*** สรุปประวัติศาสตร์ "คนไทยเชื้อสายจีน" แบบกระชับ ***

คนไทยเชื้อสายจีน หรือ “Thai Chinese” เป็นชาติพันธุ์หนึ่ง มีอยู่ประมาณ 14% ของประชากรไทย แม้จะไม่ได้ดูมากมาย แต่ก็เป็นส่วนสำคัญของสังคม เพราะเป็นชนชั้นกลางที่มีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม คนจีนในไทยมีเอกลักษณ์กว่าคนจีนโพ้นทะเลอื่นๆ คือ แม้จะยังคงรากเหง้าบางอย่างไว้อยู่ เช่นการยึดถือแนวคิดขงจื๊อ แต่พวกเขาได้กลายเป็นคนไทยไปมากแล้ว เช่นไม่ค่อยพูดภาษาจีน, ไม่ใช้แซ่, เข้าวัดแบบเถรวาทขณะที่จีนโพ้นทะเลอื่นๆ หลายส่วนยังรักษาอัตลักษณ์เหล่านี้ไว้ได้

เราจะไปย้อนดูไปด้วยกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นว่า คนจีนเข้ามาในไทยตั้งแต่เมื่อไหร่, ทำไมพวกเขาถึงกลายเป็นคนไทย, ไทยรับอิทธิพลอะไรจากจีนมาบ้าง, แล้วสิ่งเหล่านั้นส่งผลกระทบอะไรมาจนถึงปัจจุบัน… อนึ่งผมเคยเขียนบทความแยกย่อยรายละเอียดเรื่องต่างๆ ไว้แล้ว แต่บทความนี้จะเป็นการสรุปนะครับ


*** ที่มาของคนจีนในประเทศไทย ***

รัฐไทยกับจีนมีการติดต่อมานานแล้ว หลักๆ ผ่าน “ระบบจิ้มก้อง” โดยจีนซึ่งมองตนเองเป็นชาติที่สูงส่งกว่าเผ่าอื่นทั้งหมด จะยอมแลกเปลี่ยนสินค้ากับเผ่าอื่นเพียงในนามการรับของบรรณาการ และการตอบแทนผู้ที่มาสวามิภักดิ์


ภาพแนบ: ภาพวาดจิ้มก้องในราชสำนักจีน

 แม้สิ่งนี้ดูเหมือนเป็นการกดเผ่าอื่นให้ต่ำกว่า แต่เนื่องจากของที่จีนตอบแทนมานั้นมีค่ามาก รัฐต่างๆ จึงมักแย่ง “สิทธิในการสวามิภักดิ์เพื่อจิ้มก้อง”
ไทยนั้นเคยแต่งสำเภาไป “แสดงการสวามิภักดิ์” จีนรัวๆ จนจีนทนรายจ่ายไม่ไหว ต้องขอจำกัดว่า “ให้สวามิภักดิ์แค่สามปีครั้งก็พอ”


ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์ ฝั่งจีนได้ประสบกับปัญหาภายในหลายอย่าง เช่น ปัญหาความไม่สงบและปัญหาภัยข้าวยากหมากแพง ทำให้มีชายฉกรรจ์เดินทางไปแสวงโชคยังดินแดนต่างๆ เพื่อส่งเงินกลับไปจุนเจือครอบครัวตนเองที่บ้านเกิด

ชายเหล่านี้มักเข้ามาในลักษณะ “เสื่อผืนหมอนใบ” คือ เข้ามาแต่ตัว ไม่มีทรัพย์สมบัติ หรือมีก็น้อยมาก 



รัฐไทยไม่ไว้ใจคนจีน จึงใช้วิธีเก็บภาษี ที่เรียกว่า “ผูกปี้ข้อมือจีน” เมื่อจ่ายแล้วก็ใช้การผูกข้อมือด้วยด้ายแดงเป็นสัญลักษณ์ไว้ นอกจากเป็นการหาเงินเข้าคลังวิธีหนึ่งแล้ว ยังสามารถใช้เพื่อนับยอดคนจีนในอาณาจักรอีกด้วย

(แต่จะเลือกถูกเกณฑ์แรงงาน 1 เดือน หรือจะเลือกจ่ายในอัตราสูงกว่านี้เพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกผูกข้อมือก็ได้)


ภาพแนบ: คนจีนสมัยก่อน ภาพจากเชียงใหม่นิวส์

สิ่งนี้ทำให้ชาวจีนมีอิสระมากขึ้น เมื่อประกอบกับนิสัยขยันสร้างเนื้อสร้างตัว และรู้จักทำมาค้าขาย ทำให้ชาวจีนจำนวนมากสามารถถีบตัวเองขึ้นมาเป็น “ชนชั้นกลาง” ในดินแดนที่เคยมีแต่ “ไพร่” กับ “เจ้า” สำเร็จ


