เชียงใหม่-พิพิธภัณฑ์เปิดบริเวณ ... แจ่งศรีภูมิ

(ความตั้งใจที่จะเล่าเรื่องนี้
....ด้วยเหตุผลที่ผ่านไปผ่านมาบริเวณนี้ แล้วสังเกตว่ามีหลุม มีหลังคา คล้ายการขุดค้น มีศาลหลักเมือง
เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ และบุคคลบริเวณใกล้เคียง ต่างไม่มีใครทราบว่าหลุมนั้นคืออะไร
จึงพยายามหาที่มาที่ไปมาเล่าสู่กันฟังครับ)
..........ช่วงปี พ.ศ.2539 ได้มีการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีและขุดแต่งโบราณสถานกำแพงเมืองเชียงใหม่
โดยใช้งบประมาณ OECF ในส่วนกิจกรรมบูรณะและซ่อมแซมประตูเมือง
โดยจ้างเหมาให้บริษัทเอกชนดำเนินการ ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัด เฌอกรีน เป็นผู้รับงานนี้
โดยมีขอบเขตการทำงานขั้นต้น 3 ประการ คือ

..........1. บูรณะกำแพงเมืองเชียงใหม่ ความยาว 550 เมตร พื้นที่ 4,400 ตารางเมตร

..........2. ขุดค้นศึกษารากฐานกำแพงเมือง หลุมขนาด 3x3 เมตร ลึก 5 เมตร 5 หลุม

..........3. ขุดแต่งรากฐานกำแพงเมืองเชียงใหม่ ส่วนที่ทำการบูรณะพื้นที่ 3,300 ตารางเมตร ความลึกเฉลี่ย 50 เซนติเมตร

..........ในการขุดศึกษาโครงสร้างส่วนฐานรากกำแพงเมือง
ภายใต้การควบคุมของนักโบราณคดี สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่
(ชื่อหน่วยงานขณะนั้น) กำหนดตำแหน่งหลุมขุดทดสอบ 5 แห่ง เพื่อวัตถุประสงค์ต่างกัน ดังนี้

..........1. หลุมขุดทดสอบที่ 1 และ 2 กำหนดขึ้นในบริเวณแนวกำแพงด้านตะวันออกของแจ่งหัวลิน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างส่วนรากฐานของกำแพงเมืองด้านเหนือ

..........2. หลุมขุดทดสอบที่ 3 กำหนดขึ้นในบริเวณแนวกำแพงส่วนที่ต่อจากแจ่งกู่เรืองไปทางทิศตะวันออก
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างส่วนฐานรากของกำแพงเมืองบริเวณแจ่งกู่เรือง

..........3. หลุมขุดทดสอบที่ 4 กำหนดขึ้นในบริเวณด้านบนของแจ่งศรีภูมิ
ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญในระบบความเชื่อที่เป็น "ศรีของเมือง"
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาส่วนฐานรากด้านบนของแจ่งเมืองเชียงใหม่

..........4. หลุมขุดทดสอบที่ 5 กำหนดขึ้นในบริเวณด้านเหนือของกำแพงเมืองชั้นนอกหรือกำแพงดินด้านตะวันตกของโรงพยาบาลสวนปรุง
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของชั้นดินวัฒนธรรมของกำแพงเมืองชั้นในและกำแพงเมืองชั้นนอก

..........ผลการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีในแต่ละหลุมนั้น
นางสาววิวรรณ แสงจันทร์ นักโบราณคดีของห้างหุ้นส่วนจำกัด เฌอกรีน ได้เขียนรายงานแล้ว
จึงขอนำกล่าวเฉพาะหลุมที่น่าสนใจที่สุด คือ

หลุมทดสอบที่ 4 บนแจ่งศรีภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่
ทั้งในระบบความเชื่อและเหตุการณ์สำคัญตั้งแต่ยุคแรกเริ่มสร้างเมืองเชียงใหม่
ยุคพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ.1984-2030) ยุคพญาแก้ว (พ.ศ.2038-2068)
บริเวณนี้จึงพบหลักฐานต่าง ๆ มากที่สุดในบรรดา 5 หลุมที่ขุดทดสอบจากรายงานการขุดศึกษาชั้นดินทางโบราณคดี จำแนกได้เป็น 7 ชั้น ดังนี้

