‘Hermès’ เอาตัวรอดจากการถูก ‘LVMH’ ฮุบกิจการอย่างไร

เปิดกลเม็ดเด็ดของตระกูล “Hermès” (แอร์เมส) ที่สู้กับการเข้าซื้อของ LVMH เพื่อปกป้องกิจการแบรนด์เนมของตระกูลที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ให้ตกอยู่ในมือคนอื่น
By สุรินทร์ เจนพิทยา
https://www.bangkokbiznews.com/business/1107070

Key Points
LVMH ขึ้นชื่อเรื่องขยายกิจการด้วยการไล่ซื้อบริษัทแฟชั่นต่างๆ จนเป็นเจ้าของแบรนด์ดังอย่าง Bulgari, Christian Dior, Louis Vuitton, Marc Jacobs ฯลฯ
LVMH เคยย่องเก็บหุ้นของ Hermès อย่างเงียบๆ ผ่านบริษัทลูก และสถาบันต่างๆ หลายแห่ง โดยบริษัทแต่ละแห่งเก็บหุ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่า 5% เพื่อจะได้ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลผู้ถือหุ้นตามกฎหมายฝรั่งเศส จนรวมหุ้นได้มากถึง 23.2%

ทายาท Hermès เรียกอาร์โนลต์ว่า “หมาป่าแห่งแคชเมียร์” ซึ่ง “แคชเมียร์” เป็นผ้าหรูที่สื่อถึงธุรกิจแบรนด์เนม ส่วน “หมาป่า” เปรียบถึงนักล่าอย่างอาร์โนลต์ที่พยายามซื้อกิจการอย่างไม่เป็นมิตร

ในวงการแฟชั่น หนึ่งในเหตุการณ์ที่หลายคนจะไม่มีทางลืมคือ “มหากาพย์ศึกชิงหุ้น” ของแบรนด์เนมยักษ์ระดับโลก เมื่อ LVMH อาณาจักรแฟชั่นยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของโลก และเป็นเจ้าของแบรนด์ดังอย่าง Louis Vuitton, Christian Dior, Fendi ฯลฯ ย่องซื้อหุ้นของ “Hermès” (แอร์เมส) บริษัทแฟชั่นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงสัดส่วน 23.2%

หลายฝ่ายมองว่า หรือ Hermès อาจถึงคราวตกเป็นของ LVMH ไปแล้ว และทำให้ LVMH ครองธุรกิจแฟชั่นได้อย่างเบ็ดเสร็จ
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์กลับพลิกผัน เมื่อตระกูล Hermès สามารถรักษาบริษัทตัวเองไว้ได้ และ LVMHเป็นฝ่ายต้องถอยทัพแทน น่าสนใจว่า Hermès รับมือการเข้าฮุบกิจการครั้งนั้นได้อย่างไร
 
เรื่องราวนี้เริ่มต้นจาก LVMH ของเบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งเป็นอันดับ 2 ของโลกในปัจจุบัน ที่ผ่านมา เขาขยายอาณาจักร LVMH ด้วยการไล่ซื้อบริษัทแฟชั่นต่างๆ จนเป็นเจ้าของแบรนด์ดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น  Bulgari, Christian Dior, Louis Vuitton, Marc Jacobs, Tiffany & Co, Givenchy ฯลฯ เรียกได้ว่าเกือบทุกแบรนด์ที่ผ่านสายตาเรามา ล้วนอยู่ภายใต้อาณาจักรนี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม มีบริษัทหนึ่งที่ยังคงตั้งตระหง่านเป็นคู่แข่งอยู่ และมีมูลค่าบริษัท 220,000 ล้านดอลลาร์ ใหญ่เป็นรองเพียง LVMH ที่มีมูลค่า 390,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น นั่นคือ “Hermès”

หากเข้าซื้อโดยตรง ก็จะเป็นการแหวกหญ้าให้งูตื่น ด้วยเหตุนี้ ในปี 2544 LVMH จึงย่องเก็บหุ้นของ Hermès อย่างเงียบๆ ผ่านบริษัทลูก และสถาบันต่างๆ หลายแห่ง โดยบริษัทแต่ละแห่งเก็บหุ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่า 5% เพื่อจะได้ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลผู้ถือหุ้นตามกฎหมายฝรั่งเศส

การสะสมหุ้นดำเนินไปอย่างเงียบๆ จนแม้แต่เจ้าของ Hermès ก็ไม่รู้ตัว กระทั่งผ่านไปเกือบ 10 ปีในปี 2553 LVMH ประกาศสู่สาธารณะว่า ได้เข้าถือหุ้น Hermès มากถึง 17.1% แล้ว นั่นจึงทำให้ตระกูล Hermès ตกใจเป็นอย่างยิ่ง และกล่าวต่อเหตุการณ์นี้ว่า “มีผู้บุกรุกเข้ามาในสวนแล้ว และพวกเราไม่ต้องการให้เขาเข้ามาในบ้าน”

