กฎหมายต่อต้านก่อการร้ายฟิลิปปินส์รอมติศาลฎีกา

กฎหมายต่อต้านก่อการร้ายฟิลิปปินส์รอมติศาลฎีกา

นักเคลื่อนไหวจากหลายภาคส่วนในฟิลิปปินส์ยื่นเรื่องต่อศาลสูงสุดของประเทศ ขอให้พิจารณาคว่ำกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้ปลายเดือนนี้ เพราะ "ละเมิดสิทธิมนุษยชน" 

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ว่ามีรายงานการยื่นคำร้องอย่างน้อย 4 รายการต่อศาลฎีกาในกรุงมะนิลา เมื่อวันจันทร์ โดยคำร้องมาจากทั้งกลุ่มนักวิชาการ นักกฎหมาย และสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรคฝ่ายค้าน เรียกร้องให้ศาลสูงสุดของประเทศยกเลิก "กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย" ซึ่งประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ลงนามรับรองเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และกฎหมายจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการปลายเดือนนี้
 
แม้คำร้องมาจากบุคคลหลายกลุ่ม แต่มีสาระสำคัญคล้ายคลึงกัน คือการที่กฎหมายดังกล่าวมีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของพลเมือง ขณะเดียวกัน การที่กฎหมายนิยมคำจำกัดความของ "กลุ่มก่อการร้าย" และ "กิจกรรมก่อการร้าย" ได้ไม่ชัดเจนและยังคลุมเครือในหลายประเด็น อาจส่งผลกระทบต่อกรจัดกิจกรรมทางการเมืองเพื่อแสดงความคิดเห็นตามกรอบของกฎหมาย

ด้านนายแฮร์รี โรก โฆษกทำเนียบมาลากันยัง กล่าวถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าวเพียงว่า กฎหมายมีขอบเขตอำนาจเพียงพอครอบคลุมและให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนทุกคน จากการตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยินดีน้อมรับคำพิพากษาของศาล ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม
 
ทั้งนี้ กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของฟิลิปปินส์ เป็นกฎหมายฉบับใหม่แทนที่กฎหมายความปลอดภัยของมนุษย์ ฉบับปี 2550 มีสาระสำคัญคือการป้องกัน ขัดขวาง และลงโทษทุกพฤติกรรมซึ่งถือว่าอยู่ในบริบทของการก่อการร้าย โดยหนึ่งในประเด็นจากกฎหมายดังกล่าวซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียง ว่าจะเป็นการใช้อำนาจเกิดขอบเขตหรือไม่ คือการจัดตั้งคณะกรรมาธิการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งมีอำนาจสามารถะบุให้บุคคลหนึ่ง "คือผู้ก่อการร้าย" และบุคคลนั้นอาจถูกควบคุมตัวนานสูงสุด 24 วัน
 
ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสามารถตรวจค้นและจับกุม "ผู้ต้องสงสัย" ได้โดยไม่ต้องมีหมายจากศาล ได้นานสูงสุด 14 วัน "แต่ในบางกรณี" อาจขยายระยะเวลาได้นานถึง 24 วัน และเจ้าหน้าที่สามารถสอดแนมผู้ต้องสงสัยได้นานถึง 60 วัน แต่อาจขยายระยะเวลาได้นานถึง 90 วัน "ในบางกรณี"

www.dailynews.co.th/foreign/783511
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่