*** แผ่อิทธิพลจีน ***

ต่อมาพอชาวจีนมั่งมีมากขึ้นบางส่วนก็เข้าทำงานให้ราชการ โดยตำแหน่งที่มักทำกันคือ “เจ้าภาษีนายอากร” ชาวจีนจะรับสัมปทานเก็บภาษีราษฎรจากรัฐบาล มีอำนาจเก็บเงินประชาชนเข้าหลวงตามที่ตกลง แต่ขณะเดียวกันก็สามารถเก็บมากกว่าที่สัญญากับหลวงแล้วเอาส่วนต่างเข้าตัวได้

ระบบนี้ทำให้คนจีนกลายเป็นผู้มีอิทธิพลกันมาก และน่าจะเป็นสาเหตุข้อหนึ่งที่ทำให้เคยเกิดกระแสความเกลียดชังจีนในเมืองไทย


ภาพแนบ: พวกอั้งยี่ที่ถูกจับได้

ประวัติศาสตร์ชาวจีนโพ้นทะเลที่มีชื่อเสียงอีกเรื่องคือ สมาคมลับ “พรรคฟ้าดิน” (บางทีเรียก “ซานเหอ” หรือ “Triad” ในภาษาอังกฤษ) เป็นกลุ่มคนจีนโพ้นทะเลที่ตั้งขึ้นมาแบบ “เจ้าพ่อ” เพื่อดูแลคนจีนด้วยกันที่อยู่ห่างบ้านห่างญาติมิตร และเป็นกลุ่มอิทธิพลที่รักษาผลประโยชน์ตนเอง

สมาคมนี้คนไทยเรียกว่า “อั้งยี่” บ้างมีส่วนในกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การค้าฝิ่น หรือบางทีก็ขัดแย้งฆ่าฟันกันเองสร้างความวุ่นวาย ทำให้เกิดการกวาดล้างอั้งยี่ในเมืองไทยอยู่เป็นระลอกๆ



เมื่อรัฐไทยดำเนินการตรากฎหมาย ”พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำในลักษณะอั้งยี่ ร.ศ. 116” (1898) พร้อมกับดำเนินการปราบปรามอย่างจริงจัง ปัญหาดังกล่าวก็เหมือนจะคลายความรุนแรงลงไป

แต่มรดกของอั้งยี่ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยคำว่า “อั้งยี่” ยังคงถูกใช้ในการเรียกสมาคมลับใดๆ ที่ตั้งตัวเป็นผู้มีอิทธิพล (ไม่จำกัดเฉพาะสมาคมคนจีน) และศาลเจ้าจีนหลายแห่งที่เคยเป็นศูนย์บัญชาการของอั้งยี่ก็ยังเหลือร่องรอยมีประตูลับเชื่อมไปยังห้องสำหรับฝึกอาวุธที่อยู่ด้านหลัง



*** กลายเป็นคนไทย ***

ท่านผู้อ่านที่มีเชื้อจีนลองสังเกตตัวเองดู ทุกวันนี้เราแทบไม่พูดจีน, ชื่อเราก็เป็นแบบไทย (อินเดีย) แทนที่จะเป็นแซ่ อีกทั้งทุกวันนี้ เรายังนับถือ “ศาสนาไทย” ซึ่งเป็นศาสนาผสมของ พุทธเถรวาท-พราหมณ์-ผี แทน “ศาสนาจีน” ที่ผสมระหว่าง พุทธมหายาน-เต๋า-ขงจื้อ


ภาพแนบ: งานเชิงสิงโตที่มาเลเซีย

อันที่จริงวัฒนธรรมจีนเป็นวัฒนธรรมที่แข็งและไม่ยอมถูกกลืนได้ง่ายๆ สังเกตจากชุมชนชาวจีนอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในมาเลเซียที่คนจีนอยู่แยกจากคนมลายูอย่างชัดเจน และยังมีการใช้ภาษาจีนสื่อสารกันอยู่

...ทำไมเมื่อมาถึงเมืองไทยแล้วกลับยอมถูกกลืนกลายเป็นไทยเสียได้?


