
------------
คำนำ
------------
ผู้เขียนชอบศึกษาและค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของชนชาติต่างๆ มาตั้งแต่เยาว์วัย และเริ่มสนใจประวัติศาสตร์ของดินแดนทางภาคใต้เมื่อมีโอกาสไปทำงานที่เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย ในช่วงปีพุทธศักราช ๒๕๔๑ - ๒๕๔๓ ในงานเลี้ยงสังสรรค์ครั้งหนึ่งผู้บริหารชาวจีนมาเลย์เอ่ยคำชื่นชมผู้เขียนว่ามาจากประเทศ Rich Country ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนในงาน ต่อมาผู้บริหารท่านนั้นจึงขยายความว่า “Rich Culture Country” หรือประเทศที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรม ทำให้ทุกคนในงานต่างเห็นพ้องและสนับสนุน... นั่นคือความประทับใจครั้งสำคัญ ต่อเบื้องลึกภูมิหลังของประเทศไทย
การศึกษาประวัติศาสตร์ในบ้านเรามักจะเน้นเรื่องราวและความเป็นไปในราชสำนักหลวงส่วนกลาง โดยละเลยความสำคัญของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและภูมิภาค ยิ่งเรื่องความสัมพันธ์กับชนชาติอื่นด้วยแล้ว ยิ่งนับว่ามีการกล่าวอ้างถึงน้อยอยู่
ในช่วงพุทธศักราช ๑๙๐๐ มีบันทึกเรื่องราวปรากฏในพงศาวดารของไทยน้อยมาก แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจอย่างยิ่งเพราะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในดินแดนสุวรรณภูมิ หากอาศัยจารึกและตำนานของเมืองต่างๆ เทียบเคียงกันก็อาจเห็นมิติความสัมพันธ์ในเชิงการค้า การเมืองและสงครามของเมืองต่างๆ ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเมืองสิบสองนักษัตรที่ครอบคลุมดินแดนตลอดแหลมสุวรรณภูมิ กรุงอโยธยา กรุงสุโขทัย ดินแดนล้านนา ล้านช้าง เมืองน่าน และรามัญ รวมถึงอิทธิพลของกรุงจีน อินเดีย ลังกา ชวา และมลายู
หลังการค้นคว้าศึกษาข้อมูลนานนับหลายปี ผู้เขียนจึงตัดสินใจบอกเล่าเรื่องราวในรูปแบบของนวนิยาย โดยใช้เวลาเขียนทั้งหมดกว่า ๓ ปี
หนังสือนวนิยายราชาสิบสองนักษัตร ศึกรวมสุโขทัย มีกลิ่นอายของ “สารคดีเชิงประวัติศาสตร์” เจือปนอยู่มาก หากแต่มิอาจนำไปอ้างอิงว่าเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ได้ ด้วยบางฉากบางตอนเป็นจินตภาพของผู้เขียนที่เกิดจากการวิเคราะห์ตีความตามภาวะแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม การปกครอง การค้าขายและความสัมพันธ์ระหว่างแคว้น ผู้เขียนหวังว่าอรรถรสในหนังสือเล่มนี้จะเพิ่มความกระหายของผู้อ่านในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชนชาติต่อไปจากเอกสารเชิงวิชาการด้านประวัติศาสตร์ แล้วจึงวิเคราะห์ตีความด้วยตนเอง
หากนวนิยายเรื่องนี้มีความผิดพลาดประการใด หรือกระทำให้ท่านผู้อ่านมิสบายใจ ผู้เขียนกราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้
กาล อนันตา
-------------------------
คำขอบคุณจากใจ...
