บันทึกการเรียนภาษา (2) - ภาษา คือ การเลียนแบบ: ความสำคัญของการอ่านในการเรียนภาษาด้วยตนเอง

บนเส้นทางการเรียนภาษาด้วยตัวเองของผู้เขียน มีหลักการอยู่ 2 หลัก ที่เปรียบเสมือนดวงไฟสว่างไสวที่นำทางไปตลอดเส้นทางการเรียนนี้ และดวงไฟทั้ง 2 ดวงนี้ ได้จุดประกายขึ้นในขณะที่เป็นนิสิตแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น
 
หลักการแรกได้ยินมาจากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เมื่อคราวเดินทางมาเยี่ยมเยียนนักเรียนในเมืองนาโกย่าที่ผู้เขียนเรียนอยู่ขณะนั้น และคำพูดหนึ่งของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นที่ผู้เขียนไม่เคยลืมจนวันนี้ คือ “ภาษา คือ การเลียนแบบ”
 
เป็นประโยคที่ฟังดูง่าย ๆ ไม่มีอะไร แต่มีความหมายลึกซึ้ง เป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาใดก็ตาม
 
เมื่อมาลองคิดดู เด็กแรกเกิดเรียนภาษาจากพ่อแม่ คนเลี้ยงดู หรือบุคคลรอบข้าง ไม่มีใครที่จะพูดภาษาได้ตั้งแต่เกิดโดยไม่ฟังสิ่งที่คนอื่นพูด เมื่อฟังแล้ว จึงเรียนรู้ว่าอะไรคืออะไร และพูดตามออกมา และเมื่อโตขึ้น จึงได้ศึกษาวิธีการอ่าน และประสบการณ์ที่ได้จากการอ่านนี่เองที่ทำให้เด็กเขียนได้ในที่สุด
 
จากข้อความข้างต้นจึงอาจอนุมานได้ว่า การเรียนภาษาของมนุษย์เริ่มจากฟังก่อนจึงพูดได้ เริ่มจากอ่านก่อนจึงเขียนได้
 
แต่เมื่อหลุดพ้นจากวัยเด็กแล้ว เราไม่สามารถเรียนภาษาโดยเริ่มจากการฟังเหมือนเด็กแรกเกิดได้ด้วยโครงสร้างทางสมองที่เปลี่ยนแปลงไป แต่สามารถเรียนจากการอ่านก่อนแล้วฟังควบคู่ไป จนสามารถเขียนและพูดได้ในที่สุด หรืออีกกล่าวอีกนัยหนึ่ง การอ่านเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนภาษา และนี่คือหลักการที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากอาจารย์ชาวอังกฤษผู้หนึ่งในมหาวิทยาลัยนาโกย่า
 
การเรียนภาษาด้วยตัวเองโดยเริ่มจากการอ่านก่อนและฟังควบคู่ด้วยจนเขียนและพูดได้นั้น เป็นวิธีที่ผู้เขียนใช้ในการเรียนภาษาฝรั่งเศสจนสอบผ่านใบประกาศ DELF B2 ในระยะเวลา 1 ปีครึ่ง และภาษาสเปนในระดับ DELE B2 ในระยะเวลา 2 ปี โดยไม่ได้เข้าเรียนหรือฝึกพูดกับเจ้าของภาษาเลย (ในการเรียนภาษาญี่ปุ่นจนสอบผ่าน JLPT N2 นั้น ผู้เขียนเรียนภาษาญี่ปุ่นในมหาวิทยาลัย ส่วนการเตรียมสอบจนผ่านระดับ N1 นั้น ผู้เขียนเรียนด้วยตนเอง)
 
การอ่านเป็นเครื่องมือที่ผู้เขียนใช้ในการเลียนแบบการใช้ภาษา แต่ไม่ได้หมายความว่า เริ่มต้นเรียนจากการอ่านข้อความใด ๆ โดยทันที แต่ต้องรู้ก่อนว่า ตัวอักษรนี้อ่านว่าอย่างไร มีวิธีผสมคำอย่างไร และมีโครงสร้างในเบื้องต้นอย่างไร โดยส่วนตัวผู้เขียนชอบใช้ตำราหรือสื่อการเรียนที่มีบทนำว่าด้วยเนื้อหาดังกล่าว ก่อนเข้าสู่บทเรียนที่ประกอบด้วยบทสนทนา/ข้อความและคำอธิบาย โดยมีเสียงของเจ้าของภาษาประกอบด้วย
 
ในการศึกษาบทสนทนาหรือข้อความนี่เอง ที่ต้องสังเกตการเลือกใช้คำ การเรียงลำดับคำ การประสมคำ การผันคำต่าง ๆ ตามหน้าที่ในประโยค และต้องดูด้วยว่า คำกริยาหรือคำคุณศัพท์คำนี้ใช้กับคำบุพบทคำใด เพื่อที่จะสามารถใช้ภาษาได้เป็นธรรมชาติเหมือนที่เจ้าของภาษาพึงใช้
 