ภาพแนบ: สกินเนอร์

จี. วิลเลียม สกินเนอร์ นักวิชาการเรื่องจีนที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง เขียนว่า “การกลืน (วัฒนธรรม) ถือว่าสมบูรณ์เมื่อลูกหลานของคนเข้าเมืองระบุตนเองในสถานการณ์ทางสังคมเกือบทุกอย่างว่าเป็นไทย พูดภาษาไทยเป็นนิสัยและพูดได้คล่องแคล่วเหมือนกับคนพื้นเมือง และเลือกมีปฏิสัมพันธ์กับคนไทยบ่อยกว่าคนจีน”

สกินเนอร์เชื่อว่าการกลืนวัฒนธรรมนี้สำเร็จได้เพราะนโยบายของผู้ปกครองไทยในอดีตที่รับพ่อค้าจีนเป็นขุนนางไทย ถ้าอิงเชื่อตามความคิดของเขา ก็อธิบายได้ว่าเมื่อคนจีนเข้ามา “เป็นใหญ่” ในบ้านเมืองนี้ ก็จะต้องปรับตัวเข้ากับคนท้องถิ่นเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากคนพื้นเมืองมากขึ้น หรือเป็นเพราะว่ารู้สึกว่าตนร่วมเป็นเจ้าของบ้านเมืองนี้ด้วย


ภาพแนบ: ชานกว็อกบุง

อย่างไรก็ตาม การศึกษาของ ชานกว็อกบุง และ ตงชีเกียง ในเวลาต่อมา ได้เสนอมุมมองที่ต่างออกไป โดยระบุว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่การถูกกลืนวัฒนธรรมจนรวมเป็นเนื้อเดียวกับชนกลุ่มใหญ่ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน โดยชี้ให้เห็นว่าขณะที่คนจีนกลายเป็นไทยมากขึ้น คนไทยก็กลายเป็นจีนมากขึ้นด้วยเหมือนกัน



หากมองในแง่นี้ อาจมองได้ว่าวัฒนธรรมไทยกับจีนมีส่วนที่คาบเกี่ยวกันอยู่ ทำให้การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมได้รับการยอมรับจากคนทั้งสองฝ่ายง่ายขึ้น

อะไรที่คนไทยเห็นว่าดีก็หยิบยืมมาจากจีน ส่วนอะไรที่คนจีนเห็นว่าดีก็หยิบยืมมาจากไทย เกิดเป็นวัฒนธรรมแบบลูกผสมอย่างทุกวันนี้ ไม่ใช่ว่าคนจีนเป็นฝ่ายถูกวัฒนธรรมไทยกลืนเสียทั้งหมด


ภาพแนบ: แม่นายการะเกด กับบ่าวประจำตัว พี่ผินพี่แน้ม

*** คำสอนของขงจื๊อ ***

แต่เดิมมา มีคำวิจารณ์ว่าคนไทยนั้นค่อนข้างเฉื่อยชา ขี้เกียจ เวลาจะทำอะไรมักจะต้องรอคำสั่งจากเจ้านายเสียก่อน ...ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากการอยู่ในสังคมศักดินาที่คนส่วนใหญ่อยู่ในชนชั้นไพร่และทาส ต้องสังกัดมูลนาย และไม่มีอิสระในการใช้ชีวิตของตัวเอง


ภาพแนบ: ขงจื๊อ

แต่เมื่อคนจีนโพ้นทะเลเข้ามาในเมืองไทยแล้ว นิสัยของคนไทยก็เริ่มเปลี่ยนไป เพราะคนจีนได้นำเอาวัฒนธรรมที่สืบมาจากชุดคำสอน “ขงจื๊อ” จากบ้านเกิดติดตัวมาด้วย

ขงจื๊อสอนให้คนดำรงตนกลมกลืนกับสังคม ทำหน้าที่ของตนในสังคมให้ดี มีความภักดีต่อชาติบ้านเมือง แง่นี้จึงถือว่าลัทธิขงจื๊อเอื้อให้คนจีนเป็นประชากรที่ดีของดินแดนที่ตนไปอยู่


ในด้านการศึกษาและธุรกิจ คนจีนจะขยันขันแข็ง, หนักเอาเบาสู้, ประหยัดอดออม หมั่นแสวงหาความรู้ ล้วนเป็นประโยชน์ต่อความเจริญก้าวหน้า

สิ่งนี้ทำให้ชาวจีนอพยพสามารถเลื่อนฐานะของตนได้ง่ายเมื่อมีโอกาส ทำให้คนไทยต้องเร่งสปีดขยันแข่งกับคนจีนขึ้นมาด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ชาติมีความก้าวหน้าขึ้น


อย่างไรก็ตาม ขงจื๊อยังเน้นบทบาทครอบครัวเหนือปัจเจกบุคคล มีการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างชัดเจนทั้งในด้านอายุและเพศ โดยสอนว่าผู้ใหญ่นั้นมีฐานะเหนือกว่าเด็ก และผู้ชายมีฐานะเหนือกว่าผู้หญิง

สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาในรูปของการบูชาบรรพบุรุษตามสายบิดา, การสืบสกุลผ่านทางผู้ชาย, การให้สิทธิชายเป็นใหญ่ในครอบครัว ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติกับลูกสาวตามมา

*** อ่านต่อใน  comment นะครับ ***
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่