รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินคึกคัก นักลงทุนทั้งไทยเทศสนใจร่วมทุนเพียบ

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) แบบไร้รอยต่อ รวมมูลค่าโครงการกว่า 237,700 ล้านบาท

[เป็นเม็ดเงินลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงประมาณ 1.76 แสนล้านบาท บวกกับ การลงทุนในการพัฒนาที่ดินรอบสถานีอีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสิทธิในการพัฒนาที่ดินมักกะสัน 140 ไร่ ศรีราชา 30 ไร่ และพัฒนาพื้นที่สถานีแอร์พอร์ตลิงก์ (พญาไท – สุวรรณภูมิ)]

โดยเป็นการร่วมลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost คือ ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบไฟฟ้ารถไฟฟ้า ขบวนรถไฟ ค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ การดำเนินการเดินรถและการซ่อมบำรุง

ส่วนภาครัฐจะลงทุนในส่วนของค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และให้เงินอุดหนุนการดำเนินงานโครงการเป็นรายปี ซึ่งภาคเอกชนที่ร่วมลงทุนได้รับสัมปทานการดำเนินโครงการระยะเวลา 50 ปี และจะต้องจ่ายค่าเช่าให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. คิดเป็น 61% ของมูลค่าที่ดิน

โครงการนี้ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถปัจจุบันของโครงการ Airport Rail Link

และจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร เพิ่มอีก 2 ช่วง คือ ช่วงสถานีพญาไท – สถานีดอนเมือง และ ช่วงสถานีลาดกระบัง – สถานีอู่ตะเภา ระยะทาง 226 กิโลเมตร

โดยใช้เขตทางเดิมของ ร.ฟ.ท. มีทั้งหมด 9 สถานี ได้แก่

สถานีดอนเมือง-บางซื่อ-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ-ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ศรีราชา-พัทยา-อู่ตะเภา

[และกำลังศึกษาการสร้างส่วนต่อขยายไปยังระยอง จันทบุรี และตราด]
โดยมีแผนที่จะเปิดให้บริการในปี 2566


คาดว่าภายในเดือนมีนาคมจะมีประกาศทีโออาร์เชิญชวนเอกชนเข้ามาลงทุน ซึ่งจนถึงขณะนี้มีเอกชนทั้งในและต่างประเทศแสดงความสนใจเข้ามาร่วมลงทุนแล้วหลายราย อาทิ

- บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส กรุ๊ป ซึ่งดำเนินธุรกิจระบบขนส่งมวลชนทางรางอยู่ในปัจจุบัน ที่อาจจะยื่นประมูลร่วมกับพันธมิตรที่ร่วมลงทุนกันอยู่แล้ว เช่น บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบริษัทซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

- บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ก็สนใจเข้าร่วมประมูล โดยอาจจะร่วมกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM บริษัทลูกที่มีประสบการณ์เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีม่วง โดยจะร่วมกับพันธมิตรอย่างโตคิว คอร์ปอเรชั่น จากญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญอสังหาริมทรัพย์และคอมเพล็กซ์

- บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็สนใจประมูล โดยมีเงินลงทุนพร้อม และด้วยเหตุผลที่ว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อมถึง 3 สนามบิน และมีบางซื่อเป็นศูนย์กลาง โดยอาจร่วมกับพันธมิตรนักลงทุนญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างและพัฒนาที่ดิน เพื่อต่อยอดกับโครงการสมาร์ทซิตี้ที่บางซื่อ

- เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี กรุ๊ป ก็จะร่วมกับบริษัท ซิติก คอนสตรัคชั่น จำกัด จากฮ่องกง ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้าง ออกแบบ ที่ปรึกษา และ บริษัท ไหหนาน กรุ๊ป จำกัด ที่เชี่ยวชาญงานก่อสร้างท่าเรือ สนามบิน และรถไฟ ซึ่งได้ศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – ระยอง มาแล้ว

- กลุ่มทุนจากญี่ปุ่นก็พยายามจะเปิดตลาดรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย หลังจากที่จีนได้สายกรุงเทพฯ – โคราช ซึ่งภาคตะวันออกเป็นฐานธุรกิจของญี่ปุ่นอยู่ก่อนแล้ว จึงอยากรักษาฐานที่มั่นไว้ หากสำเร็จมีแนวโน้มจะขยายไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่จำนวนมาก

- นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนจากเยอรมัน และเกาหลี ที่ได้แสดงความสนใจเข้าร่วมประมูลรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงด้วยเช่นกัน

นักลงทุนรายใหญ่ ๆ ทั้งนั้นที่สนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเส้นนี้ น่าจะเป็นหนึ่งสัญญาณที่ดีที่บอกว่า แนวเส้นทางสู่ภาคตะวันออกไปจนถึงพื้นที่โครงการอีอีซีมีอนาคตที่สดใสแน่นอน


[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่