JJNY : ป้างง!! ถูกยกเลิกสิทธิ์ ‘เราชนะ’│วอน 28 จว.งดทำนา น้ำไม่เพียงพอ│พท.อัดละเลยแก้ปัญหาTCAS│เหนือ11จว.ยังวิกฤตฝุ่นพิษ

ป้างง !! ถูกยกเลิกสิทธิ์ ‘เราชนะ’ ไม่รู้ผิดพลาดขั้นตอนไหน
https://www.one31.net/news/detail/28904


 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้มีคุณป้าคนหนึ่งถูกยกเลิกสิทธิ์เราชนะ หลังจากที่ใช้เงินไปได้พันกว่าบาท และไม่ทราบว่าถูกยกเลิกไปได้อย่างไรและใครเป็นคนยกเลิกหรือมาจากความผิดพลาดของระบบ โดยคุณป้าคนนี้ชื่อว่า นางแฉล้ม ธรรมวาสี อายุ 62 ปี อาศัยอยู่คนเดียว โดยได้เรียกร้องให้ผู้สื่อข่าวช่วยตรวจสอบเรื่องนี้ว่า ถูกยกเลิกไปได้อย่างไร
 
คุณป้าแฉล้ม เล่าว่า หลังจากที่ได้รับสิทธิ์โครงการเราชนะซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ และใช้ไปพันกว่าบาท โดยลูกสาวเป็นคนลงทะเบียนให้ โดยใช้เบอร์โทรศัพท์ของหลานลงทะเบียน ส่วนแอปเป๋าตังค์ก็อยู่ในโทรศัพท์ของลูกเขย เพราะตนไม่มีสมาร์ทโฟน ต่อมาได้ซื้อโทรศัพท์สมาร์ทโฟนมาใช้เพื่อความสะดวกในการใช้จ่าย และเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ได้ให้น้องชายเป็นคนโอนแอปเป๋าตังค์จากเครื่องลูกเขยมายังเครื่องตน โดยรหัสโอทีพีส่งไปที่เบอร์ของหลานสาวซึ่งเป็นเบอร์ที่ใช้ลงทะเบียนครั้งแรก ซึ่งทุกอย่างเรียบร้อยดีสามารถเปิดแอปเป๋าตังค์ในโทรศัพท์ของตนได้ทันทีพร้อมยอดเงินที่เหลืออยู่สองพันกว่าบาท
 
แต่ปรากฏว่าถัดมาในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 5 มีนาคม ได้นำโทรศัพท์ไปใช้ซื้อของที่ร้านค้าปรากฏว่าเมื่อเข้าแอปเป๋าตังค์ก็ปรากฏข้อความว่า “ท่านยกเลิกสิทธิ์เราชนะ” ซึ่งช็อกและงงมาก เพราะไม่ได้เป็นคนยกเลิกและไม่รู้ว่า ถูกยกเลิกไปได้อย่างไร เมื่อสอบถามลูกเขยที่เคยมีแอปเป๋าตังค์ของตนอยู่รวมทั้งลูกสาวซึ่งเป็นคนลงทะเบียนให้ก็ยืนยันว่าไม่ได้เข้าไปยกเลิกสิทธิ์แต่อย่างใด เมื่อไปติดต่อธนาคารก็บอกว่าสิทธิ์เราชนะได้มีการยกเลิกไปแล้ว ก็ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ว่าใครเป็นคนยกเลิกและยกเลิกได้อย่างไร หรือมีข้อผิดพลาดในขั้นตอนใด เพราะหลังจากที่โอนแอปเป๋าตังค์จากโทรศัพท์ของลูกเขยมายังโทรศัพท์ของเครื่องตนก็สามารถเข้าไปใช้แอปเป๋าตังค์ตามปกติและมียอดเหลือเหลืออยู่ ตอนนี้ทำอะไรไม่ถูกเพราะสิทธิ์ถูกเลิกไปและกลัวว่าจะถูกเรียกเงินคืนด้วยเพราะได้ยกเลิกสิทธิ์เราชนะไปแล้ว
 
ด้าน นายพรรษา ธรรวาสี น้องชายซึ่งเป็นคนโอนแอปเป๋าตังค์ เปลี่ยนจากโทรศัพท์ของลูกเขยมาเป็นโทรศัพท์ของพี่สาวแทนบอกว่าทำตามขั้นตอนทุกอย่างถูกต้องและแอปเป๋าตังค์ก็สามารถเปิดใช้ได้ตามปกติมีเงินอยู่ในระบบเรียบร้อย รวมทั้งน้องสาวกับน้องเขยก็ยืนยันว่าไม่ได้เข้าไปยกเลิกสิทธิ์ จึงอยากให้ผู้รู้หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบและไขข้อสงสัยในเรื่องนี้ว่า “เราชนะ” ของพี่สาวถูกยกเลิกไปได้อย่างไร ยกเลิกไปเมื่อไหร่ วันเวลาและสถานที่ใด รวมทั้งเบอร์โทรศัพท์ที่เข้าไปยกเลิกว่าเป็นเบอร์ใด หรือมาจากความผิดพลาดของระบบหรือทางเทคนิคหรือไม่ เพื่อให้ทุกอย่างเคลียร์และสร้างความสบายใจให้กับทุกฝ่าย.
  

