นักวิจัยพบปรสิตแฝงในแมว ทำคนเลี้ยงเสี่ยงมีอาการทางจิต




นักวิจัยพบปรสิตแฝงในแมว ทำคนเลี้ยงเสี่ยงมีอาการทางจิต

ทีมนักวิจัยจากออสเตรเลียพบความเกี่ยวข้องระหว่างการเลี้ยงแมวและอัตราเสี่ยงป่วยโรคจิตเภทของผู้เลี้ยงที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปรสิตชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่กับแมว

เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2567 ทีมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยสุขภาพจิตแห่งควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ได้เผยผลจากการศึกษาล่าสุดซึ่งค้นพบว่า ผู้ที่เลี้ยงแมวมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคจิตเภทเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับคนทั่วไป โดยเฉพาะหากคนเลี้ยงมีอายุไม่ถึง 25 ปี

สาเหตุสำคัญมาจากปรสิตที่ชื่อ Toxoplasma gondii (T. gondii) ซึ่งพบได้ในแมวบ้านทั่วไป เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิด “โรคไข้ขี้แมว” ปรสิตชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในร่างกายของแมวหรือสัตว์เลี้ยงในบ้านชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะในส่วนของลำไส้ ไข่ของมันอาจปะปนมากับมูลแมวและสามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้

จากการศึกษาพบว่า เชื้อ Toxoplasma gondii มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของสมองคนในเชิงสรีรวิทยา

ทีมวิจัยได้ทำการวิเคราะห์กรณีศึกษา 17 ราย ซึ่งมีการเผยแพร่ตลอดระยะเวลา 44 ปีที่ผ่านมาจาก 11 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา พบว่ามีความเกี่ยวข้องที่เห็นได้ชัดระหว่างการเลี้ยงแมวและอัตราเสี่ยงต่อโรคจิตเภทที่เพิ่มขึ้น

จอห์น แมคแกรธ นักจิตวิทยาหัวหน้าทีมเจ้าของรายงานที่เผยแพร่เมื่อธ.ค. ที่ผ่านมาอธิบายว่า 

เมื่อเชื้อ Toxoplasma gondii เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ มันสามารถแทรกซึมเข้าไปรับระบบประสาทส่วนกลางและส่งผลกระทบต่อการสารสื่อประสาทหรือสารเคมีที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อส่งสัญญาณจากเซลล์ประสาทหนึ่งไปยังอีกเซลล์หนึ่ง

ทีมวิจัยระบุว่าปรสิตชนิดนี้สามารถทำให้บุคลิกภาพของผู้ที่รับเชื้อเปลี่ยนไป มีอาการของโรคจิตเวช และมีความผิดปกติทางระบบประสาท ได้แก่ โรคจิตเภท

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยสรุปว่าจำเป็นจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในมาตรฐานที่สูงขึ้น โดยต้องอาศัยกรณีตัวอย่างจำนวนมาก เพื่อให้เข้าใจกลไกของความเกี่ยวข้องระหว่างการเลี้ยงแมวกับการป่วยทางจิตได้มากขึ้น.

ที่มา : sciencealert.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES

ขอบคุณ ข่าวจาก

เดลินิวส์ออนไลน์

https://www.dailynews.co.th/news/3366212/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่