..........ชั้นดินที่ 1 เป็นชั้นดินวัฒนธรรมยุคปัจจุบัน มีความหนาประมาณ 5-10 เซนติเมตร
โบราณวัตถุที่พบ คือ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดา
ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบเขียวและเคลือบน้ำตาล
ชิ้นส่วนโลหะเหล็กทรงดอกบัวตูม ด้านเหนือของหลุมทดสอบเป็นแนวกำแพงที่กรมศิลปากรเคยทำการบูรณะเมื่อ พ.ศ.2529
..........ชั้นดินที่ 2 เป็นชั้นดินวัฒนธรรม
หลักฐานทางสถาปัตยกรรมที่พบในชั้นนี้ คือ
ร่องรอยอิฐปูพื้นที่พบต่อเนื่องมาจากแนวคานฐานรากตัวที่ 2 ในหลุมขุดทดสอบที่ 1
แนวอิฐปูพื้นดังกล่าวปูซ้อนกัน 1-2 ชั้น ไม่สม่ำเสมอ เป็นอิฐหักปะปนกับอิฐสมบูรณ์บางส่วน
ในชั้นนี้ยังพบชั้นทับถมของกลุ่มถ่าน เศษภาชนะดินเผา เศษกระดูกมนุษย์ กระดูกฟันช้าง เศษโลหะเหล็ก และเศษกระเบื้องหลังคาโบราณวัตถุดังกล่าวมีร่องรอยถูกเผาไหม้จนเป็นแถวชั้นถ่านสีดำเห็นได้ชัด
ในบริเวณผนังด้านเหนือของหลุมทดสอบได้พบร่องรอยของแนวกำแพงก่ออิฐฉาบปูนโบราณสภาพสมบูรณ์
..........ชั้นดินที่ 3 เป็นชั้นดินวัฒนธรรม
พบโบราณวัตถุเป็นชิ้นส่วนภาชนะดินเผาประเภทต่าง ๆ แต่พบในอัตราส่วนจำนวนต่อพื้นที่ในปริมาณลดลงและพบเศษอิฐที่มีร่องรอยการฉาบปูน
..........ชั้นดินที่ 4 เป็นชั้นดินวัฒนธรรม
พบเศษอิฐที่มีร่องรอยการสอด้วยปูนขาว ลักษณะคล้ายอิฐที่เคยใช้ประกอบสถาปัตยกรรม
แต่เมื่อสถาปัตยกรรมดังกล่าวพังทลายจึงนำอิฐส่วนนี้มาอัดเป็นฐานรากกำแพง
..........ชั้นดินที่ 5 เป็นชั้นดินวัฒนธรรม
โบราณวัตถุที่พบในชั้นนี้ คือ เสาอิฐฉาบปูน 1 ท่อน
..........ชั้นดินที่ 6 เป็นชั้นดินวัฒนธรรมที่ลึกสุด
โบราณวัตถุที่พบ คือ ชิ้นส่วนกระเบื้องหลังคาเนื้อหยาบสีดินแดง
..........ชั้นดินที่ 7 ชั้นสุดท้าย เป็นชั้นดินธรรมชาติ
ลักษณะเป็นดินร่วนเหนียวปนกรวดทราย มีกรวดแม่น้ำในชั้นดินเดิมก่อนสร้างกำแพงเมือง
(รายงานผลการขุดค้นศึกษาโบราณวัตถุและชั้นดินทางโบราณคดี โดยนักโบราณคดี หจก.เฌอกรีน 2540)
..........โดยเหตุที่การขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษาโครงสร้างส่วนฐานรากกำแพงเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้
เป็นการขุดค้นเพื่อการศึกษาเป็นครั้งแรก
ผลของการขุดค้นก็จะทำให้ได้หลักฐานประเภทที่ไม่เป็นลายลักษณ์เพิ่มขึ้น
รอการประเมินอายุด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์และการรองรับด้วยหลักฐานประเภทลายลักษณ์ก็จะได้คำอธิบายใหม่ที่ชัดเจนมากขึ้น
เพราะที่ผ่านมาหลักฐานประเภทลายลักษณ์ เช่น
พื้นเมืองเชียงใหม่ระบุชัดว่า ปีรวายไจ้ ศักราช 878 ตัว หรือ พ.ศ.2059 ตรงกับสมัยพญาแก้ว (พ.ศ.2038-2068)
ชาวเชียงใหม่และชาวต่างเมืองปั้นดินจักก่อเมกเวียงเชียงใหม่
ปีต่อมาคือปีเมืองเป้า ศักราช 879 ตัว หรือ พ.ศ.2060 พญาแก้วโปรดฯ ให้หมื่นปิงยีคุมการก่อกำแพงเวียงด้วยอิฐเหล่านั้น
(พื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับปริวรรตโดยนายทน ตนมั่น สำนักนายกรัฐมนตรีจัดพิมพ์ พ.ศ.2514 หน้า 70)
..........การขุดค้นทางโบราณคดีครั้งนี้พบข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกหลายประการ
เช่น การพบแนวปูนฉาบซ้อน 2 แนว ณ บริเวณแจ่งศรีภูมิ
ตลอดจนการขุดค้นเปิดหน้าดินให้เห็นโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่รองรับน้ำหนักแจ่งขนาดใหญ่ที่เป็นจุดรับน้ำของเมืองเชียงใหม่จะช่วยให้ผู้สนใจทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี สถาปัตยกรรม วิศวกรรม ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ได้ศึกษากันต่อไป
..........จึงได้เสนอผ่านสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่
ในการประชุมร่วมกันให้พิจารณาเปิดบริเวณดังกล่าวเป็น "พิพิธภัณฑ์เปิด" ของเมืองเชียงใหม่
โดยไม่ต้องปิดหลุมทดสอบบริเวณแจ่งศรีภูมิเหมือนหลุมอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาของผู้สนใจต่อไป ซึ่งได้รับความเห็นชอบ

..........ต่อมา หจก.เฌอกรีน ได้บริจาควัสดุมุงหลังคากันฝนและแนวเหล็กป้องกันอันตรายและดำเนินการสร้างให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นับเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดอีกแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่

ในแต่ละปี...... ก็จะมีงานประเพณีบูชาบรรพกษัตริย์..... อย่างเช่นปีนี้ก็เช่นกัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่