ทำไม คณะราษฎร ถึงสั่งให้มีการปิดโรงเรียนถึง 10 ปี

เหตุผลทำไม คณะราษฎร ถึงสั่งให้ปิดโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชน ถึง 10 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2480 - 2491 ซึ่งขัดต่อเจตนารมย์ของ คณะราษฎร เองที่ จะทำให้ประชาชนได้รับการศึกษา การสั่งปิดโรงเรียนของ คณะราษฎร มีเหตุมาจากอะไรคะ ?
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 14
บทความของ อ.สมเกียรติ โอสถสภา ใน คห.2 ดูจะมีความเคลื่อนอยู่หลายประเด็น และเหมือนจะเอาอารมณ์ส่วนตัวใส่เข้าไปมากครับ

เท่าที่ตรวจสอบหลักฐานคือมีการยกเลิกการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลายชั้น ม.๗ ม.๘ ในแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๗๙ (เดิมมัธยมปลายเรียน ม.๕-ม.๘) เปลี่ยนเป็นมัธยมปลาย ม.๔-ม.๖ อย่างในปัจจุบัน เพื่อย่นระยะเวลาให้กระชับขึ้น โดยตั้งสถาบันเตรียมอุดมศึกษาในจุฬาลงกรณ์มารองรับการสอนแทน เป็นการปฏิรูประบบการศึกษาไม่ใช่การปิดชั้นมัธยมปลายครับ (เพราะ ม.ปลายกลายเป็น ม.๔-๖)

แต่เนื่องจากผ่านไปสิบปีแล้วพบว่ามีการเรียกร้องเปิดการสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษาในโรงเรียนเพิ่มเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๙ จึงได้มีการเปิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการ ดังนั้นที่ยกเลิกแล้วเปิดใหม่มันคือชั้นเรียนเตรียมอุดมศึกษา (คือ ม.๗-๘ ที่ยกเลิกไปตามการปฏิรูป) คนละความหมายกับการปิดโรงเรียนมัธยมปลายทั้งประเทศสิบปีอย่างที่ผู้เขียนกล่าวครับ


นอกจากนี้หากพิจารณาตามหลักฐานแล้วพบว่ารัฐบาลคณะราษฎรให้ความสำคัญการการศึกษาอย่างมาก และพบว่ายิ่งเวลาผ่านไปสถานศึกษายิ่งเพิ่ม

พบว่ามีการเร่งรัดให้กระจายสถานศึกษากระจายตัวไปในพื้นที่ต่างๆ จนใน พ.ศ.๒๔๗๗ มีการขยายตัวของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นครบทั้งประเทศ และ พ.ศ.๒๔๗๘ มีการกระจายตัวของสถานศึกษาครบ ๔,๙๐๐ ตำบลทั่วประเทศ ใน พ.ศ.๒๔๘๐ มีจังหวัดที่มีการศึกษาระดับมัธยมบริบูรณ์ (มัธยมศึกษาปีที่ ๖) จำนวน ๕๐ จังหวัด ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๘๑ เพิ่มเป็น ๕๙ จังหวัด พ.ศ.๒๔๘๒ เพิ่มเป็น ๖๓ จังหวัด แล้วครบทุกจังหวัดใน พ.ศ.๒๔๘๓

นอกจากนี้พบว่ามีสถิติการขยายตัวเชิงปริมาณของสถานศึกษาอย่างมากนับแต่ พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นต้นมา คือ

หนึ่ง จำนวนโรงเรียนใน พ.ศ.๒๔๗๕ มีจำนวนรวม ๗,๖๓๘ แห่ง พ.ศ.๒๔๘๐ มีจำนวน ๑๐,๙๑๗ แห่ง และ พ.ศ.๒๔๘๕ มีจำนวน ๑๙,๖๒๙ แห่ง

