ทำความรู้จักกับ ‘Participle’ ก่อนใช้ผิดแล้วชีวิตเปลี่ยน!!

What's cracking y'all?!!
เป็นไงกันบ้างครับ ภาษาอังกฤษเริ่มแข็งแรงกันหรือยัง วันนี้ผมก็ขอจัดความรู้ภาษาอังกฤษอีกสักเรื่องมาให้อ่านกันแบบเน้น ๆ อีกละกัน

วันนี้เรามาทำความรู้จักกับแกรมมาร์เรื่องที่ออกสอบบ่อยที่สุด และเรื่องที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งต่อการเข้าใจภาษาอังกฤษ เลยต้องบอกก่อนว่าสิ่งที่ผมเขียนขึ้นมาเนี่ย คือเอามาให้เพื่อนทำความเข้าใจนะครับ ไม่จำเป็นต้องท่องจำ (แต่ถามว่าถ้าท่องจำแล้วจำได้มันดีกว่ามั้ย ดีกว่าแน่นอนครับ)

ไม่จำเป็นต้องอ่านให้หมดในวันเดียวก็ได้นะครับ อย่าลืมศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วย อ่านจากกระทู้ผมอย่างเดียวก็อาจจะเข้าใจส่วนหนึ่ง แต่ก็อย่าลืมไปอ่านกันเพิ่มเติมด้วยนะ
มาเข้าเรื่อง Participle เลย

Participle คืออะไร
Participle คือ ‘รูปแบบของคำกริยาที่เติม –ing หรือ –ed
โดย Verb ที่เติม –ing เราเรียกว่า ‘Present participle’ เช่น Boring, interesting, frightening
และ Verb ที่เติม –ed เราเรียกว่า ‘Past participle’ หรือที่คนไทยคุ้นเคยกันในชื่อ ‘V.3’ เช่น Confused, depressed, excited

ถึงตรงนี้ก็ใจเย็น ๆ ก่อนนะครับ อย่าพึ่งคิดว่านี่จะเป็นกระทู้สอนแกรมมาร์เรื่องการผัน Verb อันสุดแสนน่าเบื่อ ทนอ่านต่อไปอีกสักหน่อยแล้วจะสนุกมากขึ้นครับ

ทีนี้เราดูกันว่า ‘ประโยชน์’ หรือ ‘การใช้งาน’  ของ Participle ทั้งสองตัวนี้เป็นยังไง

คนที่เรียนภาษาอังกฤษมาได้สักพักน่าจะรู้ดีว่า Present participle หรือ ‘V-ing’ เนี่ยเราจะใช้กับเทนส์ Present continuous ใช่มั้ย (เช่น I am working right now.) และเราจะใช้ v-ing คู่กับ verb to be (Is, am, are, was, were, been) เสมอ ซึ่งความหมายของมันก็คือ ‘กำลัง’ ทำอะไรบางอย่างนั่นเอง
เช่น
Jonathan is talking to my sister. (โจนาธานกำลังคุยกับน้องสาวของฉัน)
I am trying to understand what you are saying. (ผมกำลังพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่คุณกำลังพูด)

ในกระทู้นี้ขอยังไม่พูดถึงเทนส์ Past continuous หรือ Future continuous นะครับ เพราะกระทู้นี้ไม่ได้มาสอนเรื่องเทนส์ (แต่ทุกคนสามารถไปหาอ่านเพิ่มเติมได้นะ สำหรับใครที่อยากรู้)

ส่วน Past participle นั้น เราจะใช้กับประโยคที่เป็น Passive voice ซึ่งก็เหมือนกับ Present participle ครับ เราต้องใช้คู่กับ Verb to be ด้วย

Passive voice คืออะไร เดี๋ยวผมจะขออธิบาย Passive voice แบบ ‘ไม่ละเอียด’ ให้ฟังนะครับ

Passive voice คือ รูปประโยคที่ 'ประธาน’ เป็นฝ่าย ‘ถูกกระทำ
เราเรียนกันมาว่า กรรม ต้องเป็นฝ่ายถูกกระทำ หรือรับการกระทำใช่มั้ยครับ (ตามโครงสร้างประโยค S+V+O)
ซึ่งก็ถูกต้องครับ ประโยคแบบนั้นเราเรียกว่า Active voice
แต่ Passive voice ขอสวนกระแสครับ ประธานต้องถูกกระทำบ้าง!

