัวลงจากช่วงที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการเช่าที่กระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อย สอดคล้องกับเทรนด์ Generation Rent ที่เน้นเช่ามากกว่าซื้อ และตอบโจทย์ทางการเงินได้ดีกว่า
 
โดยคอนโดฯ เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการปล่อยเช่าสูงถึง 87% ของจำนวนที่อยู่อาศัยเพื่อเช่าทั้งหมดทั่วประเทศ รองลงมาบ้านเดี่ยว 9% และทาวน์เฮ้าส์ 4% ขณะที่ภาพรวมที่อยู่อาศัยเพื่อเช่าในระดับค่าเช่า 10,000-30,000 บาท/เดือน ครองตลาดด้วยสัดส่วนสูงสุดที่ 41% ซึ่งเป็นช่วงราคาที่สามารถจับต้องได้และตอบโจทย์ผู้บริโภคส่วนใหญ่
 
เมื่อแบ่งตามประเภทที่อยู่อาศัยพบว่าคอนโดฯ และทาวน์เฮ้าส์ในระดับค่าเช่า 10,000-30,000 บาท/เดือน มีจำนวนมากที่สุด ต่างจากบ้านเดี่ยวที่ระดับค่าเช่ามากกว่า 100,000 บาท/เดือน มีจำนวนมากที่สุด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่