ส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนไม่เน้นการเขียน การฟัง และการพูดในช่วงแรก ๆ แต่เน้นการอ่านโดยสังเกตสิ่งต่าง ๆ ข้างต้นพร้อมศึกษาไวยากรณ์ประกอบและจดจำคำศัพท์ไปด้วย และเมื่อเปิดหาคำศัพท์ในพจนานุกรม ผู้เขียนจะดูด้วยว่า คำนั้นใช้ในบริบทใด ใช้กับคำบุพบทคำใด และดูตัวอย่างประกอบเพื่อให้สามารถจำได้ง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในระหว่างที่อ่านไป ผู้เขียนจะตั้งคำถามว่า ทำไมคำนี้ผันแบบนี้ ทำไมคำนี้ใช้คู่กับคำนี้ และถ้าตอบตัวเองไม่ได้ ผู้เขียนจะกลับไปศึกษาไวยากรณ์หรือค้นหาศัพท์นั้นเพิ่มเติม ทำให้รู้ว่า เรายังไม่แม่นที่จุดใด หรือพลาดตรงไหนไป
 
การอ่านมากช่วยให้ซึมซับการใช้ภาษาที่เป็นธรรมชาติไปในตัว ยิ่งอ่านมาก ยิ่งจำได้ง่ายขึ้น ทั้งไวยากรณ์และคำศัพท์ และเมื่อเราคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้ การเขียนจะไม่ยากเท่าที่คิด และจะฟังได้ง่ายขึ้น สุดท้ายก็จะพูดได้เอง
 
ในการฝึกเขียนนั้น เราต้องสร้างสถานการณ์ให้ได้เขียนหรือคิดคำพูดในใจขึ้นมา เช่น ในชีวิตประจำวัน ผู้เขียนชอบคิดเสมอว่า ถ้าเราอยากจะถ่ายทอดข้อความภาษาไทยเป็นภาษาที่เรากำลังเรียน จะพูดว่าอย่างไร และลองสร้างประโยคขึ้นมาโดยใช้คลังความรู้จากการอ่าน ถ้าคิดไม่ได้ ก็ลองเปิดหาคำสำคัญ (keyword) ของประโยคนั้นในพจนานุกรมซึ่งส่วนใหญ่จะมีตัวอย่างของประโยคที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราต้องการถ่ายทอดอยู่แล้ว 
 
ในระหว่างนี้ ผู้เขียนจะเปิดวิทยุข่าวฟังไปด้วยโดยเฉพาะตอนออกกำลังกาย แม้จะฟังไม่ออกก็ตาม แต่ก็ต้องเปิดให้หูคุ้นเคยกับการออกเสียงและสำเนียง และเมื่อเราคุ้นเคยกับภาษาจากการอ่านและมีคลังคำศัพท์ที่มากขึ้น ทักษะการฟังจะค่อย ๆ พัฒนาไปตามลำดับ และหากเราสังเกตการณ์ออกเสียงในระหว่างที่ฟังไปด้วย ก็จะช่วยทุ่นแรงในการฝึกพูดได้มาก
 
สุดท้ายนี้ ประสบการณ์และทักษะการอ่าน เขียน และฟัง จะช่วยให้เราพูดออกมาได้เอง และความจริงแล้ว การฝีกคิดในใจหรือเขียนออกมา ก็เป็นการ “พูด” ไปในตัวอยู่แล้ว แม้ไม่มีคู่สนทนาด้วยก็ตาม และด้วยวิธีนี้เอง ทำให้ผู้เขียนสามารถพูดได้ในการสอบการพูดภาษาฝรั่งเศสและภาษาสเปน แม้ไม่เคยฝึกพูดกับผู้ใดเลยก็ตาม
 
การเรียนภาษาคือการเลียนแบบ แต่การเลียนแบบนั้นจำเป็นต้องมีตัวอย่างที่ดี สิ่งใดดีหรือไม่ดี ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้อ่านสามารถแยกเยอะได้ และเมื่อเลียนแบบแล้วต้องนำมาฝึก ต้องนำมาต่อยอด จึงจะมีความก้าวหน้าในการเรียนภาษา
 
ทั้งนี้ การเรียนภาษาด้วยวิธีการข้างต้นเป็นเพียงความเห็นหนึ่งของผู้เขียนเท่านั้น ผู้เขียนเองเข้าใจว่า แต่ละคนต่างมีวิธีการเรียนที่ถูกจริตแตกต่างกันออกไป ขอให้ทุกคนค้นพบวิธีการเรียนภาษาที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองครับ
---------------------------------------------------------
สามารถอ่านงานเขียนอื่น ๆ ได้ที่เพจ https://www.facebook.com/MemoirsOfMrNomad ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่