JJNY : เสียชีวิต 33 ติดเชื้อ 2,455│ส.อ.ท.ชี้ขึ้นดอกเบี้ยกระทบต้นทุนการเงินพุ่ง│สภาล่ม ญัตติ8ปีวืด│ผีน้อยในเกาหลีใต้พุ่ง

โควิดวันนี้ เสียชีวิต 33 ราย ติดเชื้อใหม่ 2,455 ราย
https://www.matichon.co.th/covid19/thai-covid19/news_3502930
 

  
โควิดวันนี้ เสียชีวิต 33 ราย ติดเชื้อใหม่ 2,455 ราย
 
เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวัน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
 
ผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวใน รพ.) จำนวน 2,455 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยในประเทศ 2,455 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ – ราย ผู้ป่วยสะสม  2,393,077 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 2,142 ราย หายป่วยสะสม 2,394,671 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 21,584 ราย เสียชีวิต 33 ราย เสียชีวิตสะสม 10,065 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 920 ราย
 
เนื่องจากตั้งแต่ 1 มิ.ย. 65 เป็นต้นมา มีการปรับระบบรายงาน โดยรายงานเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล จึงทำให้รายงานยอดผู้ป่วยสะสม มีจำนวนที่น้อยกว่ายอดผู้หายป่วยสะสม
 
ขณะที่ ผู้ป่วยอาการหนักใช้ท่อช่วยหายใจ 477 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 920 ราย โดยจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ชุมพร อุบลราชธานี ขอนแก่น ปทุมธานี บุรีรีมย์ สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา
 

 
ส.อ.ท. ชี้ ขึ้นดอกเบี้ยกระทบต้นทุนการเงินพุ่ง
https://www.innnews.co.th/news/economy/news_390315/

ประธาน ส.อ.ท. ชี้ ขึ้นดอกเบี้ยกระทบต้นทุนอุตสาหกรรม ขอธปท.ดูช่องว่างเงินฝาก-กู้ให้เหมาะสม ช่วยประคอง SMEs ให้อยู่ได้
 
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี
 
เป็นร้อยละ 0.75 จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องมีการปรับดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้ ให้สอดคล้องกัน ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมาในช่วงวิกฤติ ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะปรับผลต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ให้กว้างมากขึ้น เพื่อรองรับความเสี่ยงทางการเงินของธนาคาร และจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.25 นั้น จะส่งผลทำให้ธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนเพิ่มขึ้น และต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็น ร้อยละ 0.75-1.00
 
ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้สัดส่วนการให้สินเชื่อในภาคอุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่าเงินสินเชื่อถึง 2.29 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 12.68 ของมูลค่าเงินให้สินเชื่อทั้งหมด
 
โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภาระอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น จะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มียอดการขอสินเชื่อสูง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์
 
โดยผลกระทบดังกล่าวรวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่มีการกู้ยืมเงินมาลงทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการหลังโควิด-19 โดยยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งหมด 3.49 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 19.35 ของยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อรวมทั้งหมดของประเทศ
 
ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการจะต้องแบกรับต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นอยู่แล้ว จากราคาพลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบ รวมทั้งค่าขนส่งโลจิสติกส์ และยังต้องเตรียมรับมือกับการการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าและค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยโดยตรง
 
ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ คือ เห็นด้วยกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและดุลยภาพของอัตราแลกเปลี่ยน
 
โดยอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะเหมาะสมต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าไทย และขอให้ ธปท. ควบคุมและดูแลการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์
 
โดยให้ผลต่าง (Spread) ระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ไม่กว้างเกินไป และควบคุมอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม
 
เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการและประชาชน ขอให้ภาครัฐ ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) และประชาชนผู้มีรายได้น้อย เช่น มาตรการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ การพักชำระหนี้ และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการปรับตัวรับมือกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นต่อไป



สภาล่มซ้ำซาก ญัตติฝ่ายค้านนายกฯ 8 ปีวืด
https://www.matichon.co.th/politics/news_3502933
 
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภา คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2.3 เรื่องรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำปีงบประมาณ 2563 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะวิปฝ่ายค้าน ได้ลุกขึ้นหารือเพื่อขอเปลี่ยนวาระการประชุม โดยเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาของนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท. และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เรื่อง ความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
 
นายสุทิน กล่าวว่า อยากให้สภาระดมความเห็นเพื่อเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ ในแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ที่ระบุไว้ว่า การดำรงตำแหน่งของนายกฯ ได้ไม่เกิน 8 ปี ถือเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมและมีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย และอาจจะเกิดการปะทะทางความคิด สภาฯที่เป็นผู้ตั้งนายกฯ เมื่อถึงคราวว่านายกฯ จะต้องหลุดหรือพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ สภาต้องระดมความเห็น เพื่อแนะนำนายกฯให้ทำตามรัฐธรรมนูญ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะวิปรัฐบาล เสนอความเห็นว่า การยื่นญัตติด่วนด้วยวาจาจะต้องหารือกันก่อน และคิดว่ามีความพยายามจะใช้สภา เป็นเครื่องมือกดดันผู้มีอำนาจในการตัดสินวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีหรือไม่ ทั้งที่เป็นอำนาจศาลที่จะตัดสิน ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล คงไม่เห็นด้วย
  
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ส.ส.ฝั่งรัฐบาลได้ร่วมคัดค้านการเสนอญัตติด่วนดังกล่าวด้วยวาจา ทำให้นายศุภชัยได้ขอให้ที่ประชุมลงมติว่า จะให้นำญัตติของพรรคฝ่ายค้านมาพิจารณาเป็นเรื่องด่วนหรือไม่ แต่เมื่อมีการแสดงตนก่อนลงมติ ปรากฏว่ามีผู้แสดงตนเพียงแค่ 124 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งคือ 239 คน จากจำนวนส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งหมด 478 คน ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ นายศุภชัยจึงจำเป็นต้องสั่งปิดประชุม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่