สอง จำนวนนักเรียนชั้นประถมสามัญใน พ.ศ.๒๔๗๕ มีจำนวนรวม ๗๖๐,๘๗๖ คน พ.ศ.๒๔๘๐ มีจำนวน ๑,๒๔๙,๒๗๕ คน และ พ.ศ.๒๔๘๕ มีจำนวน ๑,๗๒๐,๓๗๐ คน

สาม จำนวนเด็กที่เข้าเรียนใน พ.ศ.๒๔๗๕ เข้าเรียนร้อยละ ๕๒.๗๓ พ.ศ.๒๔๘๐ เข้าเรียนร้อยละ ๖๕.๑๕ และ พ.ศ.๒๔๘๕ เข้าเรียนร้อยละ ๙๓.๒๓

สี่ จำนวนครู ใน พ.ศ.๒๔๗๔ มีครูรวม ๑๗,๔๐๒ คน พ.ศ.๒๔๘๐ มีจำนวน ๓๔,๒๕๑ คน และ พ.ศ.๒๔๘๕ มีจำนวน ๖๖,๘๙๗ คน

นอกจากนี้ตามนโยบายการศึกษาภาคบังคับของรัฐบาลในสมัยนั้น จึงปรากฏว่าทำให้มีการขยายตัวของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาสายสามัญอย่างมาก โดย พ.ศ.๒๔๗๕ มีจำนวน ๓๒,๑๖๖ คน เพิ่มขี้นใน พ.ศ.๒๔๘๐ เป็น ๗๒,๐๔๐ คน และใน พ.ศ.๒๔๘๕ มีจำนวน ๑๑๓,๐๓๒ คน

และยังพบหลักฐานการขยายตัวในรูปแบบอื่นอีกคือการเพิ่มของสถานศึกษาและนักเรียนในระดับอาชีวะศึกษาหรือมัธยมศึกษาสายวิสามัญ โรงเรียนราษฎร์ (โรงเรียนเอกชน) ระดับอดุมศึกษา (จากเดิมที่มีเพียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งเดียว) คือมีมหาวิทยาลัยเปิดอย่างธรรมศาสตร์และการเมือง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการศึกษาผู้ใหญ่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตายการขยายตัวของสถานศึกษาก็ควบคู่ไปกับการควบคุมของรัฐที่พยายามปลูกฝังค่านิยมที่สอดคล้องกับระบอบใหม่ไปด้วย โดยพยายามเผยแพร่อดุมการเรื่องรัฐธรรมนูญและการปลูกฝังค่านิยมในการเป็นพลเมืองที่ดีต่อรัฐไปพร้อมกันครับ
ความคิดเห็นที่ 18
ตาม พ.ศ.๒๔๘๐ - ๒๔๙๑ ผมมีอายุ ๗ - ๑๙ ปี

ผมไม่มีความรู้ทางการเมือง แต่ใตทางการศึกษาพอเล่าได้ว่า

พ.ศ.๒๔๘๐ เรัยนอยู่ชั้น ป.๒ โรงเรียนดำเนินศึกษา ถนนราชดำเนินนอก ใกล้กับโรงเรียนนายร้อยทหารบก

พ.ศ.๒๔๘๑ เรียนชั้น ป.๓ โรงเรียนเดิม สถานที่เดิม

พ.ศ.๒๕๘๒ เรียนขั้น ป.๔ โรงเรียนเดิม สถานที่เดิม

พ.ศ.๒๔๘๓ เรียนชั้น ม.๑ ที่ ร.ร.เดิม แต่ย้ายสภานที่มาอยู่ ถนนวิสุทธิกษัตริย์ แทนโรงเรียนเดิม ชื่อเหมือนถนน

