JJNY : 4in1 ผู้พิพากษาห่วงหนักพ.ร.บ.ไซเบอร์/ภาคปชช.ขออย่าเลื่อนลต./เสนอเร่งกม.ภาษีอัตราก้าวหน้า/รถร่วมขอขึ้นค่าโดยสาร

กระทู้คำถาม
แก้เหมือนไม่แก้!! ผู้พิพากษาห่วงหนัก พ.ร.บ.ไซเบอร์อำนาจอันตรายกร่อนความเชื่อมั่นประเทศไทย นัดชำแหละ 19พ.ย.
https://www.matichon.co.th/local/news_1232538

“ศรีอัมพร” เผยร่างเเก้ไข พ.ร.บ.ไซเบอร์ที่ “นายกฯ”เคยสั่งดีอีทบทวน มีเนื้อหาคงเดิม จ่อเข้า ครม. 20 พ.ย.นี้ หวั่นหากบังคับใช้ส่งผลร้ายเเรง ด้านความเชื่อมั่นการลงทุน กระทบโครงสร้างประเทศ  นัดชำเเหละร่าง 19 พ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ แสดวความคิดเห็นถึงร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ…ที่อยู่ในขั้นตอน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  สั่งการฝ่ายกฎหมายไปทบทวนรายละเอียดอีกครั้ง ในประเด็นเรื่องการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ  กลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ  ว่า ทราบว่าร่างฯดังกล่าวที่มีการเเก้ไขเเล้วจะถูกนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจากการที่ตนได้อ่านร่างฯที่มีการเเก้ไขไปเเล้วพบว่าร่างฯดังกล่าวซึ่งเสนอโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นั้นมีการเสนอเข้ามาโดยที่มีการทบทวนเเก้ไขเพียงเล็กน้อยในส่วนของนิยาม เเต่ยังคงหลักการเดิมในส่วนเนื้อหาที่เคยโดนทักท้วงไป ซึ่งยังให้อำนาจคณะกรรมการเพื่อความมั่นคงทางไซเบอร์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจะมีอำนาจเยอะ โดยจะสามารถตรวจค้น จับกุม ยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ หน่วยบันทึกความจำ บังคับบอกรหัสเพื่อเปิดข้อมูลได้หมด โดยไม่ต้องมีหมายจับหมายค้น คดียังไม่เกิดเเต่แค่สงสัย ก็สามารถเข้าไปตรวจค้นยึดได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเอกชน บริษัท ประชาชนทั่วไป ถือเป็นการเข้าไปยึดเพื่อตรวจสอบแจ้งข้อหาทีหลัง ยึดแล้วเอาข้อมูลไป ซึ่งกฎหมายนี้ไม่ใช่ระบบสากล เพราะไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายตุลาการ

ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์  กล่าวว่า ตนเห็นว่าเรื่องเเบบนี้มันไม่น่าที่จะเกิดขึ้น ซึ่งตนก็ทราบมาว่าทางหน่วยงานรัฐเเละเอกชนที่เกี่ยวข้องก็มีความเป็นห่วงว่าถ้าออกกฎหมายลักษณะเเบบนี้มาจะเกิดความเสียหายจนประเทศอื่นๆเขาไม่กล้าคบหาสมาคมด้วยเลย เพราะประเทศอื่นไม่มีกฎหมายลักษณะเเบบนี้