หนังสือเล่มนี้คงมิสำเร็จหากปราศจากผู้ให้กำลังใจ.. คุณครูนงนุช สาราภรณ์
ผู้สนับสนุนและอ่านทวนต้นฉบับ.. คุณอดิสัย สุนทรรัตนรักษ์ คุณกิตติพงษ์ เอี่ยมเกื้อกูล คุณธเนศ ธรนินทร์ คุณสุรชัย ตัณฑวณิช คุณนรินทร์ คลอวุฒิเสถียร และเพื่อนอีกหลายท่านที่มิได้เอ่ยนาม
สุดท้ายขอขอบคุณกำลังใจจากภรรยาคู่ชีวิต ผู้สนับสนุนให้ผู้เขียนได้ใช้เวลา ๓ ปีในการเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา...
------------------------------------------------------

------------
ปฐมบท
------------
ย้อนเวลากลับไปในดินแดนที่เรียกว่าคาบสมุทรสุวรรณภูมิและทะเลใต้เมื่อ ๘๐๐ ปีก่อน...
แคว้นตอนบนของคาบสมุทรคืออาณาจักรตามพรลิงค์ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ส่วนแคว้นตอนล่างลงไปจนสุดปลายขอบทะเลคืออาณาจักรลังกาสุกะของนครปตานี โพ้นทะเลออกไปมีสองแคว้นใหญ่ คืออาณาจักรมลายูบนเกาะสุมาตราและอาณาจักรชวาสิงหัดส่าหรีบนเกาะชวาและเกาะกาลีมันตัน
ณ ห้วงเวลานั้น อาณาจักรตามพรลิงค์นับถือพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ส่วนอีก ๓ อาณาจักรใหญ่ล้วนศรัทธามั่นคงในพุทธศาสนามหายานผสานความเชื่อพราหมณ์ฮินดู...
อาณาจักรลังกาสุกะประกอบไปด้วย ๗ เมืองใหญ่ ได้ครอบครองสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดซึ่งเป็นที่นับถือของชาวพุทธมหายานและพราหมณ์ฮินดู ด้วยเชื่อกันว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้เกี่ยวพันกับการกลับมาจุติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามหลักตรีกายฝ่ายพุทธมหายานและการอวตารของพระนารายณ์ตามหลักพราหมณ์ฮินดู ทั้ง ๗ เมืองใหญ่ต่างผลัดเปลี่ยนเวียนอัญเชิญนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปบูชายังเมืองตน
กระทั่งปีพุทธศักราช ๑๘๓๐ จึงเกิดเหตุร้าย สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดได้อันตรธานหายไปขณะครบรอบมาประดิษฐานอยู่ ณ นครปตานี นำมาซึ่งความแตกแยกตกต่ำและระส่ำระสาย ต่อมาอีก ๕ ปีอาณาจักรสิงหัดส่าหรียกกองทัพเรือจากเกาะชวาเข้าโจมตีเมืองในอาณาจักรลังกาสุกะตอนใต้ของแหลมสุวรรณภูมิขึ้นมา ตีได้เมืองปะหัง กลันตรัง สายบุรีและปตานีในที่สุด
ด้วยความช่วยเหลือจากกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชทำให้อาณาจักรลังกาสุกะสามารถต่อสู้ขับไล่กองเรือของชวาสิงหัดส่าหรีออกไปจากคาบสมุทรได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ๗ เมืองแห่งลังกาสุกะก็ไม่สามารถผนึกรวมกันและดำรงสภาพเป็นอาณาจักรอีกต่อไป ทั้งหมดยอมสวามิภักดิ์อยู่ภายใต้การอารักขาของเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อผนวกรวมเข้ากับ ๕ เมืองบริวารเดิมซึ่งอยู่ตอนบนของคาบสมุทรจึงเกิดเป็น “เมืองสิบสองนักษัตร” แต่ละเมืองถือเอาสัตว์ชนิดหนึ่งใน ๑๒ นักษัตรเป็นตราสัญลักษณ์ประจำเมือง
พระเจ้านครศรีธรรมราชทรงเห็นถึงศรัทธาอันแรงกล้าของชาวเมืองลังกาสุกะเดิมต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดซึ่งสูญหายและต้องการติดตามกลับคืน จึงโปรดให้จัดพิธีประลองอาวุธเพื่อคัดเลือกขุนพลฝีมือดีที่สุดจาก ๑๒ เมืองนักษัตร ผู้ชนะจะได้รับการสถาปนาแต่งตั้งขึ้นเป็น “ราชาสิบสองนักษัตร” มีศักดิ์เสมอราชาพระองค์หนึ่งของเมืองสิบสองนักษัตร รับภาระหน้าที่ยิ่งใหญ่ออกเดินทางติดตามค้นหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดกลับคืนมา หากมิสามารถกระทำได้ภายในระยะเวลา ๑๓ ปีจักต้องคืนศักดิ์แห่งราชา และดำเนินการคัดเลือกราชาสิบสองนักษัตรพระองค์ใหม่ต่อไป
เวลาผ่านไปร่วม ๘๐ ปี...