พ.ศ.๒๔๘๔ เปลี่ยนวันขึ้นมีใหม่จากเดือน เมษายน เป็น มกราคม นายกรัฐมนตรี คือ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม
                 พอถึงเดือน ธันวาคม ๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่ีนก็ยาตราเข้าประเทศไทย ขอเป็นมิตร ผ่านไปรบอังกฤษที่มาลายู
                 ซึ่งเป็นประเทศมาเลเซียเดี๋ยวนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ให่โรงเรียนลดเปอร์เซ็นต์ การสอบเลื่อนชั้น
                 จากเดิม ๕๐ % เป็น ๓๐ หรือ ๓๕ % จำไม่ได้แน่ชัด พวกนักเรียนเรียกกันว่า โตโจ สงเคราะหฺ์
                 โตโจเป็นชื่อนายกนัฐมนตรีญี่ปุ่น

พ.ศ.๒๔๘๕ น่ำท้วมใหญ่ทั่วประเทศไทย ถึงขนาด พายเนือหน้าพระบรมรูปทรงม้าได้ และมีเรือจ้างโดยสาร แทนรถเมล์
                 ในถนนสามเสน ตลาดศรีย่านต้องมาขายกันบนสะพาน กิมเซ่งหลี (โสภณในปัจจุบัย) ตลาดเทเวศร์ ต้องย้าย
                 ขึ้นไปขายบนสะพานเทเวศรนฤมิตร ตลาดบางลำพู ต้องย้ายขึ้นไปบนสะพาน นรรัตน์

พ.ศ.๒๔๘๖ สงครามรุนแนงขึ้น ต้องหลบภัยทางอากาศจากสัมพันธมิตร เพราะไทยเป็นพวกญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เป็นเวลากลางคืน

พ.ศ.๒๔๘๗   สัมพันธมิตรส่งเครื่องบินสี่เครื่องยนต์ มาทิ้งระเบิดกลางวัน นักเรียนต้องวิ่งจากห้องเรียนไปอยู่ในสนามริมคูวัดบ่อย ๆ
                กระทรวงฯ จึงสั่งปิดโรงเรียนในกรุงเทพทั้งหมด รวมทั้งมหาวิทยาลับ จุฬาลงกรณ กับ ธรรมศาสตร์และการเมือง ด้วย
                ประชาชนอพยพไปอยู่ต่างจังหวัด เรียนต่อที่โรงเรียนในจังหวัดนั้น  นักศึกษามหาวิทยาลัย แอบไปฝึกอาวุธ เป็นเสรีไทย
                ที่จังหวัดชลบุรี บ้านผมอพยพไปอยู่แค่ท้องนา ลาดกระบัง คลองสาม ไม่ได้เรียนหนังสือต่อ

พ.ศ.๒๔๘๘ สงครามสงบในเดือนสิงหาคม กลับมาอยู่บ้านสวนอ้อย เรียนชั้น ม.๖

พ.ศ.๒๔๘๙ ในหลวงรัชกาลที่ ๘ สวรรคต ปลายปีผมสอบตก ต้องออกจากโรงเรียน มาขายขนมถ้วยเลี้ยงครอบครัว

พ.ศ.๒๔๙๐ ได้ทำงานในกรมพาหนะทหารบก

พ.ศ.๒๔๙๑ ได้เขียนหนังสือเรื่องสั้นส่งให้หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ

                 ตลอดเวลาไม่มีเรื่องปิดโรงเรียน ๑๐ ปี เลย
ความคิดเห็นที่ 4
เข้าไปเช็คในกูเกิล เรื่องนี้มีการกระพือจากคนๆเดียว ชื่อสมเกียรติ

และข้อสังเกตที่น่าจะเป็นเหตุผลหลักคือ

1.ช่วง้วลาดังกล่าวคาบเกี่ยวกับสงครามโลก รัฐบาลมีการปิดและยึดโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาคริสต์เป็นของรัฐาล(แต่เพียงในนาม)

2.มีการปิดชั้น ม.ปลายจริงเพื่อปฏิรูปการศึกษา เนื่องจากรัฐได้ตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆไว้เป็นการเฉพาะ ต่อมาตอนหลังได้มีการปรับปรุงหลักสูตรแล้วให้โรงเรียนต่างๆเปิดระดับเตรียมอุดมศึกษาเอง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่