JJNY : ไหนว่าหมูแพง-ขาดตลาด│ร้านตามสั่ง-ส้มตำโอดแพงทุกอย่าง│คาดหอมมะลิ-ข้าวเหนียวแพงอีกครึ่งปี│แม่ค้าบ่นสินค้าปรับราคา

ไหนว่าหมูแพง-ขาดตลาด โวยในฟาร์มกว่าพันตัว ก.ก.ละ 60 บาทยังขายไม่ได้ งงหนักไปแพงตรงไหน
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_6839504
  
 
เจ้าของฟาร์มโวย! ไหนว่าหมูแพง-ขาดตลาด แต่ในฟาร์มกว่าพันตัว ขาย ก.ก.ละ 60 บาท ยังไร้คนซื้อ ทั้งที่เลี้ยงแบบปิด ได้มาตรฐาน งงหนักมันไปแพงตรงไหน
 
วันที่ 18 ม.ค.65 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่บรรทมฟาร์ม เลขที่ 33 ต.ห้วยยาง อ.แกลง จ.ระยอง หลังได้รับการร้องเรียนว่า หมูในฟาร์มจำนวน 1,500 ตัว และ ฟาร์มใกล้เคียง ที่เลี้ยงมา 5 เดือนครบกำหนดขายแล้ว แต่ยังขายไม่ออก ผู้ซื้อยังเลื่อนมาจับอ้างกลไกตลาด ซึ่งตกลงๆราคาขายหมูเป็น ราคา กิโลกรัมละ 60 บาท ราคาถูกกว่าที่เป็นข่าวอยู่ในเวลานี้เกือบครึ่ง ทั้งที่เลี้ยงระบบปิดและมีคุณภาพมาตรฐานที่กำหนด จึงสร้างความเดือดร้อนอย่างมาก ให้กับผู้เลี้ยงหมู
 
เมื่อเดินทางไปถึงบรรทมฟาร์มหมู ซึ่งเป็นฟาร์มเลี้ยงหมูขนาดใหญ่ เลี้ยงหมูระบบปิดนับหมื่นตัว มีมาตรการป้องกันโรคอย่างแน่นหนา พบกับ นายบรรทม ศึกษา อายุ 55 ปีน เจ้าของฟาร์ม เปิดเผยว่า ขณะนี้หมูที่เลี้ยงครบเวลาขายแล้ว โดยตกลงขายกันในราคาประกัน กิโลกรัมละ 60 บาท แต่คนซื้อหรือพ่อค้าคนกลางๆอ้างว่าเป็นไปตามกลไกตลาด จึงแปลกใจว่าข่าวออกทุกวันว่าหมูขาดตลาดไม่พอขาย จึงทำให้ราคาขึ้น แต่หมูของตนเองกลับขายไม่ได้
 
จึงต้องเลี้ยงต่อไป สิ้นเปลืองค่าอาหารต่อไปอีก ไม่รู้จะทำอย่างไร ส่วนเรื่องโรคระบาดนั้น มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ๆแล้ว ทุกฟาร์มจึงป้องกันอย่างเข้มข้น ห้ามคนนอกเข้าออกฟาร์ม คนเลี้ยงก็จะต้องทำการพ่นยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์มทุกครั้ง จึงทำให้ฟาร์มของตนรอดพ้นจากโรคระบาดมาได้
 
ด้าน นางปริญทิพย์ ศึกษา อายุ 50 ปี เจ้าของฟาร์มหมู เปิดเผยว่า ตนไม่เข้าใจว่า ทำไมหมูจึงขึ้นราคาขนาดนี้ ทั้งที่คนเลี้ยงหมูไม่มีคนมาซื้อ แถมยังขายราคาหน้าฟาร์มแค่ 60 บาทต่อกิโลกรัม แต่ไปถึงผู้บริโภคราคากลับพุ่งสูงกว่า 200 บาท ก็ไม่รู้ไปแพงตรงไหน
 
