ความคืบหน้า กฏหมายเก็บ VAT สินค้านำเข้าต่ำกว่า 1,500 บาท (ก.พ. 63)

** กระทู้นี้เขียนจากความรู้ความเข้าใจเห็นส่วนตัวจากการติดตามข่าวสาร ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงาน ถ้าผิดพลาดขออภัยครับ **
** ไม่สามารถเอาไปใช้อ้างอิงใดๆ ได้ **
Rev. 1 แก้คำผิด
 


เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 63 กรมสรรพากรมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... 
หรือ ร่าง พ.ร.บ. การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ระหว่างวันที่ 14 ม.ค. - 29 ม.ค. 63

ตอนนี้การรับฟังความคิดเห็นก็เรียบร้อยแล้ว
ขั้นตอนต่อไปก็จะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ. ต่อรัฐสภาโดยคณะรัฐมนตรี และส่วนตัวคิดว่าคงผ่านและออกเป็นกฏหมายมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้
เนื่องจากส่งผลดีต่อส่วนรวมของประเทศ

ปกติการนำเข้าไม่ต้องเสีย VAT หรือเปล่า
จริงๆ แล้วถ้าเราสั่งซื้อสินค้าหรือใช้บริการของต่างประเทศ ไม่ว่าจะใช้ส่วนตัวหรือเชิงธุรกิจ กรณีที่ไม่ได้จด VAT
ตามกฏหมายปัจจุบันผู้ซื้อก็ต้องมีหน้าที่ยื่นแบบนำส่งภาษี VAT (ภ.พ. 36) ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่สิ้นเดือนของเดือนที่จ่าย ซึ่งสร้างความยุ่งยากต้องเตรียมเอกสาร หลักฐานต่างๆ หรืออาจจะไม่รู้กฏหมายว่าต้องทำตรงนี้ด้วย แต่กฏหมายที่จะออกใหม่นี้จะเก็บจากผู้ซื้อเลย ไม่จำเป็นต้องไปยื่นแบบ ภ.พ. 36 แล้ว
กฏหมายนี้จะมีผลต่ออะไรบ้าง เช่น

1. สินค้านำเข้าแบบมีรูปร่าง กรมศุลกากรจะจัดเก็บแทนกรมสรรพากรให้ โดยกรมศุลกากรก็มีการเร่งติดตั้งเครื่อง x-ray และต่อไปนี้คงมีนโยบายตรวจสอบ 100% สินค้าทุกชิ้นทุกกล่อง ไม่มีการสุ่มตรวจอีกแล้ว
2. สินค้าไร้รูปร่าง เช่น e-book ซอฟ์ทแวร์ ทางเทคนิคถ้าไปบังคับคนขายทั่วโลกอาจจะยุ่งยากหน่อย หรืออาจจัดเก็บ ณ ตอนจ่ายโดยสถาบันการเงิน
3. บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Facebook LINE เก็บ VAT ณ ตอนชำระเงินตรงนั้นเลย

นอกจากนี้ก็มีกฏหมาย e-payment ช่วยตรวจสอบ transaction ที่มีผลบังคับใช้ไปก่อนหน้านี้แล้ว

มีแค่ประเทศไทยรึเปล่าที่ออกกฏหมายแบบนี้
ต่างประเทศมีกฏหมายเก็บ VAT สินค้านำเข้ามานานแล้ว เช่น
- จีน เก็บ VAT สินค้ามูลค่าตั้งแต่  50 หยวน (ราว 200 กว่าบาท)
- ออสเตรเลีย เก็บ VAT ไม่มีขั้นต่ำ
- ฝรั่งเศส เก็บ VAT สินค้ามูลค่าตั้งแต่ 22 ยูโร (ราว 700 กว่าบาท)
- อังกฤษ เก็บ VAT สินค้ามูลค่าตั้งแต่ 15 ปอนด์ (ราว 600 บาท)

ฮัลโหล ประเทศไทยเก็บที่ 1,500 สูงกว่าประเทศที่ยกตัวอย่างมาเสียอีก

ผลกระทบหลังกฏหมายมีผลบังคับใช้ (ตามความเข้าใจ จขกท.)
บางท่านอาจคิดว่าทำให้ต้นทุนต้องแพงขึ้นแน่ๆ แต่เปล่าเลย กฏหมายนี้ไม่มีผลกระทบและสร้างความเป็นธรรมแก่
1. ผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศ ไม่ว่าจะจด VAT หรือไม่ได้จดก็ตาม ซึ่งต้องจ่ายภาษี VAT รวมอากรนำเข้าตามพิกัดศุลกากรเป็นปกติอยู่แล้ว
2. ประชาชนทั่วไปที่นำเข้าสินค้ามูลค่าซีไอเอฟเกิน 1,500 บาท ไม่ว่าจะซื้อเพื่อใช้ส่วนตัว เพื่อจำหน่าย จะจด VAT หรือ ไม่ได้จดก็ตาม ก็ต้องจ่ายภาษี VAT รวมอากรนำเข้าตามพิกัดศุลกากร
3. ผู้ประกอบการที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศที่จด VAT ซื้อวัตถุดิบในประเทศ ซึ่งต้องจ่ายภาษี VAT เมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้าน/ปี

จะเห็นได้ว่า ถึงกฏหมายนี้มีผลบังคับใช้แล้ว ต้นทุน/ราคาสินค้าก็เท่าเดิม ไม่ได้เป็นการเก็บ VAT ซ้อน VAT อีกรอบ ยิ่งหากจด VAT ก็สามารถไปเครดิตภาษีขายคืนมาได้อีก การเก็บ VAT และอากรนำเข้าล้วนเป็นผลประโยชน์ส่วนรวม

ใครบ้างที่จะได้รับผลกระทบในทางลบ
1. ประชาชนที่นำเข้าสินค้าโดยราคาซีไอเอฟ (ค่าสินค้า+ประกันภัย+ค่าส่ง) น้อยกว่า 1,500 บาท เดิมจะได้รับการยกเว้น VAT ต่อไปนี้จะต้องเสีย VAT เสมือนซื้อสินค้าในประเทศ
2. ผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าเพื่อการค้า หลีกเลี่ยงหนีภาษีโดยใช้ช่องทาง 1,500 บาท
3. ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ขายสินค้าทางออนไลน์ส่งมายังประเทศไทย หรือบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

จะเห็นได้ว่าเสียผลประโยชน์มากขึ้น เช่น ซื้อสินค้านอกประเทศจ่ายแพงขึ้น หรือสินค้าเลี่ยงภาษีก็จะพบว่ากำไรลดลง

หลังกฏหมายมีผลใช้บังคับมีการเก็บ VAT ทำให้สินค้าของผู้ที่ได้รับผลกระทบในทางลบมีต้นทุนสินค้าหรือราคาแพงขึ้น 7% เมื่อเห็นว่าแพงขึ้น ผู้ซื้อก็จะเลือกจับจ่ายใช้สอยในประเทศแทนเพิ่มขึ้น
เงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น เงินก็รั่วออกนอกประเทศน้อยลง และยังเป็นการบีบผู้ประกอบการทางอ้อมให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษี ลดการเอารัดเอาเปรียบว่า ใครจ่ายก็จ่ายไป ข้าไม่จ่ายเสียอย่าง

เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายที่เสียภาษีถูกต้อง


เขียนโดยอ้างอิงจาก
http://www.rd.go.th/publish/27807.0.html
- สรุปการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
(การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ) ครั้งที่ 3 ใหม่
- รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย
(การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ) ครั้งที่ 3
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่