ฤดูหนาวที่หนาวที่สุดตั้งแต่กรมอุตุฯจดบันทึกมา

ขณะนี้ก็ล่วงเข้าสู่ครึ่งหลังของฤดูหนาวในปีนี้ (2562-2563) กันแล้ว แต่ดูเหมือนว่ากทม.จะมีลมหนาวมาเยือนเพียงแค่ช่วงต้นเดือนธันวาคมเท่านั้น หมดจากระลอกนั้นก็นิ่งสนิทมาโดยตลอด (โฮ) แถมช่วงนี้ฝุ่นขาประจำก็กลับมาเยือนอีก ยิ่งแย่กันไปใหญ่ (โฮกว่า)
แม้ว่าช่วงสัปดาห์หน้า อาจจะมีลมหนาวพอให้มาสัมผัสได้บ้างเล็กน้อย เนื่องจากผลของ แนวปะทะอากาศที่อยู่แถวตะวันออกของเกาะไต้หวัน ที่บังคับให้ลมบนพุ่งเข้ามาทางภาคอีสานของไทย ก็คงได้แต่หวังว่ากทม.จะได้อานิสงค์ของลมหนาวในรอบนี้บ้าง



เพราะผลของแนวปะทะอากาศทำให้แม้ความกดอากาศสูงจะไม่ได้มีกำลังแรงมาก ก็สามารถเบี่ยงเบนทิศทางลมให้พุ่งเข้าไทยได้ หวังว่ากทม.จะเย็นลงได้บ้าง


นอกเรื่องไปไกล จริงๆแล้วกระทู้นี้ตั้งใจจะมาพูดถึงฤดูหนาวที่หนาวที่สุด งั้นกลับเข้าเรื่องเสียดีกว่า

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2482 ในยุคมาลานำไทย ช่วงไม่กี่ปีก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพาจะอุบัติ และฮิตเลอร์พึ่งจะเปิดยุทธการสายฟ้าแลบบุกเข้าไปในเขตของโปแลนด์ช่วงเดือน กันยายนปีนั้น อุณหภูมิความขัดแย้งกำลังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และพายุแห่งสงครามโลกกำลังตั้งเค้ามาไกลๆ

ฤดูหนาวในปีนั้นของไทยจะว่าไปแล้วมันก็เหมือนกับการบุกแบบ Blitzkrieg ของเยอรมันนั่นแหละ คือ ช่วงเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น จริงๆแล้วค่อนไปทางร้อนกว่าปกติเสียด้วยซ้ำ ลมหนาวระลอกแรกๆก็มาอย่างกระปิดกระปอย มีเพียงแค่ทางตอนบนของประเทศเท่านั้นที่พอจะได้รับลมเย็นอยู่บ้าง ไม่มีใครคาดคิดทั้งนั้นว่าปีนั้นจะเป็นปีที่หนาวจัดได้



สถิติอุตุนิยมวิทยาประจำวันของกทม. ดูแล้วก็ไม่ต่างกับเดือนพฤศจิกายนของปีที่ผ่านมาเท่าไหร่นัก



ตารางสรุปของทั้งประเทศ อุณหภูมิโดยเฉลี่ยค่อนไปทางร้อนกว่าปกติเหมือนกันหมด (โดยเฉลี่ยทั้งประเทศแล้วแล้วร้อนกว่าพฤศจิกายนปีนี้เสียอีก)

แต่พอย่างเข้าสู่เดือนธันวาคมเท่านั้นแหละ ลมหนาวที่ตอนแรกดูเหมือนจะไม่มี ปุ๊บปั๊บกลับกลายเป็นว่าพัดมาไทยอย่างจัง และโหมกระหน่ำมาติดต่อกันไม่ขาดสายกันเลยทีเดียว อุณหภูมิในตอนเช้าของกทม.เริ่มลดต่ำกว่า 20 •C ตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค.เป็นต้นไป และเย็นลงไปเรื่อยๆ จนไปพีคสุดช่วงปลายปี ปรอทวัดที่สถานีกลางกทม.ตอนเช้าวัดได้เพียงแค่ 12.3•C เท่านั้น ! ในขณะที่บารอมิเตอร์ตลอดเดือนธันวาคมนั้นวัดค่าเฉลี่ยได้ถึง 1016.85 hPa ซึ่งสูงผิดปกติมากๆ (ปกติค่าความกดอากาศเฉลี่ยช่วงเดือนธันวาคมแถวกทม.อยู่ที่ประมาณ 1010.00 - 1013.00hPa เท่านั้น)