คนเลี้ยงขายได้ราคาถูก ผู้บริโภคซื้อแพง เรื่องหมูฟาร์มไม่มีคนซื้อ ไม่ได้ประสบปัญเฉพาะฟาร์มเดียว ประสบปัญหากันหลายฟาร์ม ทั้ง จ.ระยอง จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ที่มีหมูที่ครบอายุได้น้ำหนักและขนาดที่ขายได้แล้ว แต่ยังคงค้างอยู่ในฟาร์มหลายหมื่นตัว ทำให้ผู้เลี้ยงต้องแบกรับภาระค่าอาหารจนแทบจะรับไม่ไหวแล้ว
 
เมื่อสอบถามไปยังผู้ซื้อ คือ พ่อค้าคนกลางก็จะอ้างว่าเป็นไปตามกลไกตลาด จึงยิ่งแปลกใจเพราะหมูขาดตลาดอยู่จนราคาหน้าเขียงพุ่งกระฉูด แต่หมูฟาร์มกลับขายไม่ออก แถมราคายังคงที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม ไม่ใช่ราคา 100-110 บาท ตามราคากลาง
 
จึงต้องการให้ภาครัฐช่วยตรวจสอบด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นกับวงการผู้ค้าหมูหมู แล้วรีบแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ก่อนที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจะตายกันหมด
 

 
ซีอิ๊วซุ่มขึ้นราคา ร้านตามสั่ง-ส้มตำ โอดแพงทุกอย่าง จ่อปรับขึ้นเมนูละ 10 บาท
https://ch3plus.com/news/category/274999

จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีปัญหาราคาสินค้าที่พุ่งสูง โดยเฉพาะเนื้อสุกร ลั่นอย่าเห็นแก่ตัว ขยับขึ้นราคาสินค้าอื่นตามโดยไม่มีเหตุผล พร้อมสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบ ด้าน รมว.พาณิชย์สั่งตั้ง ‘วอร์รูม’ แก้สินค้าแพงทั้งระดับกระทรวงและระดับจังหวัดทั่วประเทศ เตรียมเอาผิดพวกฉวยโอกาส
 
วานนี้ (17 ม.ค. 65) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจการปรับขึ้นราคาสินค้า โดยแม่ค้าร้านโชว์ห่วย ร้านขายส่งสินค้า ย่านคลองเตย ยอมรับว่า ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าหลายชนิดมีการปรับราคาขึ้น
 
โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม ที่มีการปรับราคาขึ้นเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา (ต้นเดือน ม.ค.) โดยราคารับซื้อจากยี่ปั๊วเพื่อขายส่ง อยู่ที่ลังละ 660-675 บาท หรือขวดละ 55 บาท และมีการปรับราคาขึ้นมาเรื่อยๆ ส่วนราคาขายส่ง อยู่ที่ลังละ 700 บาท
 
ขณะที่ ราคาขายปลีกหน้าร้านอยู่ที่ขวดละ 60 บาท แล้ว ราคาน้ำมันปาล์มตามห้างค้าปลีกจะมีราคาถูกกว่าเล็กน้อย พร้อมยอมรับว่าหลังจากที่ราคาน้ำมันปาล์มปรับสูงขึ้น ลูกค้าก็ซื้อสินค้าน้อยลง และเลือกซื้อสินค้าในประเภทเดียวกันแต่ไม่มียี่ห้อ ซึ่งมีราคาถูกกว่าแทน ขณะที่แม่ค้าที่ซื้อน้ำมันปาล์มไปใช้ก็จะใช้น้ำมันทอดหลายรอบมากขึ้นเพื่อประหยัดต้นทุน
 
นอกจากนี้ ยังเปิดเผยว่า ไม่เพียงแค่น้ำมันปาล์มเท่านั้นที่มีการปรับราคาสูงขึ้น แต่ซีอิ๊วขาวสูตร 1 ก็มีการปรับขึ้นราคา เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาเช่นกัน เพื่อรับการปรับขึ้นภาษีความเค็ม (โซเดียม) จากลังละ 520 บาท เป็น 620 บาท ส่วนซีอิ๊วขาวสูตรอื่น ๆ ขึ้นราคาลังละ 20-30 บาท
 
