ผมไม่ได้เกิดที่โรงพยาบาล หมอตำแยในหมู่บ้านทำคลอดที่บ้าน.....เป็นบ้านที่ใต้ถุนชั้นล่างทำเป็นคอกควาย กลิ่นแรกที่ผสมมากับอ๊อกซิเจนที่ผมสูดเข้าปอดครั้งแรกคงจะเป็นสาปควายที่เล็ดลอดมาตามช่องรอยต่อระหว่างพื้นไม้ของบ้าน ไม่รู้ล่ะ.....ผมโยงของผมเอาดื้อๆ ว่า ตรงนั้นแหละที่ทำให้ผมผูกพันธ์กับควายมาตลอด
หลังจากพี่ชายผมตายตอนอายุสิบสามขวบ ผมก็รับหน้าที่ “เลี้ยงควาย” ต่อจากพี่ชายตอนอายุห้าขวบ ชีวิตการเป็นชาวนาของผมเริ่มต้นตรงนี้....เริ่มต้นที่การคุ้นเคยและคลุกคลีกับควายตั้งแต่เด็ก เพราะทั้งคนทั้งควายก็ต้องพึ่งพาอาศัยกันจนตายกันไปข้าง แล้วก็ควายนั่นแหละจะนำผมออกเผชิญโลกกว้างทั้งในแต่ละวันและในแต่ละฤดูกาล หน้าที่ของควายจึงไม่ใช่ลากไถอย่างเดียวตามที่เข้าใจกัน แต่พวกเขายังได้ทำหน้าที่นำทายาทของชาวนาตัวเล็กๆ ออกสู่ทุ่งกว้างเพื่อสั่งสมประสบการณ์ชีวิตการเป็นชาวนา
สำหรับคนที่ไม่เคยคลุกคลีกับควาย....อาจจะไม่ลึกซึ้งกับสิ่งที่ผมกำลังจะพูดต่อไปนี้ การที่ได้คลุกคลีกับควายมาตั้งแต่เด็ก ผมรู้สึกผูกพันกับเขามาก เหมือนๆ กับหลายๆ คนที่ผูกพันกับสัตว์เลี้ยงอย่างน้องหมา น้องแมวนั่นแหละ ความผูกพันตรงนี้ผมขออธิบายสั้นๆ ในนิยามของผมเองว่า “ควายเจ็บ...คนเจ็บ” อย่างเช่นในเวลาที่พ่อผมไถนากลางแดดเปรี้ยง ผมจะเดินตามควายไม่ห่างคอยวิดนำ้ใส่หลังของเขา เวลาพ่อปลดแอกผมจะปรี่ไปจูงเขาออกไปหาลูกๆ เขาที่เล็มหญ้าอยู่ข้างๆ ยิ่งถ้าวันไหน...เขาต้องไถนาวันละหลายผืน ผมมักจะนั่งเฝ้าน้ำตาคลอเพราะสงสาร
ผมเคยโกรธพ่ออย่างรุนแรง ที่เช้าวันหนึ่งมีชายแปลกหน้าสามคนมาที่บ้านแล้วพ่อบอกให้ผมเปิดคอกควายให้ชายสามคนมาเอาลูกควายตัวหนึ่งไป ตอนแรกผมไม่เอะใจ....แต่ผมเห็นแม่ควายและลูกควายตัวนั้นน้ำตาไหล ควายตัวลูกที่ผมเรียกมันว่า “บักจ้อน” ที่กำลังเข้าวัยหนุ่มพยายามขัดขืนจะไม่ไป ผมรู้สึกทันทีว่าการพลัดพรากกำลังจะเริ่มขึ้นระหว่างแม่ ลูก และผมที่เลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เด็ก หลังจากวันนั้น ผมไม่รู้ชะตากรรม “บักจ้อน” เลย ถามพ่อทีไรพ่อก็จะคอกใส่ไม่ให้ถาม ผมแอบนอนร้องไห้มุ้งอยู่หลายคืน(ขณะเขียนอยู่ตอนนี้ยังน้ำตาคลอ) เงินที่ได้จากขาย “บักจ้อน” ไปถูกเอาไปใช้เป็นค่าเทอมให้กับพี่ชายและน้องชายของผม ทำให้ผมเคืองพ่อ อิจฉาน้องและชังพี่อยู่หลายปี....
