มาทำความรู้จักกับโรค “รองช้ำ” อาการปวดส้นไม่ได้มีแค่ปวดส้น (The move club PT)

สวัสดีค่ะ ตอนนี้เราเดินทางมาถึง EP.4 กันแล้วนะคะ
 
         EP.นี้จะขอพูดถึงโรค “รองช้ำ” หรือ “Plantar fasciitis”  อีกโรคยอดฮิต ที่ทำให้หลายท่านต้องช้ำใจ เพราะรองช้ำ จะมีอาการปวดส้นเท้า
  
         ปวดมากโดยเฉพาะก้าวแรกที่เราจะก้าวเดิน จนทำให้หลายๆ ท่านต้องทำใจเป็นอย่างมากก่อนจะลุกยืนเดินได้
 
         หากเดินสักระยะหนึ่งอาการปวดส้นมักจะทุเลาลง และสามารถกลับมาปวดมากเหมือนเดิมได้ใหม่
 
         หากยืนเดินเป็นระยะเวลานานหรือลุกขึ้นจากการนั่งพักนานๆ และหากปล่อยไว้เป็นเรื้อรังอาจทำให้มีอาการปวดตลอดเวลาได้
 
         วันนี้ทาง The Move Club จะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับอาการปวดรองช้ำนี้ ให้ทุกท่านได้เข้าใจกันแบบง่ายๆ

 


                   โรค “รองช้ำ” หรือ “Plantar fasciitis” เกิดจากเอ็นใต้ฝ่าเท้า (Plantar fascia) มีการอักเสบ โดยส่วนมากมักจะอักเสบบริเวณส้นเท้า
 
         เนื่องจากเป็นจุดเกาะต้นของเอ็นใต้ฝ่าเท้า หรืออาจพบว่ามีอาการปวดหรือตึงตลอดแนวเอ็นใต้ฝ่าเท้าเลยก็เป็นได้
 
         โดยการบาดเจ็บส่วนใหญ่จะเกิดจากการบาดเจ็บทีละเล็กทีละน้อย  ที่ฝ่าเท้าและสะสมมาเป็นเวลานาน มักพบในเพศหญิงได้มากกว่าเพศชาย
 
         โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นรองช้ำได้ ก็คือลักษณะการใช้งานที่ต้องยืนหรือเดินนานๆ โดยเฉพาะหากใส่รองเท้าที่พื้นรองเท้าแข็งหรือนุ่มจนเกินไป
 
         หรือใส่รองเท้าส้นสูงเป็นระยะเวลานานๆ โดยมากมักสัมพันธ์กับความตึงตัวของกล้ามเนื้อน่องที่เพิ่มขึ้น น้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น
 
         รวมถึงรูปแบบเท้าที่มีความผิดปกติ เช่น ภาวะอุ้งเท้าแบนหรืออุ้งเท้าสูง ก็จะทำให้เสี่ยงเป็นรองช้ำได้ง่ายขึ้น


                   หลายท่านอาจไม่ทราบมาก่อนว่า “รองช้ำ” ที่ปวดแค่บริเวณส้นเท้า อาจไม่ได้มีปัญหาแค่บริเวณส้นเท้าเพียงอย่างเดียว
 
         อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่ารองช้ำจะพบความตึงตัวของกล้ามเนื้อน่องร่วมด้วย สาเหตุที่มีความเชื่อมโยงกันก็เพราะว่าเอ็นจุดเกาะปลายของ

         กล้ามเนื้อน่องจะรวมกันกับเอ็นร้อยหวายและไปเกาะที่กระดูกส้นเท้าของเราด้วย ดังนั้นหากกล้ามเนื้อน่องมีความตึงตัวก็เหมือนกับมีแรงใน

         ทิศดึงขึ้น (ดังรูปแรง A) ดึงให้ข้อเท้ากระดกลงอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเรามีการลุกขึ้นยืนหรือเดิน ซึ่งปกติของจังหวะการก้าวเดินจะมีช่วงที่ข้อเท้า

         จะต้องกระดกขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้เท้าเราพ้นจากพื้น จึงทำให้มีแรงกระทำต่อส้นเท้าในทิศทางดึงลง (ดังรูปแรง B) ส่งผลทำให้มีแรงดึงกระชาก

         บริเวณส้นเท้าจนเกิดการบาดเจ็บที่จุดเกาะต้นของเอ็นใต้ฝ่าเท้าทีละเล็กทีละน้อย (microtrauma) ซึ่งการปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานๆ ก็สามารถ

         ทำให้เกิดอาการปวดส้นเท้าตามมาได้ และส่วนมากมักพบร่วมกับกล้ามเนื้อกลุ่มเหยียดสะโพกแข็งแรงลดลง ทำให้การควบคุมการทำงานของ

         กล้ามเนื้อสะโพกมีประสิทธิภาพลดลง เมื่อเราไปใช้งานในลักษณะยืนเดินนานๆ ร่างกายของเราจะต้องชดเชยโดยการใช้ส่วนรยางค์ เช่น

         กล้ามเนื้อน่อง หรือกลุ่มต้นขาด้านข้างทำงานมากขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นมีความตึงตัวเพิ่มขึ้นตามมา
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                   วันนี้ทางเดอะมูฟคลับคลินิกกายภาพบำบัดจึงมีท่าทางการออกกำลังกาย และการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการรองช้ำ 

