วิหารไทลื้อ ... วัดท่าฟ้าใต้ อำเภอเชียงม่วน พะเยา

วันหนึ่งได้เดินทางไปเที่ยวเชียงราย
จึงชวนกันไปวัดท่าฟ้าใต้ ... วัดไทลื้อที่อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา
ผ่านไปทางอำเภอดอกคำใต้





พญามังราย พญางำเมือง และพ่อขุนรามคำแหงนั้นเป็นเพื่อนร่วมสถาบันกัน
เมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์
พญามังรายครองเชียงราย และเชียงใหม่
พญางำเมืองครองภูกามยาว
พ่อขุนรามคำแหงครองสุโขทัย
ก็มีสัมพันธไมตรีกันอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะต้องร่วมมือกันป้องกันภัยจาก กุปไลข่าน

จากตำนานหนึ่งว่า
พ่อขุนรามคำแหงได้เสด็จมาภูกามยาวเป็นประจำ
โดยยกขบวนช้าง ม้า บริวาร มาเป็นอันมาก
ผ่านทางเวียงโกศัย (เมืองแพร่) ... จากสุโขทัยมาตามแม่น้ำยมถึงเชียงม่วน ปง อันเป็นต้นน้ำยม ...
ผ่านดอกคำใต้ จนถึงเมืองภูกามยาว
จึงเกิดรอยตีนช้าง ตีนม้า มากมาย เมื่อฝนตก น้ำก็ไหลตามรอยตีนช้าง ตีนม้า
จนเป็นร่องลึก จึงเรียก แม่น้ำร่องช้างไหลลงแม่น้ำอิง ที่ผ่านเมืองพะเยา และไปลงแม่น้ำโขงที่เชียงของ

ลุ่มน้ำร่องช้างเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ ผู้คนจึงมาตั้งบ้านแปงเมืองอยู่ตามลำน้ำ
ซึ่งมีต้นดอกคำใต้ขึ้นอยู่มาก จึงเรียกชุมชนนี้ว่า บ้านดอกคำใต้





จากดอกคำใต้ตัดข้ามเขาไปยังเชียงม่วน ... วิวงามจนต้องแวะเก็บภาพ




ถึงสามแยกถนน ทล. 1091 เที่ยงพอดี มีป้อมตำรวจจึงแวะถามทางเพื่อความมั่นใจ ... ของคนขับ
ท่านกำลังทอดปลาอยู่คนเดียว
ท่านตำรวจ : เลี้ยวซ้ายไป 7 กม. อยู่ขวามือ
เรา : โบราณสถานมันเป๋นอะหยังเจ้า
ท่านตำรวจ : มีโบสถ์เก่า มีเสาไม้ ... ได้กลิ่นปลาไหม้
เรา : ขอบคุณเจ้า ไปละเจ้า ป๋า(ปลา)ไหม้ละ





บ้านท่าฟ้าใต้ เป็นหมู่บ้านของชาวไทลื้อ ที่อพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนา
วัดท่าฟ้าใต้ สร้างโดยครูธรรมเสนา และพ่อเฒ่าแสนอัฐิ ผู้นำชาวไทลื้อ ที่อพยพมา เมื่อ พ.ศ. 2311

วิหารไทลื้อมีสองแบบคือ ไทลื้อฮ่างหงส์ และ ไทลื้อทรงโรง
วิหารวัดท่าฟ้าใต้ เป็นวิหารไทลื้อแบบฮ่างหงส์ คือเหมือนหงส์กางปีกปกป้องลูก
ก่ออิฐถือปูน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 6 ห้อง ไม่มีมุขหน้าวิหาร
ผนังวิหารสูงเท่ากันทุกด้าน*
หลังคาปีกนกทั้งสี่ด้าน* เรียกว่าหลังผัด ชั้นบนสุดเป็นหลังคาทรงจั่วเรียกว่า หาน รวมทั้งหมดเป็น 3 ตับ มุงด้วยแป้นเกล็ด
แผงคอสองยืดสูง แบ่งเป็นช่องลูกฟักวาดลวดลายสี่เหลี่ยมและวงรี ลงบนพื้นขาว
มุมชายคาเป็นนาคเบือน
ตัววิหารทึบ ผนังมีหน้าต่างเล็ก ๆ โดยรอบทั้ง 4 ด้าน พอให้อากาศถ่ายเทได้





