บทความตามใจฉัน “Sony PlayStation-Dragon Awaken” Part 2

ระหว่างการพัฒนา ปี 1993 ไม่ทราบเดือน ประธานของ Sony of America(SA) และ Olaf Olafsson(โอลาฟร์ โอลาฟสัน) ประธานของ Sony electronic publishing ได้ขอพบกับ CEO ของ Sega of America(SoA) ทอม คาลินสกี เพื่อนำเสนอโครงการร่วมทุนพัฒนาเครื่องเกมคอนโซลรุ่นต่อไป

ทอมเองที่กำลังมองหา Hardware สำหรับเครื่องเกมรุ่นใหม่อยู่พอดีก็เห็นด้วยและนำเรื่องไปเสนอกับ Sega of Japan
แต่ SoJ ตอบปฏิเสธกลับมาโดยให้ความเห็นประมาณว่า “Sony ไม่เคยสร้างเครื่องเกมคอนโซล แล้วจะทำเครื่องเกมคอนโซลดี ๆ ออกมาได้ยังไง ”
นี่ทำให้หลาย ๆ แหล่งข้อมูลเล่าว่า Sony จึงตัดสินใจที่จะเดินหน้าโครงการต่อไปด้วยตนเองจากเหตุการณ์นี้

แต่ถ้ากลับไปดู Timeline ย้อนหลังจะพบว่ามีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ปี 1991 แล้วและเห็นได้ชัดว่า Sony ตั้งใจจะเดินหน้าโครงการนี้จนถึงที่สุดแม้จะไม่มีใครร่วมมือเลยก็ตามตั้งแต่แรก โดยเริ่มจาก
 

 
ปี 1991 หลังจากที่ Sony ตัดสินใจจะดำเนินโครงการเครื่องเกมคอนโซลต่อ สิ่งแรกที่ Sony ทำคือการแก้ชื่อแบรนด์แต่เนื่องจากชื่อเดิม Play Station นั้นเป็นที่รู้จักกันดีแล้ว Sony จึงเลือกที่จะใช้ชื่อเดิมแต่ตัด space bar ระหว่าง Play และ Station ออกกลายเป็น PlayStation

นี่ทำให้เมื่อปี 1992 ไม่ทราบเดือน Nintendo ได้ฟ้อง Sony ใน 2 ประเด็นคือ 
1.การละเมิดสิทธิในชื่อ Play Station ที่ Nintendo มองว่าเป็นของตนเอง ไม่ใช่ Sony
 และ
 2. การละเมิดสิทธิบัตรในเทคโนโลยี SNES ของ Nintendo เนื่องจาก PlayStation พัฒนาบนเทคโนโลยี SNES 

ผลการตัดสินโดยสรุปคือ Sony สามารถใช้ชื่อ PlayStation กับเครื่องเกมคอนโซลของตนได้แต่จะต้องจ่ายค่าสิทธิหรือส่วนแบ่งการใช้เทคโนโลยี SNES ให้แก่ Nintendo ตามที่ทั้ง 2 บริษัทจะตกลงกันเนื่องจาก Sony ใช้เทคโนโลยีของ Nintendo จริง 
 
เว้นเสียแต่ว่า Sony จะทิ้งการออกแบบที่ทำมาแล้วเริ่มออกแบบใหม่หมดตั้งแต่ 0 

Sony เลือกที่จะดำเนินโครงการต่อ ยอมทิ้งสิ่งที่ทำมาทั้งหมดแล้วออกแบบใหม่โดยไม่ใช้เทคโนโลยีของ Nintendo เลย
 

 
และเพื่อบุกเบิกธุรกิจเกี่ยวกับวิดีโอเกมและสื่อบันเทิงดิจิทัลจึงมีการตั้งบริษัทลูกของ Sony มาเพื่อดำเนินธุรกิจดังกล่าวโดยเฉพาะชื่อ Sony Computer Entertainment (SCE) ที่เป็นบริษัทลูกจากการร่วมทุนของ Sony และ Sony Music ภายใต้การจัดการของ Sony America(SA)  นี่นอกจากจะทำให้การพัฒนาเป็นไปโดยอิสระและราบรื่นขึ้นแล้วถ้าเกิดไปเหยียบตาปลาของ Nintendo เข้า Sony ก็จะอ้างได้ว่าเป็นการดำเนินงานของบริษัทลูก บริษัทแม่ไม่เกี่ยวแค่ออกทุนให้
 