    “อย่างประเทศจีนซึ่งมีระบอบการปกครองที่เเตกต่างจากเราเขายังไม่กล้าทำเลย ตรงนี้ถือเป็นหลักการที่ใช้ไม่ได้เพราะตรงนี้มันอาจจะส่งผลให้การค้าการลงทุนของประเทศได้รับความเสียหาย เพราะว่าข้อมูลทางการค้าของเเต่ละบริษัทนั้นมันมีมูลค่าเป็นเเสนล้านดอลล่าร์ การที่เราจะออกกฎหมายเอาข้อมูลหรือตัวเซิฟเวอร์เขาไปมันอาจจะเกิดข้อมูลรั่วไหลจนเกิดคดีความเเละถูกครหาว่ามีการยึดเอาข้อมูลไปขายที่อื่นได้อีก ตรงนี้มันไม่ใช่เรื่องความมั่นคงอย่างเดียวมันโยงถึงความลับทางการค้าความน่าเชื่อถือของประเทศเราด้วย โดยในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้เวลา 13.00น. ที่ห้อง607 อาคารศาลอุทธรณ์ ผมจะเปิดเเถลงสรุปเนื้อหาเป็นข้อๆของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว”นายศรีอัมพร กล่าว และว่า ที่นายกฯเคยให้ถอนร่างไปดูก่อน ไปดูมาเเล้วหรือยังได้ทำประชาพิจารณ์เเล้วหรือไม่ เรื่องนี้มันอาจกระทบทำให้โครงสร้างประเทศเปลี่ยนได้เลย สื่อมวลชนเองต่อไปก็อาจเกิดผลกระทบได้หากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่าน อาจจะโดนค้นยึดข้อมูลที่เป็นเทปเนื้อหาก็เป็นได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มีเนื้อหาดังนี้

ร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ..
https://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2018/11/611115_ร่างพรบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอ.pdf




19 พ.ย. ภาคปชช.พบ 'บิ๊กตู่' ขออย่าเลื่อน 'เลือกตั้ง' ยันกม.สุขภาพ ต้องร่างในบรรยากาศประชาธิปไตย
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_1232549

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) จัดเวทีเสวนา “3 กฎหมายสุขภาพ ก้าวหน้าหรือล้าหลัง? (พ.ร.บ.ซูเปอร์บอร์ด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. และ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.)” มีผู้เข้าร่วม อาทิ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการสาธารณสุข (สธ.) นายนิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หลายประเทศที่กำลังพัฒนาจะพัฒนาระบบประกันสุขภาพ ส่วนระบบประกันสุขภาพไทยถูกพัฒนาต่อเนื่องมา 20 กว่าปีแล้ว แต่ทุกรัฐบาลจะต้องมีปัญหากับกลไกระบบประกันสุขภาพดังกล่าว ส่วนตัวมีความเห็นว่าระบบจะต้องมีอิสระ โปร่งใส และตรวจสอบได้ แต่ขณะนี้รัฐอยากเข้ามาควบคุม ทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่เห็นว่าประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมร่างกฎหมายสุขภาพทั้ง 3 ฉบับ ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะหากไม่สนใจ กลไกพัฒนาสุขภาพจะเป็นไปในทางที่ผิด

“ในส่วนหลักประกันสุขภาพ ส่วนตัวมองว่าหากเปลี่ยนเป็นการเก็บจากคนรวยร้อยละ 1-10 ของประเทศ เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าลองคำนวณดูก็ได้เงินเข้ากองทุนมากพอสมควรถึงร้อยละ 50 และที่สำคัญอย่ามัวแต่คิดเรื่องแก้กฎหมาย ควรมองเรื่องของการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ควรสร้างความรู้ความเข้าใจมากกว่า” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวว่า กฎหมายหลักประกันสุขภาพเป็นกฎหมายที่ประชาชนมีส่วนร่วมมาโดยตลอด แต่ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการ สธ.การมีส่วนร่วมของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป ทำให้กฎหมายที่นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ กลับไม่ถูกหยิบยกขึ้นมา เพราะ สธ.มองว่าระบบหลักประกันสุขภาพทำให้สูญเสียผลประโยชน์

