บทความตามใจฉัน “Nintendo ปะทะ ร้าน VDO” Part Extra

บทความตามใจฉัน “Nintendo ปะทะ ร้าน VDO” Part Extra

ใน Part 1 -2 เราได้รู้เกี่ยวกับธุรกิจให้เช่าเกมใน USA แล้ว

ใน Part Extra นี้ผู้เขียนจะเล่าถึงธุรกิจให้เช่าเกมในไทยบ้าง

โดยทั้งหมดจะเขียนจากความทรงจำของผู้เขียนเป็นหลัก

อาจจะไม่ทั่วถึง ไม่ครอบคลุมหรือไม่ถูกต้องบ้างก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

ภาพร้านเกมสมัยปี 2538 จากคุณ samara17520
https://www.horrorclub.net/ForumDetails.aspx?ForumID=1854


ช่วง พ.ศ. 2530 ยุคนั้นรายการ TV ในวันธรรมดาช่วงเช้ามีถึงแค่ 9 โมงแล้วก็จะขึ้นจอ color

test screen เริ่มรายการอีกทีประมาณบ่าย 3 โมงเย็นจนถึงเที่ยงคืน

ส่วนวันหยุดตอนเช้ามีรายการทั้งวันแต่กลางคืนไม่แน่ใจว่ามีถึงกี่ทุ่ม

ตรงนี้ในบ้านเราไม่ต่างจากอเมริกาเท่าไหร่ตรงที่ความบันเทิงราคาถูกในครัวเรือนคือการเช่า VDO มาดู

ผู้เขียนไม่รู้ว่าราคาเครื่องเล่น VDO เทปในไทยสมัยนั้นมีราคาที่เรียกว่าแพงได้ไหมแต่ที่แน่ใจคือเครื่องเล่น

VDO เทปนั้น หากไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็มักจะซื้อมาเป็นของคู่บ้านแทบทุกหลัง


ในอเมริกานั้นร้านให้เช่า VDO มักจะให้เช่าตลับเกมด้วย แต่ในไทยนั้น ตามประสบการณ์ของผู้เขียนแล้วไม่ใช่

ธุรกิจให้เช่าเกมในไทยนั้นเป็นแบบที่ร้านจะเอาทีวีกับเครื่องเกม (ยุคนั้นคือเครื่อง Famicom) มาตั้งไว้

ผู้เล่นก็เลือกตลับเกมของที่ร้านจากนั้นก็จ่ายค่าเช่าเวลาเล่นให้เจ้าของร้าน

ผู้เล่นก็จะได้เล่นเกมตามค่าเช่าที่จ่ายไป Rate ราคามักเป็น 15 นาที ครึ่งชั่วโมงและชั่วโมง ในไทยมักเรียกร้านแบบนั้นว่า

“ร้านเกม” สองพยางค์

ในตอนนั้น Famicom ยังไม่แพร่หลายมากร้านเกมที่ว่าจึงมักตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าชื่อดังเท่านั้น

ต่อมาราว ๆ 2532-33 เมื่อ Famicom เริ่มเป็นที่แพร่หลาย เริ่มมีการทำธุรกิจร้านเกมตามแหล่งชุมชนต่าง ๆ

และจำนวนก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ร้านเกมเหล่านี้ที่ผู้เขียนเคยเจอมา

ร้านหนึ่งเคยเป็นร้านเช่าหนังสือแต่มีพื้นที่มากเลยจัดร้านใหม่ให้อีกส่วนหนึ่งเป็นร้านเกมอีกส่วนก็ให้เช่าหนังสือ

เป็นร้านเกมที่ใหญ่ที่สุดที่รู้จักในช่วงนั้น

อีกร้านหนึ่ง เป็น Town House รูหนู (ขอใช้คำว่า รูหนูเพราะมันเล็กมากจริง ๆ

จำได้ว่าลานหน้าบ้านมีที่ไม่พอแม้แต่จะเอารถ Eco Car เข้าจอด)

ใช้พื้นที่ชั้นล่างของบ้านมาทำเป็นร้านเกม ถึงจะแออัดแต่ก็มีเด็ก ๆ มาเล่นเกมอย่างสม่ำเสมอ