         สามารถทำได้ทั้งผู้ที่ยังไม่มีอาการปวด หรือผู้ที่มีอาการปวดแล้ว แต่จะต้องระวังนะคะ ขณะทำตามต้องไม่ตึงจนเกินไป 

         จะมีท่าอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันได้เลยค่ะ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 
         เริ่มกันที่ท่าแรก เป็นการฝึกการยืดกล้ามเนื้อน่องในท่านั่ง


       วิธีการเริ่มจากการนั่งเหยียดขา ใช้ผ้าที่มีลักษณะยาวคล้องปลายเท้า จากนั้นค่อยๆ ออกแรงดึงปลายผ้าให้ข้อเท้ากระดกขึ้น จนรู้สึกตึงบริเวณน่องและใต้ข้อพับเข่า ทำค้างไว้ 10 วินาที ควรทำซ้ำ 5 เซท อาจสลับยืดทั้งสองข้าง


         ท่าที่ 2 เป็นการฝึกการยืดกล้ามเนื้อน่องในท่ายืน



       วิธีการเริ่มจาก ยืนหันหน้าเข้าหากำแพง โดยขาที่ต้องการยืดอยู่ด้านหลัง จากนั้นค่อยๆ ถ่ายน้ำหนักไปขาด้านหน้า โดยเข่าด้านหน้าไม่ควรเลยปลายเท้า จนรู้สึกตึงบริเวณน่อง ส่วนขาด้านหลังเข่าจะต้องอยู่ในลักษณะตรง และระวังไม่ให้ข้อเท้าบิดหมุน คือส้นเท้าและปลายเท้าจะต้องอยู่ในแนวเดียวกัน ทำค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ 5 เซท อาจสลับยืดทั้งสองข้าง


         ท่าที่ 3 เป็นการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อน่องชั้นลึก


       วิธีการเริ่มจาก ยืนครึ่งเท้าบนขอบขั้นบันไดที่มีความมั่นคง ใช้บอลขนาดเล็กหนีบระหว่างส้นเข้า 2 ข้าง จากนั้นค่อยๆ ออกแรงเขย่งปลายเท้าขึ้น-ลงช้าๆ โดยที่ยังหนีบบอลอยู่  ทำซ้ำ 10 ครั้ง ทำ 3 เซท


         ท่าที่ 4 เป็นการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเหยียดสะโพก


       วิธีการเริ่มจาก นอนตะแคงขาที่มีต้องการออกกำลังอยู่ด้านบน พร้อมเหยียดสะโพกไปทางด้านหลังเล็กน้อย จากนั้นค่อยๆออกแรงกางสะโพกขึ้น-ลงช้าๆ จะรู้สึกเกร็งบริเวณสะโพกด้านข้าง หากรู้สึกเกร็งบริเณหลังให้ลดมุมกางสะโพกลง ทำซ้ำ 10 ครั้ง ทำ 3 เซท


         ท่าที่ 5 เป็นการยืดกล้ามเนื้อน่องก่อนลุกยืนเดิน


       ท่านี้สำคัญมากๆ สำหรับผู้มีอาการปวดส้นโดยเฉพาะก้าวแรกหลังจากตื่นนอน หรือก้าวแรกหลังจากนั่งนาน
 
       วิธีการเริ่มจากนั่งห้อยขาข้างเตียงหรือบนเก้าอี้ พร้อมเหยียดเข่าและกระดกข้อเท้าขึ้น จนรู้สึกตึงบริเวณน่อง ยืดค้างไว้ 10 วินาทีเป็นอย่างน้อย 
และทำซ้ำ 5 ครั้ง ทำได้บ่อยตามต้องการ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 

         ทางเดอะมูฟคลับคลินิก หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆที่มีอาการปวดส้นเท้าอยู่
  
         และอย่าลืมหมั่นยืดกล้ามเนื้อน่องโดยเฉพาะก่อนลุกขึ้นยืนเดิน ถึงแม้อาการปวดจะลดลงหรือหายแล้วก็ตาม
 
         แนะนำให้ยืดกล้ามเนื้อน่องสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำค่ะ

         แต่สิ่งที่สำคัญคือการตระหนักรู้ว่าตอนนี้เรานั่งแบบไหน นั่งถูกหรือไม่ นั่งไปแล้วร่างกายกำลังร้องไห้อยู่หรือเปล่า

         มาเริ่มแก้กันที่ต้นเหตุเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากันนะคะ

          หากใครลองทำตามท่าทางกายบริหาร และการดูแลแล้วยังมีอาการปวดส้นอยู่
 
          สามารถมาเข้ามารับการรักษา และขอคำปรึกษากับทางเดอะมูฟคลับคลินิกกายภาพได้นะคะ

          หากใครชื่นชอบโพสต์สาระความรู้ดีๆแบบนี้ สามารถแบ่งปันให้เพื่อนๆ แชร์แบ่งปันเป็นกำลังใจให้กันได้นะคะ

          หรือท่านใดอยากให้ทาง The move club มาแชร์ความรู้ แชร์ประสบการณ์เรื่องใด สามารถ comment มาบอกได้นะคะ
 
          สุดท้ายนี้ขอฝากคำคมไว้ว่า “การไม่ปวดคือลาภอันเสริฐ” 55555555 แล้วพบกันใหม่ใน EP.ถัดไปคร่า
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่