[CR] เสน่ห์แห่งวิถีชีวิต...ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตอนบน (ตอนที่1)



บนเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ...ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตอนบน

“สะพานแห่งความสุข” สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อ.ควนขนุน จ.พัทลุง

สะพานที่ทอดยาวไปบนทะเลน้อย เชื่อมระหว่างอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา  ...เป็นสะพานที่ถูกขนาบข้างไปด้วยทะเลสาบ ที่นี่เต็มไปด้วยพลัง แห่งความสุข เพราะสองข้างทางคือภาพอันงดงามของวิถีธรรมชาติอันสมบูรณ์และเรียบง่าย ตัวสะพานเป็นทางยกระดับระยะทาง 5.450 กิโลเมตร

วิวสวยๆ ของทะเลสาบสุดลูกหูลูกตาวิถีชาวประมงพื้นบ้าน วิถีชีวิตควายน้ำ และนกนานาพันธุ์  เป็นภาพทางทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย ทั้งคน สัตว์ พืช  อยู่ร่วมกันอย่างผสมกลมกลืนกับวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนบน

เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นสะพานที่ทอดยาวไกลบนผืนน้ำ เพียงแค่นั่งรถขึ้นมาบนสะพาน ก็สัมผัสถึงความโล่งกว้าง ของท้องน้ำ ท้องทุ่ง และท้องฟ้า วิวสวยงามรอบตัว ฝูงนกที่บินโฉบไปมา  ที่ทำให้เรารู้สึกถึงอิสระ ใครที่รู้สึกเหนื่อยล้า อยากให้ลองมารับพลังดี ๆ ที่นี่กันครับ

นอกจากที่นี่จะเป็นที่มายืนเล่นรับลมเย็น ๆ ชมวิวงาม ๆแล้ว  ใครที่ชอบถ่ายรูปไม่ควรพลาด ที่นี่เป็นทั้งจุดถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกที่สวยงามมาก ใครพกเลนส์ยาว มา จะส่องฝูงนก ส่องฝูงควายก็ได้เพลินดีครับ...ใครชอบปั่นจักรยาน บนถนนสายนี้ก็มีเลนจักรยานให้ สามารถเอาจักรยานมาปั่นได้ชิวๆ บรรยากาศดีมากทั้งเช้าและเย็น

เดิมถนนสายนี้ชื่อ ถนนสายบ้านไสกลิ้ง – บ้านหัวป่า ภายหลังเปิดการใช้งานสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดพัทลุง ได้ขอความเห็นจากทุกภาคส่วนให้ร่วมเสนอชื่อถนนสายดังกล่าว เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและเป็นชื่อที่ได้รับการยอมรับในการเรียกใช้ ซึ่งผลการรับฟังเสียงส่วนใหญ่มีความเห็นร่วมกันให้ตั้งชื่อถนนใหม่จากเดิม “ถนนสายบ้านไสกลิ้ง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง – บ้านหัวป่า อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา” เปลี่ยนเป็น “ถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550” เพื่อให้เหมาะสมกับปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ถ้าถามว่าถนนเส้นไหนที่สวยที่สุดในประเทศไทย ที่นี่ก็คงจะติด 1 ใน 10 แน่นอนครับ

ถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 จึงเปรียบเสมือนถนนที่เชื่อมต่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญ ในชุมชนต่างๆ ของทั้ง 2 จังหวัด ที่อยู่ใน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตอนบน











ไฮไลต์ของที่นี่ก็คือภาพควายที่ลงเล่นน้ำอย่างมีความสุข


ควายน้ำเป็นควายปลัก ชนิดหนึ่งที่เรียกควายน้ำเนื่องจากเลี้ยงควายในป่าพรุแถบรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาประกอบด้วยตำบลพนางตุง ตำบลทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง และ ตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ประมาณ 100 คอก เกือบ 5000 ตัว เป็นควายเลี้ยงปล่อยแบบเช้าไป-เย็นกลับ อาศัย และหากิน อยู่ในป่าพรุ และในทะเลสาบสงขลาตอนบน ทำให้ผู้คนเข้าใจว่าควายแถบนี้เป็น"ควายน้ำ" หรือเรียกว่า "ควายทะเล"

ควายที่เลี้ยงกันในทุ่งพรุทะเลน้อยเป็นชนิดควายปลัก เลี้ยงสืบทอดติดต่อกันมา 3-4 ชั่วอายุคน เป็นเวลานานร่วม 100 กว่าปี วิถีการเลี้ยงนิยมเลี้ยงเป็นฝูงปล่อยทุ่งและมีคอกสำหรับให้ควายพักผ่อนหลังจากกลับจากกินหญ้าโดยเฉพาะ

สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550






วิวมองจากบนสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550




ยามเย็นบนสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550


ทะเลสาบสงขลา เป็นทะเลสาบแห่งเดียวในประเทศไทย อยู่ในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลา ที่มีสภาพทางนิเวศวิทยาที่หลากหลายเนื่องจากเป็นที่ไหลรวมจากต้นน้ำลำคลองเล็ก ๆมากมายและยังมีทางออกสู่ทะเลอ่าวไทย ปริมาณและสภาพน้ำในทะเลสาบขึ้นอยู่กับน้ำจืดที่ไหลลงมาและน้ำเค็มจากทะเลหนุนเข้ามา ซึ่งในฤดูน้ำหลากประมาณ เดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคมจะมีน้ำจืดไหลลงสู่ทะเลสาบจำนวนมากจึงไปผลักดันน้ำเค็มออกสู่อ่าวไทย ในช่วงนี้น้ำในทะเลสาบ จะขุ่น และเป็นน้ำจืดแต่เมื่อถึงฤดูแล้งปริมาณน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลสาบจะมีน้อยน้ำเค็มจะไหลเข้ามาแทนที่ในช่วงนี้ น้ำในทะเลสาบ จะกร่อยจึงเป็นทะเลสาบที่มีลักษณะของน้ำในทะเลสาบถึง 3 น้ำ คือ น้ำจืด, น้ำกร่อย และน้ำเค็ม  ชุมชนชาวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จึงได้ชื่อว่า "ดินแดนเมืองสามน้ำ สองทะเล"