ความกดอากาศสูงกำลังแรงจัดที่”บุก”เข้าไทยอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว แถมพัดมาไม่ขาดสายแรงๆไม่มีหยุด ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยตอนเช้าของกทม.อยู่ที่แค่ 17.23•C เท่านั้น ต่ำที่สุดตั้งแต่มีการจดบันทึกมา



ตารางนี้แสดงสถานที่ตั้งของสถานีอุตุฯ และค่าความกดอากาศเฉลี่ยของเดือนธันวาคมในปีนั้น โปรดสังเกตว่าที่จังหวัดเชียงราย ความกดอากาศเฉลี่ยตลอดเดือนสูงถึง 1020.21 hPa แถมวันที่ความกดอากาศมีค่าตำ่สุดในเดือนนั้นก็ยังสูงถึง 1017.42 hPa !



ตารางสรุปของทั้งประเทศ เชียงรายอุณหภูมิเฉลี่ยเดือนนั้นอยู่ที่ 16.84 •C เท่านั้น ถือว่าเข้าเกณฑ์ ภูมิอากาศแบบอบอุ่นกันเลยทีเดียว ! สำหรับที่อื่นก็โปรดพิจารณากันเอาเองได้เลยครับ



ลองมาอ่านที่กรมอุตุฯเขียนสรุปสภาพอากาศในเดือนนั้นเองว่าเป็นอย่างไร



ล่วงเข้าสู่ปีใหม่เดือนมกราคม 2482 แม้ความกดอากาศสูงจะเริ่มลดกำลังลงบ้างแต่ประเทศไทยก็ยังหนาวอยู่อย่างต่อเนื่อง อุณหภูมิต่ำสุดที่วัดได้ที่สถานีกลางกทม.อยู่ที่เพียง 11.8 •C และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยเดือนนั้นอยู่ที่ 16.99 •C ต่ำที่สุดตั้งแต่มีการจดบันทึกมาอีกเช่นกัน



จากตารางจะเห็นได้ว่าค่าความกดอากาศของแต่ละสถานีนั้น ต่ำกว่าเดือนธันวาคมปีก่อน แต่ค่าก็ยังค่อนไปทางสูงอยู่ดี



ตารางสรุป ที่เชียงรายก็เป็นอีกเดือนที่อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ต่ำกว่า 18 •C และอุณหภูมิเฉลี่ยในตอนเช้าวัดได้เพียงแค่ 8.22 •C ! (เลขนี้ผมกะประมาณจากตัวอักษรเอง เนื่องจากภาพต้นฉบับหมึกเลือนไปหมดแล้ว)


มาลองอ่านรายงานที่กรมอุตุฯเขียนสรุปเอง





พอเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ สภาวะอากาศที่กทม.ก็ได้กลับเข้าสู่อากาศแบบปกติ (ร้อนเป็นปรกติ) เป็นอันหมดฤดูหนาวสำหรับปีนั้น



จากตารางสรุปก็ยังคงเห็นได้ว่าทางตอนบนสุดของประเทศอย่างเชียงราย และเชียงใหม่ก็ยังคงหนาวจัดกว่าปกติ

รายงานที่กรมอุตุสรุปสภาวะอากาศเดือนกุมภาพันธ์ปีนั้น



ไม่รู้ว่าจะมีปีไหนที่กทม.จะได้กลับมาหนาวอย่างนี้อีก แต่คาดว่าคงจะไม่ใช่ในเร็วๆนี้แน่ ส่วนปีนี้ก็คงต้องลุ้นเฮือกท้ายๆว่าจะพอมีอากาศเย็นแรงๆมาได้อีกหรือไม่ เพราะถ้าทิศของลมบนพุ่งออกนอกทะเลอย่างน้อยปัญหาฝุ่นก็น่าจะลดลงได้บ้าง ก็คงต้องลุ้นกันต่อไป

ทิ้งท้าย ข้อมูลของสถานีอุตุนิยมวิทยากลางเดิม และวิธีการอ่านสัญลักษณ์ที่ใช้ในรายงานนี้



แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่