4 ท่านอนผิดๆ ที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้

4 ท่านอนผิดๆ ที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ 
 
     การนอน 😴 ถือเป็นกิจวัตรประจำวันที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของคนเรา นอกจากการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย แถมยังเป็นช่วงเวลาทองที่ร่างกายจะได้ซ่อมแซมตัวเองหลังผ่านการใช้งานมาอย่างหนัก
     ถ้าวันไหนที่ได้นอนหลับเต็มอิ่ม เราจะรู้สึกได้เลยว่า ร่างกายจะสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และมีพลังพร้อมที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตลอดทั้งวัน ซึ่งเวลานอนที่เหมาะสมสำหรับคนทั่วไปก็คือ ประมาณ 6-7 ชั่วโมงต่อวัน เท่ากับเราใช้เวลากับการนอนไปถึง 1 ใน 4 ส่วนในแต่ละวันเลยทีเดียว 
     แต่ทำไมบางคนยังรู้สึกว่า แม้จะนอนหลับสนิทแล้ว เมื่อพอตื่นขึ้นมากลับไม่รู้สึกสดชื่นเท่าที่ควร หรือยิ่งนอนกลับยิ่งเมื่อยมากขึ้น 😩 ที่เป็นแบบนี้อาจเป็นเพราะว่า เรานอนผิดรึเปล่า? แล้วนอนแบบไหนถึงเรียกว่าผิด จะเกิดอะไรกับร่างกายของเราบ้างถ้าเรานอนผิดท่า พี่หมอจะมาเล่าให้ฟัง เริ่มจาก…
4 ท่านอนที่ควรหลีกเลี่ยง ❌
 
ท่าที่ 1 : การนอนขดตัวหรือคู้ตัว 
     คือ ท่านอนที่มีการก้มศีรษะ โก่งหลัง พับสะโพก หรืองอเข่า การนอนในท่านี้ติดต่อกันนานๆ อาจก่อให้เกิดภาวะความเสี่ยงต่างๆ ดังนี้ 
    👎🏻 ปวดเข่าและเอ็นบริเวณเข่า รวมถึงอาจทำให้สะโพกเกิดการอักเสบได้ เนื่องจากมีการพับงอของข้อสะโพกและข้อเข่าเป็นเวลานาน
    👎🏻 กล้ามเนื้อส่วนหลังล่างอักเสบหรือปวด เพราะกล้ามเนื้อหลังถูกยืดจนตึงเกินไป 
    👎🏻 กระดูกสันหลังโก่ง งอ หรือบิดผิดรูป
    👎🏻 ปวดคอหรือกล้ามเนื้อคออักเสบ เนื่องจากการนอนในท่านี้จะต้องก้มคอค้างไว้ ทำให้กล้ามเนื้อที่บริเวณคอตึง และยังไปเพิ่มแรงดันต่อหมอนรองกระดูกสันหลังช่วงคออีกด้วย 
    👎🏻 หากผู้ป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทอยู่แล้ว การนอนในท่านี้จะยิ่งส่งผลให้อาการปวดทวีความรุนแรงมากขึ้น 
 
ท่าที่ 2 : การนอนคว่ำ
     ถือเป็นอีกหนึ่งท่านอนที่ไม่ถูกต้องเพราะจะทำให้เราหายใจไม่สะดวก กระดูกสันหลังแอ่นมากกว่าปกติ และในขณะที่นอนร่างกายก็ต้องมีการบิดคอไปทางซ้ายหรือขวา รวมถึงแอ่นไปข้างหลังอีกด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อที่คอ ทำให้รู้สึกปวดคอและปวดหลังได้ 
     แต่หากจำเป็นต้องนอนในท่านี้ พี่หมอแนะนำให้นอนในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น และควรหาหมอนมารองหน้าอกหรือช่วงท้อง ก็จะช่วยให้นอนสบายมากขึ้น
 
ท่าที่ 3 : การนอนแบบกึ่งนั่งกึ่งนอน 
     ท่านอนแบบกึ่งนั่งกึ่งนอนโดยที่มีหมอนรองหลังเอาไว้ แล้วนอนเอนหลังและไถลตัวลงไปบนเตียงหรือโซฟา พร้อมๆกับเล่นโทรศัพท์มือถือ 📱 อ่านหนังสือ 📚 หรือดูโทรทัศน์ไปเรื่อยๆ 📺 ทำให้ผู้ที่นอนในท่านี้ต้องงอหรือก้มคอเป็นระยะเวลานานๆ ซึ่งหากทำเป็นประจำ จะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอและหลังทำงานมากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดอาการอักเสบที่บริเวณกล้ามเนื้อคอบ่าไหล่ได้ รวมถึงทำให้เกิดอาการปวดที่บริเวณหลังส่วนล่าง เนื่องจากการแอ่นหลังขณะนั่งอีกด้วย
 
