เจอดีที่ศิริราช (II): เล่าประสบการณ์เข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกสมองแบบเปิดกะโหลก (Brain Tumor)

สวัสดีค่ะ,

ต่อเนื่องจากกระทู้ที่เขียนไว้เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ตามนี้ https://pantip.com/topic/38907169
เจ้าของกระทู้ลงท้ายไว้ว่ากำลังจะผ่าตัดสมอง
เลยคิดว่าหลังการผ่าตัดเรียบร้อยแล้วจะกลับมารีวิวต่อให้จบ ตอนนี้สบายดีและกลับมาใช้ชีวิตปกติแล้ว อิๆ
ก่อนนี้ เจ้าของกระทู้เพิ่งผ่าตัดไหล่มา พักฟื้นจากผ่าตัดไหล่ได้ 2 เดือนก็ถึงคิวผ่าตัดเนื้องอกสมองบ้าง

อ่านเถอะ เพราะเป็นโรคที่ยังป้องกันแบบเจาะจงไม่ได้และมีโอกาสเป็นทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ถ้าตรวจพบเร็ว ช่วยลดพิการได้”

เจ้าของกระทู้เพิ่งได้รับการผ่าตัดเนื้องอกสมองแบบเปิดกะโหลกเพราะก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ประมาณ 6-8 เซนติเมตร แล้ว
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2019 นี่เองค่ะ อยากมาเล่าให้ฟัง เผื่อว่าบางท่านอาจจะกำลังหาข้อมูลอยู่
ซึ่งถ้าตรวจเจอตั้งแต่แรกๆ ตอนขนาดมันยังเบบี๋ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านะคะ สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ตามการวินิจฉัยของแพทย์
เนื้อหาที่ลงจะเป็นข้อมูลจากมุมของผู้ป่วยนะคะ (ซึ่งก็คือเจ้าของกระทู้เอง)
อาจจะไม่ได้เป๊ะๆ เหมือนข้อมูลทางการแพทย์
เล่าตามที่เจอและจำได้ช่วงที่เข้ารับการรักษา ถ้ามีข้อมูลส่วนไหนไม่ถูกต้อง หรือใช้คำศัพท์ก๊อยเกรียนไปบ้าง ก็ต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าค่ะ

ตอนแรกเห่อมาก...ฟิตจัด ว่าจะเขียนตั้งแต่สัปดาห์ที่สองหลังออกจากโรงพยาบาลละ แต่ไปๆ มาๆ
งานเข้าเพิ่มมาอีก 1 โรค หลังผ่าตัดเนื้องอกได้ 15 วัน
ก็เลยคิดว่ารักษาให้หายแล้วเขียนทีเดียวดีกว่า
ตอนที่กำลังนั่งเขียนอยู่นี้ ก็ครบ 2 เดือนพอดีเลย นับจากวันผ่าตัดเนื้องอกสมอง
ก่อนจะโม้ต่อเรื่องผ่าตัด เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันสักหน่อย ว่าคืออะไร?

เนื้องอกในสมอง (Brain Tumor)
คือ เนื้อที่เกิดจากการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของเซลล์ในสมองหรือบริเวณเนื้อเยื่อและต่อมต่างๆ บริเวณใกล้เคียงกับสมอง
หรือที่เกิดขึ้นภายในกะโหลกศีรษะ ซึ่งอาจรบกวนระบบประสาทและการทำงานของสมอง จนทำให้มีอาการต่าง ๆ ตามมา
เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน มีปัญหาด้านพฤติกรรม บุคลิกภาพ การพูด การได้ยิน การมองเห็น ความจำ
ไปจนถึงอาจเกิดอาการชัก เป็นอัมพาตครึ่งซีก หรือลุกลามเป็นมะเร็งในระยะอันตรายได้หากไม่ได้รับการรักษาให้ทันการณ์

โดยเนื้องอกที่เกิดขึ้นในสมอง มีทั้งชนิดที่เป็นเนื้อร้ายและไม่เป็นเนื้อร้าย
ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดและเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย
แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเนื้องอกหลายอย่าง เช่น กรรมพันธุ์ การสัมผัสกับรังสีหรือสารเคมีบางชนิด
รวมถึงการเป็นมะเร็งที่อวัยวะอื่นแล้วแพร่กระจายไปยังสมอง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด เป็นต้น