แต่การจัดตั้งย่อมต้องใช้เวลาโดยเฉพาะกระบวนการโอนย้ายทรัพย์สินที่ค่อยข้างยุ่งยากและใช้เวลานาน การดำเนินการพัฒนา PlayStation ต่อที่บริษัทแม่จะเป็นช่องให้ถูก Nintendo โจมตีได้ อีกทั้งการโอนกำลังคนจาก Sony บริษัทแม่ไปยัง SCE โดยตรงยังเป็นช่องให้ Nintendo อ้างได้ว่า SCE อยู่ภายใต้การชี้นำของบริษัทแม่ ทำให้ทีมงานพัฒนา PlayStation ต้องถูกโอนย้ายไปยังบริษัทลูกอื่นก่อนระหว่างรอการก่อตั้ง SCE ซึ่ง เคน คุตารากิ และทีมพัฒนาถูกย้ายไปอยู่ที่ Sony Music และทำการพัฒนา PS ต่อไปที่นั้น 
 

 
สาเหตุที่ เคน คุตารากิ และทีมถูกย้ายไปที่ Sony Music นั้นคาดกันว่าเพราะที่นั้นมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเพลงและความบันเทิงอยู่มากซึ่งสอดคล้องกับธุรกิจเกมคอนโซลและสาเหตุที่เชื่อกันว่าน่าจะใช่ที่สุดคือเพราะ Sony Music เป็นผู้คุ้มแผนกการผลิต CD ของ Sony ไว้ การให้ทีมไปอยู่ที่นั้นจะช่วยให้สร้างสายการผลิต CD เกมได้ง่ายยิ่งขึ้นจากความช่วยเหลือของแผนกผลิต CD และร่วมถึงการร่วมมือกันพัฒนา CD ที่ป้องกันการ Copy ได้อีกด้วย
 
ต่อมา SCE สาขาแม่ที่ญี่ปุ่นถูกจัดตั้งอย่างเป็นทางการสำเร็จเมื่อเดือนพฤษจิกายน 1993 โดยมี Toshio Ozawa จาก Sony Music มานั่งเป็นประธานและเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1994 SCE สาขาแม่ที่ญี่ปุ่นย้ายไปตั้งที่ Akasaka Oji Building พร้อมกับสำนักงานวางแผนโครงการ PlayStation (คาดว่า ทีมพัฒนา PS ที่ Sony Music ย้ายไป SCE ในช่วงนี้)

SCE America (SCEA) สาขาอเมริกาถูกจัดตั้งตามมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 1994 เพื่อทำการตลาดที่อเมริกา
 

 
ระหว่างการพัฒนานั้นแม้ Sony จะเก่งกาจด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แต่จากการที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในธุรกิจเกี่ยวกับเกมเลยก็มาส่งผลเสียเอาในตอนนี้เอง

นั้นคือ ไม่รู้ว่าควรจะทำเครื่องเกมกราฟฟิก 2มิติ หรือ 3มิติดี

แม้แต่ เคน คุตารากิ เองก็ยังสับสนกับเรื่องนี้ ถึงจะส่งทีมงานไปศึกษาหรือฟังการบรรยายจากบริษัทกราฟฟิกต่าง ๆ แล้วแต่ก็ยังไม่เข้าใจและไม่แน่ใจในทิศทางที่ควรจะไป แม้จะสร้างเครื่องต้นแบบออกมาเพื่อทดสอบกราฟฟิกทั้งแบบ 2D และ 3D แต่ด้วยความด้อยประสบการณ์ในวงการเกมจึงไม่รู้ว่าแบบไหนถึงจะดี แนวโน้มการพัฒนาเริ่มไปในทิศทางที่จะให้ PlayStation เป็นเครื่องเกม 2D
 