ไม่มีราชาสิบสองนักษัตรพระองค์ใดทรงกระทำการสำเร็จ ร่องรอยการเดินทางอันแสนยากลำบากถูกจารึกเป็นบันทึกลับเก็บไว้ในหอแห่งหนึ่งกลางเมืองเก่าปตานี เพื่อให้ราชาสิบสองนักษัตรพระองค์ใหม่ได้ทรงอ่านและรับรู้เพียงผู้เดียว
สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดที่สูญหายกลายเป็นปริศนาดำมืด การติดตามค้นหายิ่งนำมาซึ่งความหวาดหวั่นเมื่อราชาสิบสองนักษัตร ๒ พระองค์สุดท้ายทรงหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย มิได้เสด็จหวนกลับคืนมาอีกเลย...
ส่วนอาณาจักรสุโขทัยที่เคยยิ่งใหญ่ บัดนี้ถูกท้าทายด้วยขุมอำนาจใหม่ทางใต้...คืออาณาจักรอโยธยา กลายเป็นสงครามครั้งใหญ่ในดินแดนสุวรรณภูมิ
--------------------------------------------------
ราชาสิบสองนักษัตร ศึกรวมสุโขทัย - คำนำ เเละ ปฐมบท
------------
คำนำ
------------
ผู้เขียนชอบศึกษาและค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของชนชาติต่างๆ มาตั้งแต่เยาว์วัย และเริ่มสนใจประวัติศาสตร์ของดินแดนทางภาคใต้เมื่อมีโอกาสไปทำงานที่เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย ในช่วงปีพุทธศักราช ๒๕๔๑ - ๒๕๔๓ ในงานเลี้ยงสังสรรค์ครั้งหนึ่งผู้บริหารชาวจีนมาเลย์เอ่ยคำชื่นชมผู้เขียนว่ามาจากประเทศ Rich Country ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนในงาน ต่อมาผู้บริหารท่านนั้นจึงขยายความว่า “Rich Culture Country” หรือประเทศที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรม ทำให้ทุกคนในงานต่างเห็นพ้องและสนับสนุน... นั่นคือความประทับใจครั้งสำคัญ ต่อเบื้องลึกภูมิหลังของประเทศไทย
การศึกษาประวัติศาสตร์ในบ้านเรามักจะเน้นเรื่องราวและความเป็นไปในราชสำนักหลวงส่วนกลาง โดยละเลยความสำคัญของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและภูมิภาค ยิ่งเรื่องความสัมพันธ์กับชนชาติอื่นด้วยแล้ว ยิ่งนับว่ามีการกล่าวอ้างถึงน้อยอยู่
ในช่วงพุทธศักราช ๑๙๐๐ มีบันทึกเรื่องราวปรากฏในพงศาวดารของไทยน้อยมาก แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจอย่างยิ่งเพราะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในดินแดนสุวรรณภูมิ หากอาศัยจารึกและตำนานของเมืองต่างๆ เทียบเคียงกันก็อาจเห็นมิติความสัมพันธ์ในเชิงการค้า การเมืองและสงครามของเมืองต่างๆ ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเมืองสิบสองนักษัตรที่ครอบคลุมดินแดนตลอดแหลมสุวรรณภูมิ กรุงอโยธยา กรุงสุโขทัย ดินแดนล้านนา ล้านช้าง เมืองน่าน และรามัญ รวมถึงอิทธิพลของกรุงจีน อินเดีย ลังกา ชวา และมลายู
