ถวายต้นผึ้งรับสงกรานต์ งานนี้บุกถึงที่ ทำเองกับมือ!!! (ภาค 2)

โอ้มาเถิดหนา~~~ กระไรแม่มา~~
เพี้ยนเขินเพี้ยนเขินเพี้ยนเขิน
แหม่.. เพลงบ่งบอกว่าชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายปีได้เลยแฮะ
.
กลับมาแล้วค่าสาว เราจะมาต่อกันที่ส่วนของการแอดเวนเจอร์ บอกเลยพวกเธอ ต้นผึ้ง 150 บาท อิฉันอยากจะทิปให้คนทำอีก 300 เลออออ
แต่ก่อนจะไปกันต่อ ใครยังไม่ได้อ่านภาคเปิด ไปที่นี่นะจ๊ะ ถวายต้นผึ้งรับสงกรานต์ งานนี้บุกถึงที่ ทำเองกับมือ!!! (ภาค 1)  
.
หลังจากที่เราถวายต้นผึ้ง ไหว้พระขอพร และทำสารพัดพิธีกรรมตามสไตล์สายมูเสร็จ เราก็ขอติดสอยห้อยตามน้องเบลล์ไป ให้น้องพาไปกินของอร่อย แล้วก็คุยกับน้องไปตรงๆ ว่ามาถวายหลายรอบแล้ว อยากจะขอไปดูวิธีการทำได้ไหม เอาจริง.. ดูจากโครงสร้างต้นผึ้งก็พอเดาได้อยู่แหละ แต่นี่อยากไปสัมผัสอารมณ์แบบวิถีชาวบ้านไรงี้ ~~ ฉันจำได้เลย น้องเบลล์ยกกาแฟจิบทีนึงแล้วถามว่า จะไหวเหรอคะพี่???
"
ทำไม!!! ยังไง!!! นี่พี่เองนะ คนที่แข็งแรงบึกบึน เพี้ยนแข็งแรงเพี้ยนแข็งแรง มันจะสักแค่ไหนกันเชียววววว งานนี้ฉันต้องได้ดูเขาทำต้นผึ้ง!!!!


เอาหล่ะ เริ่มกันเลอ...
น้องเบลล์เล่าว่า เมื่อก่อนย่านนี้ก็ทำต้นผึ้งถวายกันเองทั้งหมด (น้องหมายถึงทุกหลังคาเรือนที่เป็นคนท้องถิ่นเขาทำกันเอง) เพราะวัตถุดิบหาง่าย มีปลูกติดไว้แทบทุกบ้าน หรือไม่ก็ไปหาตัดเอาตามรายทางก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้ถ้าไม่ใช่คนทำไร่ทำสวนก็หาวัตถุดิบได้ค่อนข้างยาก หลายอย่างที่เคยหาตัดหาเก็บเอาได้ก็ต้องจ่ายเงินซื้อแทน ก็นะ..เป็นเหมือนกันทุกที่เมื่อยุคสมัยมันเปลี่ยนไป
.
น้องเบลล์เริ่มจากพาเราไปบ้านหลังนึงก่อน แล้วพวกเขาก็สนทนาภาษาถิ่นกัน ซึ่ง... ฉันฟังไม่ทันเลย ฟังไม่รู้เรื่องเลย 555555 ด้วยความที่ภาษาโซนด่านซ้ายมันมีสำเนียงเฉพาะที่ ไม่ใช่อีสานจ๋า แล้วก็ไม่ได้ไปทางเหนือ เคยได้ยินว่าเขาเรียก "ภาษาเลย" ถ้าพูดช้าๆ ก็มีกลิ่นอายของภาษาเหนือนิดหน่อย ถ้าให้เรานิยามนะ เรามองว่าเป็นภาษาอีสานที่มีความนุ่มนวลแบบเหนือ ไม่ห้วน แล้วก็มีคำสร้อยน่ารักๆ เช่น กะเด๋อ แน้ว ฮันแน้ว ก๋อ เป็นต้น
.
กลับมาที่ต้นผึ้งค่ะ!!!!!
.