เช่น
Active voice
John asked me to join the conference

แต่พอเปลี่ยนเป็น Passive voice ก็จะได้
I was asked to join the conference. (ผมถูกขอให้เข้าร่วมการประชุม)

ซึ่งใน Passive voiceเนี่ย เราสามารถ ‘ละประธาน’ ได้ครับ เหมือนที่ประโยคนี้ละนายจอห์นออกไป สาเหตุก็เพราะว่ามันไม่สำคัญว่า ‘ใคร’ เรียกให้ฉันเข้าร่วมการประชุม แต่มันสำคัญต้อง ‘ฉัน’ เป็นคน ‘ถูกเรียก’ ให้เข้าร่วมการประชุม

พูดง่ายก็คือ ประโยคแบบ Passive voice เนี่ยเน้นตัว ผู้ถูกกระทำ เป็นหลักครับ

แต่ถ้าเราอยากจะให้รู้ว่าใครเป็นคนกระทำ เราก็สามารถเพิ่มคำว่า by ข้างหลัง past participle (หรือไว้ท้ายประโยค) และตามด้วยผู้กระทำได้นะครับ
เช่นในประโยค 'I was asked to join the conference.'
ก็จะได้ 'I was asked to join the conference by John.'

อีกหนึ่งตัวอย่างครับ
The apples were eaten. หรือ 'The apples were eaten by me.'

มาดูอีกประโยคนะครับ
Active voice
The teacher allowed you to go. (คุณครูอนุญาตให้เธอไปได้)

พอเปลี่ยนเป็น Passive voice ก็จะได้
You are allowed to go. (คุณถูกอนุญาตให้ไปได้ (จริง ๆ ถ้าจะแปลให้ไพเราะและฟังลื่นหูต้องแปลว่า คุณ ‘ได้รับ’ อนุญาตให้ไปได้))

อ่า จบไปแล้วครับกับ ‘บทนำ’ ของกระทู้
ใช่แล้ว นั่นแค่บทนำ เรื่องที่ผมจะมาเขียนจริง ๆ ก็คือ Participle adjective!!

Participle adjective คือ Adjective ที่มาจากการเติม –ing หรือ –ed ให้กับ Verb แล้วเอามันมา ‘ขยาย’ คำนาม หรือพูดง่าย ๆ คือ Participle adjective ก็คือ Past และ Present participle นั่นเองครับ

ซึ่ง Verb ที่เป็นนิยมเอามาทำเป็น adjective ได้แก่ to bore, to interest, to frighten, to excite, to surprise (ที่เติม To ไว้ข้างหน้าเนี่ยไม่มีไรหรอกนะ ไม่ต้องตกใจหรืองง)
ซึ่งมีอีกหลายตัวเลย ขอใส่ไว้ใน Spoil ละกันเนอะ
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ซึ่งเวลาเราแปล Verb พวกนี้เป็นภาษาไทยเนี่ย เราต้องเติมทำว่า ‘ทำให้’ เข้าไปให้มันด้วย
เช่น To bore ก็ต้องแปลว่า ‘ทำให้เบื่อ
       To interest ก็ต้องแปลว่า ‘ทำให้สนใจ
       To frighten ก็ต้องแปลว่า ‘ทำให้กลัว
       To excite ก็ต้องแปลว่า ‘ทำให้ตื่นเต้น
       To surprise ก็ต้องแปลว่า ‘ทำให้ประหลาดใจ

