นักกฎหมาย ติงวราวุธ อนุฯ ด้านกฎหมาย กสทช. หลังสรุปเสนอแนะเสี่ยงขัดต่อกฎหมาย ส่อกระทบตลาดทุน ผู้บริโภค และภาคธุรกิจ


กรณีการรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ได้ล่วงเลยกรอบเวลาที่ตลาดทุนคาดหมาย พร้อมกับการขาดความชัดเจนของกสทช. ชุดปัจจุบัน ทำให้มีคำถามตามมามากมายกับการดำเนินการของกสทช. ที่ดูเหมือนจะมีแนวทางปฏิบัติแตกต่างจากการรวมกิจการ 9 ดีลก่อนหน้านี้ ซึ่งหลังจากทรู-ดีแทค ได้แจ้งต่อกสทช. ถึงความประสงค์ในการรวมกิจการเมื่อเดือนมกราคม 2565 กสทช. ได้ตั้งที่ปรึกษา 2 ชุด คือ ฟินันซ่า และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นมีผลการศึกษาประกอบการพิจารณาของกสทช. ออกมา ทางกสทช. ก็ได้ประชุมและเพิ่มขั้นตอนการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวจำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย คณะอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง คณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยี และคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ โดยประเด็นที่คนตั้งคำถามอย่างมากคือ คณะอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง ที่มีการดึงนักวิชาการที่เคยร่วมลงชื่อคัดค้านในกลุ่ม 87 นักวิชาการ มาเป็นอนุกรรมการ เป็นการเลือกปฏิบัติและขาดความเป็นกลางหรือไม่ ซึ่งคงต้องว่ากันต่อไป 
 
แต่อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ ประเด็นที่มีการแต่งตั้ง นายวราวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา ประธานอนุกรรมการด้านกฎหมาย ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นหลักสูตร นธป. “นิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย” รุ่นที่ 6 กับ นายสารัชถ์ รัตนาวะดี เจ้าของกัลฟท์ และเอไอเอส ซึ่งถือได้ว่าเป็นมือกฎหมาย โดยเฉพาะด้านปกครอง แต่ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย กลับนำเสนอข้อสรุป ที่ทำให้กสทช. อาจเสี่ยงต่อการดำเนินการนอกเหนืออำนาจตามกรอบกฎหมาย โดยเสนอว่า กสทช. มีอำนาจในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติการควบรวม ทำให้ในหมู่นักกฎหมายต่างประหลาดใจกับคำแนะนำดังกล่าว
 
เมื่อพิจารณาการรวมกิจการจะพบว่า เกิดจากความบีบคั้นทางการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคม ทำให้ผู้ประกอบการทุกรายลุกขึ้นมาปรับตัวให้อยู่รอดในยุคเศรษฐกิจและเทคโนโลยีดิสรัปชั่น แต่ขณะที่กำลังมีการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อีกด้านหนึ่งกลับมีความพยายามในการปกป้องอาณาเขตของผู้เล่นบางราย ในรูปแบบของการกีดกันทางการค้ายุคใหม่ โดยการหน่วงรั้งการรวมธุรกิจ ซึ่งกรณีใด ๆ ก็ตามไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ หากเป็นการดำเนินการที่ภาครัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็มีความเสี่ยงในเรื่องของการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือการเลือกปฏิบัติ ซึ่งไม่ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย รวมถึงสร้างผลกระทบต่อผู้อื่น 
 
จะเห็นได้ว่า กสทช. ชุดใหม่ เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง ทำให้ต้องศึกษาให้ชัดเจนว่า อำนาจกำหนดไว้อย่างไร และดำเนินการแบบใดจึงจะไม่เข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริต ทั้งแบบตั้งใจ และ แบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เมื่อไม่รู้ ก็อาจพึ่งพาการแต่งตั้งอนุกรรมการ ภายใต้สมมุติฐานว่า จะเป็นผู้รู้ แต่สิ่งที่กสทช. พึงพิจารณาคือ การตั้งอนุกรรมการมาเสนอแนะแบบใดก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า บอร์ดกสทช. จะไม่ต้องรับผิดชอบ และที่หลายคนมักมองว่า อนุกรรมการที่ตั้งขึ้นมานั้น ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่จริง ๆ แล้ว อนุกรรมการมีการใช้อำนาจรัฐ ทำให้เสี่ยงต่อการเสนอแนะให้ดำเนินการที่ขัดต่อ 
 
ดังนั้น ความรอบคอบในการดำเนินการตามกรอบกฎหมาย จึงเป็นสิ่งที่ต้องออกมาเตือนกัน เพราะกสทช. เองก็ใหม่ และการดำเนินการที่คิดว่าไม่ได้ส่งผลเสียหายนั้น ต้องดูตามกฎหมายว่า การสร้างผลกระทบต่อผู้อื่นนั้น เกิดขึ้นเมื่อไร ส่วนความเสียหายนั้น แม้ไม่เจตนา แต่ถือได้ว่า ความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว
 
