การบริหารการหายใจ(Breathing Exercise)เพื่อสุขภาพปอด

การหายใจที่ไม่ถูกต้อง ทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนถูกใช้มากกว่าปกติ และบางส่วนแทบจะไม่ได้ใช้เลย  
เช่น กล้ามเนื้อหน้าท้อง  กล้ามเนื้อของทรวงอกส่วนบน  ซึ่งการหายใจที่ถูกต้องจะช่วยให้หายใจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
และเมื่อมีพยาธิสภาพที่ปอดเกิดขึ้นเกิดขึ้น การหายใจที่ถูกต้องก็จะช่วยให้สามารถฟื้นตัวได้เร็ว
        โรคของระบบหายใจที่พบได้บ่อย ได้แก่  โรคภูมิแพ้ของระบบหายใจ, โรคทางเดินหายใจอักเสบเรื้อรัง เช่น โรคหวัดเรื้อรัง,
ไซนัสอักเสบ, หอบหืด, โรคหลอดลมอักเสบ, โรคปอดอักเสบในระยะที่เริ่มฟื้นตัว, โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง 
และโรคหลอดลมโป่งพอง เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของการบริหารการหายใจ
       1. รู้จักวิธีการหายใจที่ถูกต้อง เพื่อให้ปอดขยายตัวและหดตัวได้ดี และมีจังหวะการหายใจที่สม่ำเสมอ
โดยใช้แรงน้อยที่สุด
       2. คุ้นเคยกับการออกกำลังกายและฝึกทำจนเป็นกิจวัตรในขณะปกติ  จะสามารถช่วยให้อาการของโรคมีความรุนแรงน้อยลง
และหายเร็วขึ้น โดยช่วยให้สามารถไอ และขับเสมหะออกมาได้ดีขึ้น ช่วยบรรเทาอาการหอบเหนื่อยลงได้
       3. มีลักษณะท่าทางที่ดี (Good posture)
    

ท่าที่ 1 ท่าหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อท้อง (Abdominal or Diaphragmatic breathing)
           ประโยชน์                       เป็นการหายใจที่ใช้กำลังน้อยที่สุด และได้ลมเข้าออกจากปอดมากที่สุด
           การเตรียมตัวขั้นต้น         นอนหงายกับพื้น วางต้นแขนทั้งสองข้างแนบลำตัว วางมือบนหน้าอกและหน้าท้อง 
                                                งอเข่าทั้งสองข้างขึ้นในท่าที่สบาย

           ฝึกหายใจเข้า                 ให้สูดหายใจเข้าลึกๆ ทางจมูกให้หน้าท้องป่องออก โดยหน้าอกจะมีการเคลื่อนไหวน้อยมาก
                                                โดยเฉพาะส่วนบนสังเกตจากการยกขึ้นของมือทั้งสองที่วางทาบไว้ 
         
           ฝึกหายใจออก               ผ่อนลมหายใจออกเบาๆ ผ่านทางไรฟันในขณะที่ริมฝีปากเผยออกเพียงเล็กน้อย 
                                               ให้ระยะเวลาของการหายใจออกเป็นประมาณ 3 เท่าของระยะเวลาหายใจเข้า
                                               จะเห็นว่ามือที่วางทาบอยู่บนหน้าท้องเคลื่อนลง ส่วนมือที่วางอยู่บนหน้าอกจะเคลื่อนไหวน้อยมาก
                                              
ท่าที่ 2 ท่าหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อทรวงอกด้านข้าง
           ประโยชน์                     ช่วยเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหวทรวงอกให้มากขึ้น และช่วยในการขับเสมหะ
           การเตรียมตัวขั้นต้น       ผู้ออกกำลังกายอยู่ในท่านั่ง วางฝ่ามือทั้ง 2 ข้างลงบนด้านข้างของทรวงอกส่วนล่าง
 
           ฝึกหายใจเข้า               ให้สูดหายใจเข้าลึกๆ ทางจมูกให้บริเวณทรวงอกและชายโครงส่วนล่างโป่งออกในช่วงหายใจเข้า
                                              ให้มากที่สุด
                                               
           ฝึกหายใจออก             ผ่อนลมหายใจออกเบาๆ ผ่านทางไรฟันในขณะที่ริมฝีปากเผยออกเพียงเล็กน้อย 
                                             ให้ระยะเวลาของการหายใจออกเป็นประมาณ 3 เท่าของระยะเวลาหายใจเข้า
                                             ให้บริเวณทรวงอกและชายโครงส่วนล่างยุบลงให้มากที่สุด ร่วมกับใช้มือกดเบาๆในช่วงท้ายของการหายใจออก
                                             เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ออกแรงมากขึ้น ขณะหายใจเข้าและเพื่อให้ลมออกจากปอดส่วนล่างให้มากที่สุดในขณะหายใจออก

ท่าที่ 3 ท่าหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อทรวงอกส่วนบน
           ประโยชน์                     เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจตีบเรื้อรังจนมีหน้าอกโป่งพองออกมา เช่น ในพวกที่เป็นหืด
                                             หรือถุงลมโป่งพองเรื้อรัง เป็นต้น เพื่อทำให้ลมออกจากส่วนนี้ให้มากที่สุด และให้ทรวงอกส่วนบนแข็งแรงขึ้น
           การเตรียมตัวขั้นต้น       ผู้ออกกำลังกายอยู่ในท่านั่ง วางฝ่ามือทั้ง 2 บนหน้าอกใต้กระดูกไหปลาร้า ใช้นิ้วหัวแม่มือกดเบาๆ
 
           ฝึกหายใจเข้า               ให้สูดหายใจเข้าลึกๆ ทางจมูก ให้อกส่วนบนขยายตัวดันนิ้วมือขึ้น ผ่อนคลายหัวไหล่ ไม่เกร็ง
                                              หายใจเข้าแล้วกลั้นไว้ 1-2 วินาที แล้วจึงหายใจออก
                                               
           ฝึกหายใจออก             ผ่อนลมหายใจออกเบาๆ ผ่านทางไรฟันในขณะที่ริมฝีปากเผยออกเพียงเล็กน้อย 
                                             ให้ระยะเวลาของการหายใจออกเป็นประมาณ 3 เท่าของระยะเวลาหายใจเข้า
                                             ให้ทรวงอกส่วนนี้ยุบลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยใช้มือกดช่วย

โดย  ฟิสิคอลคลินิกกายภาพบำบัด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่