มาลองตรวจสอบตัวเองกันดูแบบง่ายๆ ค่ะ
ก่อนหน้าที่จะตรวจพบว่ามีเนื้องอกในสมอง เจ้าของกระทู้ก็ทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศทั่วไป
มีอาการปวดหัวช่วงเช้าหลังตื่นนอนเป็นประจำ แต่คิดมาตลอดว่าเป็นเพราะออฟฟิศซินโดรม
และอาการปวดหัวมันจะหายไปเองเวลาพักจากงานยาวๆ
คือพอไม่เครียดก็ไม่มีอาการปวดหัว เลยไม่ได้สงสัยอะไร
เนื้องง เนื้องอกนี่ไม่เคยมีอยู่ในความคิดเลย ไม่สนใจและไม่เคยหาข้อมูล

จนล่าสุด เจ้าของกระทู้ประสบอุบัติเหตุเมื่อช่วงต้นปี 2019 และได้รับแรงกระแทกหนักมากบริเวณศีรษะ
Dr. Binh, คุณหมอที่โรงพยาบาล Hue Central Hospital ซึ่งเป็นที่แรกที่เข้ารักษาตัวจึงรีบส่งไปทำซีทีสแกนเพราะกังวลว่ากะโหลกอาจจะร้าว
จนได้พบว่าขนาดเนื้องอกในสมองมีขนาดใหญ่แล้ว และมีอาการบวมหลังถูกแรงกระแทกจากอุบัติเหตุ
มันจึงไปเบียดเนื้อสมองส่วนที่ดี ทำให้เกิดอาการชักตามมาหลังจากเกิดอุบัติเหตุ 2-3 วัน
ซึ่งก่อนหน้านั้น เจ้าของกระทู้ไม่เคยมีประวัติการชักมาก่อนเลย
หลังชัก แขนและขาข้างซ้ายไม่มีความรู้สึก คือนิ่งไปเลย ร่างกายสื่อสารกันไม่ได้
ไหล่ข้างซ้ายที่ตอนแรกแค่ร้าว แต่หลังชัก ไหล่ถูกกระแทกจนกระดูกหลุดจากกันโดยสิ้นเชิง...ดีงาม
จึงต้องอยู่ห้องไอซียูที่นั่นต่ออีก 2-3 คืน
พูดง่ายๆ คือ เนื้องอกมันเริ่มงอแงแล้ว
เมื่อวินิจฉัยว่าอาการต่างๆ เป็นเพราะเนื้องอกแน่ๆ คุณหมอก็เปลี่ยนยาใหม่หมด
อาการดีขึ้นเรื่อยๆ แขนและขาข้างที่มีปัญหาเริ่มขยับได้ จนประคองร่างกลับไทยมาได้
โดยคุณหมอแนะนำว่าควรผ่าตัดเนื้องอกออกโดยเร็วที่สุด
ถ้าวันนั้น Dr. Binh วินิจฉัยผิด เจ้าของกระทู้คงแย่

***แต่ความโชคดี อาจไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนค่ะ เราจึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายของตนเองอย่างสม่ำเสมอ และปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการน่าสงสัย

ในฐานะที่เป็นสาวออฟฟิศ ขอย้ำอีกสักรอบ

หลังจากที่เจ้าของกระทู้พาทุกคนออกทะเล ก็ขอเรียนเชิญทุกคนวกกลับมาเข้าเนื้อหากันต่อค่ะ
ช่วงที่รอวันเข้าผ่าตัดเนื้องอกสมองที่โรงพยาบาลศิริราช
ก็จะมีขั้นตอนต่างๆ ในการตรวจสอบความพร้อมเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ป่วยด้วยนะคะ
เช่น ตรวจเลือด เอ็กซเรย์ปอด ตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจซีทีสแกน/เอ็มอาร์ไอ คุยกับแพทย์วิสัญญี ฯลฯ
แล้วแต่เคสของผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดค่ะ

และเนื่องจากเคสผ่าตัดทั้ง 2 เคส ของเจ้าของกระทู้ไม่ใช่เคสด่วน แต่เป็นเคสที่มีการวางแผนล่วงหน้า
วันแรกที่เจ้าของกระทู้เข้าลงทะเบียนที่หอผู้ป่วยของออร์โธปิดิกส์ เพื่อรอการผ่าตัดไหล่ในวันถัดไป (ซึ่งเป็นการผ่าตัดเคสแรก)
ก็มีทีมของแพทย์ศัลยกรรมประสาทมาเก็บข้อมูลรอไว้ก่อน สำหรับการผ่าตัดในอีก 2 เดือนข้างหน้า