ทะเลน้อย ทะเลสาบตอนบนสุดของทะเลสาบสงขลามีพื้นที่ประมาณ28ตารางกิโลเมตร  ทะเลน้อยเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่มีพืชน้ำนานา ชนิดขึ้นอยู่ โดยรอบ มีป่าพรุขนาดใหญ่มีวัชพืชพวกผักตบชวา กกจูดและยังเป็นแหล่งของนกน้ำนานาพันธุ์ทั้งที่ประจำถิ่น และที่อพยพมาจาก แหล่งอื่น

อาชีพหลักของชาวบ้านชุมชนทะเลน้อยคืออาชีพประมง อาชีพเสริมคือ หัตถกรรม สานเสื่อกระจูด และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกระจูด

บนเส้นทางทะเลน้อย เราจะเห็นแผงร้านค้าริมทาง จะวางขายปลาแดดเดียว ปลาสลิดแดดเดียว ปลาแห้ง ปลากรอบฯลฯ และปลาแปรรูปหลากหลายชนิด...ปลาแปรรูปที่ขึ้นชื่อของที่นี่ก็คงจะหนีไม่พ้น"ปลาดุกร้า"

"ปลาดุกร้า" นับเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อของปักษ์ใต้ มีรสชาติเฉพาะตัวที่มีความกลมกล่อม มีทั้งรสเค็มและรสหวาน รวมทั้งมีกลิ่นหมักที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นที่ถูกปากของผู้บริโภคและนักชิมทั้งหลาย จังหวัดพัทลุงจัดได้ว่าเป็นแหล่งผลิตปลาดุกร้าที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ซึ่งอยู่ในเขต ตำบลทะเลน้อย







ปลาแปรรูปหลากหลายชนิดบนเส้นทาง ทะเลน้อย







ริมทางทะเลน้อย มีเขาควาย มาวางขายด้วย


เที่ยวชุมชนตำบลบ้านขาว

บนเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ชุมชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ผมมีโอกาสเข้าไปชมการทำพริกแกง และทานอาหารเที่ยวพื้นบ้านที่ปรุงด้วยพริกแกงรสเด็ดอร่อยๆ ที่ชุมชนตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

บ้านขาวเป็นที่ราบลุ่ม ใกล้ทะเลสาบสงขลาและมีป่าพรุทะเลน้อย ซึ่งพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่ ชุ่มน้ำ มีบางส่วนเป็นเขตป่าพรุ ซึ่งติดกับพรุควนเคร็ง พรุทะเลน้อย มีนกน้ำอาศัยเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อนเป็นอย่างดี

ที่นี่มีความโดดเด่นทางด้านการเกษตรและการประมงพื้นบ้าน มีสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวคือยวนนกน้ำ ทิวทัศน์สองฝั่งคลองในชุมชนบ้านขาว ผลิตผลเกษตรอินทรีย์ การทำเครื่องแกง และผลิตภัณฑ์ปลา  อาทิ ปลาดุกร้า ปลาแดดเดียว ฯลฯ

ที่ชุมชนบ้านขาวยังมีโฮมสเตย์ ที่ได้มารตฐานประมาณ 30 ครัวเรือน เป็นที่พักค้างแรมให้กับนักท่องเที่ยวผู้มาเยี่ยมเยือน และมีการจัดอาหารท้องถิ่นรับรอง ในระหว่างการรับประทานอาหารและการต้อนรับจะมีการแสดงมโนราห์ หนังตะลุงคน รำวงเวียนครก และระบำพราน แสดงให้กับนักท่องเที่ยวที่ไปพักที่นั่นได้ชมอีกด้วย

พริกแกงบ้านขาว...เป็นสูตรพันปี ที่ตำสืบทอดกันมาจนเป็นสูตรเฉพาะถึงทุกวันนี้...ใครมีโอกาสไปเที่ยวทะเลน้อยลองแวะเวียนเข้าไปพัก หรือไปซื้อของฝากที่บ้านข้าวติดไม้ติดมือกันครับ





พริกแกงบ้านขาว ที่มีสูตรเฉพาะ จากพริกพื้นถิ่น จึงมีความโดดเด่นต่างจากที่อื่น








เครื่องปรุงพริกแกง สูตรเฉพาะชุมชนบ้านขาว


เคยปลาบ้านขาว


ปลาดุกร้า บ้านขาว



ของฝากบ้านขาวจัดใส่ตะกร้าสานสวยงาม
ชื่อสินค้า:   เสน่ห์แห่งวิถีชีวิต...ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตอนบน
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง โดยได้รับส่วนลดหรือสิทธิพิเศษจากเจ้าของสินค้าเพื่อแลกกับการรีวิว
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างแต่ได้รับผลประโยชน์อย่างอื่น เช่น บัตรกำนัล ค่าเดินทางตามจริง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่