หลังการค้นคว้าศึกษาข้อมูลนานนับหลายปี ผู้เขียนจึงตัดสินใจบอกเล่าเรื่องราวในรูปแบบของนวนิยาย โดยใช้เวลาเขียนทั้งหมดกว่า ๓ ปี
หนังสือนวนิยายราชาสิบสองนักษัตร ศึกรวมสุโขทัย มีกลิ่นอายของ “สารคดีเชิงประวัติศาสตร์” เจือปนอยู่มาก หากแต่มิอาจนำไปอ้างอิงว่าเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ได้ ด้วยบางฉากบางตอนเป็นจินตภาพของผู้เขียนที่เกิดจากการวิเคราะห์ตีความตามภาวะแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม การปกครอง การค้าขายและความสัมพันธ์ระหว่างแคว้น ผู้เขียนหวังว่าอรรถรสในหนังสือเล่มนี้จะเพิ่มความกระหายของผู้อ่านในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชนชาติต่อไปจากเอกสารเชิงวิชาการด้านประวัติศาสตร์ แล้วจึงวิเคราะห์ตีความด้วยตนเอง
หากนวนิยายเรื่องนี้มีความผิดพลาดประการใด หรือกระทำให้ท่านผู้อ่านมิสบายใจ ผู้เขียนกราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้
กาล อนันตา
-------------------------
คำขอบคุณจากใจ...
หนังสือเล่มนี้คงมิสำเร็จหากปราศจากผู้ให้กำลังใจ.. คุณครูนงนุช สาราภรณ์
ผู้สนับสนุนและอ่านทวนต้นฉบับ.. คุณอดิสัย สุนทรรัตนรักษ์ คุณกิตติพงษ์ เอี่ยมเกื้อกูล คุณธเนศ ธรนินทร์ คุณสุรชัย ตัณฑวณิช คุณนรินทร์ คลอวุฒิเสถียร และเพื่อนอีกหลายท่านที่มิได้เอ่ยนาม
สุดท้ายขอขอบคุณกำลังใจจากภรรยาคู่ชีวิต ผู้สนับสนุนให้ผู้เขียนได้ใช้เวลา ๓ ปีในการเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา...
------------------------------------------------------
------------
ปฐมบท
------------
ย้อนเวลากลับไปในดินแดนที่เรียกว่าคาบสมุทรสุวรรณภูมิและทะเลใต้เมื่อ ๘๐๐ ปีก่อน...
แคว้นตอนบนของคาบสมุทรคืออาณาจักรตามพรลิงค์ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ส่วนแคว้นตอนล่างลงไปจนสุดปลายขอบทะเลคืออาณาจักรลังกาสุกะของนครปตานี โพ้นทะเลออกไปมีสองแคว้นใหญ่ คืออาณาจักรมลายูบนเกาะสุมาตราและอาณาจักรชวาสิงหัดส่าหรีบนเกาะชวาและเกาะกาลีมันตัน
ณ ห้วงเวลานั้น อาณาจักรตามพรลิงค์นับถือพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ส่วนอีก ๓ อาณาจักรใหญ่ล้วนศรัทธามั่นคงในพุทธศาสนามหายานผสานความเชื่อพราหมณ์ฮินดู...
