JJNY : ดุสิตโพลชี้“โควิด-ศก.”ฉุดท่องเที่ยวปีใหม่/สุขุมแนะเลิกกังวลปมเลือกส.ส.ร/'ทวี'อัดรบ.ศรีธนญชัย/เรืองไกรจี้ตู่สอบAOT

ดุสิตโพล ชี้ “โควิด-เศรษฐกิจ” ฉุดแผนท่องเที่ยวปีใหม่
https://www.thansettakij.com/content/normal_news/460123

 
"ดุสิตโพล" ชี้ "โควิด-เศรษฐกิจ" ฉุด แผนท่องเที่ยวปีใหม่ อยากเห็นรัฐมีมาตรการป้องกันโควิด-19 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย
 
13 ธันวาคม 2563 “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณี “คนไทยกับการท่องเที่ยวส่งท้าย ปี 2020” จำนวนทั้งสิ้น 1,277 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 4-10 ธันวาคม 2563 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นกรณีอีกไม่กี่วันก็จะหมดปี 2020 และเข้าสู่ปีใหม่ โดยในช่วงวันหยุดยาว ที่คาดว่า จะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการพักผ่อนและเฉลิมฉลองปีใหม่ หลังจากที่คนไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆมาตลอดทั้งปี
 
ผลสำรวจ พบว่า พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยในปี 2020 ที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด คือ ไปเที่ยวอย่างระมัดระวังตัวมากขึ้น ร้อยละ 83.56 ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวตลอดทั้งปีประมาณ 10,001 -  20,000 บาท ร้อยละ 26.17 สิ่งที่อยากให้รัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่นี้ คือ มีมาตรการป้องกันโควิด-19 เพื่อเที่ยวอย่างปลอดภัย ร้อยละ 76.40
 
ส่วนจังหวัดที่คนไทยจะไปเที่ยวมากที่สุด คือ เชียงใหม่ ร้อยละ 31.67 โดยสิ่งที่จะกระทบต่อการท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่คือ โควิด-19 ร้อยละ 92.71 

นางสาวกมลกนก เกียรติศักดิ์ชัย  คณบดีโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า ท่องเที่ยวปี 2020 นับจากช่วง COVID-19 ใครๆก็บ่นว่าเป็นปีที่หนักสำหรับผู้ประกอบการทางด้านการท่องเที่ยวและการบริการ หรือแม้กระทั่งผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเองก็ตาม หลายเดือนผ่านไปจะพบว่า เราในฐานะคนไทยปรับตัวได้ดีกว่าชาติใดในโลกก็ว่าได้ วิกฤติต่างๆกลับกลายเป็นโอกาส และหลายคนคว้าโอกาสครั้งนี้ในการเป็นผู้นำทางด้านการท่องเที่ยวและการบริการที่เกี่ยวข้องกัน

การปรับตัวทางการท่องเที่ยวเริ่มมาตั้งแต่ระดับนโยบายลงสู่ประชาชน จนกลายเป็นมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวยุคปกติใหม่ (Amazing Thailand Safety and Health Administration: SHA) ที่ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวพึงปฏิบัติ จากการท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นการท่องเที่ยวภายในประเทศที่คึกคัก

ขณะที่ในส่วนของผู้ประกอบการเองก็ปรับตัวในรูปแบบ Internationalization@Home เช่น สะพานหันปรับตัวเป็นริมคลองเมือง Otaru ที่พักตากอากาศที่จำลองการพักแบบ Igloo ททท.ออกแคมเปญ Chillaxing in Chiangkhan / Cafes Hopping in Khaoyai เป็นต้น บางกลุ่มเป็นตัวอย่างของ Switcher ที่ดี จากโรงแรมที่พักกลายเป็นร้านอาหารในสวน การท่องเที่ยวแบบใหม่ Solo-Dual Traveler กลายเป็นที่นิยม หรือแม้กระทั่งกิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่อาศัย Online Media เป็นสื่อกลางก็ได้รับความนิยม เช่น Virtual Tourism, Podcast, Online exhibition and events เป็นต้น การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจึงกลับมาอย่างสง่างาม พร้อมกับการพัฒนาตนเองของบุคลากรทางด้านการท่องเที่ยวและการบริการ Re-skills, Up-skills และ New skills จะเป็นเครื่องมือสำหรับการเตรียมตัว และจะพาการท่องเที่ยวของไทยไปได้ไกลกว่าเดิม
 

 
'สุขุม' แนะเลิกกังวลปมเลือก ส.ส.ร. ซ้ำรอยสภาผัวเมีย อย่ามองแง่ร้ายนักการเมืองชั่ว ปชช.ตัดสินเอง
https://www.matichon.co.th/politics/news_2482987
 
ที่มา รายงานหน้า 2, มติชนรายวัน อาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม 2563
 