ท่าที่ 4 : การนอนทับแขนตัวเอง 
     การกดทับแขนตัวเองซึ่งเป็นบริเวณที่มีเส้นประสาทเป็นเวลานาน สามารถก่อให้เกิดอาการทางระบบประสามตามมาได้ โดยอาการที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือ อาการข้อมือตก ทำให้กระดกข้อมือไม่ขึ้น 
     อาการข้อมือตกจากการที่เส้นประสาทเรเดียนถูกกดทับ (Saturday night palsy หรือ Honeymoon palsy) ส่วนใหญ่มักไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ ซึ่งระยะเวลาจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่ส่วนมากจะใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ โดยในระหว่างที่รอให้เส้นประสาทหายดี แพทย์จะแนะนำให้ออกกำลังกายที่มือ ข้อมือ และแขนท่อนล่าง เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อฝ่อลีบ และเกิดอาการข้อติด 
     ส่วนสาเหตุที่เรียกอาการในลักษณะนี้ว่าภาวะ Saturday night palsy หรือ Honeymoon palsy นั้น มีที่มาจากผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หนักจนเมาพับและฟุบหลับคาโต๊ะ 🍻 และมักจะวางศีรษะทับต้นแขนไว้ในขณะที่นอน หรืออาจเกิดจากการที่คู่รักนอนหนุนแขนของอีกฝ่ายเอาไว้ตลอดทั้งคืน พอตื่นขึ้นมาจึงพบว่าข้อมือตก ยกไม่ขึ้นนั่นเอง 

     และเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการนอนผิดท่า พี่หมอขอแนะนำเคล็ดลับเพื่อสุขภาพการนอนหลับที่ดี ดังนี้ครับ
    ✅ 1. เปลี่ยนมานอนหงายแทน เนื่องจากการนอนในท่านี้จะช่วยให้น้ำหนักตัวกระจายไปตามส่วนต่างๆ ของแผ่นหลัง ทำให้ไม่มีน้ำหนักกดทับลงบนส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเป็นพิเศษ และยังช่วยให้กระดูกสันหลังอยู่ในแนวตรง ไม่โค้งผิดรูป ยิ่งถ้ามีหมอนมารองใต้เข่าก็จะช่วยให้นอนหลับได้สบายยิ่งขึ้น เพราะการรองหมอนไว้ใต้เข่า จะช่วยให้ข้อสะโพกงอเล็กน้อย จึงช่วยให้หลังส่วนล่างไม่ต้องแอ่นมาก ช่วยป้องกันอาการปวดหลังได้ อย่างไรก็ตาม การนอนหงายอาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคปอด หรือผู้ที่ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ หรือนอนกรนเป็นประจำ เป็นต้น 

    ✅ 2. การนอนตะแคง เป็นท่าที่นอนสบายและช่วยลดอาการปวดหลังได้เป็นอย่างดี การนอนตะแคงควรมีหมอนข้างไว้กอดและพาดขา ส่วนหมอนหนุนที่ใช้ ไม่ควรเตี้ยจนเกินไป เพราะจะทำให้ปวดต้นคอได้ แนะนำให้ใช้หมอนหนุนที่เมื่อนอนตะแคงแล้วศีรษะอยู่ในระดับเดียวกับลำตัว หรือกระดูกสันหลังส่วนคออยู่ในระดับเดียวกับกระดูกสันหลังส่วนอกและเอว 

    ✅ 3. ไม่ว่าจะนอนท่าไหน ทุกครั้งที่เรารู้สึกตัวในระหว่างการนอน ควรมีการปรับเปลี่ยนท่านอน เพื่อให้ร่างกายได้ขยับ กระดูกและกล้ามเนื้อจะได้ไม่ถูกกดทับมากเกินไป 

    ✅ 4. เครื่องนอน ควรเลือกเครื่องนอนที่เหมาะกับสรีระของเรา พี่หมอแนะนำให้จัดเตรียมเครื่องนอนที่นอนแล้วรู้สึกสบายที่สุด หมอนที่มีความสูงกำลังดี นอนแล้วไม่ปวดคอ ฟูกไม่นิ่มหรือแข็งจนเกินไป สามารถพยุงหลังของเราได้ และอาจจะมีหมอนข้างไว้กอดเวลานอนตะแคงด้วย 

    ✅ 5. จัดสภาพแวดล้อมในการนอนให้เหมาะสม ห้องนอนที่ดีควรมีลักษณะมืด ไม่มีแสงและเสียงรบกวนขณะนอนหลับ หรือถ้ามีก็อาจจะต้องหาอุปกรณ์เสริมช่วย เช่น ที่ปิดตา หรือที่อุดหู เพื่อช่วยให้เรานอนหลับได้สนิทมากยิ่งขึ้น 
 
     การนอนในท่าที่ถูกต้อง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม นอกจากจะช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ทำให้การนอนของเราเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดแล้ว ยังช่วยให้กระดูก กล้ามเนื้อและระบบประสาทต่างๆ ในร่างกายไม่บาดเจ็บก่อนวัยอันควรอีกด้วยนะครับ
              
     ได้เคล็ดลับดีๆ จากพี่หมอแบบนี้แล้ว ก็อย่าลืมเอาไปกระซิบบอกคนข้างๆ ด้วยนะครับ 😴😴😴
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่