ปราสาทเฟื้องมีความหมายของเขาพระสุเมรุ
จากความนับถือหงส์และช้างที่ชาวไทลื้อถือว่าเป็นสัตว์ชั้นสูงมาจากสวรรค์
จึงนำช้างและหงส์มารวมเป็นตัวเดียวกัน
ให้ศีรษะเป็นช้าง ตัวหงส์ เป็น นกหัสดีลิงค์
แกะด้วยไม้สักทอง เป็นช่อฟ้า





หน้าบัน ทั้งทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก
เป็นลายดอกไม้ ...  ตรงกลางดอกไม้กำลังบาน
เหนือขึ้นไปมีแผ่นกระจกเงาติดอยู่ตรงกลางหน้าบันพอดี  เชื่อว่า คือสิ่งสะท้อนความชั่วร้ายไม่ให้กล้ำกรายเขามาภายใน
ชายคาประดับรูปหยาดน้ำเรียงต่อกัน





นาคทันต์ หรือ คันทวยแกะไม้เป็นรูปนาคที่หางตวัดขึ้นด้านบน ระบายสี





ประตูทางตะวันออกอยู่ตรงกลาง





ประตูทางตะวันตกเยื้องไปทางเหนือ ไม่ตรงกันกับทางตะวันออก





ฐานยกสูง บันไดตัวเหงา





ประตูไม่กว้างมาก เป็นบานไม้สัก
บันได ตัวเหงา
มีเสากลางต้นหนึ่ง ค่อนมาทางประตู





เสาไม้กลม
ผ้าที่คล้ายตุงแขวนในวิหารคือ ผ้าเช็ดหลวง ... เช็ด แปลว่า ทอ , หลวงแปลว่ายิ่งใหญ่
ใช้ในพิธีกรรมการถวายทานเป็นพุทธบูชาเพื่ออุทิศให้แก่บรรพบุรุษ
เชื่อว่าเมื่อเสียชีวิตแล้วจะ ได้เกาะชายตุงขึ้นสวรรค์





โครงสร้างม้าต่างไหม





พระประธานหลวงพ่อสิบสองปันนา ปางมารวิชัย แกะสลักจากไม้ประดู่ องค์สีขาว
อัญเชิญมาจากสิบสองปันนา ประดิษฐานบนแท่นแก้วบัวคว่ำบัวหงาย ประดับปูนปั้นลายเครือเถาลงรักปิดทอง ประดับกระจก





เหนือพระประธานเป็นผ้าคลุมเป็นเพดาน





ธรรมาสน์มณฑปปราสาท





ธรรมาสน์เอก อยู่ชิดผนัง ด้านขวามือของพระประธาน
ฐานสี่เหลี่ยมบัวคว่ำบัวหงาย ประดับลายปูนปั้น ประดับกระจกสี
ที่เมืองปัว จังหวัดน่าน จะใช้เทศในพิธีที่สำคัญเช่น ตั้งธรรมหลวง ... เทศน์มหาชาติ ไม่ทราบว่าที่นี่เหมือนกันหรือเปล่า
ต่อถัดมายังด้านหน้าวิหารยกพื้นขึ้นเป็นที่นั่งสำหรับพระสงฆ์





หอระฆัง





ซุ้มประตูหลังวัด มีสิงห์เฝ้าสอดส่องหน้าประตู





เปิดออกไปยังหมู่บ้านวัฒนธรรมไทลื้อ บ้านท่าฟ้าใต้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่