พอใกล้จะถึงวันผ่าตัด
เจ้าของกระทู้ก็ได้ทำการนัดเพื่อขอเข้าไปพบกับคุณหมอเพื่อสอบถามข้อมูลและความเสี่ยงทั่วไปอีกรอบค่ะ
เพราะหาข้อมูลเองจากอินเตอร์เนตเยอะไปหน่อย เริ่มกังวล เลยคิดว่าคุยกับหมอโดยตรงดีกว่า
วันนัด ได้พบกับคุณหมอญาสินี ซึ่งรับเคสของเจ้าของกระทู้ไว้โดยมีคุณหมอบรรพตเป็นที่ปรึกษา
และมีทีมแพทย์ประจำบ้านในทีมศัลยศาสตร์สมองอีกหลายท่านเลยค่ะ ที่ช่วยดูแลในช่วงเข้ารับการผ่าตัดและตลอดการพักฟื้นที่โรงพยาบาล
เช่น คุณหมอต้าร์, คุณหมอก็อบ, คุณหมอภริช (เขียนชื่อหมอถูกมั๊ยเนี่ย 555) และอีกหลายท่านที่ไม่ทราบชื่อ

สองเดือนหลังการผ่าตัดไหล่ผ่านไป (19Mar’19) วันนัดผ่าตัดเนื้องอกสมองก็มาถึง (28May’19)
เจ้าของกระทู้เข้าลงทะเบียนที่หอผู้ป่วยของแผนกศัลยกรรมประสาทเพื่อรอการผ่าตัดในวันถัดไป
ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน
ก็มีทีมแพทย์ทีมเดียวกับแพทย์ประจำบ้านที่เจอที่หอผู้ป่วยออโธปิดิกส์เมื่อ 2 เดือนที่แล้วมาให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการผ่าตัดอีกครั้ง
มีกลุ่มนักศึกษาแพทย์มาชวนคุยและสัมภาษณ์อาการ
มีแพทย์วิสัญญีมาเก็บข้อมูลและขอทำวิจัยเกี่ยวกับยาสลบที่จะใช้ในการผ่าตัด
ซึ่งเจ้าของกระทู้สมัครใจเข้าร่วม ก็เลยต้องมีการเซ็นเอกสารยินยอมและทำแบบทดสอบก่อนการผ่าตัดนิดหน่อย
(ปฏิเสธเข้าร่วมการวิจัยได้นะคะ เขาไม่ได้บังคับ)
แบบทดสอบที่ทำก็จะเป็นการทดสอบการทำงานของระบบสมองหลังการใช้ยาสลบค่ะ
(หลังการผ่าตัด และออกจากห้องไอซียู 1 วัน เจ้าหน้าที่ก็มาให้ทำแบบทดสอบเดิมซ้ำอีกครั้ง)
เข้าใจว่าคงจะนำผลการทดสอบ ก่อน-หลังที่ได้ เพื่อใช้ในการประเมินการวิจัย
คือ...แบบว่า
มีเจ้าหน้าที่เวียนมาคุยด้วยตลอดบ่ายวันนั้นเลยค่ะ คนไข้งี้ยุ๊งยุ่ง คิวไม่ว่างเลยค่ะ 555+

เช้าวันถัดมาคือวันผ่าตัด
รีบตื่น เพราะได้คิวผ่าตัดช่วงเช้า
เจ้าหน้าที่พยาบาลต้องโกนผมให้ก่อน ทั้งหัวเลย
เสร็จแล้วรีบอาบน้ำแต่งตัว กลับมานอนรอที่เตียง พร้อมเข้าห้องผ่าตัด

บรรยากาศในห้องผ่าตัดก็จะเย็นๆ ถึงหนาวมาก
มองแขนตัวเองแล้วรู้ตัวเลยว่าผิวซีด
เจ้าหน้าที่พยาบาลประจำห้องผ่าตัดจะช่วยกันเตรียมความพร้อมและจัดท่าทางของผู้ป่วยให้เหมาะสมกับการผ่าตัด
และเจ้าหน้าที่วิสัญญีก็จะมาดูแลให้ดมยาสลบ
........

ผ่านไปหลายชั่วโมง 
ผ่าตัดเสร็จแล้ว (9.00 - 14.15)
ผู้ป่วยก็จะถูกย้ายออกมาที่ห้องไอซียูก่อน เพื่อเฝ้าติดตามอาการ เพราะว่าเป็นผ่าตัดใหญ่ ก็ต้องดูแลใกล้ชิดนิดนึงในช่วงแรก
เจ้าของกระทู้อยู่ห้องไอซียู 1 วัน
อาการโดยรวมดูดี ก็ได้ย้ายกลับไปห้องพักฟื้นปกติ
ช่วงแรกหลังผ่าตัด จะมีกระปุกพลาสติกเล็กๆ ที่มีสายระบายเลือด (drain) สอดเข้าไปใต้หนังศีรษะเราเอาไว้ก่อน
เพื่อระบายเลือดที่ยังค้างอยู่ และช่วยลดความดันภายในสมองด้วยค่ะ
เจ้าของกระทู้ใช้ชีวิตอยู่กับเจ้ากระปุกเล็กๆ อันนี้อยู่ 2 วัน
เมื่อเห็นว่าไม่มีเลือดออกเพิ่ม คุณหมอต้าร์ก็พิจารณาให้เอาออกค่ะ
ถามว่า...เอาออกยังไง?
ตอบ...ก็ดึงออกเลย แล้วเย็บปิดแผลด้วย stapler สดๆ แต่เช้าเลยจ้าา ไม่คิดไม่ฝัน และไม่ทันได้ตั้งตัว 555+
และขอบคุณคุณหมอก็อบที่มือเบา แอบดึงสายออกมาตอนไหนไม่รู้ตัวเลย มารู้ตัวว่าเจ็บก็ตอนยิงปิดแผลนี่แหละ เอิ๊กก... 