 
จนกระทั้งเมื่อปลายปี 1993 ทีมพัฒนาก็ได้รับความช่วยเหลือที่คาดไม่ถึงจาก SEGA

จริง ๆ แล้ว SEGA ไม่ได้ตั้งใจจะช่วยใด ๆ  ทั้งหมดเป็นแค่ความบังเอิญทั้งสิ้น

บังเอิญที่เมื่อเดือนพฤษจิกายน 1993 SEGA ได้ติดตั้งให้บริการเกมอาเขตเกมใหม่ Virtua Fighter

บังเอิญที่ Virtua Fighter ประสบความสำเร็จได้รับความนิยมอย่างสูง

บังเอิญที่หนึ่งในทีมพัฒนารู้เรื่องนี้เข้า

เมื่อ เคน คุตารากิ ได้เห็น Virtua Fighter เค้ารู้ได้ทันทีว่าอนาคตของเกมคือเกมแบบ 3 มิติ
หลังจากนั้นแนวทางการพัฒนาจึงมุ่งเน้นไปที่กราฟฟิก 3D เต็มตัว ต้นแบบของ PlayStaion ที่เป็นเครื่อง 3D จำนวนมากเริ่มถูกสร้างเพื่อทดสอบประสิทธิภาพและรูปร่างที่เหมาะสมกับการใช้งาน ไม่มีข้อมูลว่าต้นแบบถูกผลิตออกมาเพื่อทดสอบมากน้อยเท่าไหร่แต่ถ้าอิงจาก Sony SNES-CD มีข้อมูลกล่าวว่าต้นแบบถูกผลิตออกมาในรูปแบบต่าง ๆ รวม 200 แบบ PlayStation เองก็คงไม่ต่างกัน
 

 
จนในที่สุด PlayStation ที่ถูกพัฒนามาจนเป็น Design อย่างที่เรา ๆ คุ้นเคยกันก็ได้ออกวางจำหน่ายครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเมื่อเดือนธันวาคม 1994 และประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถขายได้ถึง 1 แสนเครื่องในวันแรก, 1 ล้านเครื่องภายใน 3 เดือน และแตะยอด 2 ล้านเครื่องเมื่อวางจำหน่ายไปได้เพียง 6 เดือน เอาชนะคู่แข่งไปได้อย่างไม่ยากเย็น

ขั้นต่อไปก็คือการบุกตลาดอเมริกา โดยมีการกำหนดไว้ว่าจะวางจำหน่ายที่อเมริกาในเดือนกันยายน 1995
โดย SCEA จะเปิดตัวและบรรยายเกี่ยวกับ PlayStation ที่งาน E3 ในวันที่ 11 เดือนพฤษภาคม 1995
 

 
ในธุรกิจเครื่องเกมคอนโซลแล้ว Sony เป็นบริษัทที่มีโชคชะตาแปลก ๆ อยู่อย่างหนึ่งคือได้โดน “รับน้อง” จากจ้าวตลาดในขณะนั้นอย่างถ้วนหน้า
โดน Nintendo ตบหน้ากลางงาน CES1991 และฟ้องในปี 1992

คราวนี้คือตาของ SEGA
 
 
 
ในงานบรรยายนั้นไม่ได้มีเพียง Sony เพียงฝ่ายเดียว คู่แข่งอย่าง SEGA เองก็มาบรรยายเปิดตัว Sega Saturn ที่งานนี้ด้วยเช่นกัน เมื่อบรรยายเปิดตัว Sega Saturn แล้ว ในการปิดการบรรยาย SEGA ก็ได้ทำในสิ่งที่ทุกคนในห้องรวมถึง Sony ต้องตกตะลึง

โดย SEGA ปิดการบรรยายด้วยการประกาศว่า Sega Saturn จะวางจำหน่ายทันที ผู้ที่ต้องการสามารถไปซื้อเครื่อง Saturn ได้ ณ ตอนนี้เลยที่ร้านค้าปลีกเจ้าใหญ่เช่น Toy R Us หรือ Software Etc ในราคา 399 USD

