แชร์ประสบการณ์การสมัคร Work and Holiday Visa - Australia สำหรับมนุษย์เงินเดือน

สวัสดีครับ อยากแชร์ไว้สำหรับคนที่จะตัดสินใจไปวีซ่า Work and Holiday สำหรับผมได้ประเทศออสเตรเลีย ปี 2017 ครับ  

1. จุดตัดสินใจ
ก่อนอื่นเลย ชีวิตสั้นๆ พอสังเขปนะครับ ตอนขอวีซ่าอายุ 30 ปี จบ ป.โท วิศวกรรมศาสตร์ ทำงานบริษัทปิโตรเคมี ทำงานได้ 5 ปีกับอีก 8 เดือน เงินเดือนก่อนออกคือก็หลายหมื่น ภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ใช้ในการทำงานเท่าไหร่นอกจากเขียนอีเมล์ TOEIC ที่ได้ตอนจบโทใหม่ๆ 650 คะแนน (สอบ 2 ครั้งนะครับ ได้ข้อสอบซ้ำจร้า)

ทำไมถึงเลือกไปวีซ่าตัวนี้ เพราะผมฝันอยากทำธุรกิจของตัวเอง แต่เนื่องจากทางบ้านไม่มีเงินทุน ประสบการณ์ไม่มี มันเลยได้แค่ฝัน แต่ฝันจะเป็นจริงก็ต้องมีเป้าหมาย ตอนเข้าทำงานก็เลยตั้งเป้าหมายไว้ ทำงานซัก 5 ปี วางแผนเงินให้ได้ แล้วลาออก แต่ก่อนเริ่มทำของตัวเอง อยากไปใช้ชีวิตต่างประเทศ ไปหามุมมองใหม่ๆ อยากลืม comfort zone ที่ได้ออกมา จริงอยู่ว่าไปอยู่ออสเตรเลีย ก็ต้องทำงาน แต่มันเป็นการทำงานคนละแบบ ได้ไปเที่ยว ได้ฝึกภาษา เผื่อมีประโยชน์สำหรับธุรกิจของตัวเองในวันข้างหน้า จึงได้ตัดสินใจเลือกวีซ่าตัวนี้

สำหรับน้องๆ (ต้องใช้น้องๆ เพราะนี่ 30 แล้ว 55) ที่เพิ่งจบใหม่ เป็นโอกาสดีนะครับสำหรับวีซ่าตัวนี้ ได้ไปฝึกภาษา ถึงแม้จะได้ฝึกมากฝึกน้อย มันก็ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นต่างชาติ เป็นต้นทุนสำหรับหางานที่ไทย  แต่สำหรับน้องๆ ที่ทำงานอยู่แล้ว ถ้างานที่ทำมันไม่ใช่ หรืออยากจะเปลี่ยนงานอยู่แล้ว ก็ลองไปเปลี่ยนมุมมองก็ได้ครับ แต่สำหรับคนที่อายุ 30 ปีแล้ว อย่างผม คือผมมีแผนชัดเจนหลังจากกลับมาไทย แต่ถ้าใครที่อายุ 29-30 ปีแล้ว ทำงานมาได้ 7-8 ปี ก็อาจจะเสียดายความก้าวหน้าของหน้าที่การงาน ถ้าจะเว้นวรรคมาสมัครวีซ่าตัวนี้ แต่ถ้าคิดดีแล้ว มันก็จะดีตามที่เราคิดครับ

2. เตรียมตัวสอบ IELTS ยังไง (สำหรับ Engineer ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษทำงาน)
เมื่อตัดสินใจแล้ว สำหรับผมที่หนักใจคือคะแนน IELTS เพราะไม่ชอบภาษาอังกฤษเอามากๆ  แต่ก็ต้องสอบ มัดมือตัวเองด้วยการเดินหน้าสมัครสอบ IELTS เลย ผมเลือกเป็น General Training ครับ (แค่นี้ก็ไม่ไหวหล่ะครับ) ค่าสมัครก็แพงสุดขีดประมาณเกือบๆ 7,000 บาท เกณฑ์ที่ต้องผ่านให้ได้คือ 4.5 ทุกทักษะ เอาแล้วไง คือไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเลย ที่อ่านๆ มา เทียบคะแนนโทอิค 650 มันก็จะได้อยู่ประมาณ 4.5-5.5 แต่นั้นไม่มีพูดกับเขียนนิ  ปี 2017 กดลงทะเบียนวันที่ 3 มิ.ย. ก็ลงรอบช่วงปลายเดือนเมษา กะว่า ทุบหม้อข้าวตัวเอง ผ่านก็ผ่าน ไม่ผ่านก็คือจบ มาดูคร่าวๆ กัน
      1.หนังสือที่ใช้ หลักๆ เริ่มต้นผมซื้อ Barron's IELTS superpack ราคารวมประมาณไม่เกิน 2,000 บาท ค่ายนี้เนื้อหาง่ายครับ (จะง่ายกว่าข้อสอบมาก) ผมเริ่มจากอันนี้ก่อน  แล้วก็ฝึกทำแบบฝึกหัด ให้คุ้นเคยกับการสอบ