การจากไปของ “บักจ้อน” ทำให้พวกเราเหลือควายอยู่สามตัว ผมใจหายและหดหู่แทบทุกครั้งที่เปิดคอกแล้วต้อนควายสู่ท้องนา มันอ้างว้างเหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง “บักจ้อน” เป็นควายตัวผู้ทีผมชอบขี่หลังประจำ เพราะเขาอยู่ในวัยหนุ่มแข็งแรงและปราดเปรียว เขาสามารถว่ายน้ำจากในหนองจากอีกฝั่งไปยังอีกฝั่งได้ในขณะที่ผมขี่หลัง ผมผูกพันกับ “บักจ้อน” และเชื่อว่าเขาก็ผูกพันกับผมไม่แพ้กัน ในวันที่เขาโดนควายตัวอื่นขวิดเป็นแผลลึกเหวอะหวะมา ผมก็โดนพ่อเฆียนเป็นแผลไม้เรียวอยู่กลางหลังเพราะผมปล่อยให้เขาไปขวิดกับควายตัวอื่น ทั้งบักจ้อนและผมต่างก็มีแผลเหมือนกัน ต่างกันตรงที่แผลของ “บักจ้อน” กลายเป็นแผลเน่าและมีหนอนไช และดูเหมือนว่ามีแต่ผมคนเดียวที่ “บักจ้อน” ให้จับดูบาดแผล ผมเฝ้ารักษาแผลให้ “บักจ้อน” โดยใช้น้ำมันก๊าซราดบนแผลแล้ว จากนั้นพวกตัวหนอนก็ค่อยๆ โผล่มาที่เหนือบาดแผล แล้วผมก็จะค่อยๆ หนีบหนอนออกทีละตัว ใหม่ๆ “บักจ้อน” ขัดขืน แต่สักพักเขาคงจะรู้สึกดีขึ้นจึงปล่อยให้ผมราดน้ำมันก๊าซบนแผล จนแผลหายเป็นปรกติ
ในวันที่ “บักจ้อน” ต้องโดนสนตะพายเป็นวันที่ผมเรียกว่าหัวใจแทบสลาย คงจะเพราะผมไม่เคยเห็นการสนตะพายควายมาก่อนนั่นเอง ผมถูกใช้ให้ไปต้อนให้ “บักจ้อน” โผล่หัวออกมาจากคอก พ่อถือเหล็กแหลมที่รนไฟร้อนๆ อย่างดีเตรียมไว้ สั่งให้ผมลูบคอ “บักจ้อน” เอาไว้ และเพื่อนๆ ของพ่อจับเขาทั้งสองข้างไว้ จากนั้นเหล็กแหลมๆ ก็เสียบด้านข้างของจมูกของ “บักจ้อน” “บักจ้อน” ก็ดิ้นพยายามสบัดเขาหนีด้วยความเจ็บปวด กว่าเหล็กแหลมจะทะลุอีกข้าง ทั้งเลือดของ “บักจ้อน” ทั้งน้ำตาของผมไหลพรากไม่ขาดสาย และกว่า “บักจ้อน” จะชินกับเชือกที่สนตะพายบนจมูกของเขาก็กินเวลาหลายเดือน
หลังจาก“บักจ้อน” ถูกขายไปได้เกือบปีกว่าๆ ก็ถึงวันที่ผมต้องจากแม่และน้องๆ ของบักจ้อนไปเหมือนกัน บ่ายวันนั้น แม่และน้องๆ ของบักจ้อนถูกต้อนขโมยไปจากทุ่งนา(การขโมยควายในสมัยนั้นยังมีอยู่) ปรกติผมและเพื่อนๆ ที่เลี้ยงควายด้วยกันจะทิ้งควายไว้กลางทุ่ง แล้วพวกเราจะเดินกลับเข้าหมู่บ้านเพื่อทานข้าวเที่ยงประจำ วันนั้นหลังจากทานข้าวเที่ยงเสร็จ พวกเราก็ชวนกันไปเล่นน้ำในหนองใกล้ๆ ทุ่งที่ควายพวกเราเล็มหญ้าอยู่ พอขึ้นจากหนองมา ปรากฏว่าควายทั้งสามตัวของผมไม่ได้รวมอยู่ในฝูงซะแล้ว ทีแรกผมก็ไม่ตกใจ เพราะปรกติควายสามแม่ลูกของผมมักจะปลีกตัวจากฝูงไปเล็มหญ้าที่อื่นไปเรื่อย แล้วก็จะกลับมาเข้าฝูงเหมือนเดิม แต่คราวนี้ไม่.....