ตอบ 8 คำถาม ไขข้อข้องใจภาวะ Long Covid (update ล่าสุด 4/65)



ถ้าสนใจอ่านเพิ่มเติมเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับสุขภาพ  เชิญตามไปอ่านได้ที่ facebook page เลยค้าบบบ Health online by หมอเฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับ

https://www.facebook.com/Healthonlinebygidoctor

1. Long covid คืออะไร ?
ภาวะ long covid หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า post covid-19 condition คือกลุ่มอาการที่ผู้ป่วยที่เคยเป็นโควิดมี อาการอาจจะเป็นต่อเนื่องตั้งแต่ติดโควิดครั้งแรก หรือเพิ่งมีอาการใหม่หลังจากหายป่วยจากโควิดครั้งแรกแล้ว

2. เมื่อไรถึงเรียกว่าเราเป็น Long covid ?
ปัจจุบันการวินิจฉัยภาวะ long covid แพทย์มักจะวินิจฉัยภาวะนี้ 3 เดือนหลังจากติดเชื้อโควิด เพราะในช่วง 3 เดือนแรกของการติดเชื้อ ร่างกายกำลังฟื้นฟูกลับสู่ภาวะปกติ ถ้าหลัง 3 เดือนยังมีอาการหรือเริ่มมีอาการ ถึงเรียกว่า long covid และภาวะ long covid ควรมีอาการอย่างน้อย 2 เดือนขึ้นไป โดยที่อาการที่เราเป็น ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยโรคอื่นๆ ทางการแพทย์

3. Long covid มีอาการอะไรบ้าง ?
อาการที่พบบ่อยที่คนติดเชื้อโควิดรายงาน คือ
- อ่อนเพลีย
- เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม
- ภาวะที่ฝรั่งเรียกว่า brain fog คือความจำไม่ค่อยดีเหมือนเดิม รู้สึกสมองไม่ปลอดโปร่ง คิดอะไรไม่คล่อง 
- ไอเรื้อรัง
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยตามตัว
- กลิ่น หรือต่อมรับรสไม่ปกติ
- ซึมเศร้า ขี้กังวล นอนหลับไม่เต็มอิ่ม
- ปวดท้อง ท้องเสียบ่อย
อาการต่างๆ เหล่านี้มักจะกระทบกับการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันของผู้เคยติดเชื้อ อาการ long covid อาจจะเป็นสัปดาห์ถึงเดือนแล้วหาย เป็นๆ หายๆ หรือเป็นต่อเนื่องก็ได้

4. ถ้าเราติดเชื้อโควิด เราจะเป็น long covid ไหม ?
จากข้อมูลล่าสุด พบว่ามีประมาณ 10-20% ของผู้ติดเชื้อ ที่มีภาวะ long covid ตามมา ปัจจุบันยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าใครจะเป็น long covid แต่ดูเหมือนว่าความรุนแรงของการติดเชื้อตอนแรก ไม่สัมพันธ์กับโอกาสการมีภาวะ long covid คนที่ติดเชื้อแบบอาการน้อยตอนแรก ก็สามารถเป็น long covid ได้

5. เราสามารถติดภาวะ long covid จากคนอื่นได้ไหม ?
ภาวะ long covid ไม่ติดต่อจากคนสู่คน ไม่สามารถแพร่สู่คนอื่นได้

6. ถ้าดูเหมือนเรามีอาการ long covid จะทำยังไงดี ?
ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจเลือดหรือตรวจสารคัดหลั่งอะไรที่สามารถแยกภาวะ long covid กับโรคอื่นๆ ได้ แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน การตรวจเพิ่มเติมมีเช่น
- พิจารณาตรวจเชื้อโควิดซ้ำเพื่อแยกภาวะ long covid กับการติดเชื้อใหม่
- ให้ทำแบบทดสอบสมองเบื้องต้น แบบทดสอบทางความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล
- ตรวจสมรรถภาพทางกายเช่น 1-minute sit to stand test, 6-minute walk
- ตรวจเลือดดูค่าการอักเสบ (CRP, ESR, ferritin) ตรวจดูระดับวิตามิน หรือค่าภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง เป็นต้น
- Xray ปอด, CT scan ปอด ดูพังผืด 
- วัดค่า oxygen ในเลือด
การตรวจต่างๆ เหล่านี้ ไม่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยทุกคน แพทย์จะเลือกตรวจตามความคุ้มค่าและเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป

7. การรักษาภาวะ long covid
ปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะสำหรับรักษาภาวะ long covid การรักษาเป็นการรักษาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น
- ฝึกการหายใจ (breathing exercise)
- กายภาพเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพปอด
- ฝึกสมอง ความจำ (neurologic rehabilitation)
- แนะนำให้ผู้ป่วยค่อยๆ ออกกำลังกายทีละน้อย อย่าหักโหม (gradual return to exercise as tolerated) เพราะการออกกำลังกายที่หนักเกินไป จะกระตุ้นอาการทางปอดและหัวใจได้ 
- ฝึกเทคนิคลดความเครียด สุขอนามัยการนอนหลับ
- พิจารณาให้ยาบรรเทาอาการต่างๆ เช่น ยาคลายเครียด ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น

8. เราทำอะไรได้บ้าง เพื่อป้องกันภาวะ long covid ?
ถ้าเป็นโควิดแล้ว ยังไม่มีใครรู้ว่าจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันภาวะ long covid ในปัจจุบันการป้องกันภาวะ long covid ที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโควิดตั้งแต่แรก สิ่งที่เราทำได้เพื่อป้องกันการติดเชื้อคือ
- ฉีดวัคซีนให้ครบและฉีดกระตุ้นตามคำแนะนำของแพทย์
- เว้นระยะห่างกับคนอื่น อย่างน้อย 1 เมตร
- สวมหน้ากากอนามัยคลุมจมูกและปากให้มิดชิด
- ล้างมือบ่อยๆ 
- หลีกเลี่ยงอยู่ในสถานที่ปิด
- ปิดปากปิดจมูกเวลาไอหรือจาม เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อสู่คนอื่น
ปัจจุบันเรายังมีสิ่งที่ไม่รู้อีกมากเกี่ยวกับภาวะ long covid ทั้งนักวิทยาศาสตร์และแพทย์กำลังช่วยกันทำการศึกษาวิจัยภาวะนี้ เพื่อเข้าใจมันมากยิ่งขึ้น 
ข้อมูลอ้างอิงจาก
- ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention)
- องค์การอนามัยโลก (World Health Organization)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่