ร้านที่คัลท์ที่สุดที่เคยเจอคือตอนที่ไปบ้านญาติต่างจังหวัด

เป็นบ้านที่อยู่ในสวนและเวลาไปก็ต้องขี่มอเตอร์ไซส์ไป ตอนไปครั้งแรกนึกในใจว่าลึกขนาดนี้จะมีคนมาเล่นรึ

แต่พอไปถึงก็เจอว่ามีคนมาเล่นจริง ๆ แถมเยอะด้วย

บ้านในรูปนั้นค้นมาจาก internet ไม่ได้เคยเป็นร้านเกมแต่อย่างไร

แต่ลักษณะบ้านและสภาพโดยรอบของบ้านนั้นใกล้เคียงกับที่ร้านเกมในสวนตามความทรงจำของผู้เขียนมากเลยเอามาลงให้ดูเป็นตัวอย่าง


ในช่วงแรกนี้หลาย ๆ ร้านยังไม่ให้เช่าตลับเกม หรือถึงจะให้เช่าก็ยังไม่มีลูกค้า

หลังจากนั้นหลาย ๆ บ้านที่ฐานะดีหน่อยก็เริ่มซื้อเครื่องมาให้ไว้ประจำบ้าน

แต่ผู้เล่นก็ประสบปัญหาแบบเดียวกันกับอเมริกาคือตลับเกมราคาแพงมาก

จำได้ว่าผู้เขียนเคยขอพ่อแม่ซื้อ Rock man  5 ถ้าจำไม่ผิดราคาตลับละ 500

เป็นราคาที่สูงมากสำหรับเด็กสมัยนั้น ผู้เขียนต้องเอาตลับ Rock man 4 ไปเทิร์น

พร้อมเพิ่มเงินอีกหน่อยถึงได้มา

ช่วงนี้เองที่ร้านเกมเริ่มเปิดให้มีการเช่าตลับเกมไปเล่นที่บ้านกัน

เด็ก ๆ บางกลุ่มเริ่มตั้งสมาพันธ์ “มิตรสหายแห่งเกม” ขึ้นโดยหัวหน้ากลุ่มนั้นจะตัดสินจากว่าที่บ้านมีเครื่องเกมหรือเปล่า

จากนั้นกลุ่มนี้ก็จะแชร์ค่าเช่าตลับเกมมาเล่นกันที่บ้าน วิธีนี้ประหยัดกว่าไปเล่นที่ร้านมาก

ธุรกิจเช่าตลับเกมจึงรุ่งเรื่องมากในช่วงนั้น

 ภาพจาก http://www.sammakorn.com/supertoon/default-thai.htm

เป็น Website ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 1999 เพื่อโปรโมทธุรกิจห้างร้านต่าง ๆ

ในหมู่บ้านสัมมากร ในภาพคือร้านให้เช่าหนังสือการ์ตูนที่ควบธุรกิจร้านเกมไปด้วย


แต่ธุรกิจให้เช่าตลับเกมในไทยนั้นกลับอยู่ได้ไม่นาน

พอเข้าสู่ยุค SNES การมาของหัวโปรก็ทำให้ร้านเกมต่าง ๆ ที่ให้บริการเกม SNES หันไปลงทุน

กับหัวโปรแทนตลับเกมเพื่อลดค่าใช้จ่าย

ตรงจุดนี้ ร้านเกมที่เคยให้เช่าเล่น Famicom บ้างก็เลิกกิจการไปเพราะคนหันไปเล่นร้านที่มี SNES

ส่วนร้านที่ยังเปิดอยู่ก็จะลงทุนซื้อ SNES พร้อมหัวโปรมาลงร้าน  บางร้านที่เกิดใหม่ช่วงนี้ก็มี

ส่วนคนที่ซื้อ SNES มาไว้ที่บ้านก็จะลงทุนซื้อหัวโปรมาด้วยเพื่อลดค่าใช้จ่ายของตลับเกมทำให้เกิดกลุ่มพันธมิตรแห่งเกมขึ้น

เช่น กลุ่มเพื่อน ๆ ที่แลกแผ่นเกมกันหรือแชร์ค่าเกมแล้วเอามา Copy ลงแผ่นเกมเก่าของแต่ละคน

บางทีก็มีคนซื้อแผ่นเกมที่อยากเล่นแต่ร้านไม่มีเอาไปเล่นที่ร้าน

บางครั้งร้านเห็นเกมที่คนเล่นเอามาเองน่าสนุกแล้วที่ร้านยังไม่มีก็ขอ Copy แลกค่าชั่วโมง