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ร้านส้มตำน้องรีจ๊อยส์ โจ๊ะโจ๊ะ ในซอยพหลโยธิน 37/1 โดยนายประยูร  ขุราษี อายุ 60 ปี เจ้าของร้าน เผยว่า สินค้าช่วงนี้แพงแทบทุกอย่าง โดยเฉพาะมะละกอหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในการขายส้มตำ ตอนนี้พันธุ์ดำเนิน ราคา 210 บาทต่อ 1 ถุง (10 กิโลกรัม) เทียบกับเมื่อก่อนถุงละ 90-100 บาท ราคาขยับขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีลง
 
เนื้อหมูก็ขึ้นราคาสูงลิ่ว กิโลกรัมละ 200 กว่าบาท โดยร้านของตนซื้อคอหมู หมูแดด หมูหัน ไส้อ่อน ตับ ฯลฯ มาประกอบอาหารขายทุกวัน เช่นทำต้มแซ่บ ลาบหมู น้ำตกหมู พล่าหมู เป็นต้น ส่วนราคาเมนูต่างๆ ขายเท่าเดิมไม่มีการปรับราคาอาหารขึ้นแต่ยังใด ยึดราคาเดิมที่เคยขาย เช่น เมนูตำต่าง ๆ ราคา 50-100 บาท เมนูยำต่าง ๆ 100 บาท เมนูลาบน้ำตก 60-100 บาท เมนูต้มแซ่บต่าง ๆ  100 บาท เมนูย่างทอด 60-200 บาท (ขึ้นอยู่กับประเภทเมนูอาหารนั้นๆ)
 
นายประยูร ยังกล่าวอีกว่า “แม้วัตถุหรือสินค้าในท้องตลาดแพงขึ้น  ตนไม่คิดจะปรับราคาขึ้นเพราะสงสารลูกค้า ทุกวันนี้เงียบไม่มีคนเพราะโควิด ค้าขายไม่ได้อยู่แล้ว หากปรับราคาอาหารขึ้นอีกใครจะมากิน ขายนิดๆ หน่อยๆ ให้พออยู่ได้ก็พอสบายใจกว่า จากนี้ หากราคาสินค้าในท้องตลาดยังแพงอยู่  อาจจำเป็นต้องปรับราคาอาหารขึ้นแน่นอน เพิ่มเมนูละ 10 บาท เพื่อให้อยู่ได้ ไหนจะค่าเช่าที่เดือนละ 35,000 บาท ค่าจ้างคนงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ”
 
ไม่รู้ว่าทำไมราคาสินค้าแพง ต้องไปถามตลาดหรือคนส่ง ใครจะฉวยโอกาสขึ้นราคาก็เรื่องของเขา  พ่อค้าแม่ค้ามีเหตุจำเป็นต้องขึ้นราคา เพราะสินค้าในท้องตลาดมันแพง แต่ก็ต้องซื้อ ถ้าไม่ซื้อก็ไม่มีอะไรขาย
 
เนื้อไก่จ่อจะขึ้นราคาอีก ส่วนพริก มะนาว ผักบางชนิดราคาเริ่มลงแล้ว ที่ขึ้นราคาแบบสูงลิ่วก็มีแต่มะละกอกับเนื้อหมู “สินค้ามันแพงจริง ๆ ถ้ายังเป็นแบบนี้อีก 2-3 เดือน คงตัวใครตัวมัน กลับบ้านใครบ้านมัน อาจปิดตำนานโจ๊ะโจ๊ะ เพราะไม่มีลูกค้ามันอยู่ไม่ได้ ถ้ารัฐบาลควบคุมราคา สินค้าจะไม่แพงแบบนี้”
 
ด้านนายสมศักดิ์  จงเกษมสุข  อายุ 60 ปี เจ้าของร้านข้าวราดแกงย่านพหลโยธิน เผยว่า วัตถุดิบผักบางอย่างราคาปรับขึ้นลงตามฤดูกาล แต่เนื้อหมูและอาหารทะเล ยังมีการปรับราคาขึ้นสูง โดยเนื้อหมูเคยซื้อกิโลกรัมละ 100 กว่าบาท ตอนกิโลกรัมละ 200 กว่าบาท  
 