พอจะอ๋อกันยังว่ากระทู้นี้ผมจะมาสอนเรื่องอะไร
ใช่แล้วครับ นักเรียนไทยส่วนมากยังใช้ Verb พวกนี้ผิดอยู่ โดยเฉพาะเวลาที่เอามันไปใช้ในรูป Present participle (v-ing) หรือ Past participle (v.3)

มาดูตัวอย่างกันครับ
To interest
เวลาเราจะบอกว่า 'เราสนใจหนังสือเล่มนี้' เราจะไม่บอกว่า ‘I interest this book’ นะ เพราะอย่าลืมว่าเวลา Verb พวกนี้มันถูกแปลเป็นภาษาไทยมันจะเพิ่มคำว่า ทำให้ มาด้วย

ซึ่งถ้าบอกว่า 'I interest this book' ก็จะแปลว่า ‘ฉันทำให้หนังสือเล่มนี้สนใจฉัน’ เฮ้ยทำได้ไง 5555

ดังนั้นเราต้องบอกว่า ‘This book interests me’ (หนังสือเล่มนี้ทำให้ฉันสนใจ) โดยการใช้ในรูป Passive voice ก็คือ ‘I am interested in this book’ (ฉันถูกหนังสือเล่มนี้ทำให้สนใจ หรือแปลเป็นภาษาไทยดี ๆ ก็คือ ‘ฉันสนใจในหนังสือเล่มนี้’)

สังเกตมั้ยว่ามันมี Preposition เพิ่มมาก็คือคำว่า in นั่นเอง
Verb พวกนี้เวลาใช้ในรูป Past participle (v.3) เนี่ย มันจะมี preposition เพิ่มมาด้วย แต่เราจะไม่ใช้คำว่า by กับทุกตัวนะ ซึ่งแต่ละตัวก็จะต่างกันไป อย่าง Interested ก็ต้องใช้กับ in

ซึ่งนอกจากจะใช้แบบข้างบนได้แล้ว
เรายังสามารถใช้ในรูป 'Participle adjective (v-ing)' ได้ด้วยครับ เช่น
An interesting book. (หนังสือที่น่าสนใจ)
An interested customer. (ลูกค้าที่กำลังสนใจ)

Verb ตัวอื่นก็เหมือนกันครับ
To bore
ถ้าจะบอกว่า 'ฉันเบื่อหนังสือเล่มนี้' ก็จะไม่พูดว่า 'I bore this book' นะครับ
ต้องบอกว่า 'This book bores me' (หนังสือเล่มนี้ทำให้ฉันเบื่อ)
หรือ 'I am bored by this book' (ฉันถูกทำให้เบื่อโดยหนังสือเล่มนี้ หรือแปลเป็นไทยดี ๆ คือ ฉันเบื่อหนังสือเล่มนี้)
คำว่า bored เราจะใช้กับ with หรือ of ก็ได้นะครับ แต่คนจะนิยมใช้ by กับ with ซะส่วนใหญ่

หรือจะใช้ในรูป participle adjective ก็จะได้
A boring book. (หนังสือที่น่าเบื่อ)
A bored man. (ผู้ชายที่กำลังเบื่อ)
หรือ A boring man. (ผู้ชายที่น่าเบื่อ)
I was so bored last night. John was such a boring man.

เห็นความแตกต่างของ Past participle 'bored' กับ present participle 'boring' มั้ยครับ
A bored man. คือ ผู้ชายที่ถูกทำให้เบื่อ หรือผู้ชายที่กำลังรู้สึกเบื่อ
A boring man. คือ ผู้ชายที่ทำให้คนอื่นเบื่อ หรือผู้ชายที่น่าเบื่อ

พูดแบบง่าย ๆ คือ -ing คือตัวคำนามนั้นเป็นผู้กระทำ หรือเป็นผู้ทำให้เกิดความรู้สึก ส่วน -ed คือตัวคำนามนั้นเป็นผู้ถูกกระทำ หรือเป็นผู้ได้รับความรู้สึกนั่นเองครับ