นี่คือโครงที่ชาวบ้านทำเตรียมเอาไว้ รอติดดอกผึ้งกับติดดอกไม้ก็พร้อมขนไปถวายที่พระธาตุศรีสองรักได้เลย ซึ่งต้นผึ้งจะสวยได้สัดส่วนหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือในการทำโครงนี่แหละ ต้องได้ขนาดพอดี ไม่เอียง ไม่เบี้ยว แนวการตัดไผ่ตัดกล้วยต้องเนี๊ยบ ไม่เป็นขุยหรือเป็นเส้นใย แบบนี้ถึงจะนับได้ว่าเป็นงานประณีต ... เมื่อได้เห็นโครงที่ทำสำเร็จแล้ว เราก็เข้าป่ากันเลย 555555

.

เธอเอ้ยยยย ต้นกล้วยที่เห็นนี่ไม่ใช่เล็กๆ นะ แบกกันหลังหัก!!! ประเด็นคือจำเป็นต้องใช้ต้นใหญ่ เพื่อให้ตัดกาบแล้วได้ชิ้นที่สวยงาม มีความหนาสม่ำเสมอกัน กาบนอกก็ใช้ไม่ได้ด้วยว่าผิวไม่เนียนสวย สรุปคือแบกกล้วยต้นนึงทำต้นผึ้งได้ไม่เท่าไร ระหว่างดูเขาฟันต้นกล้วย กางเกงฉันก็เปื้อนยางกล้วยไปแล้วหนึ่ง

.
.

ตรงนี้แหละที่เป็นงานหิน น้องเบลล์พาเราไปตัดไผ่ที่หนึ่ง เสร็จแล้วก็ไปตัดอีกที่หนึ่ง ชวนให้สงสัยเหลือเกินว่าทำไมไม่ตัดที่เดียวให้มันพอใช้ เรื่องนี้มีที่มาค่ะคุณกิตติ น้องเบลล์เล่าว่า ความจริงจะใช้ไผ่แบบไหนก็ได้ แต่แนวทางการทำต้นผึ้งของพ่อแสนคำบุญยอเป็นแบบนี้ ซึ่งน้องเบลล์ก็มองว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ใส่ใจรายละเอียดดี ก็เลยเลือกพาเรามาดูงานของพ่อแสนคนนี้ด้วย 
.
การเลือกต้นไผ่จะต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกทำยอดต้นผึ้งที่มีทรงสูง ต้องใช้ไผ่ข้าวหลาม เพราะมีลำตรงสวย ข้อปล้องยาว เวลานำมาประกอบเป็นต้นผึ้งก็จะไม่เห็นข้อปล้องให้สะดุดตา อีกส่วนหนึ่งเป็นสี่เหลี่ยมด้านล่าง ตรงนี้ต้องใช้ไผ่บงขม ลักษณะเป็นไผ่มีหนาม เนื้อไม้หนา แข็งแรง เหมาะกับการทำชิ้นส่วนที่ต้องรับน้ำหนัก จำได้ว่าตอนไปตัดไผ่บงนี่มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ด้วยนะทุกคน
.
แต่ที่เหนือกว่ากลิ่นไผ่ คือกลิ่นเหงื่อ เธอออออ ร้อนมากกกกกกกก เหนื่อยสุดดดด เพราะมันไม่ใช่แค่ไปตัดกล้วยแล้วก็ตัดไผ่ มันต้องเลือกต้องคัดต้นที่มีคุณสมบัติตามต้องการ ไม่อย่างนั้นก็ตัดไปเสียของ 


ส่วนตัวเรามองว่าการทำโครงที่เป็นไม้ไผ่ยากสุด ต้องวัดและตัดให้พอดี ตัดพลาดมากเท่าไรก็เท่ากับแรงที่ลงไปเสียเปล่าเท่านั้น และถ้าใครต้องซื้อลำไผ่มาทำ ก็เท่ากับต้นทุนที่ต้องเสียไปด้วย .. แต่ก็ด้วยความชำนาญอะนะ เขาก็ทำกันคล่องมาก ตัด เหลา ประกอบ ไม่นานเท่าไรก็ได้โครงมาละ เสร็จแล้วตัดกาบกล้วยมาหุ้มให้เรียบร้อย รอติดดอกผึ้งต่อไป