อาการโดยรวมของเจ้าของกระทู้ค่อนข้างดีพอสมควรตลอดระยะ 3-4 วัน ที่อยู่ห้องพักฟื้นของโรงพยาบาล
สามารถเดินไปไหนมาไหน และทำธุระส่วนตัวได้เองทั้งหมดตั้งแต่วันแรกที่ได้ย้ายออกมาจากห้องไอซียูแล้ว
แต่ก็มีอาการแทรกซ้อนอยู่บ้างค่ะ ช่วงเช้าวันแรกๆ หลังตื่นนอน
เช่น มีอาการชาบริเวณปลายนิ้วมือข้างซ้ายลามมาถึงบริเวณข้อศอก
พอเช้าอีกวันก็มีอาการแขนข้างซ้ายอ่อนแรงบ้าง ชาบ้าง แต่เป็นไม่นานนะคะ
ประมาณหนึ่งชั่วโมงก็หาย เหมือนผีหลอก 555+

ซึ่งพอเจออาการวันแรก เจ้าของกระทู้ก็รีบแจ้งเจ้าหน้าที่พยาบาลทันที
สักครู่เดียว คุณหมอต้าร์ก็มาถามอาการ
คือมาเร็วมาก แอบคิดว่าคุณหมอใช้ชีวิตกินนอนในลิฟต์ป่ะเนี่ย เร็วเว่อร์
วันที่มีอาการวันที่สอง เป็นช่วงวันหยุดยาว
แต่ก็มีคุณหมอภริช มาสแตนด์บายและช่วยประสานงานให้ไปทำซีทีสแกนสมองด่วนในช่วงบ่ายของวันนั้นเลย
พบว่ามีภาวะสมองบวมเล็กน้อย

ช่วงเย็นของวันเดียวกัน
ก็มีคุณหมอจาก NeuroMed (อายุรกรรมระบบประสาท) เข้ามาตรวจซ้ำอีกรอบ ทดสอบนั่นนู่นนี่ละเอียดเลย
แต่ก็ไม่พบอะไรที่เป็นสัญญาณไม่ดีอย่างชัดเจน
ยังดูปกติดี
 
เป็นๆ หายๆ แบบนี้อยู่ 2 วัน
มีการเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจอีกสองรอบ แล้วก็เพิ่มยาแก้อักเสบกับลดสมองบวมให้
ผลตรวจต่างๆ ออกมาค่อนข้างดี ไม่พบอะไรผิดปกติ คุณหมอก็ให้กลับบ้านได้
โดยออกใบนัดเพื่อติดตามอาการในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า

ช่วงเช้าของวันที่จะ discharge จากโรงพยาบาล คุณหมอก็มาทำแผลและแกะ staple ให้
ซึ่ง ถึงตอนนี้เจ้าของกระทู้ก็ยังไม่เห็นแผลของตัวเองเลยอ่ะ
ไม่กล้าดู
รู้แต่ว่าแผลเป็นรอยกรีดยาวจากช่วงใบหูข้างนึง ไปจรดใบหูอีกข้างนึง เหมือนใส่ที่คาดผม
แต่จากที่นั่งนับตัวเย็บแผลที่คุณหมอดึงออกจากหนังศีรษะทีละตัวๆ อย่างอดทน
คือนับ staple ได้เกิน 50 ตัวอ่ะ
นับถึง 50 ก็เลิกนับละ ใจสั่น 555+
สาแก่ใจคนใจเสาะแบบเจ้าของกระทู้จริมๆ 
เคสผ่าตัดสมองจบแล้วค่ะ
แต่มีงานเข้าเพิ่มมา 1 โรค หลังผ่าตัด 15 วัน คือ Deep Vain Thrombosis: DVT (ภาวะเส้นเลือดดำส่วนลึกอุดตัน)
ขอแยกไปกระทู้หน้านะคะ

สวัสดีค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่