ดังนั้นถ้าเราจะบอกเรา เรารู้สึกเบื่อ เราก็ต้องพูดว่า 'I am bored.' นะครับ
เพราะถ้าบอกว่า 'I am boring.' เนี่ย มันจะแปลว่า 'ฉันเป็นคนน่าเบื่อ' แทน

ลองมาดูกับ Verb ตัวอื่น
To confuse
'I am confused.' (ฉันสับสน หรือฉันรู้สึกสับสน) ไม่ใช่ I am confusing นะครับ
หรือถ้าจะบอกว่าเพราะใคร หรือเพราะอะไรก็เพิ่ม preposition ‘by’ เข้าไป
ก็จะได้ I am confused by what you said. (ผมสับสนกับสิ่งที่คุณพูด)
หรือ What you're saying is confusing. (เรื่องที่คุณพูดทำผมให้สับสน)

หรือใช้ในรูป participle adjective คือ
A confusing topic. (หัวข้อที่ทำให้สับสน หรือหัวข้อชวนปวดหัวนั่นเองครับ)
A confused student. (นักเรียนที่กำลังสับสน หรือนักเรียนที่กำลังงง)
แต่หวังว่าเพื่อน ๆ จะไม่สับสนกับสิ่งที่ผมสอนนะครับ 5555
I know this topic can be very confusing, but I really hope you're not confused!

ตัวอย่างอื่น
I am excited. (ฉันตื่นเต้น หรือ ฉันรู้สึกตื่นเต้น) ไม่ใช่ I am exciting. นะครับ
หรือจะบอกว่า 'This movie excites me.' (หนังเรื่องนี้ทำให้ฉันตื่นเต้น)

หรือเขียนในรูป Participle adjective คือ
An exciting movie. (หนังที่น่าตื่นเต้น)
An excited dog. (หมาที่กำลังตื่นเต้น)
The dog was very excited by the movie. I guess the movie was too exciting!

'I am surprised.' (ฉันประหลาดใจ หรือฉันรู้สึกเซอร์ไพรส์นั่นเอง) ไม่ใช่ I surprise หรือ I am surprising นะครับ
หรือจะบอกว่า 'Your answer surprised me.' (คำตอบของคุณมันทำให้ผมประหลาดใจ)

หรือจะใช้ในรูป participle adjective เช่น
A surprising answer. (คำตอบที่น่าประหลาดใจ)
A surprised teacher. (คุณครูที่กำลังอึ้ง)
หรือ A surprising teacher. ก็จะแปลว่า คุณครูที่ชอบทำอะไรเซอร์ไพรส์นั่นเองครับ

เหมือนที่คอมเมนต์ของคนบางคนทำให้เราเราประหลาดใจนะแหละครับ
They were such surprising comments! I was absolutely stunned!

เป็นไงกันบ้างครับ ยาวเหยียดเลย ใครอ่านไม่ไหวก็ค่อย ๆ แบ่งอ่านก็ได้นะ ไม่จำเป็นต้องอ่านให้จบในวันเดียว
ส่วนสิ่งที่ผมขอเน้นย้ำก็คือ ถ้าใครยังไม่เข้าใจก็ต้องไปหาอ่านต่อนะครับ ไม่ใช่ว่าไม่เข้าใจแล้วก็บอกว่ามันยาก ไม่มีอะไรยากครับ ให้เวลากับมัน ทำความเข้าใจ อ่านจากหลาย ๆ แหล่งข้อมูล แล้วผมรับรองเลยว่าไม่มีเรื่องไหนยากเกินทำความเข้าใจครับ

มีคำถามหรือข้อสงสัย เข้าไปถามในเพจได้นะครับ

ไม่จำเป็นต้องรู้หมดทุกอย่างในวันนี้ รู้มากกว่าเมื่อวานนี้ก็พอ
รู้ภาษาอังกฤษมากขึ้นทุกวันที่: www.facebook.com/MyFathersAnEnglishMan/ (Page: พ่อผมเป็นคนอังกฤษ)
Stay tuned.
JGC
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่