สินค้าจำพวกเครื่องปรุง ซอส ซีอิ้วขาว ปรับขึ้นเล็กน้อย เมื่อก่อนซื้อซีอิ้วขาวยกลัง 400 กว่าบาท ตอนนี้ลังละ 500 กว่า บาท น้ำมันปาล์ม 1 ปี๊บ 18 ลิตร เคยซื้อปี๊บละ 600 กว่าบาท ตอนนี้ราคาเกือบพัน ยอมรับว่าสินค้าต่างๆ อัพราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ  
 
ทั้งนี้ ตนได้ปรับราคาข้าวราดแกงเป็นบางอย่าง เช่น หมูเค็ม หมูอบเคยขายขีดละ 40 บาท ปรับ ราคาขึ้นเป็นขีดละ 50 บาท ข้าวขาหมูจาน 40 บาท ปรับราคาเป็น 50 บาท ส่วนอาหารข้าวราดแกงที่ไม่ได้ใช้หมูเป็นวัตถุดิบ ขายราคาเท่าเดิม 40 บาท (ทั้งใส่จาน/ใส่ถุง) ยอมรับว่ากำไรลดน้อยลง  แต่ก็พออยู่ได้ บางวันแทบไม่ได้กำไรเพราะไม่มีลูกค้า ช่วงโควิดลูกค้าไม่กล้าออกมา จึงต้องลดปริมาณการทำอาหารลง  
 
“ถ้ารัฐบาลควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคได้ จะส่งผลดีต่อผู้บริโภค ไม่ต้องควักเงินในกระเป๋าซื้อสินค้า และอาหารที่แพงเกินไป ไม่ใช่ควบคุมเฉพาะเนื้อหมู แต่ต้องควบคุมราคาสินค้าทุกอย่างใน ราคาที่เหมาะสม ทุกวันนี้ประชาชนอยู่ยาก ตนเองก็มีภาระค่าใช้จ่ายเยอะ ขายข้าวราดแกงเงินแทบไม่เหลือใช้ เอาตัวเองให้พออยู่รอดได้ หากไม่เร่งแก้ไขปัญหานี้ประชาชน คนหาเช้ากินค่ำ จะลำบากโดยเฉพาะแรงงานขั้นต่ำ”  
 
ลูกค้าที่มาซื้อข้าวราดแกงรายหนึ่ง ซื้อกับข้าวผัดดอกหอมใส่กุ้งและผัดวุ่นเส้นใส่กุ้ง กล่าวว่า นาน ๆ ที ตนจะซื้ออาหารที่มีวัตถุดิบเนื้อหมูเป็นส่วนประกอบไปกิน เพราะอาหารที่มีเนื้อหมูราคาเพิ่มขึ้น ซื้อไปก็ได้เนื้อหมูแค่ 2-3 ชิ้น ตอนนี้หมูแพงก็ปล่อยให้มันแพงไปก่อน กินผัดผัดใส่กุ้งก็พออยู่ได้ จะไปต่อว่าโทษเจ้าของร้านก็ไม่ได้ เพราะวัตถุที่เขาซื้อมาก็แพงเหมือนกัน มันมาตั้งแต่ต้นทาง เราเข้าใจแล้วก็ยอมรับ ไม่ใช่อยู่เฉยๆ แล้วมาปรับราคาขึ้น ร้านมีความจำเป็นต้องปรับ ไม่งั้นอยูไม่ได้
 