นี่คือดอกผึ้งที่เราพูดถึง ดอกผึ้ง เป็นการนำแผ่นเทียนสีเหลืองมาหลอมให้เหลวด้วยความร้อน จากนั้นค่อยขึ้นรูปตามที่ต้องการ ปกติเขาก็จะไม่ได้ทำกันต้นต่อต้น แต่อาศัยทำทีเดียวแล้วใส่กล่องเก็บสะสมไว้ ต้องการใช้เท่าไรก็แบ่งออกมา เพราะถ้าทำต้นต่อต้นจะเสียเวลามาก 


หลอมจนเหลวแบบนี้เลย เพี้ยนปักหมุดเพี้ยนปักหมุดแล้วก็เอาแม่พิมพ์จุ่มลงไปให้เนื้อเทียนติดมา ก่อนจะไปแช่น้ำเย็นให้ดอกเทียนหลุดออก

.

ปล่อยดอกเทียนลอยน้ำสักพักให้พอเซตตัว ก็นำขึ้นมาผึ่งลมเล็กน้อย ก่อนเก็บเข้ากล่องไว้ใช้งานต่อไป ... สวยเนอะ ~~~~
.
น้องเบลล์เสริมว่า ดอกผึ้งก็เป็นสไตล์ของแต่ละบ้านด้วย เพราะไม่ได้มีข้อกำหนดว่าดอกผึ้งต้องมีรูปร่างและขนาดเท่าไร ใครอยากสร้างสรรค์ให้เป็นแบบไหนก็ทำได้ เทคนิคก็แตกต่างกันไป จำนวนดอกที่ใช้ก็ต่างกันไปด้วย


การทำดอกผึ้งนี่ต้องใจเย็นมากเลยนะ รีบมากดอกก็จะไม่ได้รูปทรงสวย บางทีติดกันเป็นแพใช้งานไม่ได้ บางทีบิดเบี้ยว เรียกว่าเป็นงานฝีมือที่ต้องค่อยๆ ทำ ตอนยอนนนน ตะ ตอนย๊อนนนน ~~
.
เมื่อมีส่วนประกอบครบหมดแล้วก็จะปักดอกผึ้งอย่างที่เราเคยทำไปในโพสต์ที่แล้ว เตรียมดอกไม้สำหรับเสียบยอดต้นผึ้ง แล้วก็จัดเตรียมชุดพานขันธุ์ เป็นอันครบองค์ พร้อมนำไปถวายได้เลย

.

โอเค มาถึงตรงนี้คงเห็นแล้วหล่ะเนอะ ว่าต้นผึ้งมีรายละเอียดที่ต้องใส่ใจในการทำหลายอย่าง ซึ่งความใส่ใจก็สะท้อนออกมาผ่านความสวยงามของต้นผึ้งนั่นเอง อันนี้ส่วนตัวนะ เรารู้สึกว่าเลือกถูกเลยอะที่ใช้บริการของพ่อแสนคำบุญยอมาตลอด เราชอบในขั้นตอนการทำงานของเขา คือของคนอื่นอาจจะดีกว่านี้ก็ได้นะ แต่เรามองว่าโชคดีที่ได้เจอกับงานที่ค่อนข้างประณีตตั้งแต่ต้น เราสัมผัสได้ว่าเขามีความศรัทธาในสิ่งนี้ เลยตั้งใจจะทำออกมาให้ดี นั่นแหละที่มันทัชใจเรา เพราะเวลาเราจะบูชาอะไร ถ้าเตรียมของเองเราก็ประณีตเหมือนกัน ดังนั้นถ้าเป็นของที่สั่งทำ เราก็อยากให้เขาตั้งใจทำเหมือนกับจะถวายเอง
.
คิดว่าหลายคนคงรู้จักต้นผึ้งกันมากขึ้นแล้วววว หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่จะแวะเวียนมาบูชาพระธาตุศรีสองรักกันนะ ครั้งนี้เราขอลาไปก่อน ดีจ้าาาา
เพี้ยนสวัสดีเพี้ยนสวัสดีเพี้ยนสวัสดี
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่