เงินขาดมือ หมุนไม่ทัน ทำไงดี?

เม่าผิงไฟ

อาการที่เงินหมุนไม่ทัน ไม่ว่าจะเกิดจากการทำธุรกิจ ปัญญาหาทางครอบครัว หรือเหตุไม่คาดคิดคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นแน่ๆ แต่ก็เหมือนกับเพลง “ฤดูที่แตกต่าง” หรือเพลง “Live and Learn” ของพี่ บอย โกสิยพงษ์ ที่ปัญหามักจะเข้ามาทดสอบความอดทนของคนเสมอ
อัศวินขี่ม้าขาว

เมื่อมีปัญหาก็ต้องหาทางแก้ เมื่อเงินขาดมือก็ต้องหาวิธีการ การขอสินเชื่อมักจะเป็นทางเลือกแรกๆ ที่คนนึกถึงเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยในปัจจุบันสินเชื่อนั้นมีทางเลือกที่เพิ่มมากขึ้น วันนี้ K-Expert ขอแนะนำ 3 ช่องทางในการขอสินเชื่อ เพื่อเป็นตัวช่วยสำหรับเพื่อนๆ ที่กำลังมีปัญหาดังกล่าว เพื่อช่วยในการตัดสินใจวางแผนในการหาแหล่งเงินทุน

1. การกู้เงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิต
คนส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ว่าประกันชีวิตที่เราซื้อมานั้นก็สามารถที่จะใช้เป็นแหล่งเงินสดได้ คล้ายๆ กับเรากู้เงินที่เราสะสมไว้นั่นเอง การกู้จะต้องไปดูที่กรมธรรม์ในส่วนของมูลค่าเวนคืน โดยทั่วไปมูลค่าเวนคืนจะเกิดขึ้นเมื่อชำระค่าเบี้ยเป็นเวลา 2 ปีขึ้นไป และเราสามารถกู้ได้ไม่เกินมูลค่าเวนคืนที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เช่น ทำประกันครบ 10 ปี มีจำนวนเงินเอาประกันภัย 1 ล้านบาท ในตารางมูลค่าเวนคืนเท่ากับ 90,000 บาทในปีที่ 10 เราจะสามารถกู้ได้ประมาณ 81,000-90,000 บาท หรือคิดเป็น 90-100%นั่นเอง อันนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท โดยอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทประกันคิดจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ที่หน้ากรมธรรม์ 2% เช่น หน้ากรมธรรม์ระบุอัตราดอกเบี้ยที่ 4% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยของการกู้เงินกรมธรรม์จะเท่ากับ 6% ต่อปี

2. ใช้สินทรัพย์เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ
ฟังแล้วอาจมีหลายคนสงสัย จริงๆ แล้วก็คือ การนำสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงของเราเช่น บ้าน หรือ รถยนต์มาใช้เป็นหลักประกันในการกู้นั่นเอง โดยที่สินทรัพย์นี้จะต้องปลอดภาระ สำหรับการนำบ้านมาเป็นหลักประกันนั้น ธนาคารจะให้วงเงินกู้ประมาณ 70-80% ของราคาประเมิน โดยอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 5-10% ต่อปี และเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก สินเชื่อประเภทนี้มักจะให้ผ่อนนานตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป

ในส่วนของรถยนต์ที่ปลอดภาระนั้น ธนาคารจะให้วงเงินกู้สูงสุดประมาณ 100% ของราคาประเมิน โดยมีการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Flat Rate) หรือดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ซึ่งอัตราดอกเบี้ยมักจะสูงกว่าการนำบ้านเป็นหลักประกัน และมีระยะเวลาผ่อนสูงสุด 72 เดือน

แต่ถ้าหาก บ้าน หรือ รถยนต์ ยังคงติดภาระผ่อนกับสถาบันการเงินอยู่ อาจติดต่อกับสถาบันการเงินเดิมเพื่อขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มในส่วนที่เราผ่อนไปแล้ว หรือติดต่อสถาบันการเงินแห่งใหม่ โดยขอวงเงินสูงกว่าภาระหนี้ที่เรามี เมื่อเรานำเงินไปปิดภาระหนี้ที่เดิมแล้ว ยังคงเหลือส่วนต่างไว้ให้เราได้ใช้หมุนเวียน แต่ทั้งนี้หลักเกณฑ์ วงเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย และระยะเวลาผ่อน ของแต่ละสถาบันการเงินมีความแตกต่างกัน แนะนำว่าติดต่อเจ้าหน้าสินเชื่อของสถาบันการเงินที่สนใจก่อนครับ

แต่ข้อสำคัญ หากเพื่อนๆ เลือกนำสินทรัพย์ของเรามาขอเงินกู้นั้นจะต้องมั่นใจว่ามีกำลังพอที่จะจ่ายหนี้ได้ตามกำหนด เพราะ บ้าน และ รถยนต์ ที่ใช้เป็นหลักประกันจะถูกยึดได้ หากไม่สามารถที่จะจ่ายหนี้ได้ตามข้อตกลง

3. บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด
บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด ก็คือสินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหนึ่งที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก การที่จะใช้เป็นแหล่งเงินสดก็ทำได้ง่าย เพียงแค่ไปที่ตู้ ATM ก็จะได้เงินสดมาแล้ว เพราะฉะนั้นสินเชื่อประเภทนี้มักมีอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง อย่างบัตรกดเงินสดคิดดอกเบี้ยได้สูงสุดถึง 28% ต่อปี โดยดอกเบี้ยจะถูกคิดนับตั้งแต่วันที่เรากดเงินจากบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด นอกจากนี้ การกดเงินจากบัตรเครดิตยังมีค่าธรรมเนียมในการกดอยู่ที่ 3% ของยอดเงินที่กดอีกด้วย ถ้าจะให้แนะนำสินเชื่อประเภทนี้ควรใช้เป็นอันดับท้ายๆ หรือเฉพาะการใช้แบบฉุกเฉินจริงๆ ครับ

เมื่อเราสามารถจัดการปัญหาเงินขาดมือได้แล้ว อยากแนะนำให้เราป้องกันปัญหาด้วยการมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพื่อความสบายใจว่าหากมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เราก็จะมีเงินเพียงพอที่จะประคองตนเองได้ ไม่ต้องไปพึ่งใครหรือขอสินเชื่อครับ ใครเคยมีประสบการณ์มาแชร์ร่วมกันได้เลยนะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่