 
วอน 28 จังหวัด งดทำนา เสี่ยงข้าวยืนต้นตาย น้ำไม่เพียงพอ 
https://www.khaosod.co.th/economics/news_6103641
 
กรมส่งเสริมการเกษตร วอน 28 จังหวัด งดทำนา เสี่ยงข้าวยืนต้นตาย น้ำไม่เพียงพอ ห้ามเอามาปลูกข้าวเด็ดขาด เผยประโยชน์ของการพักนาไม่ปลูกข้าว
 
วันที่ 10 มี.ค.64 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาประสบปัญหาฝนตกน้อยกว่าปกติ ทำให้ประสบปัญหาภัยแล้งถึงแล้งจัด ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำคงเหลือน้อย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ในหลายพื้นที่จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ
 
โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ปัจจุบันเกษตรกรเริ่มเก็บเกี่ยวบ้างแล้ว ซึ่งหากมีการปลูกข้าวอีกครั้งเป็นรอบที่ 3 ของปี หรือ นาปรัง รอบที่ 2 จะทำให้เกิดความเสี่ยงสูงที่จะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง เนื่องจากไม่มีน้ำต้นทุนเพียงพอ เกษตรกรลุ่มเจ้าพระยา จึงไม่ควรนำน้ำมาใช้ในการปลูกข้าวโดยเด็ดขาด เนื่องจากจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศจากภาวะน้ำเค็มรุกท้ายลุ่มเจ้าพระยา และในท้ายที่สุดต้นข้าวจะยืนต้นตายจากการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง
 
ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอความร่วมมือ เกษตรกรในพื้นที่ 28 จังหวัดให้งดปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 เด็ดขาด ประกอบด้วย พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 14 จังหวัด ถือว่าเป็นพื้นที่เน้นหนักในการขอความร่วมมือให้งดปลูก ได้แก่ จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง ฉะเชิงเทรา นครนายก นครปฐม สมุทรสาคร และจังหวัดสุพรรณบุรี
 
และพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นๆ 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น่าน ลำพูน บึงกาฬ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี ราชบุรี ระยอง สระแก้ว ชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเกษตรกรควรพักนาและไถกลบฟางข้าวเพื่อเป็นปุ๋ย หรือเลือกปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน
 
นอกจากนี้ การปลูกข้าวในช่วงนี้จะทำให้เกษตรกรประสบปัญหาศัตรูพืชและโรคพืชเข้าทำลายได้ โดยศัตรูและโรคพืชที่สำคัญ มี 3 ชนิด คือ 
1. โรคไหม้ข้าว มักพบในช่วงอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณฝนน้อยและล่าช้า 
2. เพลี้ยไฟ มักพบโดยทั่วไป โดยเฉพาะในอากาศร้อนแห้งแล้งหรือฝนทิ้งช่วงนานติดต่อกันหรือในสภาพนาข้าวที่ขาดน้ำ ซึ่งเป็นศัตรูข้าวที่ทำความเสียหายทั้งในพื้นที่ลุ่มและพื้นที่ดอน เพลี้ยไฟจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 20 วัน จึงสามารถทำความเสียหายให้กับนาข้าวเป็นบริเวณกว้างในช่วงเวลาสั้นๆ เนื่องจากสามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมากในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และ 3. เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มักพบได้ในช่วงอากาศร้อนและแห้งแล้งเช่นกัน
 
สำหรับประโยชน์ของการพักนาไม่ปลูกข้าวต่อเนื่องจะทำให้เกิดผลดีหลายด้าน ได้แก่ 
1. ช่วยลดความเสี่ยงที่จะขาดทุน เนื่องจากพืชยืนต้นตาย 
2. ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาพรวมของประเทศ 
3. เป็นการพักดินเพื่อลดปัญหาการสะสมของโรคและแมลงศัตรูข้าว 
4. ปลูกพืชปุ๋ยสดทดแทนจะช่วยปรับปรุงดินให้ดีขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านการใช้ปุ๋ยในฤดูกาลผลิตถัดไปได้
 
ทั้งนี้ในกรณีที่มีแหล่งน้ำของตนเองหรือแหล่งน้ำอื่นๆ ที่ประเมินแล้วว่าเพียงพอต่อการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เกษตรกรสามารถเลือกปลูกพืชที่มีตลาดรองรับในพื้นที่ได้ดังนี้ กลุ่มพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วเหลืองฝักสด และถั่วลิสง , กลุ่มพืชสมุนไพร เช่น อัญชัน ตะไคร้ , กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ เช่น ดาวเรืองตัดดอก และอโกลนีมา และ ล กลุ่มพืชผัก เช่น ตระกูลกะหล่ำ ตระกูลแตง ตระกูลถั่ว ตระกูลมะเขือ ผักกินใบ พืชหัว กระเจี๊ยบเขียว ข้าวโพดฝักสด และเห็ด
 
สำหรับเกษตรกรที่สนใจอยากปรับเปลี่ยนพื้นที่นาเป็นการปลูกพืชสวน พืชไร่ พืชผัก และไร่นาสวนผสม สามารถรับคำปรึกษาได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด ซึ่งกรมส่งเสริมเกษตรได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้เพิ่มเติมด้านการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้คำปรึกษาเบื้องต้นแก่เกษตรกร จำนวน 50 จังหวัดแล้ว
 
ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตราด ตาก นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นราธิวาส น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก แพร่ พะเยา มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ยโสธร ร้อยเอ็ด ระยอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สระบุรี สุโขทัย สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ 
 
ส่วนจังหวัดที่เหลือกรมส่งเสริมการเกษตรมีแผนอบรมให้ความรู้ด้านการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มเติมให้แก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรต้นแบบ ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป และต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่และเกษตรกรต้นแบบจะได้อบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อให้ทราบวิธีการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ประหยัด ลดการสูญเสีย และการดูแลรักษาพืชในภาวะแล้งน้ำน้อยต่อไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่