“กสทช. ออกคำสั่งโดยตัวเองไม่มีอำนาจ ผิดมาตรา 157 อันนี้เสี่ยงคุก เป็นประเด็นที่กสทช. มือใหม่ไม่รู้ เพราะคิดว่า ออกคำสั่งแล้ว ศาลปกครองยกคือรอด แต่จริง ๆ แล้วยังไปติดกฎหมายปปช. ที่เป็นการใช้อำนาจที่ตัวเองไม่มี ซึ่งเสี่ยงมาก จึงต้องเตือนกัน ที่สำคัญ อนุกรรมการ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็โดน 157 ได้ด้วย เพราะใช้อำนาจรัฐในการพิจารณา” แหล่งข่าวในวงการศาลให้ความเห็น 
 
นอกจากนี้ กสทช. มีการแต่งตั้งที่ปรึกษา โดยใช้งบประมาณของภาครัฐมาก่อนหน้านี้คือ บ.ฟินันซ่า และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผลการศึกษาออกมาชี้ชัดเรื่องอำนาจของกสทช. ซึ่งแน่นอนว่า ผลการศึกษา อาจถูกใจหรือไม่ถูกใจกสทช. แต่การตั้งอนุกรรมการด้านกฎหมายออกมาเสนอแนะ แนวทางที่เสี่ยงต่อการขัดต่อกฎหมาย และ ย้อนแย้งต่อผลการศึกษาของที่ปรึกษานั้น กสทช. เองต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า จะเลือกใช้ข้อเสนออันใด เพราะไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลที่ตามมาได้ ที่สำคัญ อนุกรรมการที่อาจคิดว่า เสนอผลการศึกษาได้ โดยไม่ต้องรับผลกระทบนั้น อาจต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะข้อเสนอแนะดังกล่าว อาจเสี่ยงต่อการดำเนินการเกินกรอบอำนาจทางกฎหมาย ซึ่งกรณีการควบรวมทรูดีแทค ได้ดำเนินการแจ้งให้ กสทช. ทราบตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม เป็นการดำเนินการตามประกาศและขั้นตอนที่กสทช. กำหนด โดยได้ดำเนินการเช่นเดียวกับกรณีอื่นที่ยื่นขอควบรวมก่อนหน้านี้มาแล้ว 9 ดีล ซึ่งตลาดทุนมองว่า กระบวนการควบรวมกิจการทรูและดีแทคจะดำเนินไปตามขั้นตอน แต่ความเสียหายเกิดขึ้นตั้งแต่การกำหนดขั้นตอนที่แปลกออกไปจากกรณีก่อนหน้า ทำให้เป็นประเด็นที่สังคมออกมาตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่
 
ทั้งนี้ การควบรวมทรูและดีแทคจะทำให้หลังการควบรวม ขนาดบริษัทมีความใกล้เคียงกับผู้เล่นรายใหญ่สุดในปัจจุบัน เราจึงได้เห็นการประลองกำลังในการสกัดดีลดังกล่าว ตั้งแต่การออกมาวิจารณ์ข้ามห้วยของซีอีโอเอไอเอส ที่ต้องรีบกลับลำแทบไม่ทันหลังจากได้รับสัญญาณให้ค้านการควบรวม โดยในตอนแรกให้สัมภาษณ์ว่า เห็นด้วยกับการควบรวมของทรูและดีแทค เพราะจะทำให้เอไอเอสยิ่งต้องปรับตัวเร็วขึ้น แต่ต่อมากลับเปลี่ยนท่าทีแบบเฉียบพลัน ทำให้สังเกตเห็นได้ชัดเจนว่า ขนาดยังไม่ได้เริ่มรวมกิจการ การแข่งขันก็ร้อนแรงขนาดนี้ ถ้ารวมแล้วจะยิ่งร้อนแรงขนาดไหน 
 
นอกจากนี้ ในการพิจารณารวมกิจการนั้น ยังมีการอ้างถึงค่าบริการจะสูงขึ้น ซึ่งเป็นการเบี่ยงเบนกฎหมายที่มีการควบคุมเพดานราคาอยู่แล้ว เพื่อสร้างความกังวลใจให้กับตลาดทุน โดยมีความพยายามออกสื่อหลายแห่งในประเด็นเดิม ๆ แต่เลี่ยงที่จะเปิดเผยว่า กสทช. มีอำนาจเต็มในการกำกับเพดานราคาของผู้ให้บริการทุกราย และได้ดำเนินการมาเป็นอย่างดี ซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตล้วนไม่ยอมทำผิดกฎหมายและเสี่ยงต่อการถูกยึดใบอนุญาตอย่างแน่นอน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่