ผมวิ่งหาควายตั้งแต่บ่ายจนเย็น จนมั่นใจว่า “ควายหาย” จึงสั่งเพื่อนให้ไปบอกพ่อ จากนั้นพ่อก็บอกผู้ใหญ่บ้านตีเกราะ เพื่อเกณฑ์ชาวบ้านออกมาช่วยหาควาย ส่วนผม....รู้ชะตากรรมดีว่าจะต้องโดนลงโทษหนักขนาดไหน? ผมลอบกลับเข้าบ้านเปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วหนีออกจากบ้านมาตั้งแต่วันนั้น จนกระทั่งทุกวันนี้
...คนก็คนทำนาประสาคน คนกับควายทำนา...ประสาควาย...../วัชรานนท์
หลังจากพี่ชายผมตายตอนอายุสิบสามขวบ ผมก็รับหน้าที่ “เลี้ยงควาย” ต่อจากพี่ชายตอนอายุห้าขวบ ชีวิตการเป็นชาวนาของผมเริ่มต้นตรงนี้....เริ่มต้นที่การคุ้นเคยและคลุกคลีกับควายตั้งแต่เด็ก เพราะทั้งคนทั้งควายก็ต้องพึ่งพาอาศัยกันจนตายกันไปข้าง แล้วก็ควายนั่นแหละจะนำผมออกเผชิญโลกกว้างทั้งในแต่ละวันและในแต่ละฤดูกาล หน้าที่ของควายจึงไม่ใช่ลากไถอย่างเดียวตามที่เข้าใจกัน แต่พวกเขายังได้ทำหน้าที่นำทายาทของชาวนาตัวเล็กๆ ออกสู่ทุ่งกว้างเพื่อสั่งสมประสบการณ์ชีวิตการเป็นชาวนา
สำหรับคนที่ไม่เคยคลุกคลีกับควาย....อาจจะไม่ลึกซึ้งกับสิ่งที่ผมกำลังจะพูดต่อไปนี้ การที่ได้คลุกคลีกับควายมาตั้งแต่เด็ก ผมรู้สึกผูกพันกับเขามาก เหมือนๆ กับหลายๆ คนที่ผูกพันกับสัตว์เลี้ยงอย่างน้องหมา น้องแมวนั่นแหละ ความผูกพันตรงนี้ผมขออธิบายสั้นๆ ในนิยามของผมเองว่า “ควายเจ็บ...คนเจ็บ” อย่างเช่นในเวลาที่พ่อผมไถนากลางแดดเปรี้ยง ผมจะเดินตามควายไม่ห่างคอยวิดนำ้ใส่หลังของเขา เวลาพ่อปลดแอกผมจะปรี่ไปจูงเขาออกไปหาลูกๆ เขาที่เล็มหญ้าอยู่ข้างๆ ยิ่งถ้าวันไหน...เขาต้องไถนาวันละหลายผืน ผมมักจะนั่งเฝ้าน้ำตาคลอเพราะสงสาร
ผมเคยโกรธพ่ออย่างรุนแรง ที่เช้าวันหนึ่งมีชายแปลกหน้าสามคนมาที่บ้านแล้วพ่อบอกให้ผมเปิดคอกควายให้ชายสามคนมาเอาลูกควายตัวหนึ่งไป ตอนแรกผมไม่เอะใจ....แต่ผมเห็นแม่ควายและลูกควายตัวนั้นน้ำตาไหล ควายตัวลูกที่ผมเรียกมันว่า “บักจ้อน” ที่กำลังเข้าวัยหนุ่มพยายามขัดขืนจะไม่ไป ผมรู้สึกทันทีว่าการพลัดพรากกำลังจะเริ่มขึ้นระหว่างแม่ ลูก และผมที่เลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เด็ก หลังจากวันนั้น ผมไม่รู้ชะตากรรม “บักจ้อน” เลย ถามพ่อทีไรพ่อก็จะคอกใส่ไม่ให้ถาม ผมแอบนอนร้องไห้มุ้งอยู่หลายคืน(ขณะเขียนอยู่ตอนนี้ยังน้ำตาคลอ) เงินที่ได้จากขาย “บักจ้อน” ไปถูกเอาไปใช้เป็นค่าเทอมให้กับพี่ชายและน้องชายของผม ทำให้ผมเคืองพ่อ อิจฉาน้องและชังพี่อยู่หลายปี....