อาณาจักรลังกาสุกะประกอบไปด้วย ๗ เมืองใหญ่ ได้ครอบครองสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดซึ่งเป็นที่นับถือของชาวพุทธมหายานและพราหมณ์ฮินดู ด้วยเชื่อกันว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้เกี่ยวพันกับการกลับมาจุติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามหลักตรีกายฝ่ายพุทธมหายานและการอวตารของพระนารายณ์ตามหลักพราหมณ์ฮินดู ทั้ง ๗ เมืองใหญ่ต่างผลัดเปลี่ยนเวียนอัญเชิญนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปบูชายังเมืองตน
กระทั่งปีพุทธศักราช ๑๘๓๐ จึงเกิดเหตุร้าย สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดได้อันตรธานหายไปขณะครบรอบมาประดิษฐานอยู่ ณ นครปตานี นำมาซึ่งความแตกแยกตกต่ำและระส่ำระสาย ต่อมาอีก ๕ ปีอาณาจักรสิงหัดส่าหรียกกองทัพเรือจากเกาะชวาเข้าโจมตีเมืองในอาณาจักรลังกาสุกะตอนใต้ของแหลมสุวรรณภูมิขึ้นมา ตีได้เมืองปะหัง กลันตรัง สายบุรีและปตานีในที่สุด
ด้วยความช่วยเหลือจากกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชทำให้อาณาจักรลังกาสุกะสามารถต่อสู้ขับไล่กองเรือของชวาสิงหัดส่าหรีออกไปจากคาบสมุทรได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ๗ เมืองแห่งลังกาสุกะก็ไม่สามารถผนึกรวมกันและดำรงสภาพเป็นอาณาจักรอีกต่อไป ทั้งหมดยอมสวามิภักดิ์อยู่ภายใต้การอารักขาของเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อผนวกรวมเข้ากับ ๕ เมืองบริวารเดิมซึ่งอยู่ตอนบนของคาบสมุทรจึงเกิดเป็น “เมืองสิบสองนักษัตร” แต่ละเมืองถือเอาสัตว์ชนิดหนึ่งใน ๑๒ นักษัตรเป็นตราสัญลักษณ์ประจำเมือง
พระเจ้านครศรีธรรมราชทรงเห็นถึงศรัทธาอันแรงกล้าของชาวเมืองลังกาสุกะเดิมต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดซึ่งสูญหายและต้องการติดตามกลับคืน จึงโปรดให้จัดพิธีประลองอาวุธเพื่อคัดเลือกขุนพลฝีมือดีที่สุดจาก ๑๒ เมืองนักษัตร ผู้ชนะจะได้รับการสถาปนาแต่งตั้งขึ้นเป็น “ราชาสิบสองนักษัตร” มีศักดิ์เสมอราชาพระองค์หนึ่งของเมืองสิบสองนักษัตร รับภาระหน้าที่ยิ่งใหญ่ออกเดินทางติดตามค้นหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดกลับคืนมา หากมิสามารถกระทำได้ภายในระยะเวลา ๑๓ ปีจักต้องคืนศักดิ์แห่งราชา และดำเนินการคัดเลือกราชาสิบสองนักษัตรพระองค์ใหม่ต่อไป
เวลาผ่านไปร่วม ๘๐ ปี...
ไม่มีราชาสิบสองนักษัตรพระองค์ใดทรงกระทำการสำเร็จ ร่องรอยการเดินทางอันแสนยากลำบากถูกจารึกเป็นบันทึกลับเก็บไว้ในหอแห่งหนึ่งกลางเมืองเก่าปตานี เพื่อให้ราชาสิบสองนักษัตรพระองค์ใหม่ได้ทรงอ่านและรับรู้เพียงผู้เดียว
สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดที่สูญหายกลายเป็นปริศนาดำมืด การติดตามค้นหายิ่งนำมาซึ่งความหวาดหวั่นเมื่อราชาสิบสองนักษัตร ๒ พระองค์สุดท้ายทรงหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย มิได้เสด็จหวนกลับคืนมาอีกเลย...
ส่วนอาณาจักรสุโขทัยที่เคยยิ่งใหญ่ บัดนี้ถูกท้าทายด้วยขุมอำนาจใหม่ทางใต้...คืออาณาจักรอโยธยา กลายเป็นสงครามครั้งใหญ่ในดินแดนสุวรรณภูมิ
--------------------------------------------------