จุดนี้เองทำให้เกม SNES เป็นที่รู้จักแพร่หลายและนิยมมากแต่การซื้อขายหรือเช่าตลับ SNES

กลับตายสนิทเพราะแทบไม่มีคนซื้อตลับ ร้านเกมแทบทั้งหมดตอนนั้นกลายเป็นร้านให้เช่าเวลาเล่นเกมอย่างเดียวแล้ว

ภาพจาก https://pantip.com/topic/33018880 โดย จขกท บอกว่าเอามาจาก “ตำนานฟุตบอล” อีกที


ธุรกิจร้านเกมยังรุ่งเรื่องมาอย่างต่อเนื่อง

แต่ในช่วง Ps1 ผู้เขียนก็เริ่มไม่ไปร้านเกมเพราะหันไปเล่นเกม PC แทน

สาเหตุหลักเพราะ Save FF7  ที่เล่นจนใกล้จบและ Save

ไว้กับ MEM ของร้านโดนใครไม่รู้ลบเลยเกิดอาการเซ็งและก็ค่อย ๆ เลิกไปร้านเกมในที่สุด

พอ FF7 พอร์ตมาลง PC ผู้เขียนถึงจะได้มีโอกาสเล่น FF7 จนจบ

Disruption ใหญ่ของธุรกิจร้านเกมในไทยเริ่มขึ้นตอนที่ยุคของเกม MMO เป็นที่นิยมในไทย โดยเฉพาะ Ragnarök

ทำให้ร้านเกมต้องปรับตัวขนานใหญ่จากร้านเกม(คอนโซล) มาเป็นร้านเกม (PC) บางร้านก็ปรับปรุงร้านให้มีทั้ง PC และ PS

ครั้งสุดที่ท้ายที่ผู้เขียนได้เข้าร้านเกมคือยุคของ Ps2 ไม่ได้เข้าไปเล่นด้วยเพราะเพื่อนนั่งเล่นเกมอยู่ที่ร้านนี้พอดีเลยนัดให้ไปเจอกันที่ร้าน

ร้านที่ไปในตอนนั้นมี PC และ Ps2 อย่างละครึ่ง

PC เปิดเล่น Ragnarok ซะ 70% ที่เหลือคือ Counter ส่วน Ps2 ทุกเครื่องเปิดเกมฟุตบอลเล่นยกเว้นเครื่องของเพื่อนที่เล่น

Metal Gear Solid 2 อยู่


หลังจากนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้เข้าร้านเกมอีกเลย

จึงไม่รู้ว่านับแต่ตอนนั้นทิศทางของธุรกิจร้านเกมมาจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร

แต่ในยุคนี้ใคร ๆ ก็เล่นเกมได้บนมือถือ ก็ไม่แปลกใจที่ธุรกิจนี้มีแนวโน้มที่จะค่อย ๆ หายไปในที่สุด

สิ่งที่ผู้เขียนเห็นล่าสุดคือธุรกิจร้านเกมปรับเปลี่ยนมาเป็นระบบตู้หยอดเหรียญเพื่อเล่น

ตู้พวกนี้เห็นได้ตามห้างสรรพสินค้าโดยเกมที่มีให้เล่นมีเพียงเกมประเภทเดียวคือเกมฟุตบอล

และไม่รู้ว่าบังเอิญหรือตั้งใจ ตู้เกมพวกนี้มักตั้งอยู่บริเวณทางเดินใกล้กับโซนขายเสื้อผ้า

แล้วก็บังเอิญ (อีกแล้ว) เห็นชายหญิงคู่หนึ่งพร้อมเด็กเดินมา คงเป็นลูกของเค้า

ผู้หญิงเดินเข้าร้านเสื้อผ้า

ผู้ชายหยอดเหรียญนั่งลงเล่นเกม ส่วนเด็กก็นั่งข้าง ๆ ดูผู้ชายเล่นเกม

เด็กในวันนั้นคือผู้ใหญ่ในวันนี้


ปล.ตอนนี้ผมได้เปิด Facebook Page “บทความตามใจฉัน”

โดยบทความจะหลายหลากคละประเภทกันไปความตามความสนใจนั้นขณะนั้น

ถ้าสนใจก็กดติดตามได้ครับ

https://www.facebook.com/uptomejournal/

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่