สาเหตุที่ทุกคนในห้องตกตะลึงก็คือ กำหนดการวางตลาดเดิมของ Saturn ที่โฆษณามาก่อนหน้านั้นก็คือเดือนกันยายนแต่จู่ ๆ ก็มาวางจำหน่ายแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยในเดือนพฤษภาคมทันทีที่เปิดตัว นี่เท่ากับว่า SEGA ตอบโต้ Sony ด้วยการเลื่อนการวางจำหน่ายให้เร็วขึ้นถึง 4 เดือนเพื่อตัดหน้า PlayStation เลยทีเดียว

การประกาศนี้จึงเป็นเหมือนสารท้าดวลซึ่งหน้าจาก SEGA ถึง Sony
ถุงมือได้ถูกเขวี้ยงออกมาแล้ว 
 

 
หลังจากนั้นก็เป็นการพักเพื่อเตรียมการราว ๆ 15 นาทีก่อนที่ Sony จะขึ้นบรรยายเป็นรายต่อไป
แหล่งข้อมูลกล่าวว่าหลังจากประกาศของ SEGA ที่ช๊อกคนทั้งห้อง Steve Race(สตีฟ เรซ) ประธาน SCEA รีบต่อสายไปที่สำนักงานใหญ่ในญี่ปุ่นทันที เมื่อถึงตา Sony บรรยายก็มีรองประธานฝ่ายขายของ SCEA และ Olaf ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง SCEA แล้วในตอนนั้นมาช่วยบรรยายถ่วงเวลาให้อีกราว ๆ 10 นาทีก่อนที่จะเชิญ Steve Race ขึ้นมากล่าวบรรยายสรุป

สิ่งที่เกิดขึ้นตอนมานั้นกลายเป็นตำนานของ Sony และ PlayStation มาจนถึงปัจจุบัน 
 

 
Olaf เชิญ Steve Race ขึ้นมาบรรยายสรุป
Steve เดินขึ้นเวทีมา แล้วพูด

“299”

แล้วก็เดินลงเวทีไปพร้อมกับเสียงโห่ร้องด้วยความชอบใจของผู้ชม
ผู้อ่านสามารถชมคลิปวีดิโอการบรรยายของ Steve Race ได้ใน Link ข้างล่าง 
https://www.youtube.com/watch?v=ExaAYIKsDBI
 
Sony ได้ถอดรองเท้าแล้วปาอัดหน้า SEGA กลับกลางงาน E3
และนี่เป็นสัญญาณที่สื่อถึงคู่แข่งในตลาดเกมคอนโซลทุกรายรวมถึง Nintendo ด้วยว่า
“อยากได้ อยากโดน ตูพร้อมบวก”
 

 
เมื่อ PS วางจำหน่ายที่อเมริกาเมื่อวันที่ 9 กันยายน 1995 ตามด้วยที่ยุโรปเมื่อ 29 กันยายนและกลุ่มประเทศโอเชียเนียเช่น ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ ในเดือนพฤษจิกายนปีเดียวกันและประสบความสำเร็จอย่างมาก 

แค่ในอเมริกาเพียงแห่งเดียว PlayStation สามารถทำยอดขายได้ถึง 1 แสนเครื่องภายในเวลาแค่ 2 วันและ 8 แสนเครื่องภายใน 4 เดือน ทิ้งห่าง Sega Saturn ที่ชิงวางจำหน่ายก่อนหน้า PlayStation ถึง 4 เดือนแต่กลับมียอดขายรวมจนถึงวันที่ PlayStation วางจำหน่ายเพียง 8 หมื่นเครื่องเท่านั้น

เป็นก้าวแรกที่ไปได้สวยสำหรับธุรกิจเครื่องเกมคอนโซลของ Sony

มังกรตื่นแล้ว

นี่ยังเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น
 

 
to be continued in Sega Saturn Too Hungry Too Much Too Rush Part2
 
 
ปล.ตอนนี้ผมได้เปิด Facebook Page “บทความตามใจฉัน” 
โดยบทความจะหลายหลากคละประเภทกันไปความตามความสนใจนั้นขณะนั้น ถ้าสนใจก็กดติดตามได้ครับ
https://www.facebook.com/uptomejournal/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่