“ใครมีเงิน คนนั้นก็มีอำนาจ และมีความพยายามที่จะปรับแก้กฎหมายใหม่ แค่ต้องการเพิ่มอำนาจให้กับ สธ. ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์หลักของกฎหมายที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะประชาชนทุกคนที่ต้องได้รับสิทธิประโยชน์ เพราะทุกวันนี้ระบบประกันสุขภาพไทยก็มีความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว จำเป็นต้องแก้ตั้งแต่การแบ่งแยกสิทธิข้าราชการ ประกันสังคม รัฐวิสาหกิจ ให้ได้ก่อน แทนการแก้ให้ประชาชนมาร่วมจ่าย เพราะทุกคนต่างมีส่วนร่วมในการเสียภาษีนำรายได้สู่รัฐ ส่วนขั้นตอนแก้กฎหมายก็ยิ่งแย่ รวบรัด ประชาชนไม่มีส่วนร่วม แนวคิดแบบนี้ภาคประชาชนรับไม่ได้” นายนิมิตร์ กล่าวและว่า ขณะนี้จึงมีสถานะถูกแช่แข็ง ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาต่อ เพราะหากหยิบขึ้นมาก็เกิดสงครามกับประชาชนทันที เช่นเดียวกับร่างซูเปอร์บอร์ด และ สสส. โดยเฉพาะร่างซูเปอร์บอร์ด ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการท้วงติงไปแล้วว่าไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณและมีตำแหน่งซ้ำซ้อน ดังนั้น เป็นประเด็นที่ประชาชนจะต้องติดตาม เพราะไม่เช่นนั้น ถอยหลังเข้าคลอง กลับไปสู่ระบบสงเคราะห์เฉพาะกลุ่ม โดยรัฐ ข้าราชการ เท่านั้น

“จึงเป็นเหตุแห่งความหายนะของระบบสุขภาพ ถ้าจะบอกว่าระบบประกันสุขภาพจะยั่งยืนได้ ประชาชนต้องร่วมจ่ายด้วยกี่เปอร์เซ็นต์ ระบบสงเคราะห์เกิดขึ้นแน่ อย่างคนลงทะเบียนผู้ยากไร้ 11 ล้านคน ถามว่าคนชนชั้นกลางทุกวันนี้มีเงินเก็บเท่าไร เพราะเพียงแค่รักษาโรคยาก โรคร้ายแรง เพียงโรคเดียวก็ทำให้เกิดการล้มละลายแบบเฉียบพลันทันที ทั้งที่ตลอด 10 ปี ระบบประกันสุขภาพตอบโจทย์ และช่วยเหลือประชาชน ทำให้ไม่ล้มละลายจากการรักษาโรค” นายนิมิตร์ กล่าวว่า ทางออกคือ อย่าเลื่อนเลือกตั้ง แล้วรอรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย เพื่อให้ภาคประชาชนได้เรียกร้อง หรือเสนอแนะแก้ไขเรื่องเหล่านี้ หรือจะเดินสายสอบถามบรรดาพรรคการเมืองที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ขณะนี้ ท่ามกลางสังคมและบรรยากาศแบบประชาธิปไตย

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ภาคประชาชนจะต้องสนใจ เพราะหลักสำคัญของระบบประกันสุขภาพคือ การทำให้มนุษย์มีชีวิตรอด โดยเฉพาะช่วงสุดท้ายของชีวิต เป็นกฎหมายสำคัญต้องรักษาไว้ ส่วน สสส. หน่วยงานส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของสังคม เป็นกลไกที่พัฒนาได้ไกลมากกว่าการออกฎหมาย แต่ฝ่ายความมั่นคงมองว่าทำให้เกิดองค์กร หน่วยงาน เอ็นจีโอ เติบโตและขยายตัวขึ้นเป็นศัตรูของรัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลา 13.00 น.วันที่ 19 พฤศจิกายน เครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานด้านสุขภาพ คนพิการ เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ จากทั่วทุกภาคของประเทศ กว่า 150 คน จะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงจุดยืนและยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ยุติการแก้ไข พ.ร.บ.สสส.ไม่ให้กลับไปอยู่ภายใต้ระบบราชการ หรือให้กระทรวงการคลังมีอำนาจเหนือกว่าบอร์ดกองทุน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่