สืบเนื่องกรณี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่าที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คน หากมาจากการเลือกตั้งประชาชนเป็นผู้เลือกมา มีจุดอ่อนอาจเป็นผู้ที่อิงอยู่กับพรรคการเมือง อาจกลายเป็นคล้ายกับสภาผัวสภาเมียเหมือนที่เกิดขึ้นในวุฒิสมาชิกกับสภาผู้แทนราษฎรในอดีตได้นั้น
 
รศ.สุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ว่า อย่าวิตกกังวลกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพราะนักการเมืองไม่ใช่คนชั่วช้า อย่าไปมองในแง่ร้ายว่าอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับนักการเมืองแล้ว จะเป็นเรื่องที่นำพาประเทศให้เสียหายไปทั้งหมด ต้องยอมว่าความเชื่อมโยงของตัวบุคคลในสังคมมีทั้งคนในสายเลือดหรือระบบพรรคพวก คงไม่มีใครที่ใช้ชีวิตโดยไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น ดังนั้นควรมองไปที่ผลของการทำงานของนักการเมืองว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนยอมรับหรือมีความชื่นชม
 
“ต้องไม่ลืมว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องผ่านการทำประชามติ หากย้อนไปในอดีตการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 โดย ส.ส.ร.ยุคนั้นเข้าไปทำหน้าที่ ก็มีทั้งนายอุทัย พิมพ์ใจชน พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร ซึ่งเป็นนักการเมืองระดับแถวหน้า ส่วนตัวไม่เห็นว่าจะมีอะไรเสียหาย ถ้าจะให้ ส.ส.ร.ไม่มีตำหนิ ไม่ให้เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ขอเรียนว่าผิดธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันในสังคม
 
เพราะฉะนั้นอย่าเอามาเป็นประเด็นถกเถียงให้เสียเวลา พรรคการเมืองทั้งหลายควรจะพิจารณาตัวเองด้วยว่าควรจะสนับสนุนเรื่องนี้ด้วยการส่งตัวบุคคลไปแข่งขันหรือไม่ เพราะสุดท้ายก็อยู่ที่ประชาชนจะเลือกเข้าไปทำหน้าที่หรือไม่ และส่วนตัวไม่เห็นว่านักการเมืองจะต้องเลวทั้งหมด จึงต้องออกมาดักคอ ออกข้อห้าม หรือปลุกกระแสไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญส่วนการแก้ไขก็ควรจะเปิดกว้าง กำหนดคุณสมบัติให้เหมาะสม แต่จำนวนทั้งหมดต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และไม่เชื่อการอาสาเข้าไปทำหน้าที่ ส.ส.ร.จะต้องใช้งบทุ่มเทหาเสียงเหมือนการเลือกตั้งไปทำหน้าที่ ส.ส. หรือจะต้องมีการจับผิดในระหว่างการหาเสียงให้เกิดความวุ่นวาย” รศ.สุขุมกล่าว
 
รศ.สุขุม กล่าวอีกว่า ที่มาของ ส.ส.ร.ไม่ควรจะต้องใช้วิธีการคัดสรรด้วยวิธีการแปลกๆ เพราะมีความเชื่อว่าวันนี้การเมืองได้ลงลึกไปถึงระดับรากหญ้าแล้ว ประชาชนควรจะต้องมีโอกาสจะท้อนความเห็นเพื่อกำหนดทิศทางกรอบกติกาของบ้านเมืองได้ แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนการหา ส.ส.ร.ไปทำหน้าที่ต้องดูว่าการแปรญัตติของกรรมาธิการฯในวาระ 2 จะกำหนด ส.ส.ร.จำนวนเท่าใด และมีที่มาอย่างไร และเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร
 
ส่วนการพิจารณาในวาระ 3 ยังกลัว ส.ว.เพราะเชื่อว่าเจตจำนงในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่คือการลดอำนาจ ส.ว.หรือมีการเปลี่ยนแปลงที่มาของ ส.ว.จากเสียงเรียกร้องของกระแสสังคม แม้ว่ารัฐธรรมนูญยังแก้ไขไม่เสร็จ หากมีปัญหาทางการเมือง เงื่อนไขที่จะให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีก น่าจะเป็นหลักการที่ชัดเจนว่า ส.ว.ไม่ควรมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้อีกและไม่ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
 
“ส.ส.ร.จะถูกมองว่าเป็นสภาผัวเมีย สภาลูกสภาพ่อก็ไม่เป็นไร เพราะไม่มีใครในสังคมการเมืองจะออกมาจากกระบอกไม้ไผ่ ดังนั้นการได้มาของ ส.ส.ร.จะอยู่ที่อำนาจของประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกไปทำหน้าที่” รศ.สุขุมกล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่