ปีนี้น่าจะเป็นปีที่ฤดูฝนกลับมาเยือนตรงตามฤดูกาลตามตำราแบบเป๊ะ ๆ (กลางเดือนพฤษภาคม)

ทบทวนช่วงเวลาเข้าฤดูฝนของประเทศไทยย้อนหลังกลับไป 10 ปี
2557: 22-พ.ค.
2558: 13-พ.ค.
2559: 15-พ.ค.
2560: 18-พ.ค.
2561: 20-พ.ค.
2562: 26-พ.ค.
2563: 16-พ.ค.
2564: 18-พ.ค.
2565: 22-พ.ค.
2566: 27-พ.ค.

จะเห็นว่าปีที่แล้ว 2566 ผิดธรรมชาติสุด ๆ เข้าหน้าฝนปลายเดือนพฤษภาคม บ้าไปแล้ว

แบบจำลองของ ECMWF ในวันนี้จะเห็นได้ว่า ลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยนั้นยังคงเป็นลมใต้+ลมตะวันออกเฉียงใต้ซี่งเป็นลมประจำฤดูร้อน แน่นอนว่าอากาศในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายนนี้ดุเดือดมาก ๆ ตามที่คนไทยกำลังเผชิญ


เมื่อเลื่อนแบบจำลองไปช่วงคาบเกี่ยวระหว่างสิ้นเดือนกับต้นเดือนหน้า จะเห็นว่าวันสุดท้ายของเดือนเมษายน ลมเริ่มเปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตก และตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้าสู่ประเทศไทย 



ในเรื่องของทิศทางลมมรสุม GFS ก็ให้ตรงกับ ECMWF เช่นกัน คือลมเปลี่ยนทิศทางในวันที่ 30 เมษายน แต่สิ่งที่ต่างคือ GFS ให้มีฝนตกในประเทศไทยโดยทั่วในวันที่ 3 พฤษภาคม (ในขณะที่ ECMWF ยังไม่ให้) ถ้าจินตนาการตามเขาก็คือ ลมเปลี่ยนทิศทางในวันที่ 30 เม.ย. สะสมความชื้น 3 วัน ฝนก็เริ่มตกวันที่ 3 พ.ค. เลยนั่นเอง



หากลมมรสุมเปลี่ยนทิศทางในวันที่ 30 เมษายนนี้จริง อย่างช้าที่สุดฝนคงตกในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมและกรมอุตุไทยก็น่าจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ซึ่งตรงตามตำราคือเข้าฤดูฝนกลางเดือนพฤษภาคม ปีนี้วันพืชมงคลตรงกับวันที่ 10 พฤษภาคม เป็นเข้าฤดูฝนตามโบราณราชประเพณี ซึ่งก็น่าจะตรงกับธรรมชาติ (หากแบบจำลองนั้นแม่นยำ)

และที่ขาดไม่ได้เลยคือเพลง "ฝนเดือนหก" ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำ ๆ ซึ่งปีนี้เข้าเดือนหกในวันที่ 8 พฤษภาคม ซึ่งถ้าฝนตกตั้งแต่วันที่ 3 จริงเรียกได้ว่าฝนตกตั้งแต่ย่างเข้าเดือน 6 ตามเพลงจริง ๆ เลยหนางานนี้

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่