“ของมันขึ้นราคาเราก็ต้องซื้อกินอยู่ดี ยิ่งเนื้อหมู เนื้อไก่ราคาแพงมาก ตนจึงหันมากินผัก ปลา แทน นานๆ ถึงจะซื้อเนื้อหมูเนื้อไก่มากิน ที่ผ่านมาภาครัฐบอกจะแก้ปัญหา ก็เห็นพูดมาตลอดไม่เห็นแก้ไขปัญหาอะไรได้ สินค้าแพงทีก็พูดกันที จะปรับปรุงตรงโน้นแก้อย่างนี้ แต่ผลลัพธ์อยู่ที่ประชาชนยังต้องซื้อสินค้าบริโภคอาหารที่แพงเหมือนเดิม เห็นทุกรัฐบาล ประชาชนก็เบื่อพูดไปก็ไม่มีประโยชน์ ทนได้ก็ทน สินค้าแพงไม่มีลงเลย”
 


นายกสมาคมโรงสีข้าว คาดข้าวหอมมะลิ-ข้าวเหนียว จะแพงอีกครึ่งปี จนกว่านาปรังจะออก
https://ch3plus.com/news/category/275000

วานนี้ (17 ม.ค. 65) นายวิชัย ศรีนวกุล นายกสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเจ้าของโรงสีเจริญผล เปิดเผยว่า การที่ราคาข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว ปรับขึ้น เป็นไปตามอุปสงค์อุปทานของตลาด ผลจากผลผลิตข้าวเปลือกนาปี 2564/65 น้อยกว่าคาดการณ์ประมาณ 30% ขณะที่การส่งออกปลายปีดีขึ้น จากการที่ผู้นำเข้าทั่วโลกสต็อกข้าวไว้จำหน่ายในเทศกาลปีใหม่ถึงตรุษจีน
 
แต่โรงสีหาซื้อข้าวเพื่อป้อนผู้ส่งออกได้น้อยกว่าปกติ 40% เมื่อความต้องการสูง การให้ราคาสูงขึ้นจึงเกิดขึ้นเร็ว และมีแนวโน้มว่าข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว จะยังทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง 5-6 เดือน จนกว่าผลผลิตนาปรัง 2565 จะออกสู่ตลาด ซึ่งก็ต้องประเมินว่าผลผลิตจะมากขึ้นแค่ไหน
 
ตอนนี้ชาวนามีทางเลือก ทั้งจากโครงการประกันรายได้ และมาตรการรัฐสนับสนุนการเก็บข้าวไว้ในยุ่งฉางเพื่อทยอยขาย จึงส่งผลต่อปริมาณข้าวออกสู่ตลาดน้อยลงบ้างช่วง แต่ราคาข้าวที่สูงขึ้นครั้งนี้ ยังไม่ได้สูงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นหลายปีก่อน แต่ถือว่าดีขึ้นในรอบ 2-3 ปี จากภาวะราคาตกต่ำ เนื่องจากการเกิดระบาดโควิด จนออกมาตรการล็อกดาวน์ กระทบยอดบริโภคหายไปมาก
 
นายวิชัย กล่าวต่อว่า ระยะสั้นแนวโน้มราคาข้าวหอมมะลิ อาจสูงใกล้เคียงราคาประกันรายได้ หรือประมาณ 1.4 หมื่นบาท/ตัน จากเดือน พ.ย. อยู่ที่ 1.25 หมื่นบาท/ตัน โดยราคาข้าวสารหอมที่ผู้ส่งออกยอมซื้อประมาณ 23-25 บาท/กก. เทียบราคาส่งออกข้าวหอมประมาณ 800 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่วนข้าวหอมมะลิบรรจุถุงในประเทศ ต้นข้าวบวกค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 30 บาท/กก.
 
ส่วนข้าวเหนียวราคาใกล้เคียงกันน่าจะอยู่ที่ 25-30 บาท/กก. อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าข้าวในประเทศเพียงพอ เพื่อบริโภคและส่วนเกินเพื่อส่งออก 6-7 ล้านตัน โดยผลผลิตข้าวเปลือกรวมทั้งปีนี้ ทั้งผลผลิตนาปีและนาปรังรวมประมาณ 30 ล้านตัน จึงเชื่อว่าราคาข้าวที่สูงขึ้นไม่ใช่ปัญหาใหญ่เหมือนเนื้อสัตว์หรือพืชชนิดอื่น ราคาขึ้นหรือลงเร็วในระยะสั้น ๆ เท่านั้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่