การจากไปของ “บักจ้อน” ทำให้พวกเราเหลือควายอยู่สามตัว ผมใจหายและหดหู่แทบทุกครั้งที่เปิดคอกแล้วต้อนควายสู่ท้องนา มันอ้างว้างเหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง “บักจ้อน” เป็นควายตัวผู้ทีผมชอบขี่หลังประจำ เพราะเขาอยู่ในวัยหนุ่มแข็งแรงและปราดเปรียว เขาสามารถว่ายน้ำจากในหนองจากอีกฝั่งไปยังอีกฝั่งได้ในขณะที่ผมขี่หลัง ผมผูกพันกับ “บักจ้อน” และเชื่อว่าเขาก็ผูกพันกับผมไม่แพ้กัน ในวันที่เขาโดนควายตัวอื่นขวิดเป็นแผลลึกเหวอะหวะมา ผมก็โดนพ่อเฆียนเป็นแผลไม้เรียวอยู่กลางหลังเพราะผมปล่อยให้เขาไปขวิดกับควายตัวอื่น ทั้งบักจ้อนและผมต่างก็มีแผลเหมือนกัน ต่างกันตรงที่แผลของ “บักจ้อน” กลายเป็นแผลเน่าและมีหนอนไช และดูเหมือนว่ามีแต่ผมคนเดียวที่ “บักจ้อน” ให้จับดูบาดแผล ผมเฝ้ารักษาแผลให้ “บักจ้อน” โดยใช้น้ำมันก๊าซราดบนแผลแล้ว จากนั้นพวกตัวหนอนก็ค่อยๆ โผล่มาที่เหนือบาดแผล แล้วผมก็จะค่อยๆ หนีบหนอนออกทีละตัว ใหม่ๆ “บักจ้อน” ขัดขืน แต่สักพักเขาคงจะรู้สึกดีขึ้นจึงปล่อยให้ผมราดน้ำมันก๊าซบนแผล จนแผลหายเป็นปรกติ
ในวันที่ “บักจ้อน” ต้องโดนสนตะพายเป็นวันที่ผมเรียกว่าหัวใจแทบสลาย คงจะเพราะผมไม่เคยเห็นการสนตะพายควายมาก่อนนั่นเอง ผมถูกใช้ให้ไปต้อนให้ “บักจ้อน” โผล่หัวออกมาจากคอก พ่อถือเหล็กแหลมที่รนไฟร้อนๆ อย่างดีเตรียมไว้ สั่งให้ผมลูบคอ “บักจ้อน” เอาไว้ และเพื่อนๆ ของพ่อจับเขาทั้งสองข้างไว้ จากนั้นเหล็กแหลมๆ ก็เสียบด้านข้างของจมูกของ “บักจ้อน” “บักจ้อน” ก็ดิ้นพยายามสบัดเขาหนีด้วยความเจ็บปวด กว่าเหล็กแหลมจะทะลุอีกข้าง ทั้งเลือดของ “บักจ้อน” ทั้งน้ำตาของผมไหลพรากไม่ขาดสาย และกว่า “บักจ้อน” จะชินกับเชือกที่สนตะพายบนจมูกของเขาก็กินเวลาหลายเดือน
หลังจาก“บักจ้อน” ถูกขายไปได้เกือบปีกว่าๆ ก็ถึงวันที่ผมต้องจากแม่และน้องๆ ของบักจ้อนไปเหมือนกัน บ่ายวันนั้น แม่และน้องๆ ของบักจ้อนถูกต้อนขโมยไปจากทุ่งนา(การขโมยควายในสมัยนั้นยังมีอยู่) ปรกติผมและเพื่อนๆ ที่เลี้ยงควายด้วยกันจะทิ้งควายไว้กลางทุ่ง แล้วพวกเราจะเดินกลับเข้าหมู่บ้านเพื่อทานข้าวเที่ยงประจำ วันนั้นหลังจากทานข้าวเที่ยงเสร็จ พวกเราก็ชวนกันไปเล่นน้ำในหนองใกล้ๆ ทุ่งที่ควายพวกเราเล็มหญ้าอยู่ พอขึ้นจากหนองมา ปรากฏว่าควายทั้งสามตัวของผมไม่ได้รวมอยู่ในฝูงซะแล้ว ทีแรกผมก็ไม่ตกใจ เพราะปรกติควายสามแม่ลูกของผมมักจะปลีกตัวจากฝูงไปเล็มหญ้าที่อื่นไปเรื่อย แล้วก็จะกลับมาเข้าฝูงเหมือนเดิม แต่คราวนี้ไม่.....ผมวิ่งหาควายตั้งแต่บ่ายจนเย็น จนมั่นใจว่า “ควายหาย” จึงสั่งเพื่อนให้ไปบอกพ่อ จากนั้นพ่อก็บอกผู้ใหญ่บ้านตีเกราะ เพื่อเกณฑ์ชาวบ้านออกมาช่วยหาควาย ส่วนผม....รู้ชะตากรรมดีว่าจะต้องโดนลงโทษหนักขนาดไหน? ผมลอบกลับเข้าบ้านเปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วหนีออกจากบ้านมาตั้งแต่วันนั้น จนกระทั่งทุกวันนี้