ยิ่งไปกว่านั้น ทายาท Hermès เรียกอาร์โนลต์ว่า “หมาป่าแห่งแคชเมียร์” ซึ่ง “แคชเมียร์” เป็นผ้าหรูที่สื่อถึงธุรกิจแบรนด์เนม ส่วนคำว่า “หมาป่า” เปรียบถึงนักล่าอย่างอาร์โนลต์ที่พยายามซื้อกิจการอย่างไม่เป็นมิตร

ส่วน LVMH โต้ตอบโดยยืนยันว่า นี่คือ การซื้อกิจการอย่างเป็นมิตร และยังคงซื้อหุ้น Hermès ต่อจนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 22.6%
เหล่าทายาท Hermès ประชุมด่วนแก้เกม

เมื่อความเสี่ยงที่ “บริษัทในตระกูล” อาจตกเป็นของคนอื่น อยู่ใกล้แค่เอื้อม เหล่าทายาท Hermès ราว 50 คนจึงร่วมประชุมกัน และก่อตั้ง “บริษัทโฮลดิ้ง H51” ขึ้นมา โดยนำหุ้นที่เหล่าทายาทถือแยกกันให้มารวมอยู่ในชื่อบริษัท H51 เดียว ซึ่งรวบรวมได้ถึง 50.2% หรือก็คือ เกินครึ่งหนึ่งของหุ้นบริษัท Hermès ทั้งหมดอยู่เล็กน้อย
จากนั้นพวกเขาทำสัญญาร่วมกันว่า จะไม่ขายหุ้น Hermès เป็นเวลา 20 ปีหรือก็คือ จนกว่าจะถึงปี พ.ศ.2574 ดังนั้น ถ้าทายาทราว 50 คนนี้พร้อมใจกันไม่ขาย LVMH ก็ไม่สามารถเข้ายึด Hermès ได้

ลูกา โซลกา (Luca Solca) นักวิเคราะห์ด้านธุรกิจแบรนด์เนมของธนาคาร BNP Paribas มองว่า “ตอนนี้ อาร์โนลต์กำลังปิดล้อม Hermès ให้นานจนกว่าทายาทตระกูลจะเปลี่ยนใจ และยอมขายหุ้นออกมา ผมเห็นภาพค่อนข้างชัดแล้วว่า อาร์โนลต์ต้องการเข้าควบคุมบริษัท”
ในปี 2555 บริษัท Hermès ได้ยื่นฟ้อง LVMH ในข้อหาใช้ข้อมูลวงในการซื้อหุ้นอย่างไม่โปร่งใส และปั่นราคาหุ้น ขณะเดียวกัน LVMH ก็ฟ้องกลับ Hermès ในข้อหาแบล็กเมล ใส่ร้ายป้ายสี และแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม

ท่ามกลางสงครามชิงหุ้นที่ดุเดือด “Autorité des marchés financiers” (AMF) หน่วยงานรัฐที่กำกับกิจกรรมทางการเงินของฝรั่งเศส จึงเข้ามาสืบสวนประเด็นดังกล่าว

หน่วยงานรัฐลงดาบ LVMH
ในปี 2556 หลังการสอบสวนความจริงได้กระจ่าง AMF ได้ลงโทษ LVMH ด้วยการปรับเงินสูงถึง 13.2 ล้านดอลลาร์หรือราว 450 ล้านบาท จากการที่ไม่เปิดเผยข้อมูลการเข้าซื้อหุ้น Hermès ต่อสาธารณะ โดย AMF กล่าวว่า LVMH ควรแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์นับตั้งแต่ปี 2551, 2552 และ 2553 ถึงการซื้อที่เป็นการส่งผลต่อราคาหุ้น

แรงกดดันจากภาครัฐและสังคม ในปี 2557 LVMH จึงยอมถอย และกระจายหุ้น Hermès ที่มีอยู่ 23.2% ให้ผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ แทน พร้อมให้สัญญาว่าจะไม่ซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า นับเป็นการถอยจากศึกระหว่าง Hermès กับ LVMH ที่ยาวนานเกือบ 4 ปีนับตั้งแต่ปี 2553

ต่อจากนั้นอีก 3 ปี ในปี 2560 อาร์โนลต์ก็ประกาศขายหุ้น Hermès ที่ถือไว้ทั้งหมดออก และเป็นการปิดฉากมหากาพย์สงครามนี้ ซึ่งถูกเรียกขานกันว่า “สงครามกระเป๋าถือ” หรือ “Handbag War”

จากเหตุการณ์ดังกล่าว หากลองนึกตามว่า ถ้าคนในตระกูล Hermès ราว 50 คนไม่สามัคคีกัน และทางการฝรั่งเศสไม่ได้ยื่นมือเข้ามาดูแล Hermès ก็อาจจะตกอยู่ภายใต้อาณาจักร LVMH แล้วก็เป็นได้ และจะทำให้เกือบทุกแบรนด์แฟชั่นอยู่ในการครอบครองของเจ้าเดียว

อ้างอิง: straitstimes, hermes, reuters, reuters(2), bbc, theguardian, ft, fashionlaw, tfr, กรุงเทพธุรกิจ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์
เครดิตแหล่งข่าว/เจ้าของบทความโดย กรุงเทพธุรกิจ
ติดตามข่าวสารต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.bangkokbiznews.com


แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่