      2.ฝึกทำแบบฝึกหัดจาก CAMBRIDGE IELTS ที่เป็นเฉพาะแบบฝึกหัด ผมทำตั้งแต่เล่มที่ 7 ถึงเล่ม 11  ทำวนไป โดยจับเวลา  ถ้าใครจะซื้อก็ตกเล่มนึงก็ประมาณ 700 อันนี้แบบไม่รวมซีดีฟัง แต่สามารถเอา code เข้าไปโหลดได้ ปล. ผมซื้อแค่ เล่มที่ 10 ที่เหลือทำยังไง ไม่กล้าโพสต์ครับ แต่ทุกคนน่าจะรู้

      3.สำหรับ reading and listening ผมฝึกจาก Cambridge ส่วนใหญ่ครับ ฝึกจับเวลา ความแม่นยำของคะแนนประมาณ 80% ครับ แต่สำหรับ writing and speaking ผมยอมเรียนพิเศษเพิ่มครับ ลงไว้ประมาณ 15 ชม. สำหรับ 2 ทักษะ หมดไปก็ประมาณเกือบ 30,000 เรียนตัวต่อตัว (ต่างจังหวัดครับ) เพราะเราก็ไม่มีเพื่อนที่พอจะมีเวลาตรวจ writing กับ speaking ให้เรา
      4.ช่วงใกล้สอบ week สุดท้าย ก็ทำแต่ Cambridge part writing ให้อาจารย์ช่วยตรวจให้ (อาจารย์ใจดีไม่คิดเงินเพิ่ม) ส่วน speaking ให้เพื่อนช่วยเป็นกรรมการสอบให้ ผิดบ้างถูกบ้าง ก็ช่างมัน ผมว่าสำคัญที่ไอเดียในการตอบด้วย
      5.ไหว้พระขอพร ก็ดีนะครับ ตั้งจิตให้มั่น มองตาหลวงพ่อ ถึงหลวงพ่อจะไม่ช่วยอะไรเราก็ตาม แต่ moment ที่เราได้มองตาท่าน แล้วจิตเรานิ่ง มันทำให้เราเข้มแข็งในวันสอบได้ครับ  
      6. วันสอบ ไปถึงก่อนเวลาหน่อยครับ ไม่ต้องไปอ่านอะไรทั้งนั้นหล่ะครับ ทำใจให้สบายๆ แล้วก็เชื่อว่าเราสอบได้ เราจะผ่านได้ ทุกอย่างมันจะเป็นไปตามที่เราเชื่อครับ

      7. สำหรับการสอบ writing ฝึกคิดไอเดียตามโจทย์ครับ ส่วนใหญ่เป็นคำถามความคิดเห็น นึกอะไรไม่ออกก็ให้แตกไอเดียเป็นด้านๆ นึกถึงพวกกระทรวงต่างๆ เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านการท่องเที่ยว ด้านเกษตร ด้านกีฬา  เผื่อจะเป็นไอเดียในการตอบคำถาม ส่วนการเขียนจดหมายจำรูปประโยคขึ้นต้น ตรงกลาง ปิดท้ายให้แม่นๆ  วันจริงมันจะตื่นเต้น แบ่งเวลาให้ดี part จดหมายอาจจะซัก 20 นาที part assay 40 นาที ต้องเคารพเวลาด้วยนะครับ อย่าทำข้อแรกเพลิน
      8. สำหรับการสอบ speaking วันจริงมันตื่นเต้นมาก เข้าไปพบกรรมการ ก็เชคแฮน สวัสดีเค้าก่อนเลยครับ เค้าจะได้รู้ว่าเราไม่กลัว (ทั้งที่กลัว) จะได้ลดความตื่นเต้นเราด้วย พยายามตอบให้ชัดถ้อยชัดคำ อย่ารัว ตอบให้เต็มเสียง เพราะจะมีเครื่องอัดเสียงไว้ประเมินคะแนนครับ

สุดท้ายผมได้มา Overall 5.5 แค่นี้ก็ดีใจสุดขีดแล้วสำหรับคนที่ไม่ชอบภาษา (reading=5.0 listening =6.0 writing =5.5 speaking=5.5)

3. การกดโควต้า (ยิ่งกว่าสอบ IELTS ก็คือขั้นนี้แหละ)
Link สำหรับการกดโควต้า สามารถตามได้จากเว็ปของ ดย. นะครับ คร่าวๆ ตามนี้เลยครับ

1.ลองกรอกข้อมูลทั้งหมด ทาง ดย. จะมีวันที่ให้เราเข้าไปกรอกข้อมูล เหมือนการฝึกซ้อมครับ (แต่ถ้าใช้ Google chrome มันจะจำข้อมูลให้เราทั้งหมดครับ ไม่ต้องมาเสียเวลากรอกอีกรอบ)
2.เลือกสถานที่ที่คิดว่าเน็ตแบบเร็วสุดๆ  ถ้าคิดว่าที่บ้านเร็วก็ที่บ้าน ถ้าคิดว่าร้านเกมส์ก็จงไปเถิด สำหรับมนุษย์เงินเดือน อย่าหวังไปกดที่บริษัท พังแน่นอน ลางานเถิดหนา
3.มีโน้ตบุคกี่เครื่องก็ขนมาให้หมด มีเพื่อนกี่คนก็ให้ทุกคนช่วย (เลือกเพื่อนดีดีนะครับ เอาที่ว่าเราบอกเค้าได้สบายใจว่าเราจะไปด้วยวีซ่าตัวนี้)  บอกให้ช่วยก็ดูเฉยๆ พอบอกว่า ใครกดได้ กรูให้ 1,000  มากันเพียบ
4.เว็ปจะล่ม เป็นเรื่องธรรมดา ทำใจให้นิ่งๆ  ถ้าเข้าหน้ากดเลขบัตรประชาชนได้แล้ว ก็อย่าดีใจ มันอาจจะล่มอีก แต่จำไว้ว่าไม่ว่ามันจะล่มยังไง ขึ้นหน้า not responding ยังไง ก็อย่าไปกดปุ่ม refresh  ที่บอกอย่างงี้ เพราะผมกรอกข้อมูลครบแล้วยังไม่ทันได้กดส่ง ปรากฏว่า มันขึ้นหน้า not responding  มีสองทางให้เลือก คือกด refresh กับรอแบบไม่มีความหวัง อ่านมาว่าอย่ากด refresh เป็นอันขาด เลยรอแบบไม่มีความหวัง แบบนิ่งๆ ไม่มีอะไรหมุน แล้วจู่ๆ เว็ปมันก็กลับมาเป็นหน้าที่เราตอบตกลงเฉยเลย  เข้าวิน ได้ลำดับ 270

สำหรับเรื่องราวหลังจากนี้ คิดว่าคงเป็นตามขั้นตอนของทาง ดย. และสถานฑูต  ทุกอย่างมันไม่สำคัญเท่าการตัดสินใจตอนแรกที่จะเลือกวีซ่าตัวนี้หรือไม่ ถ้าคิดดีแล้ว มันก็จะดีตามที่เราคิด แล้วขั้นตอนทุกอย่างมันก็จะทำด้วยความมั่นใจ หรือจะลงๆ สอบๆ กดๆ ไปก่อนได้แล้วค่อยตัดสินใจ มันก็ได้ครับแต่ถ้าชีวิตมันมีเป้าหมาย ทุกขั้นตอน มันก็จะไม่ยอมแพ้ครับ เผลอๆ ที่เราคิดว่าสอบๆ เล่นๆ แล้วคะแนนไม่ถึง ก็หาข้อแก้ตัวว่านี่ไงภาษาเราไม่ได้ แต่ถ้ามองดีดี ถ้าตั้งใจจะไปตั้งแต่แรก มันก็จะทำได้เต็มที